ทำไมต้องฟักทองเดิมคือหัวผักกาด ? ตีแผ่การจัดงาน “เทศกาลฮัลโลวีน” โดยคนไทยที่ไปใช้ชีวิตในสหรัฐ

เทศกาลฮัลโลวีน (Halloween) วันปล่อยผีหลอกหลอน สยองขวัญ

แล้วเทศกาล “ฮัลโลวีน” วันปล่อยผี เทศกาลแห่งความตื่นเต้นระทึกขวัญก็เวียนมาถึงอีกครั้งในทุกวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี

ในทุกปีเมื่อวันประเพณีนี้เวียนมาถึง ตอนย่ำค่ำจะเห็นผู้คนแต่งชุดผี ปีศาจ มาร่วมงานปาร์ตี้กันอย่างสนุกสนาน

ที่โรงพยาบาล Penn State Health Center St. Joseph Hospital ที่คนข้างกายทำงานอยู่ ในวันฮัลโลวีน หมอและพยาบาลบางคนถึงกับแต่ง “ชุดผี” มาตรวจคนไข้

ช่างไม่เกรงเลยว่าคนไข้จะตกใจกลัวจนหัวใจวายตาย

สาเหตุที่เลือกเอาวันที่ 31 ตุลาคมเป็นวันปล่อยผี เพราะแต่เดิมมีความเชื่อกันว่า ชาวเคลต์ (Celt) ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในไอร์แลนด์ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดปี เป็นวันที่มิติของคนตายและมนุษย์จะเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และคนที่เสียชีวิตในปีที่ผ่านไปจะเที่ยวหาร่างมนุษย์เพื่อเข้าสิงสู่ เพื่อจะกลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง

ดังนั้น ในวันนั้น “คนเป็น” จะต้องป้องกันตัวด้วยการปิดไฟในบ้านให้มืดมิด เหลือแต่บรรยากาศหนาวเย็นที่ไม่เป็นที่ปรารถนาของผี จะได้ไม่มีผีมาเยี่ยม

บางคนก็จะป้องกันตัวเองด้วยการแต่งตัวเป็น “ผี” เพื่อจะกลบเกลื่อนหลอกวิญญาณว่าไม่ใช่คนจริง ฟังดูยุ่งเหยิงไปหมด

แต่เดิมเทศกาลฮัลโลวีนจัดกันในอังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ แต่เมื่อชาวอังกฤษ สก๊อต และไอริชอพยพมาตั้งหลักแหล่งในอเมริกาในปี 1840 ก็นำประเพณีนี้มาปฏิบัติจนเป็นที่ถูกใจผู้อพยพทุกเชื้อชาติ

เทศกาลฮัลโลวีนจึงถือเป็นประเพณีของอเมริกันชนมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19

ในวันนี้ เด็กๆ จะแต่งตัวเป็นภูตผีปีศาจในรูปแบบต่างๆ พากันออกไปฉลองวันฮัลโลวีน โดยการไปเคาะประตูบ้านที่เปิดไฟและติดฟักทองไว้เพื่อขอขนมที่เป็นลูกกวาด Candy เรียกการเล่นนี้ว่า Trick or Treat (หลอกหรือให้)

สมัยที่ลูกสาวยังเด็ก ครอบครัวเราเปิดไฟบ้านและติดไฟในฟักทองร่วมเล่นฮัลโลวีน Trick or Treat ทุกปี มีเด็กๆ ในหมู่บ้านแต่งชุดปีศาจมาเคาะประตูขอลูกกวาด กลุ่มเพื่อนที่โรงเรียนลูกสาวก็แต่งชุดผีมาเคาะประตูขอลูกกวาดด้วยเช่นกัน

ช่วงปีหลังมีกลุ่มคนแปลกหน้ามาเคาะประตู บางคนเป็นผีผู้ใหญ่ตัวโต จ้องมองข้าวของในบ้าน ท่าทางน่ากลัว ทำท่าเหมือนจะเป็นผีจริงๆ

ปีต่อมาเลยปิดไฟเลิกเล่นฮัลโลวีนไปเลย

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลฮัลโลวีนคือ การตกแต่งประดับประดาแสงไฟตามอาคารบ้านเรือน บางบ้านมีหุ่นผีหรือแม่มดยืนอยู่หน้าบ้าน มีการแขวนตัวค้างคาว แถมด้วยแมงมุมชักใยให้ดูเหมือนเป็นบ้านผีสิง บางบ้าน “เฮี้ยน” หนักขนาดเอาโลงผีมาวางหน้าบ้าน ทำไฟกะพริบให้แลน่ากลัว และที่ขาดไม่ได้คือการแกะสลักฟักทองเป็นโคมไฟ แล้วใส่ไฟแสงสว่างไว้ข้างในจริงๆ เรียกว่าแจ๊ก-โอ”-แลนเทิร์น (jack-o”-lantern)

ตำนานเรื่องใส่ไฟในฟักทองนี้เป็นของชาวไอริช เล่าถึงแจ๊กจอมตืดที่เป็นนักเล่นกลขี้เมา ที่วันหนึ่งหลอกล่อปีศาจขึ้นไปบนต้นไม้แล้วทำเครื่องหมายกากบาทไว้ที่โคนต้น ทำให้ปีศาจลงมาไม่ได้ แล้วเขาได้ทำข้อตกลงกับปีศาจว่า ห้ามนำสิ่งไม่ดีมาหลอกล่อเขาอีก

เมื่อแจ๊กตาย เขาปฏิเสธการขึ้นสวรรค์เพราะเขามีความคิดไปในทางความชั่วร้าย แต่เขาก็ปฏิเสธจะลงนรกเพราะมีข้อตกลงกับปีศาจไว้แล้ว ปีศาจจึงให้ถ่านที่กำลังคุโชนแก่เขาเพื่อใช้นำทางไปในความมืดมิดและหนาวเย็น

แจ๊กนำถ่านไฟมาใส่ในหัวผักกาดเทอร์นิพที่ถูกเจาะให้กลวง เพื่อให้ไฟลุกโชติช่วงได้นาน

ชาวไอริชจึงแกะสลักหัวผักกาดเทอร์นิพและใส่ไฟไว้ด้านใน เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวันฮัลโลวีน เพื่อระลึกถึง “การหยุดยั้งความชั่ว” Trick or Treat เพื่อส่งผลบุญให้กับญาติผู้ล่วงลับและถือเป็นพิธีทำบุญในวันขึ้นปีใหม่ไอริช

ในอเมริกาปรากฏว่าฟักทองหาได้ง่ายกว่าหัวผักกาด ประเพณีจึงเปลี่ยนมาใส่ไฟในฟักทองแทน

เช่นกันที่ในเดือนตุลาคมทั้งเดือน หนังทีวีในอเมริกาจะมีแต่หนังผีสยองขวัญฉายทั้งวันทั้งคืน ขุดเอาหนังผีแดร๊กคิวล่าแต่โบราณ ไล่มาจนสารพัดหนังผีมาฉาย ดูแล้วขนพองสยองเกล้า

ส่วนในร้านค้า ช้อปปิ้งมอลล์จะเป็นช่วงทำเงินทำทองทั้งเดือน เพราะมีการแต่งเซ็กชั่นฮัลโลวีนขายเสื้อผ้าผีปีศาจ ขายลูกกวาดไว้แจกเด็ก รวมทั้งเคาน์เตอร์ขายฟักทองตั้งแต่ลูกขนาดเล็กจนลูกโตเท่าโอ่ง

อย่างไรก็ดี การเฉลิมฉลองเทศกาลฮัลโลวีนจะต้อง “เล่น” กับคนที่เขา “เล่น” ด้วยเท่านั้น ถ้าไปยุ่งกับคนที่เขาไม่เล่นด้วยจะ “ซวย”

เพราะเมื่อไม่นานปีมานี้ ที่เมืองเรดดิ้ง รัฐเพนซิลเวเนีย มีเด็กนักเรียนแลกเปลี่ยนผู้ชายจากญี่ปุ่นตัวสูงใหญ่ แต่งตัวเป็นผีนั่งรถแท็กซี่ไปเคาะประตูบ้านเพื่อนยามค่ำคืน เพื่อเล่น Trick or Treat

ปรากฏว่าแท็กซี่พาไปส่งผิดบ้าน

เลยถูกส่องเป็น “ผี” คาประตูหน้าบ้านนั้น