พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : #หนักแผ่นดิน บทเรียนไร้ราคาของชนชั้นนำไทย

กระแสการเมืองบนโลกออนไลน์ร้อนแรง ดุเดือด และมีมาให้เห็นเรื่อยๆ ทั้ง #แม่ยายแห่งชาติ #พรรคเพื่อเธอ #ฟ้ารักพ่อ #พ่อก็รักฟ้า จนมาถึง #หนักแผ่นดิน

ซึ่งอันหลังสุดดูจะแตกต่างจากแฮชแท็กทั้งสี่ก่อนหน้าไปโดยสิ้นเชิง

หลังการปราศรัยใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ณ ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนจะสร้างความเดือดดาลให้บรรดาผู้นำกองทัพอยู่ไม่น้อย

เมื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ออกมาชูนโยบายตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหม-ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ภายหลังการปราศรัยทั้งผู้บัญชาการทหารบก นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีต่างออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทีขึงขังไม่พอใจกับนโยบายดังกล่าว

พร้อมไล่ให้คุณหญิงสุดารัตน์กลับไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” โดยพร้อมเพรียงกัน

 

เพลงหนักแผ่นดินที่ ผบ.ทบ.พูดถึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางการเมืองล่าสุดเมื่อครั้งการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่รู้จักกันในชื่อของ กปปส. ตลอดการชุมนุมมีการเปิดเพลงปลุกใจมวลชนหลายต่อหลายเพลง

หนึ่งในเพลงที่เปิดบ่อยที่สุด คือเพลงหนักแผ่นดิน วัตถุประสงค์ในการเปิดเพลงเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างความฮึกเหิม เตรียมพร้อมสำหรับการดาหน้าต่อสู้กับฝ่ายทักษิณหรือฝ่าย “เสื้อแดง” ในขณะนั้น

แม้ปัจจุบันการชุมนุมของ กปปส.จะสลายตัวไปกว่า 5 ปีแล้ว หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาทำการรัฐประหารในนามหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทว่าความเกลียดชังและความรู้สึกอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างฝ่าย “เหลือง” และ “แดง” กลับไม่มีทีท่าที่จะหมดลงในเร็ววัน

ตรงกันข้ามกับคำมั่นสัญญาของ คสช.ที่ยกเหตุผลในการทำรัฐประหารครั้งนี้ว่าเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พร้อมชูยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์

ซึ่งคำสัญญาที่ว่าก็หาได้เกิดขึ้นตลอดห้าปีนี้ไม่

 

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนเพลงหนักแผ่นดินถูกประพันธ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2518 โดย พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก หลังจากนั้นไม่นานเพลงหนักแผ่นดินถูกนำมาใช้ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองของรัฐในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นครั้งแรก วิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ ศ.ธงชัย วินิจจะกูล หนึ่งในคนหกตุลาให้นิยามกับเหตุการณ์สุดสลดครั้งนี้ว่า “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง”

ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา ระหว่างการล้อมปราบภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันอย่างโจ๋งครึ่ม เพลงหนักแผ่นดินถูกนำมาใช้ปลุกปั่นฝ่ายขวาให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมในขณะนั้นอย่างมีนัยสำคัญ

บิดพลิ้วจากประเด็นหลักในการชุมนุมอย่างการขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร สู่การชูประเด็นจาบจ้วงสถาบัน ที่ทำให้การล้อมปราบจากปากกระบอกปืนกระทำได้โดยชอบธรรม

ณ เวลานั้นคนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่านิสิต-นักศึกษาต้องการล้มล้างสถาบัน จากการตีความที่ผิดพลาด จากการปลุกปั่นให้คนในชาติเกิดความเกลียดชัง นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดของผู้บริสุทธิ์ที่ถูกนิยามในช่วงเวลานั้นว่า “คนหนักแผ่นดิน” และคนหนักแผ่นดินเช่นนี้เหมาะสมควรค่าแก่จุดจบที่น่าอนาถเช่นนั้นแล้ว

 

ห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของเพลงหนักแผ่นดินดำเนินเรื่อยมากระทั่งเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ หลังจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกให้สัมภาษณ์กรณีคุณหญิงสุดารัตน์ปราศรัยแล้วเสร็จจึงมีการออกประกาศให้มีการเปิดเพลงหนักแผ่นดิน รวมทั้งบทเพลงปลุกใจอื่นๆ ผ่านสถานีวิทยุยานเกราะทั่วทั้งประเทศ

การโต้กลับครั้งนี้ของ ผบ.ทบ.นอกจากจะแสดงถึงความไม่ตระหนักรู้เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว

คลื่นระลอกนี้ยังส่งสัญญาณถึงคนไทยด้วยว่าหนักแผ่นดินไม่ใช่เพลงที่มีเนื้อหาอันเปลือยเปล่าไร้ซึ่งความหมายแฝงนัยยะ หากมันยังถูกเจือไปด้วยพลังทางความคิดชาตินิยมแบบสุดโต่ง

และการหันกลับไปสู่การเมืองรูปแบบเดิมที่มุ่งหวังสร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้ามดังที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วเมื่อครั้งอดีต

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งห้วงช่วงเวลาที่อำนาจรัฐถูกท้าทายด้วยคำพูดเพียงไม่กี่ประโยค แต่กลับสร้างแรงกระเพื่อมถึงบิ๊กกองทัพ รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีที่ถือครองอำนาจรัฐเต็มร้อยก็พลอยเห็นดีเห็นงามอย่างไม่ยี่หระต่อภาพลักษณ์ที่บิดเบี้ยวแก้ไม่ตกมาตลอดวาระ

นับว่าเป็นสัญญาณที่สื่อถึงการต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐทหาร และฝ่ายประชาธิปไตยที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

นอกจากท่าทีของคุณหญิงสุดารัตน์แล้ว นโยบายการปฏิรูปกองทัพที่นับว่าเป็น “ขั้วอำนาจเก่า” ก็ถูกท้าทายด้วยพรรคอนาคตใหม่เช่นกัน นี่ยังไม่รับรวมถึงโควตว่าด้วยการ “ยิ้ม” ของคนไทยที่ถูกนำมาวิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่พวกอนุรักษนิยมสุดโต่งที่ย่อมทนไม่ได้กับการถูก “กระตุกหนวดเสือ”

เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนถูกจัดให้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับประเพณีไทยตามเนื้อเพลงหนักแผ่นดินไม่ต่างกัน

 

“รัฐมิอาจทนได้ หากรัฐไร้ซึ่งเสถียรภาพ และถูกท้าทายอำนาจจากฝ่ายอื่น” คือนิยามของสิ่งที่รัฐบาลทหารกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

คำสัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ.ไม่ใช่การตอบกลับคุณหญิงสุดารัตน์หรือฝั่งพรรคเพื่อไทยเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องการส่งสารที่ว่าถึงผู้รับสารโดยตรงอย่างประชาชนด้วยที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัยทหารกับการเมืองก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และทหารเหล่านี้ยังคงคิดอยู่เสมอว่า รัฐประหาร คือฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ทำให้การเมืองขับเคลื่อนไปได้ตามอย่างที่พวกตนเห็นพ้องต้องกัน

หากในความเป็นจริงแล้วการเล่นนอกกติกาของทหารกลับรังแต่จะสร้างความย่อยยับให้ประเทศและประชาธิปไตยอย่างไม่รู้จบ แม้ว่าหลายครั้งการเล่นตามเกมจะเกิดความวุ่นวายอลหม่านไปบ้าง

แต่นั่นก็นับว่าเป็นการเรียนรู้และเติบโตไปตามกลไกดังที่มันควรจะเป็นมากกว่าการที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกระโดดลงมาฉีกกติกา และฉกฉวยสิ่งที่คนหมู่มากตัดสินใจเป็นมติเอกฉันท์ไปแล้ว

การเรียกทหารออกมาเล่นนอกเกม…หลายคนเห็นแล้วว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

ความระอาเบื่อหน่ายนักการเมืองขี้โกงถูกแก้ปัญหาด้วยการเรียกทหารออกมา ..หลายฝ่ายเห็นแล้วว่านี่คือบทเรียนราคาแพงที่จะจดจำไปอีกนานแสนนาน

ยิ่งเห็นวิธีการโต้ตอบของบิ๊กกองทัพในวันก่อน ผู้เขียนก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้นว่าเวลาและวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยที่ผ่านมามากมายไม่ได้ทำให้คนเหล่านี้ฉุกคิดถึงคุณค่าที่ประกอบสร้างจากหลายชีวิตที่สูญเสียไปแม้แต่น้อย

การยกเพลงหนักแผ่นดินมาใช้เป็นเครื่องมือปลุกปั่นบดขยี้ฝ่ายตรงข้าม และลดทอนความเป็นมนุษย์ครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เราเห็นว่า

บทเรียนที่ผ่านมาไม่ได้ให้อะไรกับชนชั้นนำเหล่านี้เลย