เมื่อหมอฟันเขียน “นิทานจัญไร”

“ข้าพเจ้าไม่อาจเขียนเรื่องทำนองนี้ต่อไปได้อีก”

ธัชชัย ธัญญาวัลย ด้านหนึ่งสวมเสื้อกาวน์เป็นหมอฟันอยู่ในคลินิกทันตกรรม

อีกด้านหนึ่งเป็นนักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ผลิตผลงานของตัวเองและคนอื่นออกมาแล้วหลายสิบปก

หนึ่งในเล่มที่ขายดีและพิมพ์ซ้ำมาแล้วถึง 3 ครั้ง คือผลงานนิทานเล่มแรกของเขา (ตีพิมพ์ครั้งแรก 2549)

ซึ่งในงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่าน วาระครบรอบสิบปี “นิทานจัญไร” (2559) ก็ยังเป็นหนังสือขายดีและถูกพูดถึงเสมอ

นิทานจัญไร หรือ “ตลกร้าย” (Dark Comedy) ทั้ง 17 เรื่องในรวมเรื่องสั้นๆ เล่มนี้ แทบทุกเรื่อง “ล้วนมีตัวละครตัวหนึ่งตัวใดต้องตาย” หรือไม่ก็ถูกทำให้กลายเป็นอื่น สูญสิ้นความเป็นคนบ้าง ผิดเพศบ้าง กลายเป็นคนหัวหมาที่ได้รับการยอมรับในสังคม

หรือแม้กระทั่ง “กาแฟดำ” ก็ยังถูกผู้เขียนทำให้ตายได้! จักรวาลแห่งดาร์กไซด์เหล่านี้ นอกจากผลงานต้นฉบับฝันร้ายของพี่น้องตระกูลกริมม์แล้ว เราคงต้องบรรจุชื่อของเขาผู้นี้ลงในทำเนียบนักเขียนอีกคนในฐานะนักเล่านิทาน “นิทานในโลกของความเป็นจริง”

กาลเวลาบอกอะไรเราในฐานะผู้อ่านได้บ้างว่าเรื่องราวเหล่านั้นยังคง “ร่วมสมัย” ซึ่งนั่นก็คือเหตุการณ์เหล่านั้นยังคง “วนซ้ำ” อยู่ในสังคม เรายังคงเห็นปรากฏการณ์ใหม่ในรูปแบบเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้ว่าเวลาในเล่มจะเขียนล่วงผ่านมากว่าทศวรรษ

เราจะยังคงเห็นเรื่องทำนองนี้ ทั้งเรื่องชายสองคนรักผู้หญิงคนเดียวกันและฆ่ากันเพื่อให้ได้ฝ่ายหญิงมาครอบครอง (ในเรื่องผู้ชายสองคนกับผู้หญิงหนึ่งคน)

หรือข่าวทำนอง “คลุกวงใน” เพื่อให้ได้ข่าวเอ็กซ์คูซีฟ (ในเรื่องรัฐมนตรีหน้าโง่กับเหยี่ยวข่าวสาว)

การแย่งชิงสมบัติของพ่อโดยพี่น้องฆ่ากันเองได้อย่างเลือดเย็น (ในเรื่องไหวิเศษ)

หรือความระหองระแหงในครอบครัวกับวงจรชีวิตเดิมๆ จนต้องเลิกรากัน (ในเรื่องมะเร็งความรัก)

ความมืดบอดในเงินทองที่ได้มาจนชีวิตอยู่ไม่เป็นสุข (ในเรื่องอนงค์สองนาง)

ความแร้นแค้นในชีวิตของเด็กคนหนึ่งยังถูกรีดไถความรักจากไป (ในเรื่องเด็กจรจัดกับหมาข้างถนน)

เทคโนโลยีตัดต่อใบหน้า (หรือที่ในตอนนี้การทำศัลยกรรมทำให้สวยได้เหมือนกันหมด) ก็ถูกพัฒนาให้ก้าวล้ำขึ้นไปอีกขั้นจนเทรนด์แฟชั่นหน้าคนกลายเป็นสิ่งล้าสมัย (ในเรื่องคนหน้าหมากับหมาหน้าคน)

หรือเรื่องประมาณลืมตาตื่นขึ้นมาเห็นแม่เป็นหญิงขายบริการ โตขึ้นชีวิตก็เกาะเกี่ยวอาชีพเดียวกัน เพราะซึมซับเรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก (ในเรื่องโสเภณีกับกางเกงในวิเศษ) เป็นอาทิ

ผู้เขียนจึงมักเริ่มนิทานในแต่ละเรื่องด้วย “เมื่อไม่นานมานี้” แทบจะทุกเรื่อง

ประหนึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น “เมื่อไม่นานมานี้” เหมือนกันหมด

และเรื่องราวทำนองนี้นี่แหละที่ในปัจจุบันยังคงเป็นข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์ ข่าวเช้าในโทรทัศน์ หรือในโซเชียลมีเดีย ฟีดข่าวด้านลบ ร้าย รุนแรง ยังคงได้รับการตอบรับและนำมาพูดถึงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เรายังคงเห็น “นักเล่าข่าว” และ “นักเล่าต่อ” ในที่ทำงานยามเช้าประหนึ่งเป็นเรื่องปกติ ทั้งความรุนแรง โศกนาฏกรรม และความสูญเสีย จึงถูกผลิตซ้ำ

เหมือน “เหล้าเก่าในขวดใหม่” มาทุกยุคทุกสมัย

แต่ความเป็นนิทาน ขันขื่น ตลกร้ายยั่วยุอารมณ์ที่ไม่บันเทิงเริงรมย์เล่มนี้ หลายเรื่องราวกลับแฝงข้อคิด มุมมองที่ผู้เขียนมีต่อสังคมในสมัยที่ตนดำรงอยู่ในวัยต้นยี่สิบได้อย่างน่าสนใจ (ธัชชัยเริ่มเขียนนิทานจัญไรสมัยที่เขายังเป็นนิสิตทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ)

หลายต่อหลายเรื่องมักโยงถึงผู้มีอิทธิพลในบ้านเมืองที่เอารัดเอาเปรียบคนตัวเล็กตัวน้อยได้อย่างหน้าตาเฉยโดยไม่รู้สึกผิด

เช่นในเรื่อง “รัฐมนตรีหน้าโง่กับเหยี่ยวข่าวสาว” ที่เขียนหยอก จิกกัด และกระทบกระเทียบไปในทำนองที่ว่า “ณ ประเทศไถ ประชากรในประเทศนี้ชอบไถ ชาวนาชอบหว่านไถ รัฐมนตรีชอบถูไถ ตำรวจชอบรีดไถ”

แต่ในตลกร้ายเรื่องนี้ก็ให้ภาพของคนใหญ่โตตกเป็นข่าวดัง เหตุเพราะกระหายอยากมีอะไรกับนักข่าวสาว จึงถูก “หั่นเจ้าโลกรัฐมนตรีทิ้งชักโครก” เป็นชัยชนะของคนตัวเล็กๆ ที่ไม่ยอมศิโรราบกับอำนาจและตัณหาของคนมีหน้ามีตาในสังคม

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่หยิบยกมาพูดถึง

แต่โดยภาพรวมทั้งหมดเราจะเห็นได้ว่า บทสรุปของนิทานแต่ละเรื่อง “สอนให้รู้ว่า” และ “เห็น” ได้ในปัจจุบันนี้ว่า เรื่องทำนองนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติ คุ้นชิน

และเราจะเฉยชาไปในที่สุด

“ข้าพเจ้าไม่อาจเขียนเรื่องทำนองนี้ต่อไปได้อีก”

บันทึกผู้เขียนในอีกหลายปีต่อมา (พิมพ์ครั้งที่ 2,2557) ธัชชัย ธัญญาวัลย จึงออกตัวไว้ก่อนเมื่อเติบโตผ่านพ้นสถานภาพนักศึกษาออกมาเป็นทันตแพทย์หนุ่มเต็มตัว แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังคงผลิตงานเขียนต่อเนื่องสม่ำเสมอ อาทิ กวีนิพนธ์ “เด็กชายผู้ถูกผีหลอก” (ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในเวลาต่อมา) นวนิยายเรื่อง “นางเลอโฉม” และรวมเรื่องสั้น “ความตายในร้านหมอฟัน” (นับเป็นก้าวกระโดดที่หลุดพ้นจากนิทานและรวมเรื่องสั้น เสี่ยวอ้าย : รักเล็กๆ ของผู้เขียน)

และที่ควรกล่าวถึงไว้ตรงนี้คือ โครงการประกวดเรื่องสั้น Indy Short Story Award ที่เขาจัดขึ้นมาเป็นปีที่ 3 แล้ว ก็ยังคงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ในบันทึกผู้เขียน 10 ปี นิทานจัญไร (พิมพ์ครั้งที่ 3,2559) ผู้เขียนสารภาพความในใจเมื่อมองย้อนกลับไปวันวานเหล่านั้นอีกครั้งว่า…

“จึงเมื่อเวลาผ่านไป และเราได้เจริญเติบโตขึ้น จึงได้รับรู้ความจริงว่า สิ่งที่เราคิด เห็น ในวัยเด็กนั้น ไร้เดียงสาเพียงใด…มีความหนุ่มอยู่มากในหนังสือเล่มนี้ เพราะมันเป็นงานเขียนของข้าพเจ้าในวัยหนุ่ม” และแน่นอนว่า “มันอาจสิ้นสุดลงที่ตรงนั้นแล้ว”

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องเขียนบันทึกประสบการณ์ความคิด อ่าน ช่วงวัยหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบสมุดบันทึกประจำวัน ความเรียง เรื่องสั้น นิทาน ภาพวาดหรือการ์ตูน ฯลฯ ก็เพื่อมิให้กาลเวลากลืนหายและเพื่อให้ความสดใหม่ของเวลา ณ ขณะนั้นได้เก็บ “น้ำเสียง” ในวันที่เข็มนาฬิกาไม่ไขกลับของเราเอาไว้นั่นเอง แม้ว่าเรื่องราวมันจะไม่เหมือนในเทพนิยายของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน ไม่เหมือนในนิทานของรัดยาร์ด คิปลิง

“มันไม่ได้เต็มไปด้วยความสวยงาม ความฝัน ความรัก และความดี” ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้

“ในโลกของความจริง เต็มไปด้วยความชั่วร้าย ความเกลียดชัง ความลวง และความเลว”

ส่วนหนึ่งของนิทานจัญไร จึงเป็นบันทึกความทรงจำเล่มหนึ่งของผู้เขียน ผ่านสายตาของเด็กนักศึกษาคนนั้นจนมาเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ แต่ส่วนหนึ่งของคนอ่าน เราอาจมองว่าเรื่องเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ นิทานในเรื่องยังปรากฏซ้ำออกมาเป็นภาพตามหลอกหลอนตามสื่อต่างๆ อยู่ทุกวันไม่เสื่อมคลาย ราวกับว่าอดีตของผู้เขียนกับโลกในวันนี้ยังคงเป็นโลกใบเก่าใบเดิม

และราวกับว่ามันไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม