“นักดนตรีแห่งทาการาสุกะ” เสียงเพลงจากเรื่องสั้นของเสนีย์ เสาวพงศ์ ที่ก้องกังวานหัวใจอาจินต์ ปัญจพรรค์

ปีพุทธศักราช 2561 ที่เพิ่งพ้นผ่านไป ได้ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับแวดวงวรรณกรรมและนักเขียนมากมายพอดู

ตัวอย่างซึ่งมิอาจละเลยเอ่ยถึง เฉกเช่น วาระครบรอบศตวรรษแห่งชาตกาลของเสนีย์ เสาวพงศ์ ช่วงเดือนกรกฎาคม

และข่าวคราวมรณกรรมอันน่าเศร้าในเดือนพฤศจิกายนของอาจินต์ ปัญจพรรค์

ด้วยสองกรณีดังกล่าวนั่นละครับ ทำให้ผมหยิบหนังสือที่มีเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งมาพลิกอ่านอีกหน เรื่องสั้นชื่อว่า “นักดนตรีแห่งทาการาสุกะ” ผลงานประพันธ์โดยเสนีย์ เสาวพงศ์

เมื่ออ่านแล้วก็เลยอยากจะเล่าต่อสู่สายตาคุณผู้อ่านขึ้นมาครามครัน

อาจินต์ ปัญจพรรค์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาชอบเรื่องสั้นเรื่องนี้ของเสนีย์ยิ่งนัก

ที่ชอบก็เพราะหลงใหลสำนวนภาษาจนจดจำแม่น

ดังอาจินต์ยกตัวอย่างถ้อยความที่จู่จับหัวใจเขามิรู้ลืม คือ

“เสียงควายสลัดเขาถูกไม้คอกเมื่อถูกยุง ละม้ายเสียงกระดูกสันหลังของชาวนาลั่นเวลาแบกกล้า”

และ

“เสียงปลาฮุบเหยื่อในบ่อ เหมือนกับเสียงวัตถุที่ตกจากมืออันสั่นเทาของนักย่องเบาที่เพิ่งเริ่มริ”

อาจินต์อ่าน “นักดนตรีแห่งทาการาสุกะ” หนแรกตอนอายุ 16 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นเตรียมสอง หรือเทียบเท่ากับ ม. 8 ในยุคต่อมา

ขณะเสนีย์ผู้เขียนนั้น อายุราวๆ 25 ปี

งานเขียนนี้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารนิกรวันอาทิตย์ ที่มีบรรณาธิการนามสุภา ศิริมานนท์ ออกเผยแพร่ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งพวกทหารญี่ปุ่นกำลังเดินตบเท้าลากดาบซามูไรทั่วกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ดี ในท้องเรื่องน่าจะสะท้อนภาพบรรยากาศประเทศญี่ปุ่นและเมืองไทยก่อนสงครามโลกอุบัติ

ครับ งานเขียนเกี่ยวกับญี่ปุ่นในแง่งามลักษณะนี้หมดห่วงเรื่องถูกเซ็นเซอร์สมัยนั้นอยู่แล้ว

ทาการาสุกะ (Takarazuka) คือชื่อเมืองในจังหวัดเฮียวโงะ (Hyogo) มีชื่อเสียงเลื่องลือทางด้านดนตรีและละครเพลง เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสำนักเรียนดนตรีและโรงละคร

เมืองแห่งนี้แหละคือฉากสำคัญที่เสนีย์ผูกเรื่องให้ตัวละครชายหนุ่มจากเมืองไทย จากทุ่งรังสิต ไปโลดแล่นชีวิตชีวา

“นักดนตรีแห่งทาการาสุกะ” เปิดเรื่องด้วยภาพเคลื่อนไหวของตัวละครที่สะท้อนสุนทรียะทางด้านดนตรี

“มือที่ถือหวายเรียวเล็กขัดเป็นเงางามได้ยกสูงขึ้น แล้วหวดเขวี้ยวลงไปในอากาศ เขาตวัดมันขึ้นมาใหม่ แล้วหวดซ้ำลงไปอีก ดวงตาของเขาเบิกกว้างและลอยคว้างอย่างเคลิ้ม ร่างท่อนบนของเขาอ่อนโยน โอนเอนไปเป็นจังหวะ บางครั้งมือซ้ายได้ถูกยกขึ้นมาประกอบกิริยาร่วมกัน ภายในห้องแคบๆ ของเรือนปั้นหยาหลังหนึ่งซึ่งเป็นแบบที่เห็นอยู่ทั่วไป ตามหมู่บ้านชาวนาที่มีฐานะพอมีอันจะกินในตำบลคลองรังสิตนั้นเงียบสงบ ไม่มีเสียงใดๆ ดังลอดหน้าต่างและชายคาซึ่งตากแดดสีเหลืองของตะวันเย็นออกมาภายนอก แต่หูของเขาคนเดียวเท่านั้นที่ได้ยินเสียงเจื้อยแจ้วกังวานอยู่อย่างไพเราะและครื้นเครง เสียงดนตรีจำพวกสตริงแผ่วโผยลง เมื่อมือซ้ายของเขาขึ้นมาในระดับเป็นมุมฉากกับคิ้ว กระพือเนิบๆ เหมือนปีกของเหยี่ยวที่บินเอื่อยอยู่ในลมบน แต่เสียงดนตรีจำพวกบร๊าซดังกระหึ่มอยู่ในจังหวะกระชั้น เมื่อเขาหวดหวายเล็กลงอย่างหนักหน่วง แต่ตวัดขึ้นลงในช่วงสั้นๆ แหวกอยู่ในอากาศ ดวงตาของเขาเบิกกว้างขึ้นและลอยเคว้งคว้างขึ้นอีก…เมื่อเขาหวดหวายลงในครั้งที่สุด เขารู้สึกว่าหูของเขาพร่า หัวใจเต้นแรง เสียงใหม่ประดังก้องเข้ามาในหูเขาคล้ายกับเสียงปรบมืออย่างอึกทึกอื้ออึงดังประสานต่อท้ายเสียงอันเจื้อยแจ้วไพเราะนั้น…”

อรรถ คุโนปกรณ์ เป็นนักดนตรีและเจ้าของผืนนากลางทุ่งรังสิต

หากชายหนุ่มได้ตัดสินใจขายที่ดินของตนซึ่งเพิ่งรับมรดกตกทอดมาเพียงปีเดียวเท่านั้น เพื่อจะนำเงินก้อนไปเรียนวิชาดนตรีขั้นสูงเพิ่มเติมที่เมืองทาการาสุกะ

และหมายใจว่าในกาลข้างหน้าตนจะกลับมาเป็นนักดนตรีคนสำคัญของเมืองไทย เป็นผู้ให้จัง

เธอกล่าวว่า

“นอบเสียดายเหลือเกิน ถ้าพี่จะขายมันเสียจริงๆ เราเกิดและเติบโตขึ้นมาเหนือพื้นที่สองผืนนี้…ของพี่และของฉัน ซึ่งผู้ใหญ่ของเรา เมื่อก่อนท่านจะสิ้นบุญ ได้แสดงความปรารถนาไว้ที่จะเห็นมันรวมเป็นผืนเดียวกันเสีย และเราก็เคยมีความปรารถนาเช่นนั้น…”

ค่อนข้างชัดเจน น้ำเสียงของนอบบ่งชี้นัยยะความสัมพันธ์ต่ออรรถเหนือไปกว่าผู้หญิงอื่นใด แต่กระนั้น ความมุ่งมั่นที่จะไปญี่ปุ่นของชายหนุ่มมีหรือจะลดราวาศอก เขาอ้างว่า

“ถ้าพี่ยังเกาะแน่นอยู่กับที่ดินที่นี่ พี่ก็หาได้ทำประโยชน์ใดๆ ให้เกิดขึ้นไม่ นอกจากให้เขาเช่าหรือทำเสียเอง โดยการจ้างลูกจ้างทำทั้งหมด พี่ก็คงจะครองอาชีพอยู่ได้ไปชั่ววันหนึ่งๆ จากเงินเดือน ค่าจ้างสอนดนตรีบ้าง ค่าเช่านาบ้าง ตราบจนกระทั่งถูกเวลาไล่ต้อนไปยืนอยู่ที่ปากหลุมฝังศพ รำพึงถึงความโง่เขลาของตน ที่เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง หามีค่าเกินคนธรรมดาสามัญคนหนึ่งไม่”

มิหนำซ้ำ การเดินทางไปสู่ความฝันของอรรถยังได้รับแรงสนับสนุนจากคุณหญิงผู้มั่งคั่งที่เขาเป็นครูสอนดนตรีให้แก่บุตรสาว เธอชื่อว่าขจิต คุณแม่ของเธอจะส่งไปเรียนวิชาการเรือนที่ญี่ปุ่นด้วย ไปพร้อมกันกับนักดนตรีหนุ่มจากทุ่งรังสิตนั่นแหละ

นอบ แม่สาวชาวทุ่งรู้ดีทีเดียว การที่อรรถจะไปญี่ปุ่นกับขจิตย่อมจะอวลกลิ่นอายบางอย่าง

แม้นักดนตรีหนุ่มเอ่ยปฏิเสธข้อนี้ และอ้างถึงความใฝ่ฝันทะเยอทะยานของตนล้วนๆ อันไม่เกี่ยวข้องเสียหรอกในกรณีที่คุณหญิงยินดีอุปถัมภ์เนื่องด้วยจะยกลูกสาวให้

แต่นอบก็ตระหนัก “ฉันรู้หรอกว่าเขารักพี่” น้ำเสียงเครือยังต่อไปอีก “พ่อแม่เขาก็เต็มใจ” และเมื่อหนุ่มทุ่งรังสิตได้ใกล้ชิดลูกศิษย์สาวในต่างแดนก็จะยิ่งรักเธอทบทวีขึ้น ครอบครัวของขจิตได้ให้โอกาสและให้อนาคตรุ่งเรือง

แต่ผู้หญิงอย่างนอบเล่า มีเพียงความรักซึ่งมิอาจให้อะไรน่าพึงใจแก่อรรถเลย

ถึงชายหนุ่มจะพูดย้ำ “พี่รักนอบ”

ก็ทุ่งรังสิตมิใช่หรือที่ได้สร้างให้เขาเป็นศิลปิน เพราะ “หูแห่งวิญญาณของเขาได้แนบอยู่กับแผ่นดินท้องนามาช้านาน เขาได้ยินเสียงรำพึงของคู…เสียงร้องของนก…เสียงแตกของกระบิดินที่ถูกหัวพานไถ…เสียงงอกของต้นข้าวใต้พื้นดิน…เสียงเหยียดตัวของผู้หญิงในกลางดึก…เสียงถอนหายใจของคนที่เป็นหนี้ และเสียงของความไม่สงบต่างๆที่เกิดขึ้นเหนือและใต้พื้นดินอันสงบนิ่งนั้นทุกวี่วัน”

ทุ่งรังสิตยังส่งเสียงต่างๆ นานาประหนึ่งมนต์เพลงกล่อมเกลาเขา แม้ในยามทุ่งเงียบสงบสงัดก็ตามที ตรงจุดนี้ เสนีย์บรรยายอย่างเข้าถึงอรรถรสอารมณ์ว่า

“…ในอากาศของท้องทุ่ง เขาสามารถเทียบเสียงต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ เสียงควายสลัดเขาถูกไม้คอกเมื่อถูกยุง ละม้ายเสียงกระดูกสันหลังของชาวนาลั่นเวลาแบกกล้า เสียงร้องของจิ้งหรีดเรไรที่คร่ำครวญต่อราตรีที่เป็นใบ้ ไม่ผิดอะไรกับเสียงร้องของเด็กไม่มีพ่อในครรภ์ต่อมนุษยธรรมที่หูหนวก เสียงปลาฮุบเหยื่อในบ่อ…เหมือนกับเสียงวัตถุที่ตกจากมืออันสั่นเทาของนักย่องเบาที่เพิ่งเริ่มริ เสียงใบไม้ที่พลัดตกจากต้น เหมือนกับเสียงสายธนูเก่าๆ ขาดออกเมื่อถูกน้าว ธรรมชาติที่เห็นประจักษ์และที่ซ่อนเร้นของท้องนารังสิตนี้เอง ได้ทอสายใยแห่งศิลปะทับลงบนหัวใจของเขาซ้อนๆ กันวันแล้ววันเล่า มันจับจิตจับใจอย่างดื่มด่ำ มันสร้างหัวใจดวงใหม่ขึ้นในทรวงอกของเขา…หัวใจแห่งศิลปิน!”

ความปรารถนาของผู้บิดาที่จะให้ชายหนุ่มเลือกเรียนรู้วิชากสิกรรมไม่เป็นผล เขารักท้องนาโดยแท้ แต่ไม่เคยนึกพิสมัยการทำนา

ทุ่งรังสิตหล่อหลอมให้เขาเป็นนักดนตรี มิใช่ชาวนา มิพักต้องสงสัย อรรถ คุโนปกรณ์ ไม่ปล่อยให้เสียงสะอื้นของนอบขัดวาสนาที่เขาจะได้ไปสู่สำนักดนตรีแห่งเมืองทาการาสุกะ

หัวใจของเขายอมรับการถูกชักจูงด้วยน้ำคำทำนองร้องเชิญชวนของแม่สาวชาวพระนครเยี่ยงขจิต

บนดาดฟ้าเรือ “บางกอกมารู” ที่ถอนสมอออกจากเมืองไทยและกำลังแล่นลำอยู่ในทะเลจีน อรรถกระซิบบอกแก่ขจิตว่า

“จิตเป็นดาวเหนือแห่งการเดินทาง ชีวิตของพี่ถ้าไม่มีจิต พี่คงจะวกวนอยู่ในทะเลอันมืด และคงจะแตกดับก่อนที่จะถึงความสำเร็จที่ปลายทางสุดท้าย”

ขณะที่นอบในความรู้สึกเขานั้น

“…ดูเหมือนว่าภาพของหล่อน ถ้าไม่ได้ลูกไฟแห่งความทะเยอทะยานที่ลุกโพลงอยู่ในหัวใจของเขาเผามอดไปให้หมดสิ้นแล้ว ก็คงเป็นเพราะภาพของหล่อนได้ฝังจมลึกลงไปในหัวใจของเขา…ลึกอย่างสาบสูญ สุดที่จะรื้อฟื้นมาสู่ความทรงจำของเขาได้อีก ในวันที่เขาโลดเต้นอยู่ด้วยมนต์ของเพลงแห่งทาการาสุกะเหล่านี้”

ภายหลังจากดอกซากุระบานสะพรั่งได้ร่วงโรยลงไปหมดสิ้น จวบจนเวลาได้เวียนมาถึงการผลิดอกใหม่อีกรอบหนึ่ง ในที่สุด อรรถ คุโนปกรณ์ ผ่านการบ่มเพาะจากสำนักดนตรีในโรงละครทาการาสุกะ และได้ก้าวขึ้นไปสู่ยอดนักดนตรีเอกจากทุ่งรังสิตที่กำลังถูกจับตามองในกรุงโตเกียว

ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยเสียงเพลง

เสนีย์ เสาวพงศ์ นำผู้อ่านไปดื่มด่ำกับบรรยากาศมหานครโตเกียวด้วยการร้อยเรียงให้เข้ากับอารมณ์ตัวละครหนุ่มจากเมืองไทย

“วันแล้ววันเล่า ตัวของเขาห้อมล้อมอยู่ด้วยเพลง…เพลง…เพลง…! จากถ้วยกาแฟเช้าไปจนถึงตะเกียบ หรือมีดกับส้อมในบางครั้งของอาหารมื้อค่ำ ตลอดไปจนเวลาที่เท้ากระดิกเป็นจังหวะอยู่ใต้ผ้าห่ม ทุกนาทีของเขาเป็นเพลงทั้งสิ้น ชีวิตในเมืองใหญ่ที่สับสนชุลมุน ถนนที่คนเดินเหมือนมดในกินซ่า…ตึกรามที่ตั้งเป็นแท่งใหญ่มหึมาในมารู-โนะ-อูจิ…สวนสาธารณะที่กว้างใหญ่ร่มรื่น เช่น ฮิบิยา และอูเอโน่…ได้ให้ความรู้สึกนึกคิดแปลกๆ ใหม่ๆ แก่เขา เขายืนฟังเสียงจอแจและอึกทึกครึกโครมของสี่แยกกินซ่าได้อย่างเพลิดเพลิน เหมือนกับดูห่านขาวที่ไซ้ปีกขนริมสระน้ำอันสงบในฮิบิยาปาร์ก เขาได้ยินเสียงซ่อนเร้นของธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น…แปลก..ประหลาด และน่าพิศวง!”

ตัวละครเอกในเรื่องสั้นนี้คงจะสดชื่นหทัยไปไม่สิ้นสุด ถ้าหากเสนีย์ไม่อนุญาตให้ตัวละครชายอีกคนโผล่เข้ามาในร้านโตโฮกริลล์รูมชั้นใต้ถุนของทาการาสุกะ

ขจิตเคยแวะมาหาอรรถเพียงตัวคนเดียวเสมอ แต่หลังกลับจากตากอากาศฤดูร้อนคราวล่าสุด เธอควงหนุ่มคนหนึ่งมาด้วย เขาชื่อภพ เป็นลูกผู้ร่ำรวยเงินตรา รูปร่างแบบนักกีฬา ส่วนเขามีนามสกุลอะไรนั้น นักดนตรีจากทุ่งรังสิตก็หูพร่าไปหมดตอนขจิตแนะนำ

เธอว่าภพเป็นเพื่อนใหม่ที่นำความสนุกสนานมาสู่เธอยิ่งนัก

ขจิตมาเยี่ยมอรรถ แต่หญิงสาวดูจะเอาใจใส่ภพทุกขณะจิตเสียยิ่งกว่า แม้เธอจะบอกชายหนุ่มนักดนตรีว่าอย่าคิดเป็นอื่น ให้วางใจเธอเถอะ

ฤดูหนาวถัดต่อมา นามอรรถ คุโนปกรณ์ หอมฟุ้งขจรขจายทั่วกรุงโตเกียว คนหนุ่มจากทุ่งรังสิตประพันธ์เพลงไทยเป็นเพลงเอกถึงสามเพลง ได้แก่ เพลงมาร์ช “บางระจันประจัญบาน” ที่แต่งขึ้นเร้าใจให้ฮึกเหิมโดยหมายจะให้เทียบเท่าเพลง Wir fliegen gegen Engeland ของ Einsatz der Luftwaffe (บทเพลงแห่งกองทัพเยอรมนีที่โด่งดังมากช่วงปีคริสต์ศักราช 1939-1940) รวมถึงเพลงวอลซ์ อย่าง “พิมาย…พิลาป” อัน “เต็มไปด้วยเสียงที่ซ่อนเร้นของธรรมชาติเหนือซอกอิฐซอกปูนอันเก่าคร่ำคร่าของปราสาทหิน ความงามสง่าที่ร่วงโรย” และเพลง “อุทยานแห่งอโยธยา” ที่ชวนให้สำราญรมย์

วันที่นักดนตรีหนุ่มชาวทุ่งรังสิตจะควบคุมวงออเครสตร้าบรรเลงบทเพลงทั้งสามในโรงละครแห่งโตเกียว

ขจิตเคียงข้างมากับภพเพื่อมาร่วมยินดีต่อความสำเร็จ

อรรถได้บอกกับอดีตลูกศิษย์สาวของเขา “พี่เล่นเพลงทั้งสามของพี่นี้เพื่อจิต” พร้อมกับแจ้งอีกว่าเขาไม่เซ็นสัญญาที่จะเป็นนักดนตรีต่อไปในญี่ปุ่นและกำลังจะกลับเมืองไทย

ครั้นหญิงสาวทัดทานโดยอ้างว่าทำไมไม่อยู่เป็นเพื่อนเธอต่อ

เขาจึงเผยความในใจที่ทำให้เธอตัวสั่นเทิ้ม ใช่! เขารู้ดี ขจิตหลงลืมสิ่งที่เรียกว่าความรักต่อกันไปแล้ว เธอกำลังเพลิดเพลินสานสัมพันธ์กับผู้ชายคนใหม่อย่างเปรมปรีดิ์

แล้วจะให้เขากล้ำกลืนฝืนช้ำร่ำไปได้เยี่ยงไร

เสนีย์ เสาวพงศ์ กำหนดให้อรรถ คุโนปกรณ์ “…ยืนอยู่บนเวทีอย่างองอาจสง่างาม ภายใต้แสงไฟที่สว่างแจ่มจ้า ท่ามกลางสายตาของผู้ดูนับพันดวง ซึ่งในจำนวนนั้นมีสายตาของขจิตอยู่ด้วยคู่หนึ่ง เขาเล่นเพื่อหล่อน เขานึกอยู่ในใจ สวรรค์เท่านั้นที่จะทรงทราบว่าเขารักหล่อนเพียงใด เขาได้ทำทุกอย่างในญี่ปุ่นนี่เพื่อหล่อน…แต่ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายและครั้งที่สุด”

ขจิตประจำเก้าอี้แถวที่ 4 เธอหันไปพูดคุยเจื้อยแจ้วกับภพเพื่อนชายคนสนิทที่สุดของเธอ ฉับพลันนั้น อรรถหวนนึกถึงใบหน้านอบ แม่สาวชาวทุ่งรังสิต ถ้อยรำพึงอึงคะนึงในห้วงนึกของเขา

“ภูตผีปีศาจตนใดเล่าที่ทำให้เขาบอกแก่ขจิตว่า เขาเล่นเพลงเหล่านี้เพื่อหล่อน ในเมื่อหูของหล่อนหนวกต่อถ้อยคำและบทเพลงของเขาเสียแล้ว หล่อนมาดูมาฟัง และคงจะต้องแสร้งทำเป็นยินดีด้วยกับเขา เท่าที่มารยาจะช่วยให้หล่อนแสดงออกมาได้…”

จากบนเวทีนั้นเองที่นักดนตรีหนุ่มตระหนักได้ว่า “เขาพบความจริงของชีวิต ณ บัดนี้…บนเวทีดนตรีเดี๋ยวนี้เองว่าชีวิตเป็นของตลกอย่างร้ายกาจ อยู่เมืองไทยเขาได้ความรัก แต่ไม่ได้ความสำเร็จ อยู่ในญี่ปุ่นเขาได้ความสำเร็จ…แต่ไม่ได้ความรัก!”

เสียงปรบมือเกรียวกราวจนอรรถรู้สึกแก้วหูลั่น ตาลายพร่า ทุกสิ่งทุกอย่างหายวับ ความรู้สึกในตัวนักดนตรีหนุ่มเหมือนแสงเทียนริบหรี่จวนจะดับ เลือดฉีดแรงแตกซ่าน หนักศีรษะพิกล แล้วเขาก็ซวดเซและล้มลง ม่านเวทีรูดปิด ไม่มีใครภายนอกเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เสนีย์ปิดท้ายเรื่องสั้นว่า “เขาเดินทางกลับบ้าน ที่สถานีรถไฟ ไม่มีใครมาส่งเขาแม้แต่คนเดียว เมื่อมามีผู้หญิงเสียน้ำตาเพราะการจากมาญี่ปุ่นของเขาที่ท่าเรือ แต่ขากลับไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้น ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลย เขากลับอย่างคนประสบความสำเร็จและความล้มเหลว อนาคตของเขาคงจะเต็มไปด้วยความพร่ามัวและกลับกลอก เขาจะกลับไปหานอบอีกหรือไม่ นั่นเป็นสิ่งที่เขายังไม่ได้ทำคำตอบไว้ในใจเลย!”

จึงมิอาจทราบได้ว่า นักดนตรีหนุ่มชาวทุ่งรังสิตผู้ไปเรืองโรจน์ชีวิตในญี่ปุ่นนั้น ความรักของเขาลงเอยอย่างไร ที่รู้แน่ๆ คือ ความรักในเรื่องสั้นนี้ปรากฏร่องรอยแห่งความร้าวรานและความสิ้นหวังไม่บันเบา

การอ่านวรรณกรรมทำให้เรามองเห็นภาพพจน์ต่างๆ ด้วยสายตา แต่ “นักดนตรีแห่งทาการาสุกะ” ยังส่งผลให้สองหูของเราแว่วยินเสียงดนตรีขับกล่อมตลอดทั้งเรื่อง

เสนีย์ เสาวพงศ์ สร้างผลงานชิ้นนี้ประหนึ่งบทเพลงและท่วงทำนองของมันก้องกังวานในความทรงจำผู้เคยได้ละเลียดอ่านไม่เสื่อมคลาย เฉกเช่นอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่ได้รับฟังผ่านสายตาหนแรกสุดยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หากสรรพเสียงจากถ้อยคำของเสนีย์จำหลักในความนึกคิดมาเนิ่นนานหลายทศวรรษ

ผมเองเป็นไปมิได้เลยที่จะไม่ต้องมนตราสำนวนภาษาสละสลวยของเรื่องสั้นนี้ตั้งแต่สัมผัสหนแรกตอนเพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลางทุ่งรังสิตใหม่ๆ เมื่อปีพุทธศักราช 2551 จนถึงกับจดบางถ้อยความในสมุดบันทึก เป็นต้นว่า

“ในที่สุด ฤดูใบไม้ร่วงก็ถูกเวลาจูงอำลาไป ฤดูหนาวที่ขาวโพลนเหมือนหนวดเครา และงุ่มง่ามเหมือนการเดินของคนชราก็เข้ามาแทนที่”

และ “เป็นรอยยิ้มที่สะอาดสะอ้านปราศจากมลทินนิลโทษใดๆ แจ่มใสเหมือนแสงแดบนกลีบดอกซากุระเดือนเมษายน”

อันที่จริง เสนีย์ เสาวพงศ์ ขุดหลุมรักในงานเขียนที่อาศัยฉากต่างประเทศ หรือ “ไพรัชนิยาย” ของเขาให้แก่ผมไว้แทบทุกเรื่อง “นักดนตรีแห่งทาการาสุกะ” ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ทว่าความพิเศษอันกินใจลึกซึ้งก็คือเรื่องสั้นนี้ได้ให้ภาพบรรยากาศทุ่งรังสิต อันเป็นพื้นที่ซึ่งผมรักและฝากลมหายใจในชีวิตจริงตราบปัจจุบัน วรรณกรรมที่ใช้ฉากทุ่งรังสิตยังมีอีกแยะ สบโอกาสคราวหน้า ผมจะมาเล่าถึงเรื่องอื่นๆ อีกก็แล้วกัน

อาจินต์ ปัญจพรรค์ รวมถึงผม ได้ดื่มด่ำเสียงเพลงจากทุ่งรังสิตแล้ว ตัวละครเยี่ยงอรรถ คุโนปกรณ์ ก็เคยนำเสียงเพลงนี้ไปขับกล่อมเสียไกลในแดนญี่ปุ่น

คุณผู้อ่านทุกท่านล่ะ ได้ยินเสียงเพลงบ้างไหมครับ!