มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ อยู่อย่างรู้ “คุณค่า” ในตัวเอง หรือ “ไร้ค่า” บนโลกใบนี้

การรู้คุณค่าในตัวเอง หรือ “ความหมายของการมีชีวิตอยู่” (ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า อิคิไก) ว่าทำสิ่งใดแล้วมีความสุข หลับตื่นพร้อมลุกขึ้นมาทำสิ่งนั้น

เหมือนอย่างที่คุณปู่จิโร่มือปั้นซูชิชื่อดัง รู้คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ความหมายของชีวิตมีเพียงหนึ่งเดียวคือการทำซูชิ

คุณปู่จะตื่นแต่เช้ามืดไปจ่ายตลาดเอง พิถีพิถันทุกรายละเอียด ขนาดและความบางในการแล่เนื้อปลาให้พอดีคำ

จิตวิญญาณแฝงฝังอยู่ในทุกขั้นตอนการปั้นซูชิก่อนยื่นส่งให้ลูกค้ารับประทาน

จนเรียกได้ว่าการทำซูชิของคุณปู่กลายเป็นลมหายใจเข้าออกของชีวิต

ฉันใดก็ฉันนั้น เคโกะ ฟุรุคุระ พนักงานร้านสะดวกซื้อ ตัวละครในนวนิยาย “มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ” ผลงานของ “มุราตะ ซายากะ” (เจ้าของรางวัลอาคุตะกาวะประจำปี 2016) เธอฟังเสียงหัวใจตัวเองมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำงานตอนอายุ 18 ปีว่า “คุณค่า” ของการมีชีวิตอยู่ของเธอคือพื้นที่ในร้านสะดวกซื้อ

แม้ในสายตาของคนใกล้ตัว ทั้งพ่อแม่ น้องสาว ผองเพื่อนสมัยเรียนจะมองคุณค่าการทำงานพิเศษนี้ของเธอต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไปที่คนวัย 36 ปีอย่างเธอยังเป็นเพียงแค่พนักงานพิเศษ เป็นสาวโสด และออกมาเช่าห้องอยู่คนเดียว

คุณค่าที่เธอมองตัวเองแล้วมีความสุข

กับคุณค่าที่คนอื่นมองเธอ

จึงเป็นไม้บรรทัดที่ต่างกัน

เคโกะอาจเป็นคนมี “ความคิดที่ประหลาด” ในสายตาคนอื่น แต่สิ่งที่เธอคิดและพูดก็ออกมาจากความซื่อบริสุทธิ์โดยแท้

อย่างตอนเด็กที่มีนกตายที่สนามเด็กเล่น เคโกะถือมันไปหาแม่ของเธอที่กำลังนั่งคุยอยู่กับเพื่อนบ้านแล้วบอกว่าจะเอานกที่ตายตัวนี้ไปย่าง เพราะเห็นว่าพ่อชอบกินไก่ย่าง?

หรืออย่างสมัยประถมเพื่อนทะเลาะกัน เพื่อนคนหนึ่งบอกให้ทั้งสองคนหยุด แต่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมลดราวาศอกกัน เคโกะเดินไปหยิบพลั่วมาตีหัวเพื่อนทันที จนเธอต้องโดนเชิญผู้ปกครอง

ซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่แม่ต้องถูกเชิญมาโรงเรียนด้วยพฤติกรรมที่แปลกประหลาดของเธอ

แต่เคโกะเองกลับมองว่าสิ่งที่เธอคิดแล้วลงมือทำเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งปกติสำหรับเธอกลับกลายเป็นสิ่งไม่ปกติในสายตาของคนอื่น

หลังจากนั้น เธอจึงเริ่มระวังตัว คิดอยู่ในหัว และพูดน้อยลง เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นคนแปลกแยกจนเกินไป

เช่น ในตอนหนึ่งเธอพูดกับตัวเองว่า

“แม้ว่าพ่อกับแม่จะสับสนจนทำอะไรไม่ถูก แต่พวกท่านก็ยังรักและเอ็นดูฉัน ฉันไม่ได้มีเจตนาจะทำให้พ่อกับแม่เศร้าเสียใจหรือต้องไปขอโทษผู้คนมากหน้าหลายตา จึงตัดสินใจปิดปากเงียบเท่าที่ทำได้เมื่ออยู่นอกบ้าน ฉันหยุดทำตามความคิดตัวเองโดยสิ้นเชิง แล้วเลือกเลียนแบบไม่ก็ทำตามคำชี้แนะของใครสักคนอย่างใดอย่างหนึ่ง” (หน้า 14)

การเป็นส่วนหนึ่งในสังคมหรือการ “อยู่ให้เป็น” ให้เหมือนกับคนอื่นๆ นั้น จึงเป็นสิ่งที่เคโกะต้องปรับและเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองด้วยการเฝ้าสังเกตคนอื่นๆ หรือเพื่อนร่วมงานในร้านสะดวกซื้อด้วยกัน เพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ถูกมองเป็นคนแปลกแยก

แม้กระทั่งเรื่องการแต่งตัว กระเป๋า รองเท้า ตัวเธอเองยังต้องลอกเลียนแบบ (แอบส่องของคนอื่นแล้วไปซื้อตาม) เพื่อให้ตัวเองรู้สึกหายใจทั่วท้องว่าได้เป็น “มนุษย์ปกติ” คนหนึ่ง

“ผู้ที่สร้าง “ตัวฉัน” ให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างในตอนนี้ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนที่อยู่เคียงข้างฉัน สามสิบเปอร์เซ็นต์คือคุณอิซุมิ อีกสามสิบเปอร์เซ็นต์คือคุณซุงาวาระ ยี่สิบเปอร์เซ็นต์คือผู้จัดการร้าน

และส่วนที่เหลือถูกประกอบขึ้นจากการซึมซับคนอื่นๆ ในอดีต อย่างเช่น คุณซาซากิที่ลาออกไปเมื่อครึ่งปีก่อน และโอคาซากิคุงที่เคยเป็นหัวหน้าจนถึงเมื่อหนึ่งปีก่อน โดยเฉพาะวิธีพูดคุยซึ่งถ่ายทอดมาจากคนใกล้ตัว จนตอนนี้วิธีพูดของคุณอิซุมิกับคุณซุงาวาระได้ผสมผสานกลายเป็นวิธีพูดของฉัน” (หน้า 29)

ซึ่งในหลายๆ กรณี เราจะเห็นเคโกะพยายามละลายพฤติกรรมตัวเอง และยึดมาตรฐานตามแบบอย่างที่สังคมกำหนด

โดยเฉพาะค่านิยมที่มนุษย์ปกติมักจะทำสืบต่อกันมา ไม่ว่าจะการเป็นลูกที่ดีของครอบครัว เรียนหนังสือจบ ทำงานประจำ แต่งงานและมีลูก สร้างครอบครัวเหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ มนุษย์ที่ไม่เดินตามเส้นทางนี้ เมื่ออายุมากแล้วยังไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่งจะถูกสังคมพิพากษาทันทีว่า “ไร้ค่า”

เคโกะก็เป็นคนหนึ่งที่เพื่อนๆ ต่างพากันเป็นกังวล เพราะทุกคนต่างมีครอบครัวและทำงานประจำ แต่เคโกะอายุตั้ง 36 ปีแล้ว ยังเป็นพนักงานพิเศษ สาวโสด เช่าห้องอยู่ลำพัง ยังไม่แต่งงานมีครอบครัว

แม้แต่ “มามิ” น้องสาวของเคโกะที่อายุห่างกันสองปีก็ยังแต่งงานมีลูกแล้ว ยังรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยพี่สาวของตัวเองที่สมัยเด็กคอยปกป้องเธอมาตลอด

เคโกะจึงรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่ในร้านสะดวกซื้อมากกว่าออกมาสู่สังคมภายนอก สังคมที่ถูกจ้องมองและต้องถอดแบบทำตามเหมือนกันหมด

หลายครั้งเมื่อออกจาก “พื้นที่ปลอดภัย” เธอจึงรีบอยากกลับร้านสวมเครื่องแบบพนักงานร้านสะดวกซื้อแทบทันที

ในร้านสะดวกซื้อที่ “เพิ่งฉลองครบรอบวันที่ 1 พฤษภาคม ครั้งที่ 19 ไปเมื่อวานนี้เอง ตั้งแต่ตอนนั้นก็ผ่านมา 157,800 ชั่วโมงแล้ว ฉันอายุสามสิบหก ทั้งร้านและตัวฉันในฐานะพนักงานอายุสิบแปดปี พนักงานที่เรียนด้วยกันในการฝึกอบรมวันนั้นไม่เหลือแม้แต่คนเดียว ผู้จัดการร้านก็เป็นคนที่แปดแล้ว แม้แต่สินค้าในร้านเองก็ไม่มีของในวันนั้นเหลือเลยสักอย่างเดียว แต่ฉันก็ยังคงเป็นพนักงานในร้านไม่เปลี่ยนแปลง” (หน้า 23)

ซึ่งนอกจากจะไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว ภายในร้านสะดวกซื้อกับตัวเธอยังหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เคโกะจึงน่าจะเป็นคนที่รู้ในคุณค่าของตัวเองได้ดีกว่าคนอื่นว่าตัวเธอมีความสุขกับอะไรและทำสิ่งไหนได้ดีเราจะเห็นว่าคนที่หลงใหลอะไรสักอย่างมักจะมีแรงปรารถนาหรือพลังขับเคลื่อนหมุนเวียนอยู่กับสิ่งนั้นจนหลงลืมเวลาและคิดถึงสิ่งนั้นอยู่ตลอดเวลา หายใจเข้าออกอยู่กับสิ่งที่ตัวเองสนใจและทำสิ่งนั้นอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ

เคโกะฟังเสียงหัวใจตัวเอง เธอจึงเลือกอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ที่ดูไม่สลักสำคัญในสายตาของคนอื่น แต่สำหรับเธอแล้ว มันมีคุณค่า มีความหมายต่อชีวิตและการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเธออย่างเต็มภาคภูมิในฐานะมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งของสังคม

ตรงนี้จึงแตกต่างกับอีกหนึ่งตัวละครขั้วตรงข้ามอย่าง “ชิราฮะ” พนักงานร้านสะดวกซื้อคนใหม่อย่างเห็นได้ชัด

แม้บทบาทของตัวละครตัวนี้จะมีหลักการน่าฟังอย่าง “สมเหตุสมผล” ให้ศึกษาและตั้งคำถามให้ขบคิดต่อถึงสิทธิการเลือกใช้ชีวิตของคนคนหนึ่ง

แต่ความสมเหตุสมผลเหล่านั้นของชิราฮะ ก็มาทำนอง “ท่าดีทีเหลว” ที่แสดงให้เห็นพฤติกรรมมนุษย์คนหนึ่งว่าเมื่อไม่เห็น “คุณค่า” ของตัวเอง มนุษย์ก็จะลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าของตัวเองลง และมีชีวิตอยู่อย่าง “ไร้ค่า” และไม่มีความหมายใดอย่างแท้จริง

เมื่อเจอกันครั้งแรก เคโกะ (ที่มักชอบเก็บรายละเอียดผู้คนเข้าออกในชีวิตอยู่แล้ว) ก็ประเมินชิราฮะจากรูปลักษณ์ภายนอกที่มองเห็นทันที

“ชายหนุ่มที่เหมือนไม้แขวนเสื้อทำจากลวดรูปร่างสูงชะลูดน่าจะเกินหนึ่งร้อยแปดสิบเซนติเมตรเดินก้มหน้าเข้ามา ทั้งที่ตัวเองก็เหมือนลวดอยู่แล้ว ยังจะสวมแว่นตาที่เหมือนลวดสีเงินเกาะเกี่ยวบนใบหน้าอีก…ร่างที่ราวกับผิวหนังติดกระดูกของคุณชิราฮะทำให้ฉันตกใจไปชั่วขณะ” (หน้า 45-46)

และเมื่อสอนงานในร้านให้เขาอย่างใจเย็น เขาก็ทำอย่างขอไปที จนเพื่อนร่วมงานพากันเอือมระอาว่าทำงานไม่เป็นระเบียบ แถมยังเล่นโทรศัพท์ในเวลางาน เข้างานสาย ชอบโดดงาน

ที่สำคัญเขาชอบดูถูกงานที่ตัวเองทำว่าเป็นงานต่ำ ไม่มีคุณค่า ไม่กี่วันก็โดนให้ออกจากงาน เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “โดนไล่ออกจากงานพิเศษร้านสะดวกซื้อตอนอายุเท่านั้น (35ปี) เนี่ยจบเห่แล้ว ไปตายอยู่ข้างถนนทั้งอย่างนั้นเลยก็ดี!” (หน้า 72)

ไม่ต่างจากก่อนหน้านั้นที่พฤติกรรมไม่เอาถ่านของชิราฮะถูกพูดถึงทำนองว่า “ชีวิตจบสิ้นสินะคะ ไม่ไหวแหละแบบนั้น เป็นภาระสังคมเนอะ มนุษย์เนี่ยน้า การอยู่ในสังคมโดยการทำงานหรือมีครอบครัวถือเป็นหน้าที่นะ” (หน้า 62)

แม้จะฟังแล้วรู้สึกสะท้อนใจว่าทำไมสังคมญี่ปุ่นถึงเข้มงวด จริงจัง จนคนคนหนึ่งไม่หลงเหลือคุณค่าความเป็นคนในสายตาของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเลย

แต่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า การที่มนุษย์คนหนึ่งลดคุณค่าในตัวเอง ดูถูกงานที่ทำ ก็ไม่ต่างจากกระจกส่องสะท้อนเงาตัวเองว่า “คิดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น” เราจะเลือกอยู่อย่างมีคุณค่าหรืออยู่อย่างไร้ค่า อยู่ที่ความคิดของเราเป็นผู้กำหนดตัวเองทั้งสิ้น

ชิราฮะจึงเป็นตัวละครที่แสดงให้เห็นผ่านทางร่างกายที่ผอมโกรก ความดื้อรั้น และความคิดที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงของเขา

“ถ้าออกไปข้างนอกชีวิตของผมจะโดนย่ำยีอีก เป็นผู้ชายก็ต้องทำงานแล้วแต่งงานซะ ถ้าแต่งงานแล้วก็ต้องหาเงินให้ได้มากขึ้น มีลูกซะ เป็นทาสของชุมชน โดนชุมชนสั่งให้ทำงานตลอดชีวิต กระทั่งลูกอัณฑะของผมยังเป็นของชุมชนเลย แค่ไม่มีประสบการณ์ด้านเซ็กซ์ ก็โดนปฏิบัติอย่างกับผมใช้อสุจิไปอย่างเปล่าประโยชน์…ผมไม่อยากทำอะไรอีกเลยตลอดชีวิต อยากจะหายใจเฉยๆ โดยไม่ต้องโดนใครมาก้าวก่ายไปตลอดชีวิตจนกระทั่งตาย ผมหวังแค่นั้นแหละ” (หน้า 102-103)

(ฉากที่ชิราฮะลดทอนคุณค่าตัวเองจาก “มนุษย์” เป็น “สัตว์น่าเวทนาตัวหนึ่ง” ที่พอใจจะขังตัวเล่นแท็บเล็ตอยู่ในอ่างอาบน้ำและให้คนยกอาหารมาให้เมื่อเวลาหิวเพียงเท่านั้น สะท้อนความป่วยไข้ที่เรียกว่าโรค “ฮิคิโคโมริ” ของสังคมญี่ปุ่นได้อย่างเห็นภาพ)

ทั้งที่ความเป็นจริง ถ้าชิราฮะได้ลองเปิดใจรับฟัง “เสียง” หัวใจของตัวเองเหมือนอย่างเคโกะดูบ้าง เสียงที่สั่นไหวไหลเวียนผ่านร่าง เสียงที่บอกถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ มีคุณค่าต่อโลกใบนี้ ว่าเราอาจไม่เดียวดายและไร้ค่าจนเกินไป

โลกใบนี้มียังมีที่ว่างให้เสมอสำหรับทุกคน เขาอาจจะมองเห็นคุณค่าในตัวเอง