4 เล่มห้ามพลาด! ประจำบูธมติชน

มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23 และเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนครั้งที่ 12 ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17-28 ตุลาคม 2561 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สำนักพิมพ์มติชนยังคงปักหลักอยู่ที่เก่าเจ้าเดิม ณ บูธ V10 โซนพลาซ่า

และเป็นอีกครั้งที่มติชนเล่นใหญ่เอาใจนักอ่านด้วยการร่วมมือกับ ALEX FACE ศิลปินสตรีตอาร์ตชาวไทยที่มีชื่อเสียงขจรไกลระดับโลก ด้วยการเนรมิตบูธมติชนให้นักอ่านต้องตื่นตะลึงกับความงดงามอลังการจากน้อง Mardi แคแร็กเตอร์ประจำตัว ALEX FACE กันอีกครั้ง

หลังจากที่เคยร่วมกันคว้ารางวัลบูธสวยงาม ประเภทบูธขนาดใหญ่ จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 – 8 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา

มาในคราวนี้ มติชนมาในคอนเซ็ปต์ “Readvolution—เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนอนาคต” ด้วยการเลือกสรรหนังสือดีมาประจำการที่บูธ โดยปักธงไปที่หนังสือซีไรต์ใหม่หมาด หนังสือการเมือง หนังสือประวัติศาสตร์ และงานวรรณกรรมที่คอหนังสือไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

และนี่คือ 4 เล่มไฮไลต์ ที่หากแวะมาเยือนบูธ V10 ของมติชนเมื่อไหร่ ต้องคว้าหนังสือเหล่านี้กลับบ้านไปให้ได้

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

นวนิยายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน หรือซีไรต์ ประจำปี 2561 จากปลายปากกาของวีรพร นิติประภา ที่เคยคว้ารางวัลซีไรต์ครั้งแรกมาแล้วเมื่อปี 2558 จาก “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ผลงานนวนิยายเล่มแรกในชีวิตของเธอ

มาในปีนี้วีรพรก็ได้รับรางวัลซีไรต์อีกครั้งจาก “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” นวนิยายเล่มที่สองของชีวิต ส่งผลให้เธอกลายเป็นนักเขียนหญิงดับเบิลซีไรต์คนแรกในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นนักเขียนดับเบิลซีไรต์คนที่ 3 ถัดมาจากชาติ กอบจิตติ และวินทร์ เลียววาริณ ที่เคยได้รับรางวัลนี้ไปคนละ 2 ครั้งมาก่อน

คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียนมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นวนิยายเรื่อง “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” โดยวีรพร นิติประภา ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน ประจำปีพุทธศักราช 2561 โดยระบุว่า

“พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” โดยวีรพร นิติประภา นำเสนอเรื่องเล่าของครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลด้วยมุมมองใหม่ การต่อสู้ดิ้นรนของชีวิตในแต่ละรุ่นของครอบครัวใหญ่ เล่าคู่ขนานไปกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสังคมทั้งของไทยและจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและชะตากรรมของตัวละครแต่ละตัว นวนิยายเรื่องนี้โดดเด่นในการใช้ความทรงจำและประวัติศาสตร์ความรู้สึกส่วนบุคคล ซึ่งกลายเป็นความทรงจำร่วมของสังคม มีทั้งเรื่องที่เลือกจะเล่า และเรื่องที่เลือกจะลืม แหว่งวิ่นและคลุมเครือ”

“กลวิธีการประพันธ์มีความโดดเด่นด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ โดยใช้ขนบการเล่าแบบนิทานที่มีลักษณะมหัศจรรย์เหนือจริง มีความประณีตในการนำเสนอตัวละครด้วยลีลาการเล่าเรื่องและการใช้ภาษาเฉพาะตน ทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีความแปลกใหม่ ชวนให้ครุ่นคิดและใคร่ครวญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าของคนพลัดถิ่น นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นมิติใหม่ของนวนิยายไทยร่วมสมัย”

เขียนหนังสือเพียง 2 เล่ม ก็ได้ซีไรต์ทั้ง 2 เล่ม นับว่าฝีไม้ลายมือของวีรพร นิติประภา โดดเด่นน่าจับตา โดยเฉพาะ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” เรื่องนี้ที่เล่าเรื่องในสเกลที่ใหญ่ขึ้นกว่าที่เคยเขียนไว้ใน “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” โดยบอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนอพยพที่มาลงหลักปักฐานในเมืองไทย ผ่านช่วงวันวัยแห่งประวัติศาสตร์ ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 กบฏแมนฮัตตัน การสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ความทรงจำที่ถ่ายทอดอย่างขาดช่วงแหว่งวิ่นจากรุ่นสู่รุ่น และโศกนาฏกรรมของประเทศที่ผูกพันกับชะตากรรมของผู้คน

นี่คือหนึ่งเล่มสำคัญที่นักอ่านสายวรรณกรรมห้ามพลาดเป็นอย่างยิ่ง

ปักธงอนาคต: The Future is Ours

กว่า 100 ชั่วโมงของการสัมภาษณ์ ข้อมูลจากไดอารี่ส่วนตัวนับ 10 เล่ม จากปากคำบุคคลรอบกายกว่า 80 ชีวิต และสืบค้นแฟ้มข่าวกว่า 400 ชิ้น รวมถึงเดินทาง เกาะติด ใช้ชีวิตร่วมกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตลอดการเขียนหนังสือเล่มนี้

เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ถ่ายทอดเรื่องราวที่หล่อหลอมตัวตนของอดีตนักธุรกิจและแอ็กติวิสต์หนุ่มออกมาเป็นหนังสือ “ปักธงอนาคต The Future is Ours เปิดทุกมิติของชีวิตธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หนังสือที่จะทำให้นักอ่านรู้จักกับชายผู้นี้ได้อย่างดีที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีหนังสือเล่มใดเคยทำมาก่อน

ทั้งบทบาทลูกชายของแม่ พี่ของน้องๆ สามีของภรรยา พ่อของลูกๆ หลานของอา เจ้านายของลูกน้อง เพื่อนกับเพื่อน บนความสัมพันธ์มากมายหลายชุดที่ซับซ้อน สุดโต่ง และสุดขอบ

ไม่เพียงแต่การเก็บข้อมูลเชิงปฐมภูมิในการเขียนที่ทำให้หนังสือเล่มนี้โดดเด่นน่าสนใจ แต่องค์ประกอบอื่นๆ ใน “ปักธงอนาคต” โดดเด่นด้วยการได้ทีมงานคุณภาพมาร่วมงานในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ ทั้งการถ่ายภาพฝีมือของศิริโชค เลิศยะโส อดีตช่างภาพมือทองแห่งนิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย ที่ถูกวางตัวไว้ให้ตามเก็บภาพถ่ายของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทุกอิริยาบถ

รวมไปถึงการออกแบบปกที่ได้ประกิต กอบกิจวัฒนา ศิลปินและนักโฆษณามือทอง เจ้าของเพจ “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป” อันลือลั่นมาดูแลงานส่วนนี้ให้

จนเรียกได้ว่าใส่ใจในทุกรายละเอียด

และนี่คือเรื่องราวการประกอบสร้างในหนังสือของชายหนุ่มผู้เป็นที่สนใจที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยในเวลานี้

เลือดสีน้ำเงิน

“เลือดสีน้ำเงิน” ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ โดยปฐมาวดี วิเชียรนิตย์

ประวัติศาสตร์ความคิดของกลุ่มการเมือง “เลือดสีน้ำเงิน” ที่ยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ “คณะราษฎร” ซึ่งงานประวัติศาสตร์หลายชิ้นต่างนิยามให้กลุ่ม “เลือดสีน้ำเงิน” เป็นพวก “ปฏิปักษ์ปฏิวัติ”

หนังสือเล่มนี้จะพาเราไปดูเบื้องลึกเบื้องหลังของกลุ่ม “เลือดสีน้ำเงิน” ตั้งแต่ภูมิหลัง บทบาท และการเคลื่อนไหวในช่วงเวลารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 กบฏบวรเดช สงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคเผด็จการทหาร 2490-2500

นอกเหนือจากเนื้อหาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หนังสือเล่มนี้ยังมาพร้อมแพ็กเกจน่าสะสม ด้วยแจ๊กเก็ตหุ้มปก ที่คั่นหนังสือ และฝีมือฝีน้ำบนภาพปกโดยตะวัน วัตุยา ศิลปินชื่อดังระดับสากลของไทย ที่มีแฟนๆ มากมายคอยเก็บสะสมผลงานของเขา

อาจกล่าวได้ว่า “เลือดสีน้ำเงิน” คือส่วนผสมระหว่างหนังสือและศิลปะได้อย่างลงตัวอีกเล่มหนึ่ง

เผด็จการวิทยา

ผลงานอันเป็นที่โจษจันและฮือฮาของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์หนุ่มแห่งรั้วรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ “ไข่แมว” เพจการ์ตูนเสียดสีการเมืองเจ้าดังมาวาดภาพปกให้

ขับเน้นวิธีการเรียนรู้และพูดถึงเผด็จการศึกษาได้อย่างเสียดเย้ย และมากด้วยสาระทางวิชาการ

ที่อ่านสนุก ทันเหตุการณ์

จนใครๆ ก็ต้องหามาอ่านกัน

ทั้งหมดนี้ก็คือ 4 เล่มห้ามพลาดประจำบูธมติชนที่คุณต้องมีไว้ในครอบครอง!