ความสำเร็จในอดีตไม่ใช่เครื่องยืนยันถึงความยั่งยืนในอนาคต : เทวินทร์ วงศ์วานิช

“คม” ความคิด (6)

ความสำเร็จในอดีตไม่ใช่เครื่องยืนยันถึงความยั่งยืนในอนาคต

เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในโลกอนาคต

ปตท.ต้องมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจบนฐานขององค์ความรู้และนวัตกรรม

เราได้ตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อเปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่มาระดมสมอง ผลักดันนวัตกรรมต้นแบบ สนับสนุน Startup ภายใต้แนวคิด Rapid Prototyping เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อไป

ทุกคนคงรับรู้ได้ว่าโลกเราได้ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว (Disruptive) มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย

ความสำเร็จในอดีตไม่ใช่เครื่องยืนยันถึงความยั่งยืนในอนาคตเสมอไป

ดังนั้น องค์กรใดที่ต้องการปรับตัวให้ได้บนความเปลี่ยนแปลงที่คาดเดายากเช่นนี้

ควรต้องผลักดันให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในองค์กรให้มากยิ่งขึ้น

นวัตกรรมจะเกิดได้ต้องมีการลองแนวความคิดใหม่ๆ

ผมเชื่อในศักยภาพของคนไทย

และหวังว่าพลังความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าที่จะเสี่ยง และลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างมีสติ มีภูมิคุ้มกัน จะนำประเทศไทยและธุรกิจของคนไทยไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้

แต่ผู้ใหญ่ที่มากประสบการณ์ จะต้องช่วยกันสร้างและผลักดันคนรุ่นใหม่ขึ้นมา

นวัตกรรมจะเกิดได้อย่างเป็นระบบ ต้องมาจากวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมให้มีการลองแนวความคิดใหม่ๆ กล้าเสี่ยงและยอมรับความล้มเหลวได้

ความสำเร็จของ Amazon มาจากความเชื่อที่ว่า “This is the best place to fail”

ไม่ใช่ไล่ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ทันเท่านั้นเราจะต้องก้าวให้ล้ำไปข้างหน้า

โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว

มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และสร้างผลกระทบต่อทุกคนบนโลก เราต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา

ผมเชื่อว่า การที่เราจะก้าวไปสู่การเป็นสังคมที่แข็งแรงและยั่งยืนได้นั้น เราคงไม่สามารถทำเพียงแค่ไล่ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ทันเท่านั้น

แต่เราจะต้องก้าวให้ล้ำไปข้างหน้า

เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี

มีความคิดสร้างสรรค์ และสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นเองให้ได้

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ปตท. ได้ดำเนินโครงการจัดตั้งและบริหารจัดการสถาบันการศึกษา 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

นับเป็นความตั้งใจของ ปตท.ในการสร้างบุคลากรของชาติ ที่มีความสามารถ มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำ สร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับสังคมไทย

ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยบนเวทีโลก

ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ผ่านผลงานการแข่งขันด้านวิชาการทั้งในระดับนานาชาติและในระดับประเทศ

ตลอดจนผลงานวิจัยจากนักเรียนและนักศึกษาของทั้งสองสถาบัน

เราต้องทบทวนระบบการศึกษา

ผมไปร่วมเป็น Co-Chairperson ในงาน World Economic Forum on ASEAN 2017 ที่กรุงพนมเปญ ภายใต้ Theme คือ Youth, Technology and Growth

ผู้นำระดับประเทศจากทั่วโลกต่างมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ว่าอาเซียนจะบริหารจัดการพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

และด้วยประชากรกว่าครึ่งหนึ่งในภูมิภาคเป็นคนรุ่นใหม่ พวกเขาควรจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านต่างๆ ได้อย่างไร

มีหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ ระบบการศึกษาแบบเดิมยังสามารถใช้ได้ดีในยุคนี้หรือไม่

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เราต้องทบทวนระบบการศึกษา จากการสอนความรู้ ควรเปลี่ยนเป็นฝึกให้คนรุ่นใหม่ได้คิด

เพราะในสมัยนี้ ความรู้และข้อมูลสามารถหาได้ทั่วไปเพียงปลายนิ้วคลิก

สิ่งสำคัญคือ ต้องเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่มี Soft Skills และ Life Skills

คือทักษะการสื่อสารกับผู้อื่น ความเป็นมิตร การทำงานเป็นทีม บุคลิกภาพที่ดี มารยาททางสังคม ความยืดหยุ่น การปรับตัว ฯลฯ

โดยรวมแล้วคือมีกระบวนการคิด (Cognitive Ability) ที่ Artificial Intelligence หรือ AI ยังไม่สามารถทดแทนได้

ไปทำธุรกิจในต่างประเทศต้องแข็งแกร่งในบ้านตัวเองก่อน

เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้รับเกียรติจากคุณบัณฑูร ล่ำซำ ในฐานะนายกสมาคมศิษย์เก่า Harvard Business School ให้ไปร่วมเสวนาในหัวข้อ “Building a Regional Presence”

มีสาระน่าสนใจสำหรับเพื่อนๆ ที่มองหาโอกาสขยายกิจการไปต่างประเทศ

จึงขอเล่าให้ฟังว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิด connectivity หรือความเชื่อมโยงในอาเซียน ทั้งด้านคมนาคม ทรัพยากร และตลาด จะช่วยให้เราใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) สร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคนี้ได้เต็มที่

ประเทศไทยอยู่ในจุดที่เป็นศูนย์กลางของ Continental ASEAN คือ CLMV จึงมีโอกาสที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุด

ถือได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบของเรา

แต่การจะออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ เราควรต้องประสบความสำเร็จ แข็งแกร่งในบ้านตัวเองก่อน

เช่น ปตท.สผ. ก็เรียนรู้จากการพัฒนาแหล่งก๊าซในอ่าวไทย

ก่อนที่จะนำประสบการณ์และความรู้ไปพัฒนาแหล่งก๊าซในพม่า

ข้อได้เปรียบในการเข้าไปลงทุนในอาเซียนเพราะเรามีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน

นักธุรกิจไทยมีข้อได้เปรียบในการเข้าไปลงทุนในอาเซียน

เรามีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ทำให้มีความเข้าใจ สร้างสัมพันธ์กันได้ง่าย

สิ่งสำคัญคือ เราต้องเข้าไปแบบมิตร มีความรับผิดชอบใน commitment ที่เราได้ให้ไว้ ทำธุรกิจด้วยความ “เกื้อกูล” กัน เพราะไม่ว่าการทำธุรกิจที่ไหน เรื่อง “license to operate” เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเสมอ

สิ่งที่ ปตท.ภาคภูมิใจในวันนี้คือ เราได้พา SMEs ไทยไปสร้างโอกาสขยายธุรกิจในอาเซียนด้วยกันแบบ Team Thailand

ถ้าใครมีโอกาสได้ไปใช้บริการที่ปั๊ม ปตท.ในต่างประเทศก็จะเห็นแบรนด์ไทยอย่าง Black Canyon หรือ ปึง หงี่ เชียง ฯลฯ อยู่ในปั๊ม ปตท.ด้วย

ทำให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ผมเชื่อว่า หากองค์กรไทยผนึกกำลังกัน ก็จะทำให้แบรนด์ไทยมีความแข็งแกร่งในระดับภูมิภาค สามารถเติบโตในระดับโลกได้แน่นอน

ข้อมูลมากเพียงพอสามารถคาดการณ์อนาคตได้

เรื่องพลังงาน ถึงแม้จะมีบทเรียนมาแล้วว่า เราไม่สามารถคาดการณ์ราคาได้อย่างมั่นใจ แต่การทำความเข้าใจสถานการณ์พลังงานโลก ก็จะช่วยในการประเมินแนวโน้มหรือทิศทางราคา ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถวางแผนธุรกิจ เตรียมรับมือ และบริหารความเสี่ยงได้

เพราะพลังงานเป็นต้นทุนพื้นฐานของอุตสาหกรรมต่างๆ ธุรกิจขนส่ง การท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งร้านอาหารทั่วไป

ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพลังงานไว้เสมอในการวางแผนงานล่วงหน้า

หากมีข้อมูลมากเพียงพอที่จะคาดการณ์อนาคตได้ เราก็จะสามารถเตรียมความพร้อมให้รับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม

ช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ และยังอาจเห็นช่องทางในการสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย

ปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปตัวเองต้องเริ่มที่ใจ

ผมได้เข้าร่วมการสัมมนาเสริมสร้างความรู้และธรรมาภิบาลของกรรมการรัฐวิสาหกิจ จัดโดย สนง.คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง

มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ การปฏิรูปประเทศ เกิดจากการปฏิรูปตัวเอง และต้องเริ่มที่ใจ

โดยเราทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมให้มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล

รัฐบาลมีเป้าหมายใน 3 ด้านคือ ลดความขัดแย้ง แก้ไขปรับปรุงปัจจุบัน และวางแผนเพื่ออนาคต

สังคมปัจจุบันมีแนวคิดที่แตกต่างกันในเรื่องต่างๆ เหมือนจะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ในขณะที่มีคนตรงกลางเยอะ ซึ่งพร้อมจะเลือกด้านที่แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส และมีคุณธรรม

ดังนั้น ไม่ว่าองค์กรไหนจึงต้องยึดหลักธรรมาภิบาลไว้ก่อน เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนจะสามารถเห็นพ้องต้องกัน และเกิดความสามัคคีได้

และยังเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับจิตใจของคนในสังคมอีกด้วย