ใครจะเดี่ยวไวโอลิน เพลง “ยิปซี แอร์ส” ได้ดีกว่า “โจชัว เบลล์”

โจชัว เบลล์ (Joshua Bell) ศิลปินเดี่ยวไวโอลินวัย 50 ปี ชาวอเมริกัน ผู้มีชื่อเสียงก้องโลก พำนักอยู่ในย่านหรูแมนฮัตตันของมหานครนิวยอร์ก เดินทางมาเปิดการแสดงครั้งแรกในประเทศไทยกับวงดุริยางค์ Royal Bangkok Symphony Orchestra RBSO

โดยมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดคอนเสิร์ตเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในรายการ

“Joshua Bell plays Max Bruch Violin Concerto and Pablo de Sarasate”

หรือชื่อรายการอย่างง่ายๆ ว่า

“ครั้งแรกในเมืองไทยของโจชัว เบลล์ (Joshua Bell) กับวง RBSO”

ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อค่ำคืนวันที่ 4 กันยายน 2561

แม้เวลาจะผ่านมาสมควร แต่ก็มีอะไรให้เขียนถึงอยู่มาก

โจชัว เบลล์ (Joshua Bell) เป็นศิลปินเดี่ยวไวโอลินชื่อดังระดับโลกชาวอเมริกันที่ประสบความสำเร็จมากว่า 30 ปี นอกจากนี้ เขายังเป็นนักเล่นแซมเบอร์มิวสิก และเป็นผู้อำนวยเพลงอีกด้วย

ปัจจุบัน นอกเหนือจากการแสดงเดี่ยวกับวงออร์เคสตร้าชื่อดังของโลกแล้ว เขายังเป็นผู้อำนวยการดนตรีให้กับวงชื่อดังของอังกฤษ Academy of St.Martin in the Fields เขามีผลงานบันทึกเสียงกับ Sony Classical มากกว่า 40 ชุด เป็นผลงานเปี่ยมคุณภาพที่ได้รางวัลจาก Grammy, Mercury, Gramophone, Echo Klassik Award และ Avery Fisher Prize

ผลงานเดี่ยวไวโอลินของโจชัว เบลล์ ในหนังเรื่อง The Red Violin ได้รับรางวัลออสการ์ปี 1998 รวมทั้งเคยเข้ารอบชิงเพลงประกอบสารคดีจากหนังเรื่อง Classing Ice ในเพลงชื่อ Before My Time

โจชัว เบลล์ เป็นศิลปินเดี่ยวที่อุทิศตนทำกิจกรรมการกุศลเพื่อการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาสผ่านทาง “Educational Through Music”

โจชัว เบลล์ เคยปลอมตัวไปแสดงเดี่ยวไวโอลินเปิดหมวกข้างถนน แต่ไม่มีใครให้ความสนใจ จนมีผู้หญิงคนหนึ่งจำได้ว่าเขาคือโจชัว เบลล์ จึงให้เงินทิปมา 20 เหรียญ วันนั้นเขาได้เงินในหมวกทั้งหมด 35 เหรียญ

เป็นข้อสรุปว่า ถึงแม้จะมีฝีมือการแสดงดีเพียงไร ผู้คนก็ยังไม่ให้ความสนใจ นอกไปจากชื่อเสียงที่มีอยู่แล้ว

โจชัว เบลล์ มาเมืองไทยครั้งแรกนี้พร้อมกับไวโอลินคู่ใจชื่อ สตราดิวาริอุส ฮูเบอร์แมน Stradivarius “Huberman” ปี 1713 มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ในยุคทองของนักผลิตไวโอลินชื่อก้องโลก อันโตนิโอ สตราดิวาริอุส ชาวอิตาเลียนเมืองเครโมนา ไวโอลินตัวนี้เคยถูกขโมยหายไปนาน 50 ปี ก่อนจะมาเป็นไวโอลินคู่ชีวิตโจชัว เบลล์

การแสดงในค่ำคืนนั้นเป็นบทเพลงไวโอลินคอนแชร์โตของแมกซ์ บรูค (Max Bruch) และ Zigeunerweisen หรือ Gypsy Airs ของปาโบล เดอ ซาราซาเต

โจชัว เบลล์ กล่าวถึงไวโอลินคอนแชร์โตของแมกซ์ บรูค ว่า ถึงแม้เขาจะเคยเล่นเพลงนี้มาหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่ผลงานชิ้นนี้ก็ยังเป็นหนึ่งในบรรดาเพลงที่แต่งสำหรับไวโอลินที่เขาชื่นชอบมากที่สุดเพลงหนึ่งจนทุกวันนี้

ส่วน Gypsy Airs คือบทเพลงที่คีตกวีในยุคโรแมนติกแต่งจากบทเพลงยิปซี เพื่อบรรยายถึงวิถีชีวิตแห่งยิปซีออกมาเป็นท่วงทำนองดนตรี เริ่มต้นอย่างเศร้าสร้อย ก่อนจะค่อยๆ เข้มข้นขึ้น สลับความไพเราะเพราะพริ้งเป็นระยะ จนถึงท่อนกลางอันหวานซึ้ง ก่อนจะจบบทเพลงด้วยความเร่าร้อนสรรพเสียงสำเนียงขึ้นสูงที่สุด อย่างยิ่งใหญ่และอลังการ

ในท่อนที่สามอันอ่อนหวานนั้น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้นำมาใส่เนื้อร้องภาษาไทยในเพลงชื่อ “คิดถึง” เมื่อปี พ.ศ.2477 ที่เรารู้จักกันดี

โจชัว เบลล์ พูดถึง Gipsy Airs ว่า

ผลงานชิ้นนี้เป็นเพลงเดี่ยวไวโอลินที่เล่นยากที่สุดเพลงหนึ่งเช่นเดียวกับไวโอลินคอนแชร์โตของแมกซ์ บรูค

ผู้อำนวยเพลงในค่ำคืนนั้นคือ Charles Olivieri-Munreo วาทยกรชาวแคนาเดียน เคยชนะเลิศการแข่งขันรายการ Prague Spring International Competition ปี 2000 มีผลงานอำนวยเพลงกับวงสำคัญๆ ทั่วโลก ได้รับคำวิจารณ์ที่ดี อาทิ passion for purity of orchestral sound (Toronto Star) และ combination of talent and charisma (New York Times)

Charles Olivieri-Munreo เคยเป็น Principal Guest Conductor ของวง RBSO มากว่า 4 สมัยกาลแล้ว

ชื่อของโจชัว เบล์ล (Joshua Bell) มีเสน่ห์มากพอที่จะดึงดูดแฟนเพลงจากฮ่องกงและสิงคโปร์ให้ตีตั๋วเครื่องบินมาร่วมรับความสุนทรีย์และอรรถรสแห่งเสียงไวโอลินในหอประชุมศูนย์วัฒนธรรมฯ ร่วมกับแฟนคอนเสิร์ตชาวไทย

เช่นเดียวกับศิลปินเดี่ยวไวโอลินชายคนอื่นที่เคยเห็นขึ้นเวทีคอนเสิร์ตในอเมริกา โจชัว เบล์ล ขึ้นเวทีด้วยเสื้อแขนยาวพับแขน ปล่อยชายไม่ใส่ในกางเกง เป็นการแต่งตัวแบบสบายๆ สไตล์ศิลปินเดี่ยวไวโอลินชื่อดังของโลก ทุกคนแต่งตัวขึ้นเวทีอย่างนี้เหมือนกันหมด

แต่ฝีมือเดี่ยวไวโอลินนั้นช่างเหลือร้ายยิ่งนัก