มุทิตา เชื้อชั่ง : “จรัล ดิษฐาอภิชัย” กับเส้นทางการเมืองเหลือง-แดง

ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่แบ่งหยาบๆ เป็นสีเหลือง-แดง กินเวลายาวนานกว่าทศวรรษ กลุ่มคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมปรากฏตัวชัดเจนและผนึกกำลังกันอย่างแข็งแกร่งเมื่อเผชิญหน้ากับนายทุนนักการเมืองผู้ได้รับความนิยมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยอย่างทักษิณ ชินวัตร

ปัญญาชนสาธารณะ บุคคลสาธารณะหลายต่อหลายคนร่วมขบวนประท้วง “ขับไล่ผีทักษิณ” ในนามของการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจบริหารในสมัยที่สองของเขา แต่ทางแยกสำคัญอยู่ที่ข้อเรียกร้องให้อ้างอิงรัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพื่อให้มีนายกฯ พระราชทาน แต่เมื่อไม่มีการขานตอบรับ จึงตามมาด้วยบทสรุปคือ รัฐประหารในปี 2549

Turning Point ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางส่วนกลับหลังหันตั้งแต่มีการชูมาตรา 7 ดังกล่าว บางส่วนเนิ่นช้ามาถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553 มีคนตายเกือบร้อย บางส่วนเริ่มเข้าใจก็หลังการรัฐประหารปี 2557 นี้เอง

เพื่อนฝูงของจรัลที่มีประสบการณ์ต่อสู้กับเผด็จการ เข้าป่าจับปืน และต่อมาถูกเรียกรวมๆ ว่า “คนเดือนตุลา” เกลียดและกลัวทุนสามานย์อย่างยิ่งยวด ส่วนใหญ่พร้อมจับมือกับขุนศึก-ศักดินา เพื่อกำจัดหัวหน้าพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ สังคมแตกแยกกันหนักหน่วง

และแน่นอน “พี่จรัล” “อาจารย์จรัล” ของทุกคนยังคงพูดคุยได้กับคนทุกกลุ่ม แต่เขาไม่เข้าร่วมขบวนนี้ ตั้งแต่ก่อนที่ฝ่ายอนุรักษนิยมจะเรียกร้องมาตรา 7 เสียอีก เขาเดินของเขาดุ่มๆ

“การเคลื่อนไหวที่นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล เริ่มตั้งแต่ปี 2548 พอถึงปี 2549 การเคลื่อนไหวก็ใหญ่ขึ้น มีคนชวนผมไปร่วม ผมไม่ไป ทั้งๆ ที่เพื่อนผม รุ่นน้องผม รุ่นพี่ผม ส่วนใหญ่ก็ไป ผมไม่ไปด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ผมไม่ชอบเป้าหมายการต่อสู้และคำขวัญเขา “คืนพระราชอำนาจ” ใครโทร.มาชวนผมก็ไม่ไป ผมให้เหตุผลสั้นๆ ว่าการเคลื่อนไหวต่อสู้ใดๆ ที่ชี้นำด้วยความคิดล้าหลังจะทำให้สังคมและประเทศถอยหลัง ซึ่งมันก็จริง 19 กันยายน 2549 ก็เกิดรัฐประหาร”

นอกจากนี้ ในเวลาที่ผู้มีต้นทุนทางสังคมล้วนสงวนจุดยืนกันมาก เขายังเปิดตัวเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ของคนเสื้อแดงด้วย หลังจากได้รับการชักชวนจากวีระ มุสิกพงศ์

 

สําหรับมวลชน จรัลเป็นที่รู้จักแต่อาจไม่ป๊อปปูลาร์นัก (อันที่จริงมันก็เหมือนอาชีพอื่นๆ ของเขาก่อนหน้านี้) เขาไม่ใช่คนที่ไฮด์ปาร์กดุเดือดหรือตลกโปกฮา สไตล์การปราศรัยของจรัลนั้นคล้ายกับgล็กเชอร์เสียมากกว่า นั่นทำให้แม้แต่เมื่อลี้ภัยแล้ว เขาก็จัดรายการ “วิทยุใต้ดิน” ร่วมกับผู้ลี้ภัยอื่นๆ ที่นิยมวิเคราะห์การเมืองไทยแบบไม่มีเพดานเผยแพร่ในยูทู[อยู่เพียงไม่กี่ตอนเท่านั้น

“ผมพูดให้มันหวือหวาไม่ได้ มันไม่ใช่สไตล์ผม แล้วพูดๆ ไปมันก็เริ่มซ้ำแล้ว”

กระนั้นก็ตาม ช่วงสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานของการเคลื่อนไหวของ นปช.ในปี 2553 แม้ข้อเสนอหลายอย่างของจรัลจะไม่ได้รับการตอบรับ (เขาบอกว่าเขาเสนออะไรก็มักเป็นเสียงส่วนน้อย ไม่ได้รับการตอบรับมาตั้งแต่ 14 ตุลาฯ แล้ว) เช่น ควรชุมนุมแบบดาวกระจาย, ไม่ชุมนุมยืดเยื้อที่ราชประสงค์ ฯลฯ จรัลก็ยังคงเป็นเช่นเดิมเหมือนเมื่อครั้งไม่ละทิ้ง พคท.ในช่วงขาลง

“วีระไม่เห็นด้วยกับการยึดที่ราชประสงค์ เขาเป็นประธานก็ขอลาออกแล้วออกจากที่ชุมนุม คนที่ออกตามไปคือ วิสา (คัญทัพ) อดิศร (เพียงเกษ) วิสาโทร.มาบอกให้ผมออก ผมไม่ออก มันต้องร่วมหัวจมท้าย อยู่ๆ นอนๆ กันในที่ชุมนุมก็เริ่มหายไปทีละคนสองคน สุดท้ายเหลือผม อาจารย์ธิดา หมอเหวง ก่อแก้ว วันสุดท้ายก่อแก้วก็หายไปอีก”

แน่นอนว่าระดับแกนนำจะต้องมีการ์ดคุ้มกันความปลอดภัย แต่แม้ผู้คุ้มกันก็ยังไม่สามารถคุ้มกันคนอย่างจรัลได้

“ผมมีบอดี้การ์ด เป็นอดีตทหาร ผมเป็นคนหามาเอง ปรากฏว่าเดินไปไหนมาไหน เขาเดินตามผมไม่ทัน ผมเดินไปกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ถ้าทางการจะส่งคนมาจัดการผมนี่ง่ายเลย แล้วการ์ดผมก็ไม่กล้าพกปืน เพราะกลัวถูกจับที่ไม่มีใบอนุญาต ผมให้เขาวันละหลายร้อย หมดเงินไปเยอะ แต่เขาก็ช่วยผมไม่ได้หรอก วันสุดท้ายที่สลายการชุมนุมเขาพาผมเข้าวัดปทุมฯ พอตอนเช้าเขาหายไป ผมโทร.ไปถามว่าอยู่ไหน เขาบอก “ผมออกมาแล้วอาจารย์” คงกลัว”

“แล้วอย่างนี้มีการ์ดไว้ทำอะไร”

“มีไว้เป็นเพื่อนไง ตอนอยู่ในที่ชุมนุม แต่ถ้าวันไหนผมกลับบ้าน ผมก็ไม่ให้เขาไปส่งที่บ้านหรอก ผมกลับเอง”

“อ้าว ทำไม”

“ถ้าให้เขาไปด้วย เดี๋ยวผมก็ต้องส่งค่าแท็กซี่เขาอีก”

!!!???

 

เหตุการณ์ในปี 2553 จบด้วยความเศร้าสลด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยังไม่ถูกคลี่คลายในกระบวนการยุติธรรม และดูท่าจะยังไม่คลี่คลายไปอีกนาน เช่นเดียวกับข้อกล่าวหา “กลุ่มติดอาวุธ” ในขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ความน่าเสียดายอย่างหนึ่งก็คือ จนบัดนี้บรรดาแกนนำ นปช. นักการเมืองฝ่ายเสื้อแดงก็ยังไม่มีการประชุมสรุปบทเรียนอย่างเป็นระบบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เดาว่าทุกคนคงพยายามหลบเลี่ยงบาดแผลอันน่าเศร้า และหลีกเลี่ยงการปะทะกันของมุมมองที่แตกต่างในขบวนใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตยที่แทบจะไร้เอกภาพอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมันเอง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางฝุ่นตลบในปี 2553 จรัลเป็นแกนนำเพียงคนเดียวที่เตรียมพร้อมกับ “การหนี” อาจเพราะประสบการณ์สอนเขามาอย่างเข้มข้น

เขาเป็นไม่กี่คนที่มีพาสปอร์ต (ที่มีวีซ่าต่างประเทศ) และเงินสดเตรียมอยู่ในกระเป๋าเสมอ

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเขาหลบที่เซฟเฮาส์ก่อนออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ที่นั่น 8 เดือน แล้วจึงเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อทำงานเคลื่อนไหว ตระเวนอธิบายสถานการณ์การเมืองไทยในยุโรปอีก 8 เดือน ก่อนกลับไทยเมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2011

จากนั้นจึงได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี แต่เขาก็ไม่ได้ทำงานอย่างที่ตั้งใจ

“ปี 2012 เขาแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษารองนายกฯ ความจริงผมอยากทำงานสากลแบบที่ทำปัจจุบันนี้ การมีสถานะจากรัฐบาลจะทำให้เขาฟังมากขึ้น แต่ไม่มีใครเก๊ตในตอนนั้น สรุปแล้วเลยไม่ค่อยได้ทำอะไร”

รัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศได้ไม่ทันครบเทอมก็เจอมรสุม “ตุลาการภิวัฒน์” ประกอบการเมืองบนท้องถนนที่สุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นมาเป็นหัวหอกแทนสนธิ โดยหยิบกรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาเป็นประเด็น กฎหมายฉบับนี้พยายามผลักดันการแก้ปัญหานักโทษการเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นประชาชนคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมคุมขังในข้อหาต่างๆ จำนวนมากภายหลังเหตุการณ์ปี 2553

หากแต่มันกลับเป็นชนวนให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกโจมตีจากทั้งฝ่ายตรงข้ามและจากแนวร่วมของตนเองอย่างหนักหน่วง เนื่องจากมีผลนิรโทษกรรมตัวละครหลักแห่งความขัดแย้ง “ทักษิณ-ผู้สลายการชุมนุม”

สุเทพพาคนออกมาเต็มท้องถนนกับสัญลักษณ์นกหวีด สถานการณ์ยืดเยื้อและมีความรุนแรงย่อยเป็นจุดๆ กระทั่งก้าวไปถึงการปิดคูหาล้มการเลือกตั้งระดับประเทศ แล้วการเมืองไทยก็จบที่ซีนเดิม รัฐประหาร

กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นประเด็นใหญ่ที่ถกเถียงกันมากในหมู่นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยและแม้แต่ในกลุ่มผู้ลี้ภัยเอง จรัลและสมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) เคยโต้เถียงทะเลาะกันหนักในเรื่องนี้ จรัลได้รับข้อกล่าวหาว่า ไม่มี Moral Responsibility ที่สนับสนุนกฎหมายนี้ ซึ่ง หนึ่ง ทำให้ทหารและผู้สั่งการสลายการชุมนุมลอยนวลพ้นผิด สอง ฝ่ายการเมืองย่อมรู้ดีว่าการนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมทักษิณจะทำให้กฎหมายนี้ถูกต้าน แล้วนักโทษการเมืองที่เป็นชาวบ้านก็พลอยหมดโอกาสไปด้วย

แม้จะโดนวิพากษ์อย่างรุนแรงจาก “พวกเดียวกัน” ถึงวันนี้จรัลก็ยังยอมรับอย่างหนักแน่นว่า เขาเห็นด้วยในหลักการที่จะต้องนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายทั้งหมด

หากแต่ต้องมีกระบวนการอื่นๆ อีกมาก มิใช่ออกกฎหมายแล้วเซ็9ซีโร่ทันที เช่น การรายงานข้อเท็จจริงกับคณะกรรมการนิรโทษกรรมว่าตนได้ทำสิ่งใดไปบ้างเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา เป็นต้น

“ผมไม่ได้สนใจความยุติธรรม เท่ากับว่าทำยังไงให้เกิดความปรองดองแล้วเดินหน้าต่อไปได้ มันต้องปรองดองก่อนจึงจะมีความยุติธรรม ไม่ใช่ยุติธรรมก่อน ถ้ามันเกิดความยุติธรรมได้ก่อน มันก็เป็นไปแล้วสิ”

“ผมรู้ว่าคุณก็รู้สึกเยอะกับคนที่ตาย คนที่ติดคุก ไม่ใช่ผมไม่รู้สึก แกนนำเองก็รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ แต่เราเอาความรู้สึกมากำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ไม่ได้”

ปรองดองคือประเด็นหลักสำหรับจรัล นานมาแล้วจรัลเคยพูดถึงเป้าหมายการต่อสู้ในสงครามเหลือง-แดงนี้ว่า เขาไม่ได้ต้องการชัยชนะ! เมื่อได้ยินคำตอบนี้ในตอนนั้นก็ได้แต่คิดว่ามันเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างประหลาด

“ความขัดแย้งคราวนี้ไม่เคยเกิดมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตอนเป็นขวาเป็นซ้ายมันก็ไม่ได้กว้างขนาดนี้ ทุกวันนี้เกือบทุกครอบครัวแบ่งเป็นเหลือง-แดง ความกว้างและความลึกมันยากที่จะเกิดการปรองดอง แล้วยิ่งสังคมไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการปรองดองจึงยิ่งยากมาก แต่ถ้าไม่ปรองดองมันจะสู้กันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่รู้ว่าสิ้นสุดเมื่อไหร่”

“ถ้ายังสู้ยังรบกันต่อไป โอกาสที่ประชาชนชนะแทบไม่มีแล้ว ผมไม่เชื่อพลังประชาชนไทยแล้ว ไอ้คำพูดว่า “จะลุกฮือ” ไม่มีแล้ว เมื่อก่อนผมเชื่อพลังประชาชนมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่เชื่อแล้ว ยุคปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว นักปฏิวัติก็ไม่มีแล้ว”

 

ไม่ใช่เพียงประเด็นกฎหมายนิรโทษกรรม ความใกล้ชิดกับทักษิณของจรัลก็ถูกปัญญาชนตั้งคำถาม เราจึงต้องถามเขาอีกครั้งว่า เขาคิดอย่างไรกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้

“คำถามนี้มีคนถามเยอะมาก ในทางสากลด้วย ผมบอก ดร.ทักษิณจะชั่วจะดีเขาเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน เดี๋ยวนี้เขาไม่มีแผ่นดินจะอยู่ พวกคุณเวลาพูดถึง ดร.ทักษิณ คุณพูดถึง ดร.ทักษิณก่อนปี 2006 ความคิดพวกคุณหยุดตรงนั้น ทักษิณคอร์รัปชั่น ทักษิณกรือเซะ ทักษิณตากใบ แล้วตอนนี้ทักษิณเป็นยังไง”

“สอง ทักษิณเป็นสัญลักษณ์หรือผู้นำกระบวนการประชาธิปไตย ตัวเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะมีอุดมการณ์หรือไม่มีอุดมการณ์ ยังไงเขาก็เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อย่างน้อยก็ของคนเสื้อแดง สาม ทักษิณไม่ใช่นักปฏิวัติ คนจะไปเรียกร้องให้เขาทำนั่นทำนี่อย่างนักปฏิวัติไม่ได้ แล้วเขาก็มีตัวประกันในเมืองไทย สี่ ทักษิณมีเครือข่ายทั่วโลกเหมือนกัน เขาเป็นแนวร่วมชั้นดี”

“ทักษิณเวลานี้ก็เหมือนผม คือ คิดไม่ออกว่าจะสู้ยังไง ถ้าเป็นเมื่อก่อนใครมาถามผมว่าจะสู้ยังไง ต้องนั่งอธิบายสามวันสามคืน ตอนนี้ใครถาม ผมบอกผมไม่มีปัญญา พวกคุณคิดเอาเอง การต่อสู้ปัจจุบันผมไม่คิดว่าใครจะมีปัญญาพอจะบอกว่าสู้อย่างนั้น อย่างนี้ คนฟังผมแบบนี้แล้วก็หดหู่ แต่ผมบอกเสมอว่า พวกคุณต้องยืนหยัดนะ แล้วก็รวมหัวกันคิด อย่าไปเชื่อ อย่าไปรอใครชี้นำ”

“แต่ไม่ว่าผมจะสิ้นหวังกับสิ่งต่างๆ ยังไง อย่างหนึ่งที่ทำให้มีหวังอยู่ได้ก็คือ คนรุ่นใหม่”