“หลางหยาป่าง” ที่ชวนให้ย้อนคิดถึงสังคมไทยวันนี้

หลางหยาป่าง หนังทีวีที่ชวนให้ย้อนคิดถึงสังคมไทยวันนี้หลางหยาป่าง คือเรื่องของคนผู้หนึ่งผู้มุ่งมั่นพลิกเหตุการณ์ที่จะจารึกในประวัติศาสตร์ให้ถูกต้องตรงตามจริง ไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหากลายเป็นผู้ผิดไปชั่วกัลปาวสาน

เรื่องนี้เป็นนวนิยาย แปลไทยว่า บุรุษบูรพา ทำเนียบหยางหลา

เป็นละครโทรทัศน์ ชื่อไทยว่า มหาบุรุษผู้พลิกแผ่นดิน หลางหยาป่าง ชื่อฝรั่งว่า Nirvana in Fire

เป็นภาพยนตร์ดังในประเทศจีน เป็นเรื่องราวของการต่อสู้ที่ใช้สมองเป็นหลัก ทั้งวางแผน และซ้อนแผน รู้จักใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส รู้จักใช้วาจาและการเจรจาเพื่อผ่านปัญหา ฯลฯ

แปลกใจที่สถานีโทรทัศน์นำมาออกรายการช่วงเวลา 16:30 น. วันธรรมดาทุกวัน ดูจะผิดเวลาสำหรับกลุ่มผู้ชม ที่น่าจะเป็นคนวัยทำงานหรือผู้บริหารที่ยังอยู่ในที่ทำงานและบนท้องถนน ทำให้ต้องพึ่งยูทูบอย่างเดียว

โชคดีที่มีหนังเสียงในฟิล์ม พร้อมซับไตเติลภาษาไทย ดูแล้วได้อรรถรสทีเดียว แม้ฟังไม่ออก แต่เสียงของนักแสดงหลายคนสื่ออารมณ์ได้ดี

โดยเฉพาะอารมณ์นิ่ง แต่โต้ตอบได้อย่างฉาดฉาน

ความแปลกของเรื่องนี้ประการหนึ่งคือ ตัวละครสำคัญ 2-3 ตัว ที่ตายไปตั้งแต่เรื่องยังไม่ทันเริ่ม กลับกระจ่างชัด ประทับใจผู้ชมเหมือนโลดแล่นมีชีวิตอยู่ในท้องเรื่อง เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในเรื่อง

คนหนึ่งคือ นักปกครองผู้เก่งกล้าและมีแววจะนำพาแว่นแคว้นให้รุ่งโรจน์ต่อไป

อีกคนหนึ่ง กล้า ซ่า ฉลาด เก่ง แต่จิตใจดี เป็นผู้ที่เป็นที่รักของญาติผู้ใหญ่ เพื่อน และผู้ใต้บังคับบัญชา

ทั้งสองคนตายก่อนถึงเวลาอันควร ด้วยเหตุผลที่ไม่สมควรในสายตาของผู้ใกล้ชิดที่รักและรู้จัก

ภาพยนตร์เรื่องนี้นับว่าเป็นภาพยนตร์ดีเรื่องหนึ่ง ดูแต่ละตอนไปแล้วยังสามารถนำมาถกกันได้อีกหลายยก ชำแหละสถานการณ์ วิเคราะห์เหตุผลแรงจูงใจ เรียนรู้วิธีการคาดเดา โน้มน้าว และจูงใจคน

ดังนั้น คนที่เก่งที่สุดคือ นักเขียน และนักเขียนบทภาพยนตร์

ถ้าสองคนนี้ไม่ฉลาด ตัวละครก็ยากจะทำอะไร คิดอะไรแบบฉลาดๆ ได้

1)บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างไร เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด

บันทึกของกษัตริย์รัชกาลต่างๆ และประวัติของราชวงศ์ต่างๆ ของจีน เป็นเรื่องที่เขียนอย่างเป็นทางการโดยผู้มีวิชาและหน้าที่ของรัชกาลต่อไป ราชวงศ์ต่อไป ทำงานโดยอิสระโดยยึดถือเอกสารราชการและเอกสารการติดต่อต่างๆ ที่เก็บรวบรวมไว้ตลอดเวลา

ผลของงานลักษณะนี้ทำให้เราคนไทยได้รู้ประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากต้นฉบับภาษาจีนที่มีการแปลเป็นไทย

ดังนั้น เข้าใจได้ถึงความมุ่งมั่นของตัวเอกในเรื่องที่จะให้เปิดการไต่สวนใหม่ เพื่อพลิกคำตัดสินอันผิดพลาดยิ่งใหญ่ ให้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง มิให้ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลที่กล้าแกร่งและภักดี และรัชทายาทผู้ปรารถนาดี ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นกบฏ อยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติ

การคิดถึงชื่อเสียงตนและวงศ์ตระกูลหลังจากตายจาก เป็นสิ่งที่กลับมาควบคุมความประพฤติและจริยธรรมในปัจจุบันได้

นักการเมืองอเมริกันก็เคยคำนึงว่า เรื่องของเขาจะอยู่ในประวัติศาสตร์ว่าอย่างไร

เรื่องแบบนี้บ้านเราจะใส่ใจบ้างหรือไม่หนอ

2)เรื่องเดียวกัน มองได้หลายมุม สรุปได้หลายแบบ

แม้จะได้รับข้อเท็จจริงเดียวกัน เพราะบริบทในใจของตนโน้มนำไปทางนั้น ยิ่งเมื่อฟังเพียงครึ่งประโยค หรือฟังประโยคเดียว โดยไม่ถามต่อ ทำให้ได้ความจริงเพียงส่วนเดียว ผู้ฟังกลับรับฟังและตีความต่างกัน เช่น เชื่อเต็มร้อย เลือกเชื่อบางส่วน หรือไม่เชื่อเลย เป็นต้น

ยกตัวอย่าง พระเอกให้การว่า รู้จักและติดตามรัชทายาทที่ถูกประหารไปแล้ว

ซึ่งเป็นความจริง คู่กรณียกขึ้นมาเป็นหลักฐานสำคัญในการฟ้องร้อง

แต่ผู้ตัดสินซึ่งรู้จักคนของรัชทายาท ไม่เชื่อว่าพระเอกรู้จักรัชทายาทจริง กลับหาว่าคู่กรณีฟั่นเฟือน ปั้นข้อมูลเท็จเพื่อเอาตัวรอด

มือตรวจสอบของสำนักตรวจสอบคนหนึ่ง สารภาพว่า ความผิดเรื่องนี้ตนทำโดยที่อาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าไม่ได้สั่ง

คำให้การเป็นความจริง แต่การยืนยันว่าหัวหน้าไม่ได้สั่ง กลับทำให้ผู้มีอำนาจคือฮ่องเต้ ซึ่งเชื่อว่ามือตรวจสอบไม่รับคำสั่งการจากผู้อื่น และเรื่องที่กระทำลงไปใช้ลูกน้องในสำนักทั้งหมด จึงกลับมองไปว่าหัวหน้าต้องเป็นคนสั่งแน่นอน

ผู้พูดเป็นคนดีที่โกหกเพื่อปกป้องหัวหน้า โดยยอมรับความผิดทั้งหมดมาเป็นของตน (ซึ่งตัวฮ่องเต้เองก็เคยมีคนเคยรับผิดไป โดยไม่ซัดทอดต่อมาถึงตนเหมือนกัน)

ในสายตาของฮ่องเต้กลายเป็นหัวหน้าไม่ได้เรื่อง นอกจากละเมิดพระราชอำนาจแล้ว ยังกล่าวหาลูกน้องผู้ซื่อสัตย์เสียอีก

หลายตัวอย่างตอกย้ำว่า วาจาเป็นอาวุธ และหูของเรา ใจของเราก็พร้อมปรุงแต่งให้สามารถฟังให้เรื่องไหลเข้าไปลงตัวในกรอบความคิดของตนเองได้

ดูเรื่องสงครามเสื้อสีในบ้านเราก็แล้วกัน ไม่รู้ว่าจะมีวันไหนไหมนะที่ทุกฝ่ายจะทิ้งสิ่งที่ “คิดเอาเอง”

แล้วลงนั่ง “ฟัง” กันและกันบ้าง

3)บทเรียนชีวิต

ก. ตาอินกับตานาฟัดกันนัวเนีย ต่างคนต่างมีแผล ทั้งคอร์รัปชั่นและหว่านเงินเพื่อรักษาเพื่อนพ้อง หลายครั้งใช้กำลังแก้ปัญหา ยิ่งมีมือที่สามคอยสะกิดแผลให้เปิด ต่างก็ถล่มกันให้แผลเหวอะหวะยิ่งขึ้น คนที่ได้ประโยชน์คือ ตาอยู่ ซึ่งอยู่นอกวงของการแก่งแย่ง และเป็นคนไม่มีแผลให้เปิด

ข. บ้านเมืองทุกยุคสมัยมักแสดงซ้ำๆ กันว่าทหารมีคุณค่าในยามมีศึกประชิดติดพัน พอบ้านเมืองปลอดภัย ไร้ศึก นักรบก็หมดประโยชน์และตกอันดับ ไม่เป็นที่โปรดปรานเพราะรบเก่งแต่ไม่ทันเล่ห์ลิ้นทางการเมืองนอกตำราพิชัยยุทธที่ดำรงอยู่ในศูนย์กลางอำนาจ ย้ำคำกล่าวที่ว่า “เสร็จศึกฆ่าขุนพล” (บางครั้งแค่ศึกใกล้เสร็จ พวกที่เอาหน้าอาจจะเร่งหักหลังพิชิตทัพที่รบชนะ เพื่อเอาความดีความชอบใส่ตน) ถ้ามีศึกมาประชิดครั้งใหม่ในเวลาเร็ววัน เหล่าขุนนางช่างพูดล้วนมีวิธีพูดให้ตนไม่ต้องออกรบ เป็นเช่นนี้ก็ต้องขบคิดแล้วว่าชาติจะอยู่รอดได้อย่างไร ถ้าไร้ขุนพลคนที่พร้อมกรำศึก

ค. เมื่อการบริหารบ้านเมืองตกอยู่ในยุคแบ่งฝ่าย พวกใครพวกมัน ใครขยับทำอะไรก็ถูกตั้งข้อสงสัยก่อนว่าเป็นพวกใคร ข้าราชการที่ทำงานจริง อยู่กับงาน ไม่มีข้าง ก็ได้แต่ก้มหน้าตรอมตรม อึดอัดคับข้องใจ ยากจะยืนหยัด ทางเลือกอาจจะเหลือแค่สองทางคือ ผันตนไปเป็นคนเลือกข้าง หรือนั่งรอให้ไฟในตัวค่อยๆ มอด ยิ่งเวลายืดยาวนาน ไฟก็อาจจะดับไปอย่างสิ้นเชิง

คนที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องทำมาหาเลี้ยงตน มีทางเลือกอีกทางหนึ่ง คือ ถือหลักสบายๆ เที่ยวเล่นไปวันๆ ไม่ก่อความระแวง ไม่มีภัยต่อใครไม่ว่าฝ่ายใด คนพวกนี้ไม่ได้สมองกลวง แต่ยุคสมัยทำให้เขาต้องวางตัวเช่นนั้น ดังที่ตัวละครขี้เล่นคนหนึ่งกล่าวว่า

“ชะตาชีวิตในอนาคตของพวกเราจะเป็นเช่นไร จะประสบกับกรรมใด ตอนนี้ใครก็ไม่อาจคาดเดา สิ่งที่ยึดมั่นไว้ได้คงมีเพียงหัวใจดวงหนึ่งเท่านั้น”

4)ละครดีไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ

ภาพยนตร์ให้คุณค่าเชิงวัฒนธรรม ปลูกฝังเรื่องมารยาทงาม สมบัติผู้ดี ทั้งหมดอยู่ในฉาก ในท้องเรื่อง ในพฤติกรรมของตัวละครแบบทำให้ดู เช่น ผู้ใหญ่จะเดินผ่าน ผู้น้อยหลีกทาง ตัวละครใดๆ ก็ไม่แอบฟัง ไม่แอบเปิดจดหมายผู้อื่นออกอ่าน แม้อยากรู้เหลือเกิน (ยกเว้นจะเป็นฝ่ายตรงข้ามที่เจตนาสืบข่าว) ถ้าเป็นองครักษ์ที่ต้องอยู่ใกล้ชิด รู้จักยืนแบบลับหู แต่ไม่ลับตา ไม่มีการเดินเรื่องด้วยบทคนใช้สนทนานินทานาย ไม่ว่าร้าย ไม่ใส่ร้ายพร่ำเพรื่อ ตัวละครทุกตัวมีสมอง แม้คนที่มองผู้อื่นในแง่งาม พูดถึงคนอื่นในแง่ดี ตนเองก็ไม่ใช่คนโง่และไม่ได้โกหกที่พูดคำหวานแบบขอไปที สิ่งที่พูดล้วนจริงจากอีกมุมมองหนึ่ง

ขอชวนดูภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อหาข้อคิดดีๆ อื่นๆ ต่อไป

และอยากรู้ว่าคุณชอบตัวละครตัวไหนที่สุด เพราะอะไร