วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ : การเมืองยุคออนไลน์ ความท้าทายแบบใหม่ ของทุกฝ่ายทางการเมือง

แม้ในโลกยุคดิจิตอล สภาพสังคมและผู้คนจะเปลี่ยนไปเพียงใด

ทว่าสนามทางการเมืองไทยยังคงอยู่กับคู่ขัดแย้งเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปไตย vs เผด็จการ หรือผู้นิยมระบอบที่อ้างคุณธรรม vs ผู้นิยมระบอบสภาที่เต็มไปด้วยนักการเมืองเขี้ยวลากดินที่เปิดหน้าฉะกันเห็นๆ ก็ล้วนแต่เป็นวังวนที่เราสามารถพบเห็นได้ตามหน้าประวัติศาสตร์ไทยตลอดมา

นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535, การประท้วงของกลุ่มคนเสื้อเหลือง, การประท้วงกลุ่มคนเสื้อแดง, กลุ่มเสื้อหลากสีม็อบนกหวีด และท้ายที่สุดกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งหากมองในรายละเอียดแล้วแม้จะนิยามถึงการปะทะทางการเมืองบนอุดมการณ์ต่างๆ และบริบทต่างๆ ตามยุคสมัย

ท้ายที่สุดจุดศูนย์กลางการหมุนก็คือการปะทะกันระหว่างความเชื่อทางการเมือง และการปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน

การปะทะกันของความคิดเห็นอันแตกต่างทางการเมืองในรูปแบบพื้นฐานที่สุดก็คือการเลือกตั้ง เพราะเป็นสิ่งที่สามารถโหวตตัดสินคนที่จะบริหารราชการต่อ โดยอาศัย “เสียง” ของประชาชนเป็นตัวตัดสิน

และแน่นอนว่า “เสียง” นี้ไม่ได้จบแค่การเลือกตั้ง แต่ยังรวมไปถึงการโหวตนโยบายต่างๆ ในสภา ที่เหล่าผู้แทนของ “เสียง” ประชาชนจะต้องฟาดฟันผ่านการถ่ายทอดสาธารณะ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในทางนโยบาย แต่หากว่าการเมืองในสภาถึงจุดที่ไม่ได้บอกความต้องการได้จริงเล่า?

การเมืองข้างถนน หรือการเมืองภาคประชาชนจึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว

นับตั้งแต่การเทนมและพืชผลทางการเกษตรประท้วง การบุกชูป้ายขับไล่หรือเรียกร้องคนในรัฐบาลในที่สาธารณะ

ไปจนถึงการรวมตัวกันของกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ เช่น การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน (ที่เรามักจะเห็นได้บ่อยในต่างประเทศ)

ไปจนถึงการยกระดับการชุมนุมเป็นชุมนุมที่ปิดถนน หรือสร้างความวุ่นวาย ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่จุดประสงค์เดียว คือ การสร้างความไม่ปรกติให้เกิดขึ้นจนรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจทางการเมืองต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไข ต่อรอง หรือเจรจาปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในการเคลื่อนไหวยุคนี้ กลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากในอดีต นั่นคือเทคโนโลยีที่เชื่อมโลกจนกลายเป็นโลกาภิวัตน์ ไปจนถึงพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยีเหล่านั้น

เพราะแน่นอนว่าคนยุค 14 ตุลาคม คงไม่อาจนึกถึงภาพการไล่รัฐบาลในยุคพฤษภาคม 2535 ที่มีชนชั้นกลางที่มีโทรศัพท์มือถือกระโดดเข้ามาในสนามการเมืองข้างถนน

และแน่นอนคนยุคพฤษภาคม 2535 ก็คงนึกไม่ถึงว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญของภาคประชาชนนอกเหนือจากการเลือกตั้ง อย่างการเมืองข้างถนน

หรือการชุมนุมจะถูกดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สั่นคลอนทุกมิติความคิดแบบเดิม

 

(ซ้าย) เพจคาราโอเกะชั้นใต้ดิน (ขวา) เกมเมอร์อมตีน


ชาวเน็ตผู้เกรี้ยวกราด

เป็นที่เข้าใจกันดีในกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยไม่เกิน 50 ที่เชื่อว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จำนวนมหาศาลนั้น ไม่ได้เข้าใจโลกของอินเตอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย นับตั้งแต่สิ่งพิสูจน์เชิงประจักษ์ด้านข่าวปลอมในกรุ๊ปไลน์ ไปจนถึงเว็บคลิกเบต ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลทหารปัจจุบันมีคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์เป็นตัวขับเคลื่อนเสียเป็นส่วนใหญ่

ทำให้เวลานี้ถ้าเราเปิดจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ตโฟนดูคอมเม้นต์ในข่าวการเมืองในโลกออนไลน์ เราจะเห็นคำด่าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมไปถึงเหล่าผู้มีอำนาจที่มีวัยวุฒิทั้งหลายถูกโจมตีทั้งเรื่อง “กลับบ้านเลี้ยงหลาน” หรือแม้แต่คำด่าอย่าง “แก่กะโหลกกะลา”

แน่นอนว่าแรงกระแทกทางคำด่าในโลกอินเตอร์เน็ตนั้นอยู่นอกเหนือระดับความเข้าใจในแบบเดิมๆ

เพราะในอดีตการวิพากษ์วิจารณ์ล้วนถูกอยู่กับสื่อเก่า โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และบทความนิตยสาร

แต่ในยุคปัจจุบัน เมื่อทุกคนมีสื่อในมือ จะเป็นคนที่มีตำแหน่ง หรือหน้าที่ทางการงานเพียงใดก็ล้วนสามารถส่งคอนเท้นต์ความคิดเห็นของตนสู่โลกออนไลน์ได้

ไม่จำเป็นต้องพะวงกับการถูกเซ็นเซอร์ผ่านกองบรรณาธิการหรือผู้บริหารสื่อใดๆ เปิดหน้าชนกันด้วยคำหยาบรุนแรงสุดลิ่มทิ่มประตู ซึ่งแน่นอนว่าก็สามารถถูกฟ้องหมิ่นประมาทได้ ไม่ต่างจากสื่อยุคก่อน เพียงแต่ด้วยปริมาณมหาศาลของการแพร่กระจายเทคโนโลยีแล้ว การไล่ฟ้องคนทั้งหมดคงเหนื่อยมากแน่ๆ

นอกจากคอมเมนต์ชาวเน็ตอันเกรี้ยวกราดที่เต็มไปด้วยคำหยาบคายนั้น อินเตอร์เน็ตยังนำพาการล้อเลียนมหาศาลเข้าโจมตีบุคคลทางการเมือง ทั้งการ์ตูนล้ออย่างเพจ “ไข่แมว” ล้อด้วยเนื้อเพลงอย่าง “คาราโอเกะชั้นใต้ดิน” รวมถึงการล้อตามเพจสื่อออนไลน์ และเพจองค์กรอย่าง “Major Group” ที่กระแหนะกระแหนอย่างทันเหตุการณ์ในทุกข่าวที่เป็นกระแส

ทั้งนี้ ความไวของการเสพข่าวสารเองก็เป็นสิ่งที่สั่นคลอนภาครัฐ เพราะในอดีตการรัฐประหารจะจบลงด้วยปัจจัยหลักๆ ได้แก่ 1.ยึดศูนย์บัญชาการรัฐบาลที่ขับเคลื่อนประเทศ 2.ยึดช่องทางการแพร่กระจายข่าวของสื่อมวลชน ทั้งสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ เคอร์ฟิวและเบรกหนังสือพิมพ์ ซึ่งคนที่มีอายุพอจะจำความรัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมาได้ คงต้องจำภาพจอโทรทัศน์ดับ พร้อมขึ้นหน้าคณะรัฐประหารได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ใช่ในปัจจุบัน เพราะเพียงแค่ใครสักคนโดนยิง ทันทีที่ภาพและวิดีโอของเหตุการณ์ถูกอัพโหลดสู่โลกออนไลน์ ผู้คนจากรอบโลกจะรับรู้ได้ทันที

เมื่อความเร็วของการรับรู้หลอมรวมเข้ากับอิสระในการเผยแพร่ความคิดเห็นที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มันจึงกลายมาเป็นอาวุธตรวจสอบผู้มีอำนาจที่ทรงประสิทธิภาพที่อาศัยคนทุกคนช่วยกันตัดสิน

 

การเมืองข้างถนน VS โลกเสมือน

ไม่ใช่เพียงภาครัฐที่ได้รับผลกระทบของโลกออนไลน์ ประชาชนที่อาศัยพลังของสังคมออนไลน์ ที่เป็นโลกเสมือนเองก็ได้รับผลกระทบจากการที่เมื่อผู้คนใช้โลกออนไลน์จนหลงลืมไปว่า การเมืองข้างถนน ยังคงทรงพลังในรูปแบบของมัน

เพราะการสร้างความไม่ “ปกติ” ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รัฐต้องยื่นมือเข้ามาหาทางแก้ไข หากเจรจา สภาวะของโลกที่ออนไลน์เชื่อมถึงกันก็จะทำให้ทั้งโลกเห็นเหตุการณ์ได้อย่างเกาะติด

หรือหากสถานการณ์กลับตารปัตรกลายเป็นการล้อมปราบที่รุนแรง ยิ่งสั่นคลอนภาพลักษณ์ของรัฐบาลอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งประเทศ ไปจนถึงต่างประเทศ

แต่อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาล “แค่เพียงในโลกออนไลน์”

จริงอยู่ที่การแพร่กระจายความคิดเห็น ความอิสระของการสื่อสาร มุมมอง และการบอกเล่าการวิจารณ์ทางนโยบาย จะทำให้ผู้คนอีกฟากประเทศได้รับรู้ รวมไปถึงส่งต่อแนวคิด แต่หากการส่งต่อนั้นสิ้นสุดลงเพียงการด่าในโลกออนไลน์เท่านั้นล่ะ?

เต็มที่เราอาจจะเห็นความหัวเสียของผู้นำรัฐบาลหลังจากอ่านคอมเมนต์ หรือโดนสื่อมวลชนเอาไปถาม มากสุดๆ ก็อาจจะปรับเปลี่ยนแนวทางในบางนโยบาย แต่หากรัฐบาลดื้อจะไม่ทำตามซะอย่างก็เท่านั้นไม่ใช่หรือ?

กรณีที่มีคนบอกว่าหากประชาชนทนไม่ไหว ก็จะลุกฮือประท้วงเองนั้น อยากจะขอชวนคิดว่า หากการที่รัฐบาลทหารยังปล่อยให้ชาวเน็ตก่นด่าแสดงความไม่พอใจนั้น อาจเป็นกลวิธีผ่อนผันความไม่พอใจลงล่ะ เพราะการด่าอาจทำให้รู้สึกดีขึ้นหรือได้ระบายออก ยิ่งโลกออนไลน์สามารถส่งสารได้ง่ายขึ้น พิมพ์ด่าในเพจประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐก็ได้ ถือเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าจะได้ผลแถมไม่ต้องออกจากบ้านอีก…น่าสนใจไม่น้อย

แต่ก็ย้อนกลับไปด้านบน เมื่อการเคลื่อนไหวไม่ได้ก่อให้เกิดความ “ไม่ปกติ” บนพื้นที่จริง มีหรือที่รัฐที่เอาแต่ใจจะใส่ใจประชาชน เพราะอำนาจรัฐทั้งการเจรจา การปราบ การจับกุม จะถูกใช้เมื่อถูกท้าทายและสร้างความไม่ปกติเท่านั้น

หรือหากเป็นในโลกออนไลน์ ที่เห็นในต่างประเทศก็จะพอมีในรูปแบบการแฮ็ก เจาะระบบข้อมูล หรือสร้างความไม่ปกติในการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งแน่นอนว่าโทษของการกระทำแบบนั้นก็ไม่ต่างจากคดีการเมืองที่เหล่าผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองท้องถนนโดนกันเป็นประจำเท่าไรนัก

กล่าวคือ หากไปให้สุดทางไม่ว่าทางใดก็เสี่ยงทั้งนั้น เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มี “ราคา” ของการเลือก

เช่นเดียวกันกับการนิ่งเฉย…