ปัญหาใต้ : แม่ทัพภาค 4 กับเผือกร้อนที่ทิ้งไว้

ปัญหาใต้ : แม่ทัพภาค 4 กับเผือกร้อนที่ทิ้งไว้

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

16 กันยายน 2561 พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ทิ้งทวนก่อนหมดวาระในตำแหน่งแม่ทัพภาคสี่ 30 กันยายน 2561 นี้ ลงนาม (เซ็น) คำสั่ง ฉบับที่ 86/2561 ให้ ต.บางเขา และ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษชั่วคราวโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457

และกำหนดให้ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนทุกชนิด รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือทุกประเภทมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 17-23 กันยายน 2561 ณ ที่ว่าการอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี

อะไรเป็นต้นเหตุคำสั่งนี้

ประกาศฉบับนี้อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารพรานที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 4 นาย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561

นอกจากประกาศคำสั่งแล้ว พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้จัดแถลงข่าวที่แข็งกร้าวมากๆ ณ มณฑลทหารบกที่ 46 โดยในแถลงข่าวระบุ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่กว่า 1,000 นาย (เป็นกำลังร่วมทั้งตำรวจ ทหาร นาวิกโยธิน หน่วยบิน และฝ่ายปกครอง) ดำเนินการปฏิบัติการทางทหารเพื่อการจับกุมผู้กระทำผิด

และข่มขู่ว่าจะเตรียมกฎหมายให้เข้มข้น โดยอาจจะต้องเอาผิดถึงพ่อแม่ ภรรยา ญาติพี่น้องของผู้ต้องสงสัยที่กำลังหลบหนี

ที่สำคัญประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ทั้งสองตำบลคือ ตำบลบางเขา และตำบลท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นำอาวุธปืน/เครื่องกระสุน และยานพาหนะ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2557

ผลหลังจากปฏิบัติการทางทหาร

ในรายงานข่าวของสถาบันข่าวอิศราและการลงพื้นที่ของประชาสังคมรวมทั้งนักศึกษาพบว่ามีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่าชาวบ้านเดือดร้อนเป็นส่วนใหญ่

สถาบันข่าวอิศรารายงานว่า “ผลของปฏิบัติการสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ถึง 10 คน แต่การกวาดจับถูกร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ทันทีว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์โดยมิชอบ” (โปรดอ่านรายละเอียดใน https://www.isranews.org/south-news/other-news/69554-martial_69554.html)

นักศึกษา Permass ประกอบด้วย นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวนประมาณ 150 คน ได้เดินทางลงพื้นที่บ้านบางทัน ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที และได้ร่วมกันทำการละหมาดฮายัต ที่มัสยิดนูรุ้ลอีบาดัตบางทัน หมู่ 3 ต.บางเขา อ.หนองจิก

หลังละหมาดเสร็จได้ออกเดินเท้าไปพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ทุกหลังคาเรือนเพื่อสอบถามถึงผลกระทบต่อการประกาศใช้กฎอัยการศึก

ปรากฏว่าชาวบ้านเดือดร้อนในภาพรวม หวาดกลัวเพราะมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากอาวุธครบมือ บางคนปีนหลังคา เข้าค้นโรงเรียนตาดีกา ประชาชนไม่กล้าออกไปทำมาหากิน หมู่บ้านเงียบสงัด

ในขณะที่กลุ่มสตรีเพื่อสันติภาพได้ลงพื้นที่เช่นกันและเล่าบรรยากาศโดยนางโสรยา จามจุรี (เพื่อนร่วมงานผู้เขียนในสภาประชาสังคม จชต.) ว่า

“ที่ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พวกเรากลุ่มผู้หญิง ที่มีทั้งพุทธและมุสลิมได้มีโอกาสเยี่ยมครอบครัวที่สามีเป็น 1 ใน 8 ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัว หลังเกิดเหตุการณ์ทหารพรานสองนายถูกยิงเสียชีวิตเมื่อ 11 กันยายนที่ผ่านมา เธอมีลูกเล็กๆ สี่คนที่ต้องดูแล หลังส่งลูกสามคนไปโรงเรียน ราวเก้าโมงกว่า เธอจะขับรถมอเตอร์ไซค์ไปเยี่ยมสามีทุกวันที่ค่ายในปัตตานี นับเป็นวันที่ 7 แล้ว และเป็น 7 วันที่เธอต้องหยุดงานและขาดรายได้ (เธอทำงานโรงงานยางแห่งหนึ่ง เป็นลูกจ้างรายวัน วันละ 308 บาท)

ในยามที่คนในครอบครัวถูกควบคุมตัวโดยกฎหมายพิเศษ (กฎอัยการศึก/พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) การเยี่ยมอย่างใกล้ชิด และให้เวลาแก่คนในครอบครัวได้เยี่ยมที่เหมาะสมและเพียงพอ เป็นสิทธิ์พื้นฐาน/หลักมนุษยธรรมที่ผู้หญิง ผู้เป็นแม่ เมีย ต้องการมากที่สุด และจะเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งว่าคนที่ถูกควบคุมตัวนั้นปลอดภัย เธอบันทึกการเยี่ยมทุกครั้ง ปัญหา อุปสรรคที่พบ และวาดรูปประกอบ ลายมือสวยมาก ทั้งๆ ที่จบแค่ ป.6

จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่ร้านน้ำชาหมู่ 3 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ชาวบ้านบอกว่าที่กระทบกับวิถีชีวิตก็คือ ในยามค่ำคืนรู้สึกกลัว ไม่ปลอดภัยและเกรงว่าจะเกิดการเข้าใจผิดจากเจ้าหน้าที่ ด้วยเหตุนี้หลังละหมาดอีซา (เวลาประมาณ 2 ทุ่ม) ก็เลยตัดสินใจพักการออกเรือไปหาปลา หากุ้งช่วงนี้ไปก่อน (ปกติเคยมีรายได้จากการทำประมง 300-500 บาท/ครั้ง) จนกว่าสถานการณ์จะปกติ

ถามว่ากลางค่ำกลางคืน คนยังกล้ามานั่งร้านน้ำชาอยู่ไหม ชาวบ้านบอก ก็มาเป็นปกติ กว่าร้านจะปิดก็ราว 5 ทุ่ม ส่วนการขึ้นทะเบียนอาวุธ เรือ ยานพาหนะ ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือ แต่จะให้ดี จนท.ควรอำนวยความสะดวก จัดหาเครื่องซีร็อกซ์เอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนด้วย ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของชาวบ้านได้มากเพราะค่าถ่ายเอกสารในหมู่บ้านแพง แผ่นละตั้ง 2 บาท การขึ้นทะเบียนต้องใช้เอกสารประกอบหลายชุดเลยทีเดียว ครั้นจะออกไปถ่ายในเมือง ราคาถูก ก็ไม่คุ้มค่าน้ำมันรถ ดูเหมือนความรุนแรงรายวันและมาตรการทางทหารที่เคยประสบก่อนหน้านี้เป็นเนืองๆ มาก่อนแล้ว ทำให้คนในชุมชนรู้ว่าจะรับมือกับสถานการณ์วันนี้อย่างไร

ในขณะที่ฝั่งแม่ทัพภาคสี่บอกผ่านสื่อทุกสำนักว่าประสบความสำเร็จ ใกล้ถึงรังโจรและโทษกลุ่มประชาสังคมกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในหมู่บ้าน

“การลงพื้นที่และการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ เป็นมุขเก่าๆ สมัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และที่สำคัญเป็นการยืนยันได้ว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้มาถูกทางแล้ว พอเราเข้าไปถึงในพื้นที่ก็เริ่มมีการก่อม็อบ ปลุกระดม อ้างองค์กรโน้น องค์กรนี้ แสดงว่าเราเข้าไปถึงรังใหญ่เขาแล้ว”

ถ้าเขาไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการก่อม็อบ ปลุกระดม ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย เรื่องก็เงียบเป็นปกติ เพราะว่าเราไม่ได้ไปกดขี่ข่มเหงประชาชน ชาวบ้าน เราขอความร่วมมือ แสดงความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งชาวบ้านเขาไม่ได้ว่าอะไร

“มีเพียงกลุ่มเดียวที่พยายามปลุกระดมชาวบ้านให้ลุกขึ้นมา เหมือนกับโครงการอื่นที่รัฐบาลดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพาคนกลับบ้าน พ.ร.ก.คุ้มครองพยาน เพราะเราสามารถทำลายโครงสร้างของกลุ่มต่างๆ เขาได้หมด” พล.ท.ปิยวัฒน์กล่าว

และว่า การออกมาเคลื่อนไหวกดดันเจ้าหน้าที่ของกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ออกมาโจมตี ก็จะยิ่งดี เพราะเราจะได้รู้ว่าเรามาถูกทางแล้ว

“ยิ่งเกิดเรื่อง พวกผมก็หน้าด้านอยู่แล้ว ไม่ไปไหน อยู่และอยู่นานขึ้น แต่ถ้าเรื่องมันเงียบๆ ชาวบ้านเขามีความสุข มีรอยยิ้ม พวกผมก็กลับกรมกองเหลือเพียง อส.ชรบ.เป็นคนดูแล ยืนยันว่า ประชาชนในพื้นที่เขายินดีและให้ความร่วมมือ”

ส่วนการดำเนินการตามประกาศคือ ให้ประชาชนนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนทุกชนิด รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือทุกประเภท มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อตรวจสอบ ที่จะสิ้นสุดวันที่ 23 กันยายน ก็อาจจะขยายเวลาต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าประชาชนจะมีรอยยิ้ม และออกมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เราก็จะทำไปเรื่อยๆ เพราะว่าเราจะให้ผู้ทำผิดกฎหมายมาแสดงตน เช่น ปืนผิดกฎหมาย เรือต้องมีเจ้าของ รถต้องมีเจ้าของ ต้องมาแสดงตน เราไม่ได้ไปบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด แค่ไปแสดงว่าเป็นเจ้าของ ครอบครอง หากไม่ถูกกฎหมายก็ต้องทำให้ถูกกฎหมาย

“การปฏิบัติครั้งนี้เราทำให้กับประชาชนมีความสุข มีความสงบสุขในพื้นที่ ก็มีกลุ่มคนแค่กลุ่มเดียวที่พยายามทำให้เกิดเรื่องขึ้นมา เราก็ต้องป้องปรามเพื่อให้ประชาชนมีความสุข”

 

ข้อสังเกตของคำสั่ง

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตต่อประกาศ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ฉบับดังกล่าว 5 ประเด็นดังนี้

1. ประกาศฉบับนี้ไม่ใช่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ความจริงแล้วพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่แล้ว ประกาศที่ออกมาเป็นประกาศพื้นที่ควบคุมพิเศษ ระหว่างวันที่ 16-23 กันยายน เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวประกาศก็จะสิ้นผลไป แต่พื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่

2. ประกาศกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ฉบับที่ 86/2561 ลงนามโดย พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช ในนามผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน นั้นมีข้อน่าพิจารณาว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค (ผอ.รมน.ภาค) ซึ่งก่อตั้งอำนาจโดย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 นั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดกับอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ประกาศดังกล่าวก็สะท้อนถึงความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ซึ่งมีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงบังคับใช้ถึงสามฉบับ จนกระทั่งฝ่ายปฏิบัติการเองขาดความเข้าใจในบทบาทและอำนาจหน้าที่ของตน

3. “พื้นที่ควบคุมพิเศษ” ไม่ได้มีกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พื้นที่ควบคุมพิเศษจึงมิใช่ถ้อยคำในทางกฎหมาย เมื่อมิได้กำหนด “พื้นที่ควบคุมพิเศษ” ไว้ จึงไม่ได้มีผลใดในทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ยังคงพิจารณาเนื้อหาของประกาศฉบับดังกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจในการประกาศดังกล่าวหรือไม่

4. ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 8 และ 9 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการดำเนินการตรวจค้น แต่การตรวจค้นนั้นจะต้องเป็นการตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์ หรือต้องห้าม หรือต้องยึด หรือจะต้องเข้าอาศัย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น การสั่งให้บุคคลกระทำการเพื่อการตรวจสอบแบบไร้เป้าหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษจึงอาจจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว

5. แม้ความรุนแรงจากการซุ่มยิงทำให้มีทหารเสียชีวิตสองนาย และบาดเจ็บอีกสี่ราย แต่มาตรการที่กำหนดให้ผู้ที่อาศัยในพื้นที่สองตำบล นำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนทุกชนิด รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือทุกประเภทมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อตรวจสอบนั้นกลับก่อให้เกิดผลกระทบและความหวาดกลัวในวงกว้างกับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งอาจเป็นมาตรการที่ขัดกับหลักความได้สัดส่วน (Principle of proportionality)

เนื่องจากก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร อันขัดต่อมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

เครดิตภาพ

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1898758896884790&set=a.614532105307482&type=3&theater