เปิดใจ ‘กัสตูรี มะห์โกตา’ ประธานพูโล “ขอกลับมาตายบ้านเกิด”

ไม่บ่อยนักที่นายกัสตูรี มะห์โกตา ประธานองค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-mkp) จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทย ส่วนหนึ่งเพราะเขาและครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสวีเดน นานๆ ครั้งถึงจะกลับมาบ้านเกิด

วันนี้นายกัสตูรีในวัยเฉียด 60 และอยู่ที่สวีเดนมานานเกือบ 40 ปี เปรยเสียงดังๆ ว่าอยากกลับมาตายเมืองไทย ที่สำคัญอยากให้ปัญหาชายแดนใต้ยุติในช่วงอายุของเขา ไม่อยากให้ยืดเยื้อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

มาฟังกันว่าประธานพูโลคนนี้ชี้ทางออกของปัญหาความขัดแย้งที่ปลายด้ามขวานไว้อย่างไร

โดยเฉพาะในสภาพปัจจุบันที่มีคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วยหลายภาคส่วนและหลายขบวนการ โดยมีตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา

นายกัสตูรีให้ความเห็นว่า ปัญหา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หากทางขบวนการและรัฐบาลตั้งใจจะแก้ปัญหา ต้องมานั่งคุยมาเจรจากัน แต่เรื่องปาตานีนี้เป็นเรื่องยาวนานจึงต้องให้เวลา จะแก้ 2-3 ปีไม่ได้ ที่อื่นๆ อย่างปาเลสไตน์ เจรจาและพูดคุยมานานเป็น 20 ปีก็ยังไม่จบ เรื่องปาตานีเพิ่งไม่กี่ปีเท่านั้น ดังนั้น ต้องให้เวลาพูดคุยกัน

ถ้าทั้งสองฝ่ายตั้งใจแก้ปัญหาบนโต๊ะ เรื่องนี้จะจบ แต่ต้องให้เวลา เท่าที่ดูตั้งแต่ 2547-2548 เริ่มเจรจาแบบเงียบๆ ระหว่างรัฐบาลกับทางขบวนการ มีความคืบหน้ามากเลย แต่ต้องให้เวลาพูดคุยกันอีก และเดี๋ยวนี้ถ้าจะพูดแบบครอบครัว แบบว่าไม่ต้องใช้คนกลาง คิดว่าเวลาให้แล้ว

“ถ้าเราพูดแบบครอบครัวจะไปเร็วกว่าพูดกับคนกลาง เพราะจากปี 2547 ถึงเดี๋ยวนี้ ส่วนมากที่มีคนกลางจะเป็นเรื่องวุ่นวายมากกว่า ผมอยากเสนอทางรัฐบาลให้คิดเรื่องนี้ ขอให้พูดกันแบบครอบครัว หรือทำอย่างนี้ก็ได้ คือพูดแบบเปิดให้มีคนกลางก็ได้ แต่ต้องมีโต๊ะที่สองที่พูดแบบครอบครัวแบบเงียบๆ ผมว่าพูดแบบมีคนกลางมันดีแบบเปิด แต่ว่าต้องมีอีกโต๊ะหนึ่งที่เรียกว่าแบบเงียบๆ แบบครอบครัว”

นายกัสตูรีให้ข้อมูลด้วยว่า ถ้าดูจากโมเดลปาเลสไตน์หรือโมเดลอื่นๆ จะมีสองโต๊ะคือ โต๊ะเปิด และโต๊ะปิด อย่างปาเลสไตน์ แต่ก่อนพูดแบบเปิดที่อเมริกา และพูดแบบปิดที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ แต่ที่ประสบความสำเร็จคือ การเจรจาที่กรุงออสโล ซึ่งเป็นการพูดแบบปิด หากทางรัฐบาลรับเรื่องนี้ ฝ่ายตนยินดีที่จะรับในการเจรจาแบบโต๊ะที่สอง

มั่นใจแค่ไหนว่าจะประสบความสำเร็จในการเจรจาแบบที่มี 2 โต๊ะ ทั้งแบบเปิดและแบบปิด

“ผมเองตอนนี้เหนื่อยแล้ว เพราะไม่รู้วันไหนจะจบ เราต้องเปลี่ยนโมเดลให้มีโต๊ะที่สอง หาหลายๆ ทางเพื่อจะจบ ถ้าเราไปแบบโต๊ะ 1 หรือแบบเดียว มันไม่รู้จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ถ้ามีสองโต๊ะ จะได้ดูอันไหนจะสำเร็จ อันไหนจะไม่สำเร็จ แต่เพื่อให้คนนอกดู เราต้องแก้ปัญหาแบบเปิด ขณะเดียวกันแบบปิดก็ต้องมีด้วย”

แสดงว่าพูโลเองก็อยากให้เกิดสันติภาพโดยเร็วใช่หรือไม่

“ผมพูดได้ว่าตอนแรกๆ ทางขบวนการ ส่วนมากไม่อยากพูด ไม่อยากจะเจรจา นอกจากผมเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก ทุกขบวนการต้องการเจรจา ต้องการจะพูด แต่ว่ามันไม่ได้พบโมเดลที่ดีที่จะทำให้การแก้ปัญหาสำเร็จ เรื่องนี้ผมว่าต้องลองให้มีโต๊ะที่ปิด

ผมเองยินดีต้อนรับทั้งเปิดและปิด โดยให้คนนอกดูโต๊ะที่เปิดเท่านั้น แต่ว่าเดี๋ยวนี้โต๊ะที่เปิดเท่านั้นเป็นทางการ ส่วนโต๊ะที่ปิดยังไม่เป็นทางการ ซึ่งผมคิดว่าทั้งสองโต๊ะต้องเป็นทางการเหมือนกัน หากทำเช่นนี้จะไปสู่สันติภาพได้เร็วขึ้น เพราะปัจจุบันทางขบวนการต้องการสันติภาพ รัฐบาลก็ต้องการสันติภาพ แต่ว่ายังไม่มีโมเดลเท่านั้น บางทีมีคนกลางมายุ่งเยอะ ซึ่งมีทั้งส่วนดีและไม่ดี”

เท่าที่ประเมินดูคิดว่าปัญหาชายแดนใต้จะสามารถจบในคนรุ่นนี้หรือไม่

“ผมคิดว่าถ้าสองฝ่ายตั้งใจ ต้องจบในอายุของผม เพราะเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะตาย ผมเหนื่อยแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเหนื่อยแล้วจะกลับไปมอบตัว ไม่ใช่ ผมต้องแก้ปัญหาก่อน ปัญหาแก้แล้วถึงจะกลับ แต่ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ผมจะไม่กลับ ฉะนั้น ผมจะพยายามทำเรื่องนี้ให้จบในอายุของผม ไม่อยากจะฝากให้รุ่นน้องหรือรุ่นลูกๆ”

“ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายอยากได้สันติภาพ แต่ต้องมีโมเดลที่ถูกต้อง แต่ว่าโมเดลแบบไหน จะคุยกันแบบไหน และจะแก้แบบไหน”

มองว่าสันติภาพในมุมของพูโลกับสันติภาพในฝ่ายรัฐไทยจะเชื่อมโยงกันได้ไหม

“ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้เชื่อมโยงกันได้แล้ว แต่ผมไม่อยากพูดรายละเอียด”

จะเป็นไปได้ไหมที่ว่าระหว่างการเจรจาจะทำให้เกิดความสงบสุขขึ้น

“ผมขอตอบแบบนี้ การเจรจาเป็นอีกเรื่อง สันติภาพก็เป็นอีกเรื่อง เดี๋ยวนี้เราพูดเท่านั้น เราไม่ได้ทำ เราต้องทำด้วย ถ้าเราตัดสินใจ เมื่อมีการเซ็นสัญญาข้อตกลง และมีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ อย่างเช่น มาเลเซีย หรือประเทศในยุโรป แต่ก่อนจะตกลงจะต้องพูดคุยกันก่อน เพราะข้อตกลงนั้นสำคัญมาก ถ้าไม่มีพยานจะทำให้ข้อตกลงนั้นไม่สมบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาข้อตกลงระหว่างการเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กับฝ่ายรัฐ เพราะฉะนั้น ความซับซ้อนก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เดี๋ยวนี้เราพูด แต่เราไม่ได้ทำ”

“หมายความว่าการฆ่าและการวางระเบิดจะไม่หยุดลง เพราะเมื่อหาข้อตกลงได้แล้ว ต้องให้เวลาพวกเขาดำเนินการอย่างช้าๆ บางทีอาจจะใช้เวลา 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปีถึงจะหยุดความรุนแรงนี้ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่หยุด ดังนั้น ต้องอดทนรอ”

สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำให้ข้อตกลงระหว่างความเคลื่อนไหวของแต่ละพื้นที่ที่ตกลงกันไว้เป็นผล เมื่อเป็นผลแล้วพยายามประยุกต์ใช้ อย่าเพียงแต่รอให้ความรุนแรงหยุดลงด้วยตัวเอง เพราะว่ามีหลายคนไม่เชื่อในข้อตกลง ดังนั้น ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ว่าข้อตกลงจะให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย และความรุนแรงนั้นจะหยุดลง มันเป็นอย่างนี้ทุกที่ เมื่อหาข้อตกลงได้ไม่ใช่ว่าความรุนแรงจะหยุดลง ต้องเข้าใจตรงนี้

“ดังนั้น ตอนนี้อย่ามาคิดเรื่องความรุนแรง ต้องคิดว่าจะหาข้อตกลงได้อย่างไรที่จะให้ผลประโยชน์ได้กับทุกฝ่าย แล้วพัฒนาจากตรงนั้น ความรุนแรงจะหยุดลงอย่างช้าๆ แต่ไม่ใช่เพียงแค่พูดอย่างเดียว เพราะว่าในสนามรบ ไม่ใช่แค่เพียงความเคลื่อนไหว มีบางฝ่ายทำให้เกิดความรุนแรง และทหารไทยในภาคใต้ได้รับผลประโยชน์

เพราะฉะนั้น ควรทิ้งความรุนแรงไว้เบื้องหลัง ควรพูดคุยกัน จนกว่าจะได้ข้อตกลง และทั้งสองฝ่ายพอใจกับข้อตกลง แล้วพยายามอย่างมากที่จะประยุกต์ใช้มัน เพราะฉะนั้น ผมมั่นใจว่าความรุนแรงนี้จะจบลงอย่างช้าๆ ภายในเร็ววัน”

พูโลมีแผนสันติภาพพร้อมเสนอรัฐบาลแล้วใช่ไหม

“ผมพร้อมเสนอ แต่จะพูดตอนนี้ไม่ได้”

อยากให้รัฐบาลทำอะไรให้กับคน 3 จังหวัดชายแดนใต้บ้าง

“หากทางรัฐบาลจะให้ปาตานีเป็นเอกราชก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน ทางผมจะรับแบบง่ายๆ ก็อายเหมือนกัน จึงควรหาทางกลางๆ ซึ่งผมคิดว่าเดี๋ยวนี้ไม่ยากเหมือนก่อน ผมไม่อยากจะพูดเรื่องเอกราช เรื่องปกครองพิเศษ หรือเรื่องอะไร มาพูดในกระดาษเอสี่ เรามาเขียนด้วยกันจะเอาอย่างไร จะเป็นเอกราช หรือรูปแบบการปกครองพิเศษ มันไม่สำคัญ สิ่งสำคัญในนั้นมันอะไร เราต้องการอะไร เขาชอบไหม เขาต้องการไหม เราชอบไหม เอาอันนั้น”

สรุปแล้วขบวนการนี้อยากเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย หรือเป็นตัวของตัวเอง หรือเป็นรูปแบบพิเศษ

“ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้เราจะพูดเรื่องเอกราชของตัวเองมันยาก ผมถึงบอกว่าเราต้องหาทางกลางที่ทั้งสองฝ่ายรับได้”

ถ้ามีรัฐบาลใหม่ คาดหวังไหมว่าปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้จะยุติ

“ผมพูดเรื่อยๆ ว่ามันไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ผมว่ารัฐบาลไทยเป็นเรื่องของไทย ทหาร หรือรัฐบาลเลือกตั้ง ผมไม่ยุ่งเกี่ยว เป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ”

การมาใช้ชีวิตอยู่ในสวีเดนเป็นอย่างไรบ้าง

“สวีเดนมีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ผมเองก็ยังรู้สึกว่าสวีเดนไม่ใช่บ้านผม ทุกๆ คนที่อยู่นอกประเทศก็คงคิดแบบนี้ แม้ว่าจะมีงานดีหรือว่าอะไรดี วันหนึ่งผมก็แก่แล้ว ผมเป็นมุสลิมใช่ไหม ลูกผมที่อยู่ในสวีเดนคิดอย่างไร เขาอยู่ในสังคมสวีเดน ผมกลัวมากลูกผมจะเป็นอย่างไร ภาษาก็ไม่เป็น ศาสนาก็ไม่รู้ จะทำอย่างไร”

“ผมห่วงมาก ตอนแรกๆ ที่ผมยังหนุ่มๆ ยังไม่คิดเรื่องนี้ แต่เดี๋ยวนี้ลูกผมหลานผม มันไม่รู้ภาษา รู้แต่สวีดิช รูปแบบเป็นคนปาตานี แต่พูดแบบสวีดิช คิดแบบสวีดิช ศาสนาก็ไม่รู้ ผมกลัวมากเลย และไม่ใช่ผมเท่านั้น เพื่อนๆ ผมที่อยู่ที่นี่ หรือเพื่อนที่อยู่ตะวันออกกลางก็เหมือนกันกลัวมาก ผมเองนี้ตายไปก็ไม่เป็นอะไร แต่ลูกจะเป็นอย่างไรเมื่ออยู่แบบนี้ ลูกผม หลานๆ ผมจะเป็นอย่างไร ไปแต่งงานกับสวีดิชจะเป็นอย่างไร ผมรู้สึกกังวลมาก”

“ผมเองได้สัญชาติสวีเดนแล้ว ผมเป็นคนปัตตานี แต่ตอนนี้เป็นคนสวีดีชแล้ว ข้างในมันลืมไม่ได้ เมื่ออายุมากขึ้น คิดเรื่องวัฒนธรรม คิดเรื่องศาสนา คิดเรื่องภาษา แต่ว่าลูกๆ จะเป็นอย่างไร สวีเดนนี่คนหนุ่มอยู่ได้ แต่แก่อยู่ยาก พูดง่ายๆ วัฒนธรรมไม่เหมือนกับเรา”

“ผมอยากไปตายที่บ้าน มันดีกว่าตายนอกประเทศ”