เสียงของคนในพื้นที่ จากเหตุระเบิดสงขลา ถึงพายุปาบึกที่ภาคใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

ที่ภาคใต้ต้องยอมรับว่าชาวใต้ต้องต้อนรับปีใหม่ พ.ศ.2562 ด้วยเสียงระเบิดและวาตภัยพายุปาบึก

หากจะดูไทม์ไลน์การต้อนรับปีใหม่ในครั้งนี้แล้วจะพบว่า 26 ธันวาคม 2561 ชาวอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ต้องได้รับข่าวร้ายเมื่อมีมือดีวางระเบิดรูปปั้นนางเงือกทอง (ทั้งที่ในเขตเทศบาลเมืองสงขลายังไม่เคยโดนระเบิดตลอดไฟใต้ 15 ปี)

หลังจากนั้น วันที่ 27 ธันวาคม ยังพบว่าคนร้ายได้ลักลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอีก 2 ต้น ในพื้นที่ ม.13 ต.บางเหรียง อ.ควนเนียง จ.สงขลา และพบระเบิดอีก 4 ลูกในพื้นที่ ม.4 ต.ท่าช้าง ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.บางกล่ำ และ อ.ควนเนียง คนร้ายได้นำระเบิด 4 ลูกไปผูกติดไว้ที่โคนเสาไฟฟ้า 4 ต้น แต่ยังไม่เกิดการระเบิด เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ได้อย่างปลอดภัย ตามที่เสนอไปแล้วนั้น

29 ธันวาคม จังหวัดนราธิวาสมีคนร้ายลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง 4 จุดใน 4 อำเภอ ดักยิงรถขนเสบียงของทหาร รวมทั้งบุกยึดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกาลิซา โดยเจาะกำแพงโยนระเบิด สภาพเสียหายยับ

นอกจากระเบิดแล้ว คนใต้ตั้งแต่นราธิวาสจนถึงชุมพรต้องอยู่ในภาวะหวาดกลัวกับพายุปาบึกตั้งแต่ 2-5 มกราคม 2562

ที่สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3-5 พันล้านบาท

สำหรับระเบิดที่สงขลานั้นมีสองกระแสว่าสาเหตุมาจากไฟใต้หรือการเมือง

สำหรับหากเป็นสาเหตุไฟใต้รวมทั้งเหตุการณ์ในนราธิวาสสื่อหลายสำนักให้เครดิตกับขบวนการ BRN ที่ต้องการสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐบาลไทยหรือแม้กระทั่งผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียในเวทีการพูดคุยสันติสุข/เจรจาสันติภาพ (โปรดดู 1. https://www.isranews.org/content-page/67-south-slide/72544-samila.html 2. https://mgronline.com/south/detail/9610000129230)

แต่อย่างไรก็แล้วแต่ อีกหลายสื่อรวมทั้งชาวบ้านกล่าวว่าระเบิดที่สงขลามีความเป็นไปได้ว่าเหตุผลทางการเมืองที่ต้องการสร้างปัจจัยแวดล้อมเลื่อนการเลือกตั้งเพราะเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบ

(อย่างไรก็แล้วแต่ รัฐบาลอ้างความชอบธรรมเลื่อนการเลือกตั้งโดยยกเหตุผลการเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ การวางระเบิดรูปปั้นนางเงือกทองนั้นเป็นการทำลายความชอบธรรมของผู้วางระเบิด ถึงแม้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เพราะมันคือพื้นที่สาธารณะปลอดภัย (หากอยู่ในภาวะสงครามระหว่างคู่ขัดแย้งผิดทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอิสลาม) อีกทั้งมันยังเป็นสัญลักษณ์ของคนสงขลา ที่อยู่คู่บ้านเมืองมาหลายชั่วอายุคน (กว่า 50 ปี)

ทำให้เกิดปรากฏการณ์ความร่วมมือร่วมใจของคนสงขลาโดยประณามคนทำและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่บริเวณชายหาดแหลมสมิหลา ซึ่งชาวสงขลาได้เดินทางมาเพื่อรับขวัญนางเงือกทองโดยไม่ได้นัดหมายกันด้วยความห่วงใย

รวมทั้งต่างก็พากันดีใจที่นางเงือกทองซ่อมเสร็จอยู่ในภาพสวยงามดังเดิม จึงถ่ายรูปเก็บไว้เป็นความทรงจำ

พร้อมทั้งถ่ายภาพส่งไลน์ลงในโซเชียล ช่วยประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวชายหาดแหลมสมิหลาสงขลาด้วย (ต้องชื่นชมทุกภาคส่วนของคนสงขลาจริงๆ)

ในขณะเดียวกันหลังเมฆหมอกความโศกเศร้าหมดไป สำหรับคนสงขลา ในส่วนของรัฐ ต้องไม่ลืมนำคนผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะระดับเทศบาลเมืองสงขลาน่าจะมีวงจรปิดจับภาพคนร้ายได้ มิฉะนั้น BRN หรือรัฐบาล คสช.จะถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังได้ (เป็นจำเลยสังคมโดยปริยาย)

ดังนั้น เรื่องนี้ต้องไม่จบง่ายๆ ต้องทำให้ความจริงปรากฏ

ความทุกข์ของคนใต้จากเสียงระเบิดไม่ทันจางหาย ช่วงต้นปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 2-5 มกราคม 2562 คนใต้ต้องต้อนรับปีใหม่กับพายุปาบึก พวกเขาต้องเตรียมข้าวของ เสบียง ต้องอพยพไปในที่ปลอดภัย

โดยล่าสุด (5/1/62) ไทยพีบีเอสสรุปว่า “อพยพประชาชน 7 จังหวัด 31 อำเภอ 240 จุด รวม 34,089 คน มีรายงานเสียชีวิต 3 คน เบื้องต้นพบบ้านเรือนพังจากลมพายุ 1,922 หลัง และอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายจากลมพายุ น้ำท่วมเพิ่ม ซึ่งท้ายสุดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3-5 พันล้านบาทตามที่เป็นข่าว” (โปรดดู 1. http://news.thaipbs.or.th/content/276783?fbclid=IwAR0ywv6vLBwsvP-hc_Ozu4sYljUgEodlmy_ryLuymKSkwTMbHQITYHPWrNA 2. http://news.thaipbs.or.th/content/276774)

อย่างไรก็แล้วแต่ พายุมาครั้งนี้เราได้เห็นความร่วมไม้ร่วมมือทุกภาคส่วนโดยเฉพาะทหารที่ถนัดที่สุดคืองานนี้ (หากไม่ใช่งานการเมืองหรือบริหารประเทศ) ที่ทำทุกอย่างทั้งบนบก ในน้ำ ทางอากาศ จนสามารถลดความสูญเสียที่น่าจะมากกว่านี้หากไม่ร่วมมือทุกภาคส่วนอย่างนี้

ที่สำคัญ ได้เห็น “อาสาสมัครกู้ภัยภาคประชาชน” ซึ่งทำงานโดยไม่หวังผลประโยชน์ เพียงเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัย หรืออย่างน้อยลดความสูญเสียของประชาชน

พวกเขาเสนอตัวทำสิ่งที่เป็นการกุศลหรืองานช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่คาดหวังที่จะได้รับรางวัลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินหรือการชดเชยต่อการบริการ ที่เขาช่วยทำไป

เพราะการกระทำนั้นทำด้วยความตั้งใจ ไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายหรือการกดดันบีบบังคับใดๆ ให้ต้องทำ (ต้องชื่นชมจริงๆ)

ไม่เพียงใช้ใจอย่างเดียว แต่พวกเขาใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์การกู้ภัยที่สะสมมาตลอด ต้องยอมรับว่าปฏิบัติการครั้งนี้ต้องแข่งกับเวลาแต่สำเร็จลงได้

เป็นผลจากการบริหารการจัดการในภาวะวิกฤต (CRISIS MANAGEMENT) ที่มีประสิทธิภาพ

ปรากฏการณ์ครั้งนี้เราเห็นการใช้เทคโนโลยีอย่างดาวเทียม, เซ็นเซอร์, บอลลูนตรวจสภาพอากาศ ไปจนถึงเรด้าร์ และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ รวมทั้งติดตามข้อมูลคลื่น กระแสน้ำ และข่าวสารจากจิสดา ผ่านเว็บไซต์ http://coastalradar.gistda.or.th/wp/และ http://flood.gistda.or.th/rainfall_monitoring เว็บไซต์ตรวจสอบทิศทางลม https://www.windy.com และศูนย์ร่วมการเตือนภัยไต้ฝุ่น หรือ JTWC ของอังกฤษ http://www.metoc.navy.mil มีส่วนช่วยให้การพยากรณ์แม่นยำมากขึ้น

และการเชื่อมข้อมูลสารสนเทศ (อย่างมืออาชีพ) ในการบริหารจัดการการเฝ้าระวังพายุซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญอีกตัวหนึ่งที่ลดปัจจัยเสี่ยงความสูญเสียครั้งนี้

กล่าวได้ว่าการพยากรณ์สภาพอากาศอย่างนี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้เราเห็นองค์กรศาสนาโดยเฉพาะสำนักจุฬาราชมนตรีได้ขอความร่วมมือมายังมุสลิมทุกท่าน ทุกมัสยิดในสังกัดจัดพิธีละหมาดฮายัต เพื่อขอพร (ดุอาอฺ) จากพระองค์อัลลอฮ์ (พระเจ้า) ให้บรรเทาภัยพิบัติในครั้งนี้

พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้เปิดพื้นที่บริเวณมัสยิดหรือโรงเรียนที่มีความพร้อมเป็นศูนย์อพยพและพักพิงชั่วคราวให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างทางศาสนา

และขอให้พี่น้องมุสลิมร่วมมือกับหน่วยงานราชการและภาคเอกชนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มกำลังความสามารถ

หลังจากพายุสงบ ทางสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรีได้ส่งคนออกไปเยียวยาจิตใจและร่วมบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภคต่อประชาชนโดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างทางศาสนาเช่นกัน รวมทั้งเปิดบัญชีบริจาคการกุศลช่วยเหลือผู้ประสบภัยผ่านธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 460-0-23343-3 เลขธนาคารอิสลาม บัญชีเลขที่ 034-1-09640-7

ที่สำคัญยังมีการกล่าวถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งทุกคนอาจมองข้าม แต่เป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า กล่าวคือ คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะเด็กๆ ได้เรียนรู้การเอาตัวรอดจากพายุครั้งนี้จากพ่อแม่ของพวกเขา ตามศูนย์อพยพต่างๆ หรือตามบ้านเรือนในภาวะไม่ปกติที่อาจจะมีทั้งฝน คลื่นลม ไฟฟ้าดับ ขาดแคลนอาหารต่างๆ นานา

(มองในแง่ดี) ดร.วุฒิศักดิ์ พิศสุวรรณ ในฐานะผู้ดูแลในศูนย์อพยพและบรรเทาสาธารณภัยมัสยิดกลางจังหวัดนครศรีธรรมราชได้กล่าวว่า

“เป็นค่ำคืนที่เด็กๆ สนุกที่สุดค่ำคืนหนึ่งในชีวิต หวังว่าเจ้าจะได้เติบโตและเรียนรู้”

ในท่ามกลางความทุกข์ของพี่น้องชาวใต้ก็ยังมีสิ่งที่ไม่ค่อยดีในโลกโซเชียลเช่นกันที่ไม่ควรเกิดขึ้นสำหรับคนที่อินกับการเมืองจนเกินไป เช่นกล่าวว่า นี่แหละบทลงโทษสำหรับคนใต้ที่ล้มประชาธิปไตยบ้างละ วิจารณ์กองทัพเสียหายๆ ในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย (เช่น เรือรบหลวงหรือเรือดำน้ำกองทัพ) ซึ่งในภาวะเช่นนี้ก็อยากให้ละวางเรื่องการเมืองบ้าง

ท้ายนี้ก็อยากจะให้ทุกภาคส่วนของประเทศไทยโดยเฉพาะรัฐบาลร่วมกันฟื้นฟูผู้ประสบภัยทั้งจิตวิญญาณ สภาพจิตใจและสิ่งของ และอย่าลืมจัดงานฉลองวันเด็กผู้ประสบภัยในวันเด็กแห่งชาติ และแก่ครู ในวันครูแห่งชาติ

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูคือการฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติซึ่งน่าจะมีสองประการด้วยกัน ประการแรก ผู้ประสบภัยพิบัติโดยพวกเขาไม่ใช่ผู้เคราะห์ร้ายที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และต้องพึ่งพาผู้อื่น แต่ให้ถือว่าผู้ประสบภัยคือกำลังสำคัญในกระบวนการฟื้นฟูเยียวยา

ประการที่สอง ถ้าหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจและวิธีการที่ถูกต้องก็จะสามารถช่วยให้ผู้ประสบภัยได้ใช้พลังงานอย่างสร้างสรรค์ ในการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายที่ต้องกระทำอย่างเร่งด่วนในทุกขั้นตอน เพื่อจัดการฟื้นฟูพัฒนาชีวิตและชุมชนที่สูญหายให้กลับคืนมา

สำหรับบทบาทของภาคส่วนต่างๆ ในการฟื้นฟูชุมชนผู้ประสบภัยพิบัติ เราจะพบว่าที่ผ่านมาหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ต้องมักตัดสินใจแทนชาวบ้าน และมักเลือกวิธีช่วยเหลือชาวบ้านด้วยการแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค โดยไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีบทบาทจัดการเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนให้ดีขึ้น

“การสนับสนุนช่วยเหลือจะเพียงพอต่อความต้องการของชุมชนที่ประสบภัยพิบัติหรือไม่นั้น หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ต้องรับฟังว่าชุมชนผู้ประสบภัยต้องการอะไร ฝ่ายผู้ประสบภัยเองก็ต้องแสดงว่ามีความต้องการสิ่งใดบ้างอย่างชัดเจน การสร้างการสื่อสารที่สมดุลทั้งสองฝ่าย หมายถึงการให้พื้นที่แก่ชุมชนได้แสดงออกว่าพวกเขาต้องการอะไร และให้ชุมชนได้เป็นผู้จัดการฟื้นฟูพัฒนาชุมชนหลังภัยพิบัติโดยชุมชนเอง”

และที่สำคัญ ช่วงปี่กลองเลือกตั้งครั้งนี้อย่าดึงเอาการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว แต่ก็อย่าให้ระบบราชการที่ซับซ้อนมาเป็นเรื่องถ่วงดุลให้ล่าช้า