ใครจะกล้าล้มอเมริกา ? “มาเฟียคุมโลก”

จากกรณีการคว่ำบาตร “อิหร่าน” ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันอวดอ้างว่าเป็นการแซงก์ชั่นที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำฝีปากกล้าแนวคิดขวาสุดโต่ง ประกาศนำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยอ้างเหตุผลข้อบกพร่องและจุดอ่อนหลายจุดของ “ข้อตกลงนิวเคลียร์” หรือนามทางการว่า “ข้อตกลงร่วมแผนปฏิบัติการครอบคลุม” (Joint Comprehensive Plan of Action : JCPOA) ซึ่งอิหร่านจัดทำร่วมกับ 5 ประเทศสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา บวกเยอรมนี และสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ปี 2015

จุดประสงค์ของประธานาธิบดีทรัมป์ก็เพื่อให้มีการเจรจาใหม่อีกครั้งเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง เช่น การจำกัดโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านแบบถาวร หรือควบคุมโครงการพัฒนาขีปนาวุธ และจัดการอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง

พูดง่ายๆ ก็คือ สหรัฐต้องการยุติบทบาทอิหร่านในการเข้าไปแทรกแซงในสงครามความขัดแย้งซีเรียและอิรักนั่นเอง

แต่เงื่อนไขที่แถมพ่วงมาด้วยนั้นน่าสนใจและน่าคิดต่อ เพราะนอกจากการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุดกับอิหร่าน ซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามุ่งเล่นงานการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน สหรัฐยังประกาศพร้อมจะคว่ำบาตรต่อประเทศพันธมิตรที่ช่วยเหลือและท้าทายสหรัฐ ด้วยการยังค้าขายกับอิหร่านเหมือนเดิม

อันที่จริงแล้วก่อนดีเดย์การคว่ำบาตรเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพียงไม่กี่วันประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี แห่งอิหร่าน เตือนว่า “การกระทำของสหรัฐกำลังโดดเดี่ยวตัวเอง เพราะพันธมิตรเก่าแก่ของอิหร่านครึ่งค่อนโลกไม่เอาด้วยกับสหรัฐ”

เรียกได้ว่าพฤติกรรมของสหรัฐในสมัยการบริหารของ “เบบี้ทรัมป์” ถือเป็นการระรานคนอื่นไปทั่วก็ว่าได้

ที่ผ่านมามีรายงานข่าวออกมาเรื่อยๆ ว่าพันธมิตรของอิหร่านจำนวนไม่น้อยที่เห็นต่างกับสหรัฐในมาตรการคว่ำบาตรนี้

เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ที่ยืนกระต่ายขาเดียวมาตั้งแต่วันแรกๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศจะเล่นงานอิหร่านเพื่อบีบรัฐบาลเตหะรานในทุกทาง ขณะที่การประชุมของคณะกรรมาธิการยุโรปยังลงมติหนุนนักธุรกิจยุโรปในอิหร่านและที่ได้รับผลกระทบให้สามารถเล่นงานสหรัฐได้โดยมีอียูเป็นแบ๊กอัพ

นอกจากนี้ยังแถลงอีกว่า อียูเตรียมวางระบบการไหลเวียนของเงินทุนแบบใหม่ให้กับบรรดากลุ่มเอกชนของอียูที่ต้องการดำเนินธุรกิจกับอิหร่าน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ

ทางฟากของ “อินเดีย” ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบอันดับ 3 ของโลก ยืนยันว่าจะยังรักษาระดับการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน แม้เป็นการท้าทายและเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐก็ตาม โดยรัฐบาลนิวเดลีตั้งเป้าว่าในเดือนพฤศจิกายนจะนำเข้าน้ำมันดิบในปริมาณ 1.25 ล้านตัน ซึ่งเป็นมูลค่าราว 9 ล้านบาร์เรล

ส่วน “จีน” คู่ปรับเก่ามานานแสนนานของสหรัฐ ทั้งยังเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของอิหร่านในเอเชีย คงไม่ต้องคาดเดาว่าจีนจะทำอย่างไรกับการแซงก์ชั่นนี้ เพราะตราบใดที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังยืดเยื้อกัดกินเศรษฐกิจโลกอยู่ จีนก็ยังคงเดินหน้าขัดขาสหรัฐไปทุกหนทุกแห่งเช่นเคย

มองดูเผินๆ เหมือนว่าทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่ต่างก็หันหน้าหนีสหรัฐ และเพิกเฉยต่อคำเตือนต่างๆ นานาของตำรวจโลกกันหมด

จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า “จะเป็นไปได้ไหมหากทั่วโลกจะพร้อมใจกันคว่ำบาตรสหรัฐคืนบ้าง?”

คำตอบที่ได้ก็มีอยู่ไม่กี่ทาง และมีแต่ลบกับลบเท่านั้น สำหรับอเมริกาที่อาจจะเกิดขึ้นแน่ๆ ก็น่าจะเป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวกเป็น อเมริกา 2 อเมริกา 3 เพื่อความอยู่รอด เพราะอย่าลืมว่าอเมริกายึดถือความเป็นประชาธิปไตยสูง นั่นหมายถึงทุกคนมีสิทธิเลือกและแสดงออก ซึ่งความโกลาหลจะบังเกิดแน่ๆ

แต่สำหรับประเทศที่พึ่งพาความช่วยเหลือจากสหรัฐสูงมาก โดยเฉพาะในด้านกลาโหม หรืองบประมาณช่วยเหลือด้านอื่น ก็จะเผชิญกับปัญหาใหญ่ จากเดิมที่เคยมีพี่ใหญ่คอยปกป้อง หรือประเทศเล็กๆ ที่พึ่งการส่งออกเป็นหลักและทำการค้ากับสหรัฐ

ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น เศรษฐกิจในประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะอเมริกาเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่มาก แม้ว่าหากวัดจากจำนวนประชากรกับประเทศจีนอาจจะสู้ไม่ได้ แต่ในแง่ของ “กำลังซื้อ” สหรัฐยังติดเป็นท็อปของชาติมีกำลังซื้อสูงและขนาดกลุ่มใหญ่กว่า

นักวิเคราะห์รายหนึ่งพูดไว้ว่า “สหรัฐมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากและทั่วโลกเชื่อมั่น ตราบใดที่วอชิงตันยังพิมพ์กระดาษเป็นเงินได้ โดยไม่ต้องมีทองคำมาสำรองตามจำนวนที่พิมพ์ออกมา และโลกยังใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลหลักในการแลกเปลี่ยน อเมริกาก็ไม่มีวันล่มสลาย”

ทำให้ถึงบางอ้อว่า ความเป็นไปได้ที่จะคว่ำบาตรสหรัฐนั้นสามารถทำได้ แต่เมื่อเทียบกับผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ นักวิเคราะห์จำนวนมากก็ยังมองว่าเป็นสหรัฐที่ยังคงถือไพ่เหนือกว่า ขนาดคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้ออย่าง “จีน” ซึ่งเป็นประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่มาก ยังไม่พอจำนวนผู้บริโภคมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

แต่การจะหาผู้ชนะในศึกสงครามการค้านี้ได้ ต่างคนต่างปาดเหงื่อกันไปไม่รู้กี่รอบแล้ว เปรียบสถานการณ์ของคู่ชกตอนนี้ก็เรียกว่า “สะบักสะบอม” เอาการ

และยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่ทั้งโลกจะผนึกกำลังเพื่อดัดนิสัยสหรัฐ นั่นก็เพราะยังเกี่ยวโยงกับเรื่องของผลประโยชน์ทั้งสิ้น

ดูอย่างที่ “ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้” ที่ออกตัวก่อนเพื่อน วางท่าเป็นฝ่ายสหรัฐทันที โดยประกาศระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านตามคำเรียกร้อง

จนทางการเตหะรานประเมินผลกระทบเบื้องต้นมาแล้วว่า ช่วงเวลาที่ถูกคว่ำบาตร การส่งออกน้ำมันของอิหร่านจะลดลงราว 1-2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันทีเดียว