“ความอ่อนแอภาครัฐ” (ยัง) ผลักดันบทบาท “มาเฟีย” ให้แกร่งขึ้น?

“ความอ่อนแอภาครัฐ” (ยัง) ผลักดันบทบาท “มาเฟีย” ให้แกร่งขึ้น?

คําว่า “มาเฟีย” ฟังๆ ดูแล้วอาจจะดูเป็นเรื่องล้าหลังและไกลตัวสำหรับบางคน ทั้งที่จริงแล้วมาเฟียไม่ได้หายไปจากสังคมในปัจจุบันแต่อย่างใด นับวันยิ่งอิงแอบแยบยลแฝงตัวอยู่ในทุกๆ ธุรกิจในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางทีคน (บาง) กลุ่มก็ยังตามไม่ทัน

วันนี้ผู้เขียนไม่ได้มาพูดในประเด็น “ธุรกิจมืด” หรือที่บางคนเรียกว่า “เงินสีเทา” ของเหล่ามาเฟียที่ครอบคลุมเกือบทั้งจักรวาล

แต่กระบวนการและสิ่งเร้าต่างๆ ที่ทำให้มาเฟียเติบโต จนกลายเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่งอย่างทุกวันนี้…เป็นเพราะอะไร

อันนี้น่าสนใจกว่า

แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่ระบุได้ว่าระบอบมาเฟียเริ่มก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่การถือกำเนิดขึ้นของมาเฟียในอิตาลี ที่เรียกว่า “ซิซิเลียน” หรือบางตำราเรียกว่า “ซิซิลี” ถูกบันทึกไว้ว่าคือจุดเริ่มต้นของมาเฟียทั้งหลายทั้งปวง

โดยมีงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญ 3 ราย ได้แก่ Daron Acemoglu จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT), Giacomo De Luca นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และ Giuseppe De Feo จาก Strathclyde Business School ที่อ้างถึงต้นกำเนิดของมาเฟียในอิตาลีว่า มีบทบาทชัดเจนมากที่สุด

ยิ่งกว่านั้นยังลุกลามจนกลายมาเป็น “โมเดล” ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกด้วย

มาเฟียอิตาลีเริ่มปรากฏตัวขึ้นในซิซิลีเมื่อราวๆ ปี 1860 ด้วยเหตุผลที่ว่าในสมัยนั้น “รัฐบาลท้องถิ่นอ่อนแอ” ทั้งยังอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจแห่งเดียวในกรุงโรม จึงเป็นสาเหตุหลักให้มีการรวมกลุ่มตั้งสมาคมเพื่อให้ความคุ้มครองในระดับท้องถิ่นขึ้น

ซึ่งนับวันเวลาผ่านไป กลุ่มที่ให้ความคุ้มครองนี้ก็แตกหน่อออกมาเป็นกลุ่มที่คุมพื้นที่ตามหัวเมืองต่างๆ ไปโดยปริยาย

ขณะที่รายงานยังระบุถึงสภาวการณ์ “ความไม่ไว้วางใจ” ซึ่งกันและกันของภาคประชาชนในอิตาลี ที่อยู่ในระดับสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเป็นแรงหนุนให้อิทธิพลของกลุ่มมาเฟียเหล่านั้นขยายอำนาจขึ้น

และในปัจจุบันก็ปรากฏว่ายังเป็นเช่นนั้น อันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายบ้านเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งก็วนมาถึงต้นเหตุของปัญหาก็คือ ความอ่อนแอด้อยประสิทธิภาพของภาครัฐนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ส่งเสริมให้มาเฟียกลายมาเป็นกลุ่มทรงอิทธิพลเช่นในปัจจุบัน เกิดขึ้นในปี 1893

อิตาลีประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรในบางพื้นที่เพาะปลูก ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สำคัญของรายได้ที่เข้าประเทศลดลงไปกว่า 65%

นำไปสู่ความถดถอยทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน “เกษตรกร” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในยุคสมัยนั้น เริ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ลง ต้องเช่าที่ดินทำการเกษตรหรือไม่ก็หันไปเป็นลูกจ้างประจำ

เมื่อปัญหาไม่ได้รับการคลี่คลาย หนำซ้ำผลผลิตยังตกต่ำซ้ำซาก ไม่ได้รับการประกันจากภาครัฐโดยการช่วยเหลือใดๆ ประชาชนหลายคนเริ่มตกงาน ยิ่งก่อตัวเป็นความรู้สึกไม่ไว้ใจกันเพิ่มมากขึ้นๆ

มูลเหตุเล็กๆ นี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ (ในบางกลุ่ม)

ลองจินตนาการดูว่า ขั้วอำนาจใหญ่ที่ (ควร) มีอำนาจเบ็ดเสร็จดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง ช่วยแก้ปัญหาเมื่อประเทศกำลังแย่ แต่กลับบั่นทอนความเชื่อมั่นบริหารประเทศแบบ “ขอไปที”

ประชาชนเริ่มรู้สึกต่อต้านผลงานการบริหารของภาครัฐ สิ่งนี้เองคือจุดไคลแมกซ์ที่ทำให้ “มาเฟียอิตาลี” มีอำนาจอย่างเต็มที่ และไม่ใช่แค่ในซิซิลีแล้ว แต่ลุกลามมาถึงเมืองอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์ในแง่ที่แตกต่างออกไป เช่น “นาโปลี” ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองยอดฮิตของกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลกในปัจจุบัน

โดยการคุ้มครองที่อยู่นอกกฎหมายนี้ ไม่เพียงแต่จะลุกลามมาถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่นักวิเคราะห์บางรายยังระบุถึงธุรกิจเล็กอื่นๆ เช่น “การแต่งงาน” เพราะคนอิตาลีส่วนใหญ่ยังมีความไม่ไว้วางใจระหว่างกันสูง

ยิ่งในบางพื้นที่ที่การบังคับใช้กฎหมายเข้าไม่ถึงประชาชน ทำให้มาเฟียต้องเข้ามาทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่าง 2 ครอบครัว เพื่อรับประกันว่าการแต่งงานนั้นจะเกิดขึ้นจริงๆ

และจะครองรักกันแบบนี้ตลอดกาล

อ่านมาจนถึงตรงนี้ สิ่งที่นึกถึงก็คือ แก๊งมาเฟียในประเทศไทย ที่เราเคยได้ยินมาบ้างว่าจะคุมอยู่ตามจังหวัดผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะเมืองที่มีจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว อย่างเมืองภูเก็ต พัทยา หรือแม้แต่กรุงเทพฯ ก็ตาม

หากอ้างอิงตามรายงานแหล่งกำเนิดของมาเฟียในอิตาลี ที่สะท้อนมุมหลักๆ ก็คือ ความอ่อนแอของภาครัฐในการใช้อำนาจปกคลุมปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างเต็มที่

จุดอ่อนและช่องโหว่ต่างๆ เหล่านี้ อาจเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้เกิดบทบาทของมาเฟียในไทยขึ้นอย่างเด่นชัดเช่นเดียวกัน

และหากกฎหมายยังอ่อนแอ การบังคับใช้ยังไร้ประสิทธิภาพ ก็คงเป็นไปได้สูงที่บทบาทของมาเฟียจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ

สิ่งที่จะตามมาอีกก็คือ ธุรกิจ (บาง) ประเภทที่มีผลประโยชน์ในระดับชาติอาจเคลื่อนย้ายตัวเองให้อยู่นอกกรอบกฎหมาย

…ซึ่งกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็คงสายเกินแก้ไขแล้ว