คำถามและคำตอบ เกี่ยวกับเรื่อง “รถไฟฟ้าสายสีทอง” และ “ไอคอนสยาม”

: ที่มาที่ไป และรายละเอียดของโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นอย่างไร

ตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาโครงการ ไอคอนสยามให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงส่วนรวมและคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนโดยรอบโครงการ และลดปัญหาจราจรที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนที่ต้องสัญจรผ่านไปมาในบริเวณโดยรอบ จึงได้เกิดเป็นแนวทางในการสนับสนุนการสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ

นอกจากนั้น ยังสนับสนุนเชื่อมโยงการสัญจรทางรถ ราง เรือ โดยการสร้างท่าเรือ 4 ท่าในโครงการ และช่วยบูรณะท่าเรือในที่อื่นๆ อีก 3 แห่ง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ส่งผลดีไปถึงการสัญจรในวงกว้าง และคุณภาพชีวิตของคน

เนื่องจากถนนกรุงธนบุรี ถนนเจริญนครและถนนสมเด็จเจ้าพระยา ปัจจุบันได้มีการขยายตัวของชุมชนโดยมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และโรงแรม เพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดปริมาณการจราจรซึ่งเกินขีดความสามารถของถนนโดยรอบ

ซึ่งในแนวของถนนดังกล่าว ยังไม่มีระบบขนส่งทางรางที่จะสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลักได้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องมีระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder Line) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนหลักที่มีในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง มาใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

ซึ่งแนวทางดังกล่าวข้างต้นของไอคอนสยาม สอดคล้องกับแผนการศึกษาพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองปี พ.ศ.2552 ของกรุงเทพมหานคร ที่ได้เคยทำการศึกษาไว้ (คือสายที่ 5 ถนนกรุงธนบุรี-ถนนสมเด็จเจ้าพระยา) มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สัญจรด้วยรถไฟฟ้าทั้งหมด

โดยในปี 2559 กรุงเทพมหานครมีแผนที่จะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีแดง และสายสีม่วงเข้าด้วยกันในอนาคต และเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในชุมชนย่านคลองสานและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตและเกิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) รับผิดชอบดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน)

โดยเคทีจะต้องเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนทั้งหมดเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองนี้เองโดยไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลหรือกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด

เคทีจึงได้วางแผนจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวโดยการจัดหาผลประโยชน์ในทรัพย์สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง

เช่น การขายสิทธิในสื่อโฆษณาภายในโครงการให้แก่เอกชน ซึ่งเคทีได้พิจารณาและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับการดำเนินการดังกล่าวแล้ว ซึ่งสามารถทำได้โดยปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

และไอคอนสยามในฐานะโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ จึงได้แจ้งความประสงค์สนับสนุนทางการเงินแก่เคทีเพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองได้ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

จากการศึกษาวิเคราะห์ของเคทีแม้ว่าไอคอนสยามเป็นผู้ได้สัมปทานใช้ป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์เพียงสถานีเดียวจาก 3 สถานี แต่ผลตอบแทนดังกล่าวมีมูลค่าน้อยกว่ามูลค่าการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก

โดยเคทียังสามารถนำป้ายโฆษณาที่เหลือในสถานีอื่นและที่ตอม่อไปขายให้กับรายอื่นๆ ได้อีก

: รถไฟฟ้าสายสีทองใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ และมีรายได้เท่าไหร่

รถไฟฟ้าสายสีทองใช้เงินลงทุน 2,080 ล้านบาท ซึ่งเงินสนับสนุนจากไอคอนสยามจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายและค่าก่อสร้างทั้งหมด โดยเคทีไม่ต้องมีการชำระคืนใดๆ

ส่วนเคทีจะมีรายได้จากค่าตั๋วโดยสาร 30 ปีเป็นเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท

: รถไฟฟ้าสายสีทองจะเป็นสาย “เชื่อมต่อ” อย่างไร

ตามแผนของกรุงเทพมหานคร รถไฟฟ้าสายสีทองจะเป็นรถไฟฟ้าสายรอง (Feeder Line) ที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีคลองสาน (G3) และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สถานีสะพานพุทธ) ในอนาคตที่สถานีประชาธิปก (G4) โดยได้ออกแบบไว้เพื่อการเชื่อมต่อแล้วทั้ง 2 สถานี อีกทั้งเมื่อรถไฟฟ้าสายสีทองแล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนสามารถมีทางเลือกในการเดินทางเชื่อมต่อไปทางระบบเรือได้โดยผ่านท่าเรือไอคอนสยาม ที่เปิดให้เรือสาธารณะเข้ามาจอดเพื่อรับผู้โดยสารที่ต้องการสัญจรทางน้ำ ซึ่งจะเกิดการเดินทางที่ครบวงจรคือ ระบบรถ ราง และเรือในที่สุด

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองระยะ 1 (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน) มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสกรุงธนบุรี และดำเนินไปตามถนนกรุงธนบุรี เลี้ยวเข้าถนนเจริญนคร แนวเส้นทางเดินรถผ่านไปตามถนนเจริญนคร ถนนเจริญรัถ จนถึงแยกคลองสาน และไปสิ้นสุดบริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน เมื่อเปิดให้บริการในปี 2562 คาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 50,000 คนต่อวัน

การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 2 ในอนาคต มีความจำเป็นทั้งการต่อยอดโครงข่ายการให้บริการให้เกิดความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยจะขยายต่อจากสถานีคลองสาน (G3) บริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสินไปตามแนวถนนสมเด็จเจ้าพระยา ระยะทาง 900 เมตร ซึ่งจะก่อสร้างสถานีประชาธิปก (G4)

โดยสถานีนี้ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงประมาณ 400 เมตร ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาโครงข่ายต่อขยายเส้นทางจากทางด้านเหนือไปอีก 3 สถานี (ระยะทางประมาณ 1.82 ก.ม.) เพื่อเชื่อมโครงข่ายการเดินทางไปยังรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงหัวลำโพง-บางแค)

ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จทั้ง 2 ระยะตามแผนที่ศึกษาไว้จะมีระยะทางรวม 2.7 กิโลเมตร

: เพราะอะไรจึงต้องทำเป็นลักษณะรถไฟฟ้าโมโนเรล ยกระดับอยู่บนดิน

การพิจารณาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นรูปแบบยกระดับ มีข้อดีกว่าการก่อสร้างในรูปแบบใต้ดิน อาทิ การก่อสร้างไม่ซับซ้อน ใช้ระยะเวลาก่อสร้างที่น้อยกว่า ค่าดำเนินการและบำรุงรักษาระบบต่ำกว่า ไม่ต้องเวนคืนที่ดินประชาชน เมื่อเปรียบเทียบกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน

และข้อเท็จจริงเมื่อสำรวจถนนเจริญนครแล้วปรากฏว่า มีท่อส่งน้ำหลักของการประปานครหลวงอยู่แนวใต้ถนน จึงต้องสร้างเป็นทางยกระดับเท่านั้น

ซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ผลกระทบจากสังคมน้อยกว่า และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลักสายอื่นๆ ได้สะดวกกว่า และได้ทำประชาพิจารณ์ โดยเชิญผู้อยู่อาศัยชุมชนที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมเพื่อขอความเห็นชอบและมีการกำหนดแนวทางชัดเจนว่าจะบริหารผลกระทบระหว่างก่อสร้างกันอย่างไร

ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นอย่างดี หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 และมีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างเป็นทางวิ่งยกระดับ

: นับตั้งแต่ประกาศโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ก่อให้เกิดผลกระทบในทางที่ดีอย่างไรบ้าง

ในปัจจุบันการพัฒนาของเมืองขยายมาทางฝั่งกรุงธนบุรีมากขึ้นเรื่อยๆ มีการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เป็นจำนวนมาก

จำนวนคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จและจดทะเบียนในพื้นที่ฝั่งธนบุรี มีทั้งหมดประมาณ 102,770 ยูนิต คิดเป็นประมาณ 20% ของจำนวนคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จและจดทะเบียนแล้วในกรุงเทพมหานคร

โดยรายงานการศึกษาของบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เผยผลสำรวจทำเลพื้นที่ฝั่งธนบุรีและริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าเป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวค่อนข้างมากและต่อเนื่องมาหลายปี

ตลาดที่อยู่อาศัยและคอนโดมิเนียมได้รับความนิยมสูงมาก มีคอนโดนมิเนียมเปิดขายใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ประมาณทั้งสิ้น 58,150 ยูนิต และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อลดปัญหาจราจรและจะช่วยเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งมวลชนหลักกับพื้นที่ต่างๆ เป็นการเติมเต็มการเชื่อมต่อกับการเดินทางรูปแบบอื่นๆ ทั้งทางรถ ทางเรือ และระบบรางอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

: ระยะเวลาการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นอย่างไร

โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2562 โดยปัจจุบันงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคแล้วเสร็จ 70% การก่อสร้างมีความคืบหน้า 20% ในส่วนของงานก่อสร้างได้เริ่มงานเจาะเสาเข็มบริเวณสถานีกรุงธนบุรี (G1) และสถานีเจริญนคร (G2) แล้ว พร้อมกับงานก่อสร้างฐานราก และเสาต่อม่อ

: ไอคอนสยามดูแลผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองอย่างไรบ้าง

ไอคอนสยามได้บรรเทาผลกระทบด้านการจราจรระหว่างก่อสร้างในถนนเจริญนครและสมเด็จเจ้าพระยา โดยการจัดรถรับส่งฟรีให้ประชาชนทั่วไป 2 เส้นทางคือ บริเวณไอคอนสยามถึงรถไฟฟ้าสถานีกรุงธนบุรี เพื่อให้ประชาชนสามารถเชื่อมต่อบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้อย่างสะดวก

และอีกเส้นทางหนึ่ง รับ-ส่งไปแถววงเวียนใหญ่ นอกจากนี้ได้ประสานงานกับ บจ.กรุงเทพธนาคม เรื่องการจัดแผนการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งผลกระทบจากการปิดการจราจรบางส่วนบนถนนเจริญนคร ถนนกรุงธนบุรี และถนนตากสิน ต้องบริหารจัดการอย่างมีระเบียบแบบแผนเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางได้อย่างคล่องตัว

และทำให้ผิวจราจรสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในช่วงเวลาเร่งด่วนไอคอนสยามได้จัดสรรเจ้าหน้าที่ด้านจราจร และทำงานร่วมกับตำรวจจราจรในพื้นที่ เข้าประจำจุดต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนของแผนงานบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ ไอคอนสยามยังได้จัดสรรพื้นที่ชั้น G ของไอคอนสยาม ฝั่งติดถนนคลองสานให้เป็นโซน “ธนบุรีดีไลท์”

สนับสนุนให้พื้นที่แก่ผู้ประกอบการย่านคลองสาน-ธนบุรีที่เดิมค้าขายเป็น Street Food ริมถนนที่มีการก่อสร้าง ได้นำผลิตภัณฑ์สุดยอดของดีและของอร่อยของย่านคลองสาน-ธนบุรีมาวางจำหน่าย เพื่อให้มีพื้นที่ค้าขายเช่นเดิม โดยไม่มีค่าเช่า แต่จ่ายค่าสาธารณูปโภค และช่วยประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ประจำของท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ

และยังส่งเสริมการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาไทยท้องถิ่นให้ยั่งยืนสืบไป