เหล้าปั่นมาจากไหน?

เหล้าปั่นมาจากไหน? (1)

“และเมื่อถึงตอนฉันร้องเดี่ยว เจ้าเครื่องปั่นแวริ่งนั่นก็ส่งเสียงดัง…”

(And when I sing a solo, then the Waring Blender goes…)

เนื้อเพลง Everything Happens to Me ขับร้องโดย Matt Denis (ค.ศ.1953)

เพลง Everything Happens to Me บรรยายถึงชายหนุ่มเคราะห์ร้ายนายหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคขัดขวาง เช่น จะไปตีกอล์ฟ ฝนก็ตก จะขึ้นรถไฟก็ตกรถ ฯลฯ

แม้กระทั่งเมื่อชายหนุ่มได้บทร้องเดี่ยวบนเวที เจ้า “เครื่องปั่นแวริ่ง” นั่นก็ยังส่งเสียงดังกลบเสียงร้องของเขาไปเสียอย่างนั้น

เนื้อเพลงจึงแสดงให้เห็นว่า ในสมัยนั้น เครื่องปั่นผัก-ผลไม้ หรือ Waring Blender นี้คงสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับนักร้องนักดนตรีในบาร์พอสมควรทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อบาร์สมัยก่อนยังเล่นดนตรีด้วยระดับเสียงที่ไม่ดังและไม่มีบรรยากาศที่อึกทึกครึกโครมแบบผับบาร์ในปัจจุบัน

คำถามคือ เครื่องปั่นเข้าไปทำอะไรในบาร์?

คำตอบคือ ทำเครื่องดื่มยอดนิยมในสมัยนั้นที่เรียกกันว่า FROZEN DAIQUIRI ที่ใช้เหล้ารัมเป็นส่วนผสมสำคัญนั่นเอง

แต่เหล้ารัมคืออะไร และมาจากไหน?

ความมึนเมากับโลกอาณานิคม

เหล้ารัมเป็นเหล้าที่ถือกำเนิดขึ้นจากการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก เป็นผลผลิตส่วนเกินที่ชาวไร่อ้อยในหมู่เกาะทะเลแคริบเบียนผลิตขึ้นจากกากน้ำตาลหรือ Molass ที่แต่เดิมไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีสถานะแทบไม่ต่างไปจากขยะ

ไม่มีหลักฐานระบุชัดว่าเมื่อไรที่ชาวอาณานิคมเริ่มกลั่นเหล้ารัมครั้งแรก แต่สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพราะมีเอกสารบันทึกเกี่ยวกับเหล้าชนิดนี้ที่เกาะบาร์เบดอสในปี 1650s โดยเรียกมันว่า Kill-Devil

(เหล้ารัมที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันอย่างตรา Mount Gay ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่เกาะบาร์เบโดส จึงอ้างว่าบริษัทของตนมีรากฐานการผลิตรัมยาวนานที่สุด ซึ่งก็มีหลักฐานการผลิตที่สืบค้นได้อย่างน่าเชื่อถือจริงๆ นับตั้งแต่ราวปี 1700s)

ในช่วงแรกๆ เหล้ารัมเกิดขึ้นเพื่อการบริโภคของชาวอาณานิคมเองในหมู่เกาะ และชาวอาณานิคมเหล่านี้ส่วนมากก็เป็นชนชั้นแรงงานจากอังกฤษ ที่หลงคำโฆษณาชวนเชื่อให้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาสร้างฐานะในต่างแดนและพบกับความผิดหวัง เนื่องด้วยพื้นที่ทำไร่นั้นถูกจับจองไปหมดแล้ว

เหล้ารัมราคาถูกจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากชาวอาณานิคมเหล่านี้ ดังหลักฐานร่วมสมัยหลายชิ้นที่ระบุถึงเหล้ารัมและอุปนิสัยขี้เมาของชาวอังกฤษบนหมู่เกาะ

เช่น ในบันทึกของกัปตัน Thomas Walduck ที่สรุปสภาพการณ์และอุปนิสัยที่แตกต่างกันของชาวตะวันตกในดินแดนอาณานิคมไว้อย่างน่าสนใจว่า – เมื่อมาถึงดินแดนใหม่ สิ่งแรกที่ชาวสเปนจะทำคือสร้างโบสถ์ ส่วนชาวดัตช์ก่อป้อมปราการ ขณะที่ชาวอังกฤษนั้นทำร้านเหล้า

หรืออย่างในบันทึกของนักเดินทางคือนาย Thomas Verney ที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็ระบุว่า ชาวอาณานิคมเหล่านี้ดื่มเหล้ารัมหนักมาก และมักจะดื่มจนเมาพับ ล้มตัวลงนอนได้ในทุกๆ ที่

ส่วนรสชาติของเหล้ารัมหรือที่รู้จักกันในชื่อ Kill-Devil ในสมัยนั้น ก็น่าจะเป็นอะไรที่สมชื่อฉายาของมัน เพราะปรากฏในบันทึกหลายฉบับของทั้งชาวฝรั่งเศสและอังกฤษว่าเหล้านี้มีรสชาติแย่มาก และถือเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา

อีกทั้งไม่มีบันทึกร่วมสมัยแม้แต่ฉบับเดียวที่ชื่นชมสรรเสริญรสชาติของรัม

ศัพท์เก่าว่า Kill-Devil ได้รับการถ่ายเสียงไปในหลายภาษา เช่น กลายเป็นคำว่า kiel-dyvel ในภาษาเดนมาร์ก และเป็นคำว่า guildive ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันยังใช้เรียกรัมอยู่ในเฮติ

ส่วนคำว่า Rum สันนิษฐานว่ามาจากศัพท์ Rumbullion หรือ Rumbustion ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นในอังกฤษช่วงเดียวกับคำว่า Rum และมีความหมายว่าการจลาจลหรือความอลเวงวุ่นวาย

เป็นนัยถึงความวุ่นวายยุ่งเหยิงที่คนเมามักก่อขึ้นหลังจากดื่มเหล้าชนิดนี้นั่นเอง

เหล้ารัม น้ำตาล และการปฏิวัติ

ด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์ที่แรงและราคาถูก เหล้ารัมจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแพร่ขยายในวงกว้าง

(การผสมน้ำลงในรัมก่อนจำหน่าย ทำให้มันสามารถเพิ่มปริมาณจากของเดิมที่ผ่านการขนส่งมาได้ถึง 4 เท่า)

ดังปรากฏว่าในช่วงปี 1700 เหล้ารัมจำนวนมากจากเกาะอันติกาและบาร์เบโดสได้ถูกส่งออกไปยังอเมริกาเหนือ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวอาณานิคม มีการใช้รัมในฐานะยารักษาโรค ให้เด็กๆ ดื่มเล็กน้อยเมื่อมีอาการเจ็บป่วย และบรรเทาอาการไข้มาลาเรีย ฯลฯ

ที่สำคัญกว่านั้นคือ เหล้ารัมยังกลายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้าเช่นเดียวกับเงิน และสามารถใช้จ่ายแทนค่าจ้าง เช่นที่ Adam Smith บันทึกไว้ใน The Wealth of Nation ว่า ช่างทาสีเรือคนหนึ่งได้รับการจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน 10 ชิลลิ่ง 6 เพนนี และเหล้ารัม 1 ไพนต์

เหล้ารัมเป็นสิ่งที่พ่อค้าใช้แลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวอินเดียนพื้นเมือง จนกระทั่งกลายเป็นประเพณีที่พ่อค้ากับชาวอินเดียนจะต้องดื่มเหล้ารัมกันก่อนจะเริ่มต่อรองราคา เพื่อแสดงความเป็นมิตรและความจริงใจ

แต่ในอีกแง่หนึ่ง เหล้ารัมซึ่งเป็นสิ่งใหม่สำหรับชาวพื้นเมืองเหล่านั้นก็กลับเป็นสิ่งที่นำหายนะมาสู่พวกเขา ดังปรากฏข้อเขียนจำนวนมากที่กล่าวถึงความวุ่นวายสับสนในหมู่ชาวอินเดียนที่เมาเหล้ารัมและขาดสติ

เช่น ในบันทึกของ Benjamin Franklin ที่เล่าไว้ว่า หลังจากที่เขาให้เหล้ารัมแก่ชาวอินเดียนแล้ว คนพื้นเมืองเหล่านั้นก็พากันดื่มเหล้าเมามายอยู่รอบกองไฟ ทั้งผู้หญิง-ผู้ชายส่งเสียงดัง ทะเลาะและต่อสู้กันเอง ด้วยร่างกายกึ่งเปลือย

แต่สำหรับชาวอาณานิคม เหล้ารัมคือเครื่องดื่มราคาถูกแสนพิเศษและเป็นเสมือนสัญลักษณ์เฉพาะของ “ผู้บุกเบิก” เพราะมันหมายถึงการมีอำนาจซื้อหาเครื่องดื่มจากต่างถิ่น ด้วยเงินที่หาได้จากหยาดเหงื่อแรงงานของตนเอง และอาจถือเป็นหนึ่งในปัจจัยการก่อเกิดของวัฒนธรรมใหม่ในโลกใหม่ด้วย

และเมื่อเหล้ารัมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวอาณานิคม มันจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง ดังจะเห็นได้จากการที่ George Washington แจกจ่ายเหล้าแก่ผู้สนับสนุนเขาเพื่อเลือกตั้งเข้าสภาท้องถิ่นเวอร์จิเนียในปี 1758 เป็นเหล้ารัมถึง 28 แกลลอน และรัมพันช์อีก 50 แกลลอน

นอกจากนั้น ชาวอาณานิคมในอเมริกายังพบว่า หากพวกเขานำเข้ากากน้ำตาลมาผลิตรัมด้วยตนเอง รัมที่ได้จะมีราคาถูกลงไปอีก ดังนั้น อุตสาหกรรมผลิตรัมในเขตนิวอิงแลนด์จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ก่อนปี 1700 แล้ว

แต่ในฝรั่งเศส นโยบายของรัฐกลับเป็นตรงกันข้าม นั่นคือรัฐบาลฝรั่งเศสสั่งห้ามการนำเข้ารัมและกากน้ำตาลโดยสิ้นเชิง เพื่อปกป้องธุรกิจผูกขาดของกลุ่มพ่อค้าไวน์และบรั่นดี

ผลจากการนี้ จึงทำให้กลุ่มผู้ผลิตเหล้ารัมในอเมริกาหันไปซื้อกากน้ำตาลจากหมู่เกาะอาณานิคมของฝรั่งเศส (ซึ่งมีราคาถูก) ส่งผลให้ทางอังกฤษไม่พอใจ และผ่าน พ.ร.บ.กากน้ำตาล (Molasses Act) ออกมาในปี 1733 เพื่อสร้างกำแพงภาษีให้กับสินค้ากากน้ำตาลจากฝรั่งเศส

และเท่ากับเป็นการบังคับให้ทางอเมริกาต้องซื้อกากน้ำตาลจากหมู่เกาะของอังกฤษเท่านั้น

แน่นอนว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง ยิ่งเมื่อทางรัฐบาลอังกฤษผ่าน พ.ร.บ.น้ำตาลออกมาอีกในปี 1764 ทั้งหมดนั้นจึงนำไปสู่สงครามอิสรภาพระหว่างอเมริกากับอังกฤษในที่สุด

ชาวอาณานิคมอเมริกาดื่มรัมกันอย่างไร?

วิธีดื่มเหล้ารัมของชาวอาณานิคมในยุคก่อนคือดื่มเปล่าๆ หรือผสมน้ำให้เจือจาง

แต่มีสูตรการผสมบางชนิดที่โดดเด่นและได้รับความนิยมเป็นพิเศษ และอาจถือว่าเป็นหลักการผสมเครื่องดื่มที่เป็นต้นแบบของการผสมค็อกเทลต่างๆ ในเวลาต่อมา

เช่น GROG หมายถึงการผสมเหล้ารัมกับน้ำในปริมาณ รัม 1 ส่วน น้ำ 3-4 ส่วน และปรุงรสด้วยน้ำมะนาวและน้ำตาล

MIMBO ผสมรัม น้ำ และน้ำตาลเข้าด้วยกัน (ได้รับความนิยมมากในเพนซิลเวเนีย)

BOMBO รัมและน้ำอย่างละ 1 ส่วน ปรุงรสด้วยกากน้ำตาลและโรยหน้าด้วยผงลูกจันทน์เทศ

นอกจากนั้นยังมีเครื่องดื่มเบ็ดเตล็ดอีกมาก ที่ใช้รัมกับส่วนผสมอื่นๆ ทั้งร้อน-เย็น เช่น นม เบียร์ น้ำไซเดอร์ ฯลฯ

ก่อนที่รัมจะเสื่อมความนิยมลงในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 พร้อมๆ กับการถือกำเนิดขึ้นของวิสกี้แบบอเมริกัน