คุณาลัย “มหาเกจิแห่งเมืองโคราช” อาจารย์ใหญ่หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ผู้ “ไม่เคยยินดียินร้ายในลาภยศสรรเสริญ” และ “เงินเป็นทาสกู กูไม่ยอมเป็นทาสเงิน”

29 มกราคม พ.ศ.2562 ประชาชนชาวไทยได้หลั่งไหลล้นหลามกันไปส่ง “หลวงพ่อคูณ” พระเทพวิทยาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ณ เมรุนกหัสดีลิงค์ วัดหนองแวง ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น

โดยก่อนหน้านั้นได้เปิดให้ประชาชนและสานุศิษย์ได้วางดอกไม้จันทน์และกราบสักการะสรีระร่างของหลวงพ่อคูณ ซึ่งมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามากราบหลวงพ่อคูณและวางดอกไม้จันทน์อย่างล้นหลามจนรถติดยาวหลายกิโลเมตร

ที่สะท้อนถึงความเคารพสักการะและศรัทธาต่อ “หลวงพ่อคูณ” ที่ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าท่านเป็นเพียง “มหาเกจิแห่งเมืองโคราช” หากแต่ชื่อเสียงของท่านขจรไกลทั่วแผ่นดินไทย ที่แทบจะไม่มีใครไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามของท่าน

ความศรัทธาของประชาชนทั่วทั้งประเทศที่มีต่อหลวงพ่อคูณ ด้วยบารมีของท่านและความอยู่ในศีลในธรรมซึ่งเป็นแบบอย่างแก่สาธุชนทั้งหลาย ทำให้ผู้ที่มานมัสการมีแต่ความอิ่มบุญสุขใจและร่มเย็น

หนังสือ “ประวัติหลวงพ่อคูณ” ได้บันทึกไว้ว่า “เมื่อหลวงพ่อคูณอายุได้ 16 ปี ได้ออกจากวัดบ้านไร่ไปอยู่ในความอุปการะของน้าชายชื่อโหม น้าสะใภ้ชื่อน้อย ศิลปะชัย เป็นเวลา 2 ปี แล้วย้ายไปอยู่ในความอุปการะของน้าเขยชื่อเขียว น้าสาวชื่อทองมี พาวขุนทด เป็นเวลา 2 ปี ต่อมาย้ายไปอยู่ในความอุปการะของน้าชายชื่อพรม น้าสะใภ้ชื่อรอด ศิลปะชัย อีก 2 ปี จนอายุได้ 21 ปี จึงได้เข้าอุปสมบท”

ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจอุทิศชีวิตบวชเพื่อพระพุทธศาสนาตลอดไป หลวงพ่อคูณได้กล่าวไว้ว่า

“อันตัวกูก็ต่ำต้อยน่อยค่าอย่างนี้ ถ้าสึกออกไปจะทำประโยชน์อะไรให้คนในแผ่นดิน ลำพังการเลี่ยงตัวเองก็จะเอาตัวไม่รอด แต่การบวชเรียนถือศีลอยู่ หากมีความรู่ มีคุณธรรม อาจจะช่วยเหลือเกื้อกูลพวกเขาให่พ่นวิบากกรรมได้มากกว่า”

คุณตาศรีปราชญ์ ศิลปะชัย ได้ให้สัมภาษณ์ “น.นิพาน” ไว้ใน “หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เกจิอมตะแห่งศตวรรษ” ไว้ในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2552 ว่า

“หลวงพ่อคูณเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อท่านอายุ 60 ปีเศษ เริ่มจากการฝังตะกรุดใต้ท้องแขน ช่วงนั้นทองคงไม่แพง ลูกหลานอยากฝังท่านฝังให้ฟรี จิตใจท่านเป็นคนเอื้อเฟื้อ ท่านมีเงินท่านก็บริจาค ท่านบอกว่าไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม”

นับแต่ปี พ.ศ.2535 ที่ชื่อของ “หลวงพ่อคูณ” เริ่มขจรไกล ถนนทุกสายมุ่งมาสู่วัดบ้านไร่ ผู้คนต่างมากราบไหว้หลวงพ่อคูณอย่างไม่ขาดสาย แต่กว่าจะถึงวันนี้ชื่อเสียงของหลวงพ่อคูณได้รับการกล่าวขานมาเป็นระยะๆ เนิ่นนานแล้ว

วัตถุมงคลของท่านสร้างเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2509 เป็นรูปถ่ายขนาดเล็ก

ส่วนเหรียญพระเครื่องสร้างเมื่อ พ.ศ.2512 เป็นรุ่นแรก เมื่ออายุได้ 46 ปี และต่อจากนั้นเรื่อยมา

จนกล่าวได้ว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวัตถุมงคลมากรุ่นที่สุดรูปหนึ่งของเมืองไทย

ชื่อหลวงพ่อคูณมาโด่งดังเป็นอย่างมากเมื่อปรากฏข่าวหญิงสาวคนหนึ่งกระโดดหน้าต่างออกมาจากโรงงานเคเดอร์ที่ผลิตตุ๊กตาเกิดเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2536 โดยกำเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นสหกรณ์ ที่สร้างเมื่อปี พ.ศ.2530 ลงมาถึงพื้นในท่ายืนอย่างปลอดภัย

หรือเมื่อครั้งตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่า อ.เมือง จ.นครราชสีมา ถล่มลงมาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2536 พบว่ามีพนักงานหญิงของโรงแรมรอดชีวิต 3 คน ทั้ง 3 ล้วนต่างมีเหรียญหลวงพ่อคูณคล้องคอ ซึ่งสร้างความอัศจรรย์ใจต่อประชาชนที่มามุงดูการช่วยเหลือในวันนั้น

จนโจษขานถึงความขลังของหลวงพ่อคูณกันอย่างเซ็งแซ่และฮือฮากันทั่วไป

แต่หลวงพ่อคูณก็มักย้ำเตือนสติให้กับผู้คนที่ไปกราบไหว้และบูชาวัตถุมงคลของท่านว่า

“อย่าได้พากันประมาทและหลงงมงายเด้อ การที่พวกมึงพากันมีวัตถุมงคลติดตัว ไม่ใช่ว่าจะทำให้เราเป็นคนเก่งกล้าสามารถ นึกโอ้อวด หยิ่งยโสโอหังเรื่อยไปไม่ได้ แต่ให้ระลึกอยู่เสมอว่าพระมากับเรา พระไม่ได้อยู่กับคนชั่ว จะอยู่กับคนดี ให้นึกเสียว่า พระมากับเรา เราจะทำชั่วไม่ได้ อย่าทำตัวผิดศีลธรรม ผิดจารีตประเพณี โดยเฉพาะการกระทำที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท มีเมตตาธรรม”

ด้วยคำสอนของหลวงพ่อคูณง่ายๆ ด้วยถ้อยความแบบชาวบ้าน ด้วยถ้อยคำประเภท “กู มึง อ้าย เอ็ง มัน อี” นี่แหละที่เชื่อว่ายังซาบซึ้งและก้องในหูของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่าน

“อยากให้บ้านเราเจริญนะ ไม่ยากหรอก ตั้งอยู่ในองค์ปัญจะทั้ง 5 คือรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ ไม่ให้ขาด อย่าให้ด่างพร้อย เป็นมนุษย์สุดประเสริฐ หรือใครก็ตาม แม้แต่พระเราก็ต้องรักษาศีล 5 ถ้าไม่มีศีล 5 ประจำใจ ไม่ว่าพระรูปใดรูปหนึ่ง ก็เป็นพระไม่ได้เหมือนกัน”

นั่นเป็นอีกหนึ่งคำสอนที่หลวงพ่อคูณเคยกล่าวไว้ หรืออีกคำสอนหนึ่ง

“กูไม่มีอะไรมาก กูไม่มีอะไรจะสอนพวกมึงหรอก เพราะพวกมึงก็รู้ว่ากูพูดไม่เป็น พูดไม่เก่งเหมือนเขา เทศนาว่ากล่าวอะไรก็ไม่เป็น กูมีแต่ว่าให้ละชั่ว ทำดีกันเท่านั้นแหละ บุญบาปมีจริงลูกหลานเอ๊ย ให้เชื่อว่าบุญมีจริง บาปมีจริง ให้ละชั่ว ทำดี มีศีลธรรมประจำใจ บุญเห็นกับตา บาปเห็นกับตา รักตัวกลัวภัยอย่าทำชั่ว ให้ตั้งอยู่ในเมตตา”

และที่ยังทันสมัยอยู่อย่างคำสอนนี้

“หากมึงคิดเป็นผู้นำของแผ่นดิน องค์กรหรือครอบครัวที่ดี มึงต้องทำตัวเหมือนกระโถน ยอมรับได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเรื่องดีเลว เรื่องดีมึงเก็บไว้กับตัว เรื่องเลวมึงทิ้งไว้ตรงนั้น แม้เขาถูกหรือผิดมึงก็ต้องรับฟัง ค่อยๆ บอกให้เขาแก้ไข”

แต่แล้วหลวงพ่อคูณเกิดอาพาธเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จนวาระสุดท้ายของหลวงพ่อเมื่อ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2558 เกิดภาวะลมรั่วในปอดอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้ปอดและหัวใจหยุดทำงาน

มรณภาพอย่างสงบเมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2558

สิริรวมอายุได้ 91 ปี โดยได้ทิ้งพินัยกรรมไว้ดังนี้

1. ศพของอาตมา ให้มอบแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากมรณภาพลง เพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมอบให้ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำไปศึกษาค้นคว้าตามวัตถุประสงค์ของภาคต่อไป

2. พิธีกรรมศาสนา การสวดอภิธรรมศพ ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำพิธีสวดพระอภิธรรมศพที่คณะแพทยศาสตร์ 7 วัน ตั้งแต่ถึงวันมรณภาพลง

3. การจัดทำพิธีบำเพ็ญกุศลเมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ และห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะ โดยให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทำพิธีเช่นเดียวกับการจัดพิธีศพของอาจารย์ใหญ่นักศึกษาแพทย์ประจำปีร่วมกับอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น แล้วเผา ณ ฌาปนสถานวัดหนองแวง พระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น หรือวัดอื่นใดที่คณะแพทยศาสตร์เห็นสมควรและเหมาะสม โดยทำพิธีเผาให้เสร็จสิ้นที่ จ.ขอนแก่น

4. เมื่อดำเนินตามข้อ 3 เสร็จสิ้นแล้ว อัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมด ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำไปลอยที่แม่น้ำโขง จ.หนองคาย ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

5. ค่าใช้จ่ายและเงินอื่นใดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามนัย ข้อ 2, 3 และ 4 ให้ดำเนินการดังนี้

5.1 ค่าใช้จ่ายในการจัดงานและบำเพ็ญกุศลศพทั้งหมด ให้นำเงินที่อาตมาบริจาคให้แก่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2536 เป็นเงินเริ่มต้นในการดำเนินการจัดงานศพ ถ้าไม่เพียงพอ ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทดรองจ่ายไปก่อน

5.2 ในการจัดการและบำเพ็ญกุศลศพ ตามนัยข้อ 5.1 หากมีเงินเหลือหรือมีผู้บริจาคสมทบ ให้คืนเงินที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทดลองจ่ายไปก่อนให้เสร็จสิ้น

5.3 หากมีเงินเหลืออยู่อีกหลังจากดำเนินการตามนัย ข้อ 5.1 และข้อ 5.2 แล้ว ให้มอบแก่กองทุนพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์ (หลวงปู่เทสก์) เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมช่วยเหลือพระสงฆ์ที่อาพาธประจำหอผู้ป่วยหอสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือให้ดำเนินการอย่างอื่นตามที่อาตมา หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เห็นสมควร โดยอาตมาจะแสดงความประสงค์ให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติมแนบไว้ให้ทราบต่อไป หากไม่ดำเนินการให้ถือตามความในตอนต้นเท่านั้น

6. ให้นายอำเภอด่านขุนทด ศึกษาธิการอำเภอด่านขุนทด และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันเป็นผู้จัดการศพ มีอำนาจดำเนินการให้เป็นไปตามพินัยกรรมนี้

7. ให้ยกเลิกพินัยกรรม ฉบับวันที่ 15 กันยายน 2536 หรือฉบับอื่นใดที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ และให้ยึดถือพินัยกรรมฉบับนี้แทน

8. พินัยกรรมฉบับนี้ ต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้มีการทำสำเนาไว้อีก 3 ชุด เก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ศึกษาธิการอำเภอด่านขุนทด และนายอำเภอด่านขุนทด แห่งละ 1 ฉบับ ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2543

จากพินัยกรรมหลวงพ่อคูณที่บ่งบอกให้จัดการศพของท่านเช่นเดียวกับการจัดพิธีศพของอาจารย์ใหญ่นักศึกษาแพทย์ประจำปีร่วมกับอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น จึงได้เกิดงานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ณ ฌาปนสถานวัดหนองแวง พระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2562

โดยพิธีการจะเริ่มตั้งแต่เวลา 06.30 น. พระสงฆ์-สามเณร พร้อมญาติครูใหญ่ และแขกผู้มีเกียรติ พร้อมกันที่ศูนย์ประชุมฯ, เวลา 07.00 น. ถวายภัตตาหารเช้า, เวลา 08.45 น. แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ โดยพระพรหมมังคลาจารย์ (ธงชัย ธัมมุธโช) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 8 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ

ต่อมาเวลา 09.20 น. พระสงฆ์สวดมาติกาบังสุกุล, เวลา 09.40 น. พิธีทอดผ้าบังสุกุล, เวลา 10.30 น. ถวายภัตตาหารเพล

เวลา 13.00 น. ประธานนักศึกษาอ่านคำไว้อาลัยครูใหญ่, เวลา 13.10 น. คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข.อ่านหมายรับสั่ง, เวลา 13.20 น. อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ, เวลา 13.30 น. ผวจ.ขอนแก่น ประธานในพิธีทอดผ้าบังสกุล, เวลา 14.00 น. เคลื่อนสรีรสังขารหลวงพ่อคูณไปยังฌาปนสถาน, เวลา 15.00 น. เคลื่อนร่างครูใหญ่ไปยังฌาปนสถานตามวัดต่างๆ

จากนั้นเวลา 16.40 น. วางดอกไม้จันทน์ประทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์โสมเสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ, เวลา 16.50 น. พล.อ.ประยุทธ์เดินทางถึงฌาปนสถาน, เวลา 17.00 น. ทอดผ้าไตรบังสกุล 9 ไตร, เวลา 17.20 น. อ่านประวัติครูใหญ่หลวงพ่อคูณโดยคณบดีคณะแพทยศาสตร์, เวลา 17.30 น. ทอดผ้ามหาบังสุกุล โดยนายกรัฐมนตรี, เวลา 17.45 น. พระสงฆ์และแขกผู้มีเกียรติวางดอกไม้จันทน์

เวลา 18.00 น. พิธีขอขมาครูใหญ่หลวงพ่อคูณ และพิธีกรรมตามขนบอีสานโบราณ เวลา 22.15 น. พิธิฌาปนกิจสรีรสังขารหลวงพ่อคูณ

แม้ว่าสรีระร่างของท่านได้รับพระราชทานเพลิงไปแล้ว อัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมดได้นำไปลอยที่แม่น้ำโขง จ.หนองคาย ตามพินัยกรรม แต่เรื่องราวของหลวงพ่อคูณยังคงได้รับการเล่าขานสืบต่อไม่รู้จบเช่นพระเกจิอาจารย์เรืองนามของไทยที่ยังคงได้รับการกล่าวขานถึงอยู่เสมอๆ

และอย่างน้อยที่อยู่ในหนังสือ “อาจาริยานุสรณ์” ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) (โหลดฟรีได้ที่ https://goo.gl/cw2doS) ยังพอให้ได้ระลึกถึง

“ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมด มันยิ่งได้” หลวงพ่อคูณเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการบริจาคทาน หรือการเสียสละเพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตาม ท่านได้ดำเนินชีวิตบำเพ็ญทานบารมีอย่างจริงจังมาโดยตลอดตามแนวของพระมหาเวสสันดร

“กูให้มึงรู่จั๊กพอ”

ในวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อคูณหลายประการที่เป็นการสอนธรรมโดยอ้อม เช่น การรับเงินจากญาติโยมที่มาบริจาคให้ท่านนำไปสร้างสาธารณกุศล ท่านจะหยิบเพียงใบเดียวและเป็นใบที่มีค่าน้อยที่สุด หลวงพ่อบอกว่าที่ทำเช่นนี้เพราะ…

“กูให้มึงรู่จั๊กพอ” เพราะผู้คนหาเงินมาด้วยความยากลำบาก ยิบทั่งหม๊ดจะเป็นการเอาเปรียบหยาดเหงื่อแรงงานของญาติโยม เราต้องมีเมตตาแก่เพื่อนมนุษย์ เกิด แก่ เจ๊บ ตาย เขาให่เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น มันเป็นไปไม่ได้ อย่าเอามากหลาย หลานเอ๊ย โลภของคนเรา ร่อยล้าน พันล่าน ก็ไม่พอ ให่รู้จักว่าพอกันซักทีซิ พูดว่า “พอ” กันซักที การรับบริจาคเพียงส่วนหนึ่งของกูนี่ เป็นการเตือนสติและสอนพุทธศาสนิกชนทั่งหลายว่าให่รู่จักพอ อย่าโลภมากหรือให่ลดความโลภ ความอยากได้ของคนอื่น อย่าเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน”

“เราต้องให่เขาก่อน แล่วเขาก็จะให่เราทีหลัง”

ด้วยบารมีของหลวงพ่อคูณ เมื่อตั้งใจจะสร้างอะไร สิ่งนั้นย่อมสำเร็จ คือจะมีผู้บริจาคสมทบอย่างมากมาย เคยมีผู้สอบถามเรื่องนี้ หลวงพ่อหัวเราะพร้อมบอกว่า… “เราต้องให่เขาก่อน แล่วเขาก็จะให่เราทีหลัง และเมื่อเราได้รับการบริจาคมาแล้ว เราควรที่จะทำตัวให่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ใช่หวังเก๊บหวังรวยแต่อย่างเดียว มันไม่ใช่วิสัยของเพศสมณะ เมื่อเขาเห็นเรานำไปทำประโยชน์ เขาก็ยิ่งแต่จะมาช่วยเรา ถ้าเราไม่นำไปทำบุญให่เขาต่อ เขาจะได้บุญอะไร”

และอีกหลายคำสอน แต่ยามนี้ให้นึกถึงคำอวยพรปีใหม่ พ.ศ.2538 ของหลวงพ่อคูณยิ่งนัก

“กูขอให้บอกว่าคนไหนไม่มีผัว ก็ขอให้มีผัวในปีนี้ คนไหนไม่มีเมีย ก็ขอให้มีเมียในปีนี้ ขอให้ลูกหลานทุกคนร่ำรวย อย่าผิดศีลกัน ฝนฟ้ามันจะแล้ง บ้านเมืองจะมีภัยพิบัติ ขอให้ช่วยกันปลูกป่าทุกประเภท อย่าตัดไม้ทำลายป่า ขอให้รักและสามัคคีกัน”

หลายปีที่ผ่านมาของบ้านเมือง ผู้คนหันหน้ากะพริบตามองกัน หรือเพราะผู้คนผิด “ศีล” กัน