ถ้าโลกนี้ไม่แบ่งประเทศ ไม่มีศาสนา คงนำพาความสงบ ค้นพบข้อคิดหลังจิบกาแฟที่เมืองมะละกา

สิ่งที่ผมไม่รู้มาก่อน เกี่ยวกับการขี่มอเตอร์ไซค์ จากเชียงใหม่ไปสิงคโปร์คนเดียว (16)

เข้าสู่มะละกา ก็มองหาร้านอาหารเช้า…

นั่นไงรสชาติเป็นหนึ่งเดียวทั่วโลก สตาร์บัคส์ เข้าไปก็สั่งครัวซ็องกับกาแฟอเมริกาโน่ร้อนๆ มาดื่ม ในบรรยากาศที่คุ้นเคย

เพราะสตาร์บัคส์ที่ไหนก็คล้ายๆ กัน ให้ความรู้สึกสงบ อบอุ่น คุ้นเคย หอม คนหลากหลายเชื้อขาติ หลากหลายศาสนา

กาแฟที่ยอดเยี่ยม เป็นบรรยากาศเฉพาะชนิดหนึ่งที่ทำให้นึกถึงเพลงของจอห์น เลนนอน…อิมเมจิน…จินตนาการ…

“ลองจินตนาการดูว่าโลกนี้ไม่มีการแบ่งประเทศ มันไม่ยากหรอกที่จะทำ ไม่จำเป็นต้องเข่นฆ่ากัน หรือยอมตายเพื่ออะไร และก็ไม่มีการแบ่งศาสนาด้วย ลองนึกภาพฝันดูว่าทุกคนบนโลกนี้ ใช้ชีวิตอยู่บนความสงบสุข” (http://www.aelitaxtranslate.com/2013/09/john-lennon-imagine.html)

Imagine there”s no countries, It isn”t hard to do, Nothing to kill or die for, And no religion too…

Imagine all the people living life in peace

คงเป็นเหมือนที่สมัยก่อน นักเดินทางที่ไปต่างถิ่น ก็จะพบคนประเภทเดียวกัน ที่วัด…หรือบ้านญาติตัวเอง สอดคล้องกับวัฒนธรรม ศาสนา คนรู้จัก เพื่อนร่วมชาติ

แต่คนในยุคสมัยเรา ไม่ใช่ยุคสมัยพ่อแม่ หรือปู่ย่า หรือทวดเรา แต่เป็นคนในยุคสมัยเรา ทุกคนในโลกต่างก็มีวัฒนธรรมที่คล้ายกันมากขึ้น โดยมีอารยธรรมกูเกิล เฟซบุ๊ก ฮอตเมล์ อินสตาแกรม และกาแฟ เป็นตัวเชื่อม

ภายใต้อารยธรรมเดียวกันทั่วโลกนี้ เราเข้ามาทำทุกอย่าง ตั้งแต่สังสรรค์ ประชุม ทำงาน ผ่านอินเตอร์เน็ต หรือไม่ผ่านอินเตอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งแสวงหาความสงบ โดยไม่แบ่งชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา ประเทศ ณ ที่แห่งนี้…สตาร์บัคส์

และถึงแม้มันจะเป็นอารยธรรมฟาสต์ฟู้ดของอเมริกัน มันก็มีความลุ่มลึกที่ผู้ก่อตั้งได้รับมาจากวัฒธธรรมกาแฟของอิตาลี และเอามันมาใส่ไว้ในทุกๆ สาขาของสตาร์บัคส์

และก็เป็นสตาร์บัคส์นี่เอง ที่เป็นตัวเร่งอารยธรรมกาแฟให้เกิดขึ้นในเมืองต่างๆ ทั่วโลก

สำหรับผม ผมเรียกสตาร์บัคส์และร้านกาแฟเจ๋งๆ ในที่ต่างๆ ว่า วัดของคนรุ่นเรา และก็เรียกอีกอย่างด้วยว่า

วิสัยทัศน์ ที่สัมผัสได้ของจอห์น เลนนอน

ไม่มีประเทศ ไม่มีศาสนา ไม่มีอะไรให้รักษาหรือปกป้อง ไม่มีอะไรให้ตายเพื่อ…ทุกคนอยู่ร่วมกัน ดื่มกาแฟร่วมกันอย่างสงบสุข อย่างมีความสุข

เสร็จจากอาหารเช้าประมาณสิบเอ็ดโมงกว่า หากเดินทางต่อไปก็ไม่ไกลมากนัก ประมาณสองร้อยกว่ากิโลเมตร แต่ตอนเข้าเมืองมาพบว่าเมืองนี้สวยดี เห็นเรือสำเภาสมัยก่อนมาจอดไว้ข้างถนน ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ และเมื่อค้นดูในอินเตอร์เน็ตก็พบว่ามีพิพิธภัณฑ์อยู่หลายแห่งในเมืองมะละกานี้…

ตัดสินใจหาโรงแรม แล้วเช็กอินเลยดีกว่า

มะละกา แปลว่า มะขามป้อม เมืองนี้ถูกสร้างขึ้นโดยการหนีของราชาพระองค์หนึ่ง…ท่านกำลังหนีจากการถูกไล่ล่า ระหว่างที่หยุดพัก ณ สถานที่แห่งนี้ ณ ขณะที่จิตใจพบกับความทุกข์ระทม ท้อแท้ในจิตใจ ท่านได้นั่งอยู่ใต้ต้นมะขามป้อม

ด้วยสภาพหมดกำลังใจ สายตามองไปเห็นกระจง สัตว์กระจ้อยร่อยไร้พิษสง กำลังต่อสู้กับหมาป่าอย่างไม่ยอมแพ้ จนในที่สุดหมาป่าต้องล่าถอยไป

พระราชาเกิดแสงสว่างขึ้นในบัดดล ตัดสินใจยุติการหนี และปักหลักอยู่ที่เมืองนี้…ที่เมืองมะละกา (กริช มะละกา…ประภัสสร เสวิกุล)

เพราะเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญ มะละกาจึงมีคนจีน คนอินเดีย มาเกี่ยวข้องอยู่ในประวัติศาสตร์ และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และยังเคยเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส ฮอลแลนด์ และอังกฤษ จึงเป็นแหล่งรวมอารยธรรมผสมผสานที่สะท้อนออกมาเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สวยงาม

และสัมผัสได้ถึงความผสมผสานเหล่านี้ได้จนถึงทุกวันนี้

และเพื่อจะสัมผัสกับความผสมผสาน…ผมเริ่มต้นด้วยร้านอาหารอินเดียแบบใช้มือกิน เป็นอาหารมังสวิรัติชนิดกินเพื่ออยู่ที่มีรสเค็มแบบโทษใครไม่ได้เพราะมาจากมือเราเอง

จากนั้นจึงเดินผ่านโบสถ์สีแดงเข้ม ที่สร้างในยุคอาณานิคมฮอลแลนด์ มีความสวยงามทั้งสถาปัตยกรรมและสีของอาคาร น่าดูน่ามองเป็นอย่างยิ่ง แล้วจึงไปพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการโหวตให้เป็นอันดับหนึ่งในมะละกาจากเว็บทริปแอดไวเซอร์

พิพิธภัณฑ์บาบา-ญอนย่า

เพราะในยุคสมัยหนึ่ง มะละกาต้องพึ่งความยิ่งใหญ่จากจีน เพื่อคานอำนาจกับใกล้ๆ ที่คอยจ้องจะรุกราน (อาณาจักรสยามเราก็เป็นหนึ่งในภัยคุกคามของเขา) เลยเป็นที่มาหนึ่งของวัฒนธรรม บาบา-ยอนญ่า ก็คือชาวจีนที่แต่งงาน สร้างครอบครัวกับชาวพื้นเมืองนั่นเอง

พิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นมาจากบ้านของบาบา-ญอนย่า ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่เกือบห้าสิบคน ไม่แน่ใจว่ากี่เจเนอเรชั่น บ้านนี้ก็คือต้นกำเนิดของตระกูลนี้เอง เป็นการอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ มีวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างจีนกับมาเลเซีย

แต่หากคนจีนมองก็จะพบว่ามันไม่เหมือนวัฒนธรรมของจีน

และหากคนมาเลเซียมองก็จะพบเช่นกันว่ามันไม่เหมือนวัฒนธรรมของมาเลเซีย

และความไม่เหมือนนี้ก็คือวัฒนธรรมบาบา-ญอนย่า ซึ่งนอกจากจะเป็นวัฒนธรรมแล้วยังเป็นความไม่ง่ายเท่าใดนักในการใช้ชีวิตอยู่ในสมัยนั้น เพราะความไม่เหมือนนี่เอง

แต่สำหรับผมมองไปพบว่าความไม่เหมือนนี่เป็นเสน่ห์ทีเดียว ทั้งความเป็นอยู่ การแต่งกาย บ้าน และอาหาร… เป็นเสน่ห์อย่างแน่แท้ทีเดียว

เสร็จจากพิพิธภัณฑ์ก็ดื่มน้ำมะนาวให้ชื่นใจ แล้วจึงไปพิพิธภัณฑ์อันต่อไป ซึ่งอยู่ในระยะเดิน

พิพิธภัณฑ์ชื่อ Flora De La Mar Maritime Museum ภาษาไทยก็คงประมาณพิพิธภัณฑ์เรือเดินทะเล ฟลอร่า เดอ ลา มาร์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเรือสำเภาตั้งอยู่นั่นเอง

เรือที่ตั้งอยู่เป็นเรือจริงที่ได้รับการบูรณะและดัดแปลงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ โดยเรือมีชื่อแบบไม่ต้องเดาว่า ฟลอร่า เดอ ลา มาร์ ซึ่งก็คือชื่อของพิพิธภัณฑ์นี่เอง

ในเรือมีการจัดวางของต่างๆ ตามจริงในสมัยที่เรายังคงใช้งานอยู่ในทะเล ให้ความเพลิดเพลินได้ดีมาก

เดินได้เย็นสบายเพราะในเรือติดแอร์ไว้เรียบร้อย และเมื่อเดินถึงดาดฟ้าเรือจึงได้รู้สึกถึงความสูง และความใหญ่ของเรืองฟลอร่า เดอ ลา มาร์ และการได้ดูเสากระโดงเรือ เชือก และส่วนประกอบต่างๆ บนดาดฟ้าเรือ ก็พบว่าเจ้าหล่อนมีความงดงามและความสง่างามมากทีเดียว

กัปตันเรือคงจะหลงใหลเจ้าหล่อนไม่น้อยไปกว่าที่เราหลงใหลเจ้าสองสูบเป็นแน่แท้ ถึงกับตั้งชื่อเรือว่า Flora De La Mar ฟลอร่า เดอ ลา มาร์ ซึ่งแปลว่า “ดอกไม้แห่งท้องทะเล” … งดงามปานนั้น

แล้วก็คิดถึงเจ้าสองสูบขึ้นมา อยากจะลองตั้งชื่อเจ้าสองสูบเสียงเพราะในภาษาสเปนให้เกิดความงดงาม แข่งกับเรือของกับตันบ้าง…

“Flora Del Camino” ตามกูเกิล…อ่านได้เป็นภาษาไทยว่า “ฟลอร่า เดอ คามีโน” … “ดอกไม้แห่งท้องถนน”

…แต่ยังไม่ถูกใจ…ลองอีกครั้ง…

“Flora De Apasionado En El viento” แปลเป็นภาษาไทยได้สวยงาม (จากกูเกิล…หากผิดก็อย่าคิดมาก) คล้ายกับนิสัยของเจ้าสองสูบเสียงเพราะ

อืม…คล้ายเป็นอย่างยิ่ง

“ฟลอร่า เดอ อาปาซิโอนาโด เอ็น เอล เวียนโต”

“…ดอกไม้…ที่หลงใหลในสายลม…”