ธเนศวร์ เจริญเมือง : ผู้นำ, ภูมิหลัง กับการสร้างรัฐ

คณะผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีทั้งหมดประมาณ 100 คน คนส่วนใหญ่เห็นว่ามีบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการก่อตั้งประเทศ รวม 6 คน ได้แก่

1. จอร์ช วอชิงตัน ค.ศ.1732-1799 แม่ทัพใหญ่ ผู้นำท่ามกลางความเห็นขัดแย้ง ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก รับฟังความเห็นต่างและระดมพลังจากทุกๆ ฝ่ายได้ดี

2. เบนจามิน แฟรงคลิน ค.ศ.1706-1790 ปราชญ์, ผู้นำอาวุโส เป็นคนที่เสนอให้ทุกๆ รัฐมารวมกันเพื่อสร้างพลังต่อรอง, เดินทางไปอังกฤษ-ฝรั่งเศสหลายครั้งเพื่อเจรจา และตอกย้ำบทบาทของภายนอกจากการต่อสู้ภายในประเทศ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศส การต่อสู้เพื่อเอกราชของคนอเมริกันก็ยากที่จะสัมฤทธิผล

3. จอห์น อาดัมส์ ค.ศ.1735-1826 โดดเด่นในการเริ่มคัดค้านอังกฤษที่บอสตันและในที่ประชุมสภาปฏิวัติ เป็นผู้เสนอให้วอชิงตันเป็นแม่ทัพ ให้เจฟเฟอร์สันเป็นผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพ เป็นรองประธานาธิบดีคนแรกถึง 2 สมัย และเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 บุคลิกโผงผาง ตรงไปตรงมา แต่จริงใจ ซึ่งทำให้เขาสร้างศัตรูไว้ไม่น้อย

4. โธมัส เจฟเฟอร์สัน ค.ศ.1743-1826 โดดเด่นในบุคลิกที่นุ่มนวล เป็นผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพ สร้างระบบสาธารณรัฐให้มั่นคง พร้อมขยายดินแดนทิศใต้และตะวันตก ส่งเสริมระบบการศึกษา, ประวัติศาสตร์, ชุมชนและบทบาทพลเมือง

5. อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน ค.ศ.1755-1804 เป็นเลขาฯ คนสำคัญของแม่ทัพในสงครามเพื่อเอกราช โดดเด่นในความฉลาดและตรงไปตรงมา, เสนอให้มีรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐ มีรัฐบาลกลางที่มีประสิทธิภาพ ด้วยงานเขียนของกลุ่ม Federalists ที่ทรงพลังและมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อประเทศใหม่ เป็นเสนาบดีการคลังคนแรกที่จัดระบบการเงินของประเทศนี้ น่าเสียดายที่จบชีวิตอย่างแสนเศร้า

6. เจมส์ เมดิสัน ค.ศ.1751-1836 เป็นนักปฏิวัติที่ยอดเยี่ยมในทุกๆ ด้าน ละเอียดทุกๆ ประเด็น อ่อนน้อม นุ่มนวล และเป็นนักอภิปรายชั้นเลิศ เป็นบิดาแห่งรัฐธรรมนูญ เฉลียวฉลาดยิ่งในด้านวิชาการ รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์

ทำงานปฏิวัติชนิดเต็มเวลา

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคนส่วนใหญ่เห็นว่า บุคคลทั้ง 6 ที่กล่าวมาคือผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดยิ่งกว่าคนอื่นๆ

แต่ก็มีคนเสนอคนที่ 7 นั่นคือ จอห์น เจย์ (ค.ศ.1745-1829)

ท่านผู้นี้เป็นนักกฎหมายมือหนึ่งของรัฐนิวยอร์ก โดดเด่นด้านการต่างประเทศในระหว่างสงครามกับอังกฤษ มีบทบาทสำคัญควบคู่กับแฮมิลตันและเมดิสัน ในกลุ่ม Federalists และได้เป็นหัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนแรกของประเทศ ก่อนที่จะลาออกและได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนให้เป็นผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก

ในทัศนะของพาโดเวอร์ (1960) คณะผู้ก่อตั้งประเทศ มีบทบาทสำคัญและมีชีวิตในช่วงเวลา 35 ปี (ค.ศ.1774-1809) ตั้งแต่รวมตัวกันจัดประชุมหาทางต่อสู้จนกระทั่งสิ้นวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคนที่ 3 คือ โธมัส เจฟเฟอร์สัน (ค.ศ.1801-1809) ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าถึงตอนนั้น (ค.ศ.1809) รัฐเอกราชน้องใหม่และระบอบการปกครองแบบใหม่ของรัฐนี้ได้ลงหลักปักฐาน เป็นปึกแผ่นในทุกๆ ด้านแล้ว

นอกจากนี้ แม้ว่าสมาชิกของคณะผู้ก่อตั้งบางคนยังคงมีบทบาททางการเมืองที่สำคัญต่อไปหลังปี ค.ศ.1809

เช่น เจมส์ เมดิสัน ประธานาธิบดีคนที่ 4 (ค.ศ.1809-1816) และเจมส์ มอนโร ประธานาธิบดีคนที่ 5 (ค.ศ.1817-1824) จอห์น มาร์แชล หัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุด และเอลบริดจ์ เจอร์รี่ ผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ และรองประธานาธิบดียุคเมดิสัน

แต่ทว่า สมาชิกราว 2 ใน 3 ของคณะผู้ก่อตั้งก็ได้จากโลกนี้ไปแล้ว

 

รากฐานทางเศรษฐกิจและประสบการณ์

ในบรรดาคณะผู้ก่อตั้งสหรัฐ 100 คน ส่วนใหญ่มีฐานะดี เป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่หรือทำธุรกิจการค้า เป็นเจ้าของแรงงานทาสจำนวนมาก

เกือบ 1 ใน 3 มาจากครอบครัวขุนนาง กว่าครึ่งหนึ่งทำงานด้านกฎหมาย มีนายแพทย์ 5 คน

ครึ่งหนึ่งของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญจบการศึกษาจาก 6 สถาบันสำคัญคือ วิลเลี่ยม & แมรี่, ฮาร์วาร์ด, เยล, พรินสตัน, โคลัมเบีย และเพนซิลเวเนีย หลายคนจบจากอังกฤษและสกอตแลนด์ และที่เหลือจ้างครูมาสอนที่บ้าน และมักไปเรียนต่อด้านกฎหมายเป็นการเฉพาะ

กล่าวโดยรวม นักปฏิวัติผู้ก่อตั้งประเทศล้วนมีการศึกษาดี มีฐานะดี จึงมีเวลาศึกษาค้นคว้า อ่านหนังสือมาก รับรู้ข่าวสารจากยุโรปเป็นอย่างดี

และมีความเห็นร่วมกันคือจะทำอย่างไรที่จะสร้างระบบการปกครองที่ดีและไม่กดขี่ข่มเหงประชาชนอย่างที่พวกเขาประสบมา ทั้งๆ ที่พวกเขาหลบหนีมาแสวงหาอิสรภาพแล้วจากประเทศแม่

ในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นห่วงโซ่สำคัญในการตั้งสาธารณรัฐเป็นครั้งแรก กรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่โดดเด่นที่สุด 2 คน และได้รับความเคารพนับถือมากที่สุด คือ จอร์ช วอชิงตัน และเบนจามิน แฟรงคลิน

คนแรกคือผู้บัญชาการรบสู้กับอังกฤษตั้งแต่ต้น

คนที่ 2 คือ ผู้อาวุโส เคยทำงานและเจรจาการค้าอยู่ในอังกฤษและฝรั่งเศสหลายปี และมีความรู้หลายด้านมาก มีความเห็นว่าถึงเวลาที่ผู้อพยพจะสร้างประเทศของตนเอง

โดดเด่นที่สุดในการร่างรัฐธรรมนูญ คือ เจมส์ เมดิสัน (ตัวแทนจากรัฐเวอร์จิเนียวัย 36 ปี) ถือกันว่าเป็นอัจฉริยะด้านการเมืองการปกครอง

ท่านผู้นี้ทำการบ้านมาอย่างดียิ่ง ได้นำเสนอเปรียบเทียบจุดแข็งจุดอ่อนของรูปแบบการปกครองต่างๆ ในอดีต บทเรียนสำคัญๆ และแนวทางการสร้างรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสหรัฐ

ทั้งยังเป็นนักอภิปรายที่ยอดเยี่ยม

กรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่โดดเด่น เช่น จอร์ช เมสัน ซึ่งกำพร้าพ่อแต่เยาว์ เรียนหนังสือที่บ้านกับลุงซึ่งห้องสมุดมีหนังสือถึง 1,500 เล่ม และอีกส่วนหนึ่งครอบครัวส่งไปเรียนต่อที่อังกฤษและสกอตแลนด์

จอร์ช วิธ เรียนภาษากรีก-ละตินจากแม่ จากนั้นศึกษาด้วยตนเอง แล้วไปเรียนกฎหมาย มีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านกฎหมายจนได้เป็นครูสอนโธมัส เจฟเฟอร์สัน, จอห์น มาร์แชล และเจมส์ มอนโร

ฮิวจ์ วิลเลียมสัน มีความรู้หลายด้านมาก จบจากวิทยาลัยฟิลาเดลเฟีย แล้วไปเรียนด้านศาสนศาสตร์ ไปสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนเก่า แล้วไปเรียนวิชาการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอร์ก

ร่วมงานกับแฟรงคลิน รวมทั้งค้นคว้าดาราศาสตร์ ต่อต้านนโยบายของอังกฤษที่เอาเปรียบอาณานิคม

จอร์ช เมสัน เสนอว่ารัฐธรรมนูญจะต้องมีหลักประกันเรื่องสิทธิมนุษยชน; สภาผู้แทนจะต้องเป็นตัวแทนปากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง; วุฒิสภาจะต้องไม่มีอำนาจมากเกินไป; ศาลระดับชาติจะต้องไม่ทำลายศาลระดับรัฐ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม; คนรวยจะต้องไม่เอาเปรียบคนจน และสุดท้าย จะต้องไม่ให้ฝ่ายบริหารกลายเป็นสถาบันที่วิจารณ์ไม่ได้ หรืออยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยที่ทุจริตและใช้อำนาจลิดรอนสิทธิของผู้อื่น

ข้อเสนอเหล่านั้นกระตุ้นให้ที่ประชุมคิดและถกเถียงกันอย่างหนักว่ารัฐธรรมนูญจะต้องสร้างกลไกแบบใดเพื่อไปบรรลุเป้าหมาย และป้องกันไม่ให้เกิดระบอบและมาตรการที่จะเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยในระยะยาว

 

มุมมองทางสังคมต่อผู้นำ
และการสร้างประเทศใหม่

จากการศึกษาชีวิตส่วนตัวของคณะผู้ก่อตั้งประเทศ เราจะพบว่าลักษณะสังคมชายเป็นใหญ่, ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเชื้อชาติ และความล้าหลังทางวิทยาการด้านสาธารณสุขในสมัยนั้น มีบทบาทสำคัญทั้งสิ้นต่อชีวิตและการต่อสู้เหล่านี้

ในกรณีของอบิเกล อาดัมส์ ภรรยาของจอห์น อาดัมส์ ผู้นำจากรัฐแมสซาชูเซตส์ ทั้งคู่เขียนจดหมายถึงกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มจีบกัน และตลอดช่วงเวลาการแต่งงานที่ต้องอยู่ห่างกันเพราะสงครามปฏิวัติ และภารกิจทางการเมืองของสามี

จดหมายของทั้งคู่ถูกเก็บบันทึกไว้อย่างดี และกลายเป็นเอกสารประวัติศาสตร์การปฏิวัติอเมริกันที่ล้ำค่าที่สุด

เพราะทั้งคู่มีการศึกษาที่ดีมาก เฉลียวฉลาด มีทัศนะที่กว้างขวางต่อสังคมและการปฏิวัติ

ที่สำคัญคือเขียนหนังสือเก่ง และเล่าละเอียด

จดหมายของอบิเกลสะท้อนเรื่องราวทางสังคมอย่างน้อย

1. มีชีวิตอย่างยากลำบาก ต้องเลี้ยงลูก ทำงานหาเงิน และดูแลงานบ้านทุกอย่างด้วยตัวเอง

2. ไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนเหมือนชาย สตรีเกิดมาเพื่อทำหน้าที่ภรรยาและแม่บ้าน

3. อบิเกลเป็นคนเก่ง เรียนเขียนอ่านจากแม่ เรียนรู้ด้วยตัวเอง อ่านหนังสือทุกๆ เล่มที่ฝ่ายชายได้อ่าน มีทัศนะก้าวหน้า สนับสนุนการทำงานของสามี เสนอข้อคิดดีๆ ให้สามีในการทำงานเพื่อสังคม

4. สตรีมีสิทธิจำกัดมาก หากฟ้องศาลขอหย่าจากสามี ยากนักที่จะเป็นฝ่ายชนะ สามีเป็นผู้กำหนดและตัดสินใจทั้งหมดเรื่องทรัพย์สินในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม 5. อบิเกลมีทัศนะที่ก้าวหน้าในเรื่องสิทธิสตรีมาก โดยเฉพาะจดหมายของเธอถึงสามีขณะที่ไปประชุมเรื่องการพัฒนาประเทศ มีประโยคที่โด่งดังมากในเวลาต่อมา (นั่นคือ “อย่าลืมผู้หญิงนะ”) และภายหลังสามีของเธอตอบกลับอย่างไม่น่าพอใจ สะท้อนทัศนะชายเป็นใหญ่ในสังคมอเมริกันขณะนั้น

ความทุกข์ของมาดาม เดโบรา อาร์ แฟรงคลิน คงสาหัสยิ่งนัก เพราะตลอดเวลาที่เบนจามิน แฟรงคลิน เจรจาความเมืองในยุโรป โดยเฉพาะกับอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นเวลานานถึง 16 ปี เธอต้องดูแลบริหารกิจการไปรษณีย์และอสังหาริมทรัพย์อันเป็นธุรกิจของครอบครัวเพียงลำพัง

และเบนจามินกลับมาในปีที่ 17 “เมื่อเป็นที่ชัดเจนว่าเขาต้องกลับมาจัดการธุรกิจเหล่านั้น เพราะภรรยาได้เสียชีวิตลง”

 

เอลิซา ลูคัส สาววัย 16 ปีต้องดูแลแม่ที่ป่วย และน้องสาว ตลอดจนกิจการไร่ทั้งหมดที่รัฐเซาท์แคโรไลนา ขณะที่พ่อไปรบในสงครามกับสเปน

เธอเรียนรู้วิธีการทำไร่ ต้องปรับปรุงภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อสอนน้อง และเรียนกฎหมายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนต้องขึ้นศาล เธออ่านหนังสือแทบทุกเล่มในห้องสมุด รวมทั้งงานสำคัญของจอห์น ล็อก (ที่ก่อผลสะเทือนสูงสุดต่อชาวอาณานิคมในเวลาต่อมา)

เธออ่านทุกข่าวในหนังสือพิมพ์เพื่อรายงานสถานการณ์ให้พ่อที่เป็นนายทหารระดับสูง

เอลิซาพบว่ารัฐเซาท์แคโรไลนาส่งออกเพียงข้าวไปอังกฤษ ซึ่งเธอเห็นว่าทำรายได้น้อย จึงควรปลูกอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐและชาวบ้าน

เธอทดลองปลูกต้นเดื่อและต้นโอ๊กเพื่อส่งผลเดื่อแห้งและไม้ส่งออก

จากนั้นจึงพบว่าสีครามเป็นที่ต้องการของตลาดและราคาดีมาก เธอจึงทดลองอย่างจริงจัง และชวนเพื่อนบ้านร่วมโครงการ และประสบผลสำเร็จยิ่งใหญ่

ต้นครามเติบโต เซาท์แคโรไลนาทำรายได้มหาศาลจากการส่งครามย้อมผ้าให้อังกฤษ

เอลิซาสมรสกับชาร์ลส์ พิงก์นีย์ นักกฎหมายคนสำคัญ ซึ่งต่อมาได้เป็นตัวแทนของรัฐที่อังกฤษ การดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างดี ส่งผลให้ลูกชายทั้งสองของเอลิซา (ชาร์ลส์และโธมัส พิงก์นีย์) เป็น 2 ในคณะผู้ก่อตั้งประเทศ

ส่วนเธอและลูกสาวก็มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสนับสนุนการปฏิวัติจากเซาท์แคโรไลนา

 

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่นักปฏิวัติและครอบครัวในยุคนั้นต้องเผชิญก็คือ ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ มาร์ธา วอชิงตัน ภรรยาของประธานาธิบดีคนแรกสูญเสียลูกทั้ง 4 คนในวัยเยาว์; มาร์ธา เจฟเฟอร์สัน ภรรยาของประธานาธิบดีคนที่ 3 สูญเสียลูก 4 คนจากทั้งหมด 6 คนในช่วงเวลา 10 ปี; เบนจามิน แฟรงคลิน สูญเสียลูกชายคนเดียววัย 4 ขวบ; และชาร์ลส์ พิงก์นีย์ เสียชีวิตเพราะไข้มาลาเรีย ทำให้เอลิซาเป็นหม้ายตั้งแต่ 36 ปี

เรื่องสุดท้ายที่โด่งดังมาหลายทศวรรษและยังคงเป็นประเด็นจนถึงบัดนี้ก็คือ ผู้นำการปฏิวัติหลายคนมาจากภาคใต้ มีฐานะดีที่ไร่ปลูกยาสูบร่วมหมื่นไร่ มีทาสผิวดำหลายร้อยคน วอชิงตัน เจฟเฟอร์สัน เมดิสัน พิงก์นีย์ ฯลฯ อยู่ในแวดวงนี้ทั้งสิ้น

แต่เราพบว่าขณะที่พวกเขาจากภาคเหนือ-ใต้มาร่วมกันต่อสู้เพื่อเอกราชและสร้างประเทศใหม่ ภาคเหนือไม่มีทาส แต่ภาคใต้ พวกเขาก็สามารถหาข้อยุติได้จากความแตกต่างดังกล่าว สิทธิเสรีภาพทางการเมืองของเสรีชนที่เป็นชาย

น่าสนใจที่ครอบครัวอาดัมส์เก็บจดหมายติดต่อและเอกสารไว้ทั้งหมด

แต่ของเจฟเฟอร์สันกลับเก็บบางส่วน และทำลายส่วนอื่นๆ

ดังนั้น ข่าวลือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ชู้สาวระหว่างนายทาสกับทาสสาวผิวดำ ที่เจฟเฟอร์สันกับทาสสาวชื่อ Sally Hemings และมีลูกด้วยกันถึง 4 คน และแต่ละคนมีชื่อแรกเป็นชื่อเพื่อนของเจฟเฟอร์สันทั้งสิ้น

จึงนำไปสู่คำถามมากมายว่าเกิดขึ้นอย่างไร แบบใด

และสุดท้ายก็คือ ทำความเข้าใจลักษณะของปุถุชนไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นผู้นำหรือสามัญชน

ทั้งหมดนี้ที่เป็นชีวิตและบทบาทของคณะผู้ก่อตั้งราว 100 คนในการเป็นกบฏต่ออังกฤษ และนักรบและทหารบ้านเรือนหมื่น ที่ออกรบกับกองทัพของอังกฤษ หากไม่มีแนวหลังที่แข็งแกร่งเช่นสตรีผู้ดูแลแบกรับภารกิจที่บ้านทั้งปวง และเผชิญการสูญเสียแต่ละครั้งในครอบครัวอย่างกล้าหาญ

ก็คงยากนักที่เราจะได้เห็นการปฏิวัติเพื่อสร้างสาธารณรัฐประชาธิปไตยที่สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก

 

บทสรุป

มนุษย์เป็นผลผลิตของสังคมที่เขาอยู่ แต่ก็มิได้หมายความว่านั่นคือความสัมพันธ์ด้านเดียวคือ สิ่งแวดล้อมสร้างคน

ประการแรก ต้องถามว่าสิ่งแวดล้อมระดับไหนด้วย เพราะสิ่งแวดล้อมมีหลายชั้น

เช่น จอร์ช วอชิงตัน และโธมัส เจฟเฟอร์สัน เกิดในตระกูลขุนนางเดิม อยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย มีความสามารถในการบริหารจัดการทรัพย์สิน สามารถบุกเบิกและจับจองที่ดินกว้างใหญ่เพื่อทำไร่

ทั้งสองเติบใหญ่ขึ้นมารับคำสั่งสอนของผู้ให้กำเนิดและจากนั้นก็ได้รับมรดก ต้องดูแลกิจการของครอบครัวต่อไป

ขณะเดียวกัน ทั้งสองก็มีโรงเรียน ครู หนังสือ และเพื่อนฝูง เมืองและรัฐที่เขาสังกัด หล่อหลอมให้เขาเรียนรู้

ทั้งสองเป็นคนสืบเชื้อสายมาจากอังกฤษ รัฐเวอร์จิเนียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก็ย่อมรู้ระบบการเมือง 2 ชั้น

จอห์น อาดัมส์ เป็นลูกคนชั้นกลาง เติบโตในเมือง พ่อแม่เคร่งในการนับถือศาสนาคริสต์นิกายพิวริแตน ที่ถูกรัฐบาลอังกฤษผลักไส ทำร้ายจนต้องออกมาแสวงหาเสรีภาพในต่างแดน อยู่ไม่ไกลจากวิทยาลัยแห่งแรกของดินแดนอาณานิคม จึงได้รับอิทธิพลด้านสติปัญญาความรู้อย่างลึกซึ้งจากวิทยาลัย จากเมือง และจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง

และในที่สุด การค้าขายของรัฐแมสซาชูเซตส์ที่อาดัมส์อาศัย ก็ปะทะกับประเทศแม่ที่พยายามแสวงหาผลประโยชน์จากดินแดนอาณานิคมทั่วโลก

ประการที่สอง ดังที่ได้กล่าวแล้ว สิ่งแวดล้อมกำหนดมนุษย์ มนุษย์ก็มีปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อม การขบคิด การศึกษาค้นคว้า และสภาวะอาณานิคม โดยเฉพาะกฎหมาย Stamp Act ในปี ค.ศ.1774 ทำให้คนมีการศึกษาและรักความเป็นธรรม (วอชิงตันอายุ 42 ปี, อาดัมส์ 39 ปี และเจฟเฟอร์สัน 31 ปี) ต้องหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว

แต่เพราะการศึกษาที่สร้างพวกเขาให้แข็งแกร่งในทางสติปัญญา โดยเฉพาะด้านปรัชญา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อย่างรอบด้าน ประกอบกับระบบการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นมายาวนานในทั้ง 13 รัฐ และความรู้สึกชิงชังที่มีต่อระบบการปกครองอันไม่เป็นธรรม

คณะผู้ก่อตั้งประเทศนี้จึงไม่เพียงแต่หยุดที่แสวงหาเอกราช แต่ออกแบบระบบการปกครองต่อไปอีกว่าจะทำให้ระบบการปกครองดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่อย่างไรในระยะยาว และป้องกันมิให้ระบบอำนาจนิยมกลับคืนมา

นี่ต่างหากที่เป็นบทเรียนสำคัญที่ไม่เพียงสะท้อนความสำคัญของระบบการศึกษา แต่ยังชี้ให้เห็นผลกระทบยาวไกลที่การจัดระบบการศึกษาจะต้องคิดถึงด้วย