วิเคราะห์ : ไอ้โม่งคนไหน?… อ้างชื่อ “ททท.” ซื้อโต๊ะจีน 9 ล้าน!

มีข่าวหลุดลอดจากงานเลี้ยงระดมทุนพรรคการเมืองใหม่ แต่มีขนาดใหญ่คับสังเวียนการเมืองระดับประเทศ ที่ฟอรั่ม ฮอลล์ 9 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อคืนวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งตั้งราคาค่าสนับสนุนพรรค เป็นโต๊ะจีนโต๊ะละ 3 ล้านบาท และตั้งเป้าไว้ 200 โต๊ะ จะได้เงินมหาศาลถึง 600 ล้านบาท

ดูจะง่ายกว่าคนจนค่อนประเทศซื้อข้าวสารกรอกหม้อกินแต่ละมื้อเสียอีก!

ข่าวที่หลุดยังระบุถึงผังการจัดโซนตั้งโต๊ะเอาไว้ด้วยว่า เป็นโต๊ะจองของกระทรวงการคลัง 20 โต๊ะ 60 ล้านบาท ของหน่วยงานชื่อย่อ “ททท.” อีก 3 โต๊ะ 9 ล้านบาท

ท่ามกลางความงุนงงสงสัยของคนในสังคม ที่ว่าองค์กรทั้งสองนั้นเป็นหน่วยงานรัฐ จะหาญกล้าขนาดนำเงินงบประมาณแผ่นดินก้อนเติบมาสนับสนุนพรรคการเมืองได้อย่างไร ในเมื่อมันขัดต่อข้อห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 76

“ที่ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นใดของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมือง หรือเข้าร่วมกิจกรรมระดมทุนพรรคการเมือง”

 

ข่าวนี้พอแพลมออกมา กระทรวงการคลังเป็นเจ้าแรกที่รีบชิงปฏิเสธทันควัน ว่าไม่ได้มีส่วนร่วมและรู้เห็นการนำเงินแผ่นดินมาประเคนงานนี้

ขณะหน่วยงานชื่อย่อ ททท. คงไม่หนีไปจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปฏิเสธสวนกระแสทันควันโดยทีมงานพีอาร์องค์กร ด้วยวิธีออกใบปลิวบนแผ่นกระดาษตราสัญลักษณ์พร้อมสถานที่ตั้ง ระบุข้อความยืนยัน ททท.ไม่ได้มีส่วนร่วมและเปิดหีบนำงบประมาณมาสนับสนุน

ใบปลิวดังกล่าวไม่มีผู้ลงนามเป็นหน้าเสื่อยืนยันรับรอง ไม่มีเลขที่หนังสือออกกำกับ ตามระบบราชการ แล้วรีบร่อนส่งผ่านออนไลน์ไปถึงสื่อทุกช่องทาง เพื่อปฏิเสธข่าวไม่มีมูลความจริง และยืนยัน ททท.ไม่มีเจตนาจะนำงบประมาณรัฐ หรือเงินจากแหล่งใดมาสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้

ขณะเดียวกันกลับไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ตอบออกมาจากผู้นำระดับสูงคือผู้ว่าการ ททท. ซึ่งควรจะแสดงสปิริตปกป้องภาพลักษณ์องค์กรที่ถูกกระทบโดยตรง

เรื่องฉาวโฉ่นี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ชื่อของ ททท.ถูกนำไปพาดหัวตัวใหญ่ขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ กับมีการเสนอข่าวผ่านวิทยุ-โทรทัศน์ทุกช่องสถานี เหมือนเมื่อครั้งข่าวรับสินบนจากสองสามี-ภรรยาอเมริกันตระกูล “กรีน” ให้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ปี 2546

 

อันที่จริงสถานะการดำเนินงาน ททท.นั้น หน้าที่หลักคือส่งเสริมการท่องเที่ยว แสวงหาเงินตราต่างประเทศ และสร้างกระแสให้คนไทยท่องเที่ยวภายในประเทศ ดูไม่น่าจะเกี่ยวโยงกับการเมืองเท่าไรนัก

ตรงนี้ถ้าเป็นยุคบุกเบิกนับแต่ปี 2503 เรื่อยมาถึง 2535 …อาจจะใช่!

แต่พอถึงปี 2535 เมื่อละครการเมืองเรื่องประชาธิปไตยไทยเบ่งบานสุดโด่ง จนสุกงอมจวนเจียนจะร่วงผล็อยลงกองกับพื้นดิน

ททท.จึงถึงกาลเวลาถูกการเมืองแทรกแซง และคุกคามเพื่อหวังแบ่งปันผลประโยชน์จากงบประมาณ ตามวิถีทางการเมืองไทยที่ถนัดนักกับเรื่องยังงี้!

จึงไม่แปลกที่หน่วยงานนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

เช่นกรณีเกิดข่าวงานปาร์ตี้โต๊ะจีน 600 ล้านบาท ที่อ้างว่า ททท.เป็นเจ้าภาพร่วม 9 ล้านบาท

จนมีบุคลากรองค์กรต้องกุลีกุจอโบกมือสั่นหัวว่าไม่จริ๊ง! ไม่จริง!

แต่สังคมจะยอมรับหรือรับฟังหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเรียกความน่าเชื่อถือให้คืนกลับมาเองว่าไม่ได้เข้าไปเอี่ยวกับงานนี้จริง!?

 

สิ่งที่ ททท.สมควรทำกับวิกฤตข่าวอัปมงคลชิ้นนี้ คืออย่าดราม่ารอฟังเพียงผลสรุปรายชื่อบุคคล หรือหน่วยงานที่หว่านเงินสนับสนุนพรรคการเมืองชั้นเทพจาก กกต.

แต่พึงแสดงบทบาทเชิงสัญลักษณ์ กระชากหน้ากากไอ้โม่งที่ปล้นเงียบ แอบเอาชื่อหน่วยงานของตนไปกล่าวอ้างจนรู้กันทั่วบ้านทั่วเมือง

ต้องไม่ลืมด้วยว่าชื่อองค์กรนี้ มีปรากฏอยู่ในมาตรา 6 ตาม พ.ร.บ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 ให้จัดตั้งองค์กรขึ้นเรียกว่า “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” เรียกโดยย่อว่า “ททท.” …และให้มีตราเครื่องหมายของ “ททท.”

นอกจากนี้ ททท.ยังได้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จากสำนักทะเบียนการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2543 ไว้เป็นที่เรียบร้อย กับมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2554

ทะเบียนดังกล่าวระบุชื่อองค์กรทั้งชื่อเต็มและชื่อย่อ พร้อมตราสัญลักษณ์เป็นรูปพระปรางค์วัดอรุณฯ และเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาตรา 108 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลใดปลอมเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุค คลที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

และมาตรา 109 “กำหนดมิให้บุคคลใดเลียนเครื่องหมายการค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

เจตนาของการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ ที่ทราบ ททท.ต้องการขจัดปัญหากรณีมีสถานประกอบการหลายแห่ง อาทิ ธุรกิจที่พักแรม บริษัทนำเที่ยว ธุรกิจรถเช่า ร้านค้า ร้านอาหาร ชอบนำตราสัญลักษณ์หน่วยงานไปประดับไว้ยังสถานประกอบการ ให้บุคคลทั่วไปรวมถึงนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหลงเชื่อและเข้าใจว่าสถานประกอบการแห่งนี้เป็นของรัฐ ดำเนินการโดยรัฐ หรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐให้น่าเชื่อถือ

ททท.ถึงได้คิดแก้ปัญหาสกัดนักฉวยโอกาสพวกนี้ ที่ชอบเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว หลอกลวงขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าคุณภาพ หรือขายธุรกิจบริการแบบต้มตุ๋นอย่างธุรกิจนำเที่ยวบางราย กลุ่มรถเช่า รถรับจ้างสาธารณะ ที่ขาดคุณภาพในการให้บริการบางกลุ่ม

เรื่องนี้แม้ ททท.จะไม่มีอำนาจจัดการโดยตรง แต่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการแอบอ้างความน่าเชื่อถือได้

ไอ้โม่งปาร์ตี้โต๊ะจีน 3 โต๊ะมูลค่า 9 ล้านบาท ดังพฤติกรรมที่เป็นข่าวเล็ดลอดผ่านรั้วกำแพงฟอรั่ม 9 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ออกมานั้น มิได้ต่างไปจากผู้ประกอบการจอมแอบอ้างเท่าไรนัก

อีกทั้งยังเป็นการละเมิดกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ที่ไอ้โม่งตนนี้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในคืนระดมเงิน 600 ล้านบาท สนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่ ที่ทุกสายตาประชาชนคนไทยกำลังจับจ้องมองว่าจะไป “รอด” หรือ “ไม่รอด” หลัง 24 กุมภาพันธ์ 2562

ลองมาดูกันซิว่า งานนี้ ททท.จะขึ้นแท่นยืนเป็นโจทก์เอาผิดกับไอ้โม่งตนนี้ หรือปล่อยเลยตามเลยเป็นคลื่นกระทบฝั่ง

เหมือนมีเส้นผมจากใครไม่รู้มาบังภูเขา!?