ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 2561 - 3 มกราคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | มีเกียรติ แซ่จิว |
เผยแพร่ |
เมื่อแรกเห็นตัวอย่าง The Wife ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายเบสต์เซลเลอร์ในชื่อเดียวกันของเม็ก วอลิตเซอร์ ที่ว่าด้วย โจน แคสเซิลแมน (เกล็นน์ โคลส) ภรรยาผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศาสตราจารย์โจเซฟ แคสเซิลแมน (โจนาธาน ไพรส์) สามีผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
แต่ทว่าเบื้องหลังความสำเร็จกลับซุกซ่อนความลับบางอย่างไว้ ภายใต้ใบหน้าที่ทั้งดีใจระคนสับสนอยู่ลึกๆ ของภรรยา
และการเข้ามาของเนธาเนียล โบน (คริสเตียน สเลเตอร์) นักข่าวคนหนึ่งที่ต้องการเขียนหนังสือชีวประวัติสามีของเธอ
พร้อมทั้งขุดคุ้ยเรื่องราวสมัยเรียนของเธอ ที่ครั้งหนึ่งเคยอยากเป็นนักเขียนไปด้วยนั้น ในฐานะภรรยา เธอจะวางบทบาทและทำหน้าที่ผู้อยู่เบื้องหลังในครั้งนี้อย่างไร
เมื่อผู้เขียนมีโอกาสได้ดูก็ไม่ผิดหวัง และเป็นไปตามที่คาด
ภายใต้เงาของสามี โจนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังทั้งในฐานะภรรยาผู้ภักดีและเป็นผู้เขียนนิยายที่ส่งผลให้สามีของเธอยืนโดดเด่นอยู่เบื้องหน้า
และที่มากไปกว่านั้น คือทั้งชีวิตของเธอ เธอยอมให้สามี “กิน” อย่างตะกละตะกลาม เรียกว่ากลืนกินเธอไปทั้งตัวก็ไม่ผิด
ในบทความชิ้นนี้เราจะมาวิเคราะห์กันดูว่า “การกิน” อย่างตะกละตะกลามของสามีสื่อความหมายมากกว่าการกินปกติทั่วไปอย่างไร
https://www.youtube.com/watch?v=z8ZIxmt0e7U
ฉากการกินอย่างตะกละตะกลามนี้ เราจะเห็นได้ตั้งแต่ต้นเรื่อง ที่ฝ่ายสามีตื่นเต้นลุ้นผลประกาศจนนอนไม่หลับจนต้องลุกออกจากเตียงไปหาของหวานมาขบเคี้ยว
เมื่อกินเสร็จ (เลอะเคราและเปื้อนเสื้อ) และทำท่าจะนอนต่อก็เกิดอารมณ์ “อยากกิน” ภรรยาที่นอนอยู่ข้างๆ เพียงแค่ฉากนี้ ก็ทำให้เห็น “พฤติกรรม” บางอย่างผ่านปากคำลามกของสามีที่พยายามพูดปลุกเร้าภรรยาให้มีอารมณ์ทางเพศตาม ก่อนที่ในเช้าวันถัดมาเสียงโทรศัพท์จะดังขึ้น และบอกข่าวดีแก่เขา (และเธอที่ฟังอยู่อีกสาย) ว่าคุณโจเซฟ แคสเซิลแมน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
โจเซฟเป็นคนชอบกินมาตั้งแต่ตอนสอนอยู่มหาวิทยาลัย ตอนเขาสอนวิชาวรรณกรรมในชั้นเรียน เขาชอบบิเปลือกของถั่ววอลนัทและกินไปด้วยขณะที่สอน เขามีวาทศิลป์ในการพูด โน้มน้าวให้นักเรียนในคาบฟังและคล้อยตาม “นักเขียนต้องเขียนหนังสือ วิญญาณของเขาจะหิวโหยถ้าเขาไม่เขียน”
และโจน ซึ่งในตอนนั้นเป็นนักศึกษาในชั้นก็หลงใหลเสน่ห์ของเขา ซึ่งแน่นอนว่าคนชอบกินอย่างเขาถึงแม้จะมีภรรยาและลูกอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังโหยหาและ “อยากกิน” ลูกศิษย์ของตัวเอง
โจนมีพรสวรรค์ด้านการเขียน แต่ถูกทักท้วงจากนักเขียนหญิงอาชีพคนหนึ่งว่า “จะไม่มีใครมาสนใจงานของเธอ”
คำพูดดังกล่าวบั่นทอนจิตใจเธอไม่น้อย ซึ่งเห็นได้ชัดในเวลาต่อมา หลังจากที่โจเซฟเลิกกับภรรยาและมาอยู่กินกับโจน ลาออกจากงานสอนเพื่อจะมาเป็นนักเขียนอาชีพ แต่ผลงานถูกปฏิเสธและเริ่มสิ้นหวังนั้น “ฉันรักงานเขียน มันคือชีวิตของฉัน”
คำพูดดังกล่าวที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นความฝันของเธอจึงถูกส่งต่อให้กับสามีผู้เป็นที่รักของเธอแทน เธอใช้ความรักในงานเขียนเป็นเงาให้กับสามี ในขณะที่สามีกลายมาเป็น “พ่อบ้าน” แทน ระหว่างที่เธอปิดประตูห้องทำงานเขียนหนังสือวันละ 8 ชั่วโมง
ฉากหนึ่งหลังขึ้นรับรางวัลโนเบลเสร็จสิ้น ขณะนั่งอยู่ในงานเลี้ยงโจพูดถึงขั้นตอนการปรุงอาหารอย่างออกรสกับสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสวีเดน
แต่ไม่สามารถพูดถึงนิยายที่ตนเขียนได้อย่างออกรสเหมือนขั้นตอนการปรุงอาหารที่เขาถนัด
หลายครั้งเขาจึงกังวลเมื่อไม่มีภรรยาคอยอยู่เคียงข้าง นั่นจึงทำให้เราเห็นว่าทั้งการพูด การทำอาหาร และการกิน เป็นสิ่งที่เขาชำนาญและทำมาตลอดชีวิต!
(ฉากอธิบายขั้นตอนการทำอาหาร จึงออกจะกลายเป็นเรื่องขมขื่นใจไม่น้อยสำหรับภรรยาที่นั่งอยู่ด้วยกัน)
มันจึงไม่ต่างจากการค่อยๆ ตื่นจากการหลับฝันของตัวละครที่ชื่อ “เอ็ดน่า” ในนิยายเรื่อง The Awakening ของเคท โชแปง จากการเข้ามาของใครคนหนึ่งที่ได้กระตุ้นเตือนให้เธอเลือกชีวิตมากกว่าอยู่ภายใต้การครอบงำของสามี
แต่ทว่าการเข้ามาของเนธาเนียล “ผมว่าคุณอยู่ใต้เงาของคนอื่นมานานเกินไป” ก็เพียงแต่ปลุกความฝันจากอดีตที่เคยหลับใหลไปนานแล้วของเธอให้ตื่นขึ้น แต่ไม่สามารถปลดแอกให้เธอคิดเป็นขบถต่อสามีที่ “หว่านรักด้วยถ้อยคำ” ให้เธอกินมาตลอดสี่สิบปีที่อยู่ด้วยกันมาได้สำเร็จ
เธอยอมให้สามีกัดกินเธอทีละนิดตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา และทุกวันที่กินอยู่ด้วยกัน จนมีลูกด้วยกันสองคน ปัจจุบันลูกสาวคนเล็กแต่งงานและเพิ่งจะคลอดลูกหลังวันรับรางวัลโนเบลของผู้เป็นพ่อ
ส่วน “เดวิด” ลูกชายคนโตกำลังเจริญรอยตามอยากเป็นนักเขียนอย่างผู้เป็นพ่อ แต่ด้านหนึ่งเดวิดก็เป็นคนเก็บกด ไม่มั่นใจในงานเขียนของตัวเอง เมื่อพ่อวิจารณ์งานก็รับไม่ได้ และบ่อยครั้งทั้งคู่ก็มีปากเสียงกัน
สิ่งที่เดวิดเป็นน่าจะเป็นผลมาจากพ่อและแม่อย่างละครึ่ง
คนพ่อเองสมัยยังหนุ่มทะเยอทะยานอยากเป็นนักเขียน แต่ถูกภรรยาติติงงานก็พลอยหัวเสียใส่และพานอยากเลิกราไปหาแรงบันดาลใจกับหญิงคนใหม่ เธอจึงเลือกที่จะเงียบและกดเก็บอารมณ์แทน
อารมณ์ประดามีทั้งหมดจึงไประเบิดใส่ในงานเขียน เธอจึงไม่มีเวลาใส่ใจและให้ความรักกับลูกเท่าที่ควร ตลอดเวลาที่เธอปิดห้องเขียนหนังสือ สามีจะทำหน้าที่เลี้ยงดูและทำงานบ้านทุกอย่างแทน
อาจเรียกได้ว่าสามีเก็บ “เธอ” (มันสมอง-อาหารชั้นเลิศ) บำรุงไว้ (ผลิตเขียนงาน) และบำเรอตน (กามารมณ์) แต่เพียงผู้เดียว!
เราจึงเห็นภรรยาในฐานะเป็นเพียง “อาหาร” ของสามี ที่เมื่อใดเวลาหิวก็กินได้อย่างตะกละตะกลามทุกครั้ง ไม่ว่าสามีจะพูดจาหยาบคาย เจ้าอารมณ์ไม่เปลี่ยน และเที่ยวแอบไปกินนอกบ้านเธอก็ยอม ทนยอม และได้แต่กดข่มอารมณ์ไว้
เพราะส่วนหนึ่งในฐานะนักเขียนเงาให้กับสามี เธอก็ได้วัตถุดิบในการเขียนมาจากสามีเช่นกัน (เค้าโครงบางส่วนจากนิยายรางวัลโนเบลเรื่อง The Walnut น่าจะมีสัดส่วนความจริงที่ถ่ายทอดบุคลิกลักษณะมาจากสามีของเธอที่โปรดปรานถั่ววอลนัทเป็นชีวิตจิตใจ)
ในฉากท้ายๆ ที่ฝ่ายภรรยาลุแก่โทสะอย่างรุนแรง และเลือกที่จะขบถเป็นอย่างเอ็ดน่า ไม่อยู่ภายใต้เงาของสามีอีกต่อไป ผ่านฉากที่ทั้งคู่ทะเลาะกันรุนแรงจนภรรยาเลือกที่จะขอหย่าเพราะสุดจะทนอีกต่อไปกับพฤติกรรมที่ไม่เคยพอของสามี (มุขลูกวอลนัทเขียนถ้อยคำสื่อรักที่เคยใช้กับเธอสมัยเป็นนักศึกษา ก็ยังเป็นมุขเดิมๆ ที่เขานำมาใช้กับช่างภาพสาวสวยที่ได้รับมอบหมายให้มาถ่ายภาพนักเขียนรางวัลโนเบลในงานนี้) วิธีที่เคยได้ผล กลับไม่ได้ผลอีกต่อไป เมื่อเขาไม่สามารถใช้ชุดคำเดิมๆ หว่านโปรยถ้อยคำชวนฝันจากในหนังสือให้เธอหลงเคลิ้มได้อีก
เขาไม่ใช่นักเขียน เขาคิดคำไม่เป็น เขาเป็นเพียงนักพูดโน้มน้าวใจ และนักกินที่หิวกระหายไม่รู้อิ่ม!
ตลอดสี่สิบปีที่อยู่ด้วยกันมา จนส่งให้เขากลายเป็นดาวเจิดจรัสชื่อ โจเซฟ แคสเซิลแมน ถูกบันทึกไว้ในฐานะนักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เธอเลือกที่จะอยู่เบื้องหลังตลอดมา คอยสนับสนุน ผลักดัน และหล่อเลี้ยงความฝันในฐานะนักเขียนเงาของสามีอยู่เงียบๆ ภายใต้ชื่อสามีที่กดทับชื่อเธอไว้ สามีที่บอกใครต่อใครว่าเธอเขียนหนังสือไม่เป็น แต่ความจริง เป็นตัวเธอเองต่างหากที่ยอมให้สามีกินเธอมานานเกินไป
ฉากการกินอย่างตะกละตะกลามเหมือนในตอนแรกจึงปรากฏซ้ำอีกครั้ง เมื่อสามีเดินเข้าไปบรรจงลูบหลังลูบไหล่ภรรยาแล้วบรรจงจูบที่แผ่นหลัง และพยายามจะกินเธออีกครั้ง (ร่วมรักเพื่อสงบศึก) แต่ทว่ากลับไม่เป็นผล คราวนี้เธอไม่ยอม “ถูกกิน” เหมือนเช่นทุกครั้ง เธอหักห้ามใจตัวเองพร้อมผละหนีจากสามีเข้าไปในห้องน้ำอย่างสับสน (คล้ายออกจากเงาของสามี มามองตัวเองในกระจกเงา) และเมื่อสามีขาดอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต (สามีเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว) ไม่นานนัก เขาก็ขาดใจตาย
ตอนท้ายบนเครื่องบิน แอร์โฮสเตสสายการบินเดิม เดินเข้ามาแสดงความเสียใจ และบอกว่าได้เห็นทั้งคู่ตั้งแต่ตอนขาไปดูเป็นคู่ที่รักกันมาก เธอถามเพียงว่าคุณรู้ได้ไง แอร์โฮสเตสตอบว่าเห็นได้จากการที่ทั้งสองแสดงออกต่อกัน
เธอไม่พูดอะไรอีก ยิ้มบนใบหน้า และหันไปพูดกับลูกชายที่นั่งอยู่ข้างๆ ว่ากลับถึงบ้านแล้วแม่จะบอกความจริงแก่ลูกทั้งหมด
มือของเธอลูบสมุดบนหน้าตักตรงหน้าที่ว่างเปล่า คล้ายจะบอกว่า นิยายเรื่องใหม่กำลังจะเริ่มต้น ในชื่อของเธอ โจน แคสเซิลแมน