เทวินทร์ อินทรจำนงค์ : จับกระแสการศึกษานานาชาติ อนาคตประเทศไทยจากขาดดุลสู่เกินดุล

นับตั้งแต่การศึกษาอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นในโลกเมื่อประมาณ 150-200 ปีที่ผ่านมา การศึกษาสมัยใหม่ได้ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว

สหประชาชาติคำนวณว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าผู้คนจะได้รับการศึกษาในระบบมากเป็นประวัติการณ์ที่มนุษยชาติเคยมีมา

โดยประชากรโลกที่ไม่ได้รับการศึกษาได้ลดลงจากร้อยละ 36 ในปี 2503 เหลือร้อยละ 25 ในปี 2543 มีการเชื่อมโยงการศึกษาจากท้องถิ่นไปสู่การศึกษานานาชาติมากขึ้น มีการเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา และเคลื่อนย้ายผู้เรียนระหว่างภูมิภาคประเทศ

สำหรับประเทศไทยได้เปิดการเรียนการสอนขั้นสูงระดับอุดมศึกษามาเป็นเวลากว่า 108 ปีนับตั้งแต่มีการจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นเมื่อปี 2453 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ระบบอุดมศึกษาของไทยมีพัฒนาการจากการฝึกสอนบุคคลเข้ารับราชการ มาสู่การบริการการศึกษาสาธารณะ และเข้าสู่ยุคการเชื่อมต่อสังคมการศึกษานานาชาติในตามกระแสโลกาภิวัตน์ มีการเคลื่อนย้ายนักศึกษาไปศึกษาต่อต่างประเทศ

และการเปิดรับชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อในประเทศมากขึ้นในปัจจุบัน

 

ทั่วโลกมีนักศึกษาต่างชาติ
กว่า 5 ล้านคน

ปัจจุบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ-ยูเนสโก (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) พบว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมามีนักศึกษาทั่วโลกออกไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับอุดมศึกษาจำนวน 5,085,159 คน

นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา จำนวนนักศึกษาระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 205,355 คน หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มร้อยละ 4.4 ต่อปี

 

คนจีน-อินเดีย-เยอรมนี
ไปเรียน ตปท.มากที่สุด

ประเทศที่มีคนไปเรียนต่อต่างประเทศในระดับอุดมศึกษามากที่สุดคือประเทศจีน ในปี 2560 มีจำนวน 869,387 คน

รองลงมาคือ อินเดีย 305,970 คน

อันดับที่สาม เยอรมนี 119,021 คน

อันดับที่สี่ เกาหลีใต้ 105,360 คน

และอันดับที่ห้าคือ ฝรั่งเศส 90,717 คน

ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่มีนักศึกษาไปศึกษาต่อต่างประเทศมากที่สุดคือเวียดนาม และอยู่ในอันดับที่เก้าของโลก

มีนักศึกษาไปเรียนต่างประเทศจำนวน 82,160 คน

 

ส่วนใหญ่ไปอเมริกา-ยุโรป

ในปี 2560 ปลายทางฃองนักศึกษาระหว่างประเทศมุ่งสู่อเมริกาและยุโรปตะวันตกมากที่สุดร้อยละ 53

รองลงมาคือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ร้อยละ 20

ยุโรปกลางและตะวันออก ร้อยละ 12

และประเทศอาหรับ ร้อยละ 7

กล่าวได้ว่าอเมริกาและยุโรปครองส่วนแบ่งตลาดการศึกษาระหว่างประเทศมากที่สุดเกินกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดการศึกษาต่างชาติทั่วโลก

 

คนไทยไปเรียนนอก
ปีละ 2.8 หมื่นคน

การไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาต่างประเทศของคนไทยในปี 2555 มีจำนวน 26,416 คน ต่อมาในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 29,884 คน คิดเฉลี่ยในรอบ 6 ปีที่ผ่านมามีจำนวนประมาณปีละ 28,029 คน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 694 คน หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มร้อยละ 2.5 ต่อปี

การไปศึกษาต่อต่างประเทศของคนไทยอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก อยู่ในอันดับที่ 4 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบอัตราการไปศึกษาต่อต่างประเทศของนักศึกษาในโลก ถือว่าคนไทยมีอัตราการไปศึกษาต่อต่ำกว่าอัตราการเพิ่มโดยเฉลี่ยของนักศึกษาทั่วโลก

โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ต่อปี

ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ต่อปี

 

ตลาดอาเซียนโตปีละ 6%

พิจารณาในแง่ตลาดขาเข้าของนักศึกษาต่างชาติ สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2560 ที่ผ่านมามีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาจำนวน 199,239 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.9 ของจำนวนนักศึกษาที่ศึกษาต่อต่างประเทศทั่วทั้งโลก

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามายังภูมิภาคอาเซียน นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11,757 คนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 6.3 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่สูงมากกว่าอัตราการเพิ่มของนักศึกษาต่างชาติเฉลี่ยทั่วโลก (ที่มีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 4.4 ต่อปี) โดยเฉพาะในปี 2556 และปี 2557 อัตราการเพิ่มสูงถึงร้อยละ 17.6 และร้อยละ 14.8

ตลาดการศึกษาต่างชาติของอาเซียนถือว่าขยายตัวเป็นไปในทางที่ดี มีอัตราการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอื่นในโลก

 

ตลาดไทยจากขาดดุลเข้าสู่เกินดุล

เมื่อนับจำนวนคนศึกษาต่อต่างประเทศระหว่างขาออกกับขาเข้า ในตลาดการศึกษาของไทย พบว่า ในปี 2555 คนไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศ 26,416 คน มีคนต่างชาติเข้ามาศึกษาในไทย 20,309 คน คิดเป็นส่วนต่างติดลบ -6,107 คน

ต่อมาในปี 2559 คนไทยไปศึกษาต่อต่างชาติ 30,375 คน ในขณะที่คนต่างชาติเข้ามาศึกษาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 31,571 คน คิดเป็นส่วนต่างเพิ่มขึ้น 1,196 คน

นับว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางที่ดี

โดยตลาดการศึกษาต่างประเทศของไทยคิดเป็นอัตราส่วนประมาณร้อยละ 15.0 ของตลาดการศึกษาต่างประเทศในอาเซียน และคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.6 ของตลาดการศึกษาต่างประเทศในโลก

 

มหาวิทยาลัยยอดนิยมของไทย

จากข้อมูลระบบสารสนเทศของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ปี 2560 พบว่า มหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุดอันดับแรกคือ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) มีผู้มาเรียนร้อยละ 15.10

รองลงมาคือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร้อยละ 9.17

อันดับที่สาม มหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด ร้อยละ 7.49

อันดับที่สี่ มหาวิทยาลัยสยาม ร้อยละ 4.66

และอันดับที่ห้า มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ร้อยละ 4.61 คนตามลำดับ

โดยภาพรวมสถานการณ์การศึกษาระหว่างประเทศของไทยมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น โดยคนไทยมีอัตราการไปเรียนต่อเมืองนอกไม่สูงตามกระแสโลก คนต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทยมากขึ้น

ในโอกาสนี้ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศควรร่วมมือกันอย่างจริงจังจัดทำนโยบายส่งเสริมตลาดการศึกษานานาชาติของไทยให้ก้าวหน้าเข้มแข็ง

เพื่อตอบสนองความต้องการของคนไทย อำนวยความสะดวก และดึงดูดความสนใจนักศึกษาต่างชาติให้เข้ามาเรียนในประเทศไทย รองรับกับตลาดการศึกษาของอาเซียนที่กำลังเติบโตให้ได้มากที่สุด