การศึกษา / ผ่าปม…มหากาพย์ ‘อธิการฯ เกษียณ’ ปิดฉาก…ตั้ง ‘ผู้บริหาร’ อายุ 60 ปีไม่ได้

การศึกษา

 

ผ่าปม…มหากาพย์

‘อธิการฯ เกษียณ’

ปิดฉาก…ตั้ง ‘ผู้บริหาร’ อายุ 60 ปีไม่ได้

กลับมาร้อนแรงอีกครั้งกับประเด็น “ผู้เกษียณอายุราชการ” นั่งเก้าอี้อธิการบดี
เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 กรณีที่นายชวลิต สันถวะโกมล ผู้สมัครอธิการบดี มรภ.กาญจนบุรี ฟ้องร้องมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาญจนบุรี และสภา มรภ.กาญจนบุรี เมื่อปี 2551
กรณีมีมติแต่งตั้งนายปัญญา การพานิช อดีตอธิการบดี มรภ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นผู้เกษียณอายุราชการ ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี มรภ.กาญจนบุรี
โดยศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง แต่เมื่อมาถึงศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนมติสภา มรภ.กาญจนบุรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 ที่แต่งตั้งนายปัญญาเป็นผู้รักษาการอธิการบดี มรภ.กาญจนบุรี
ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาเรื่องอายุขณะดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี ซึ่งแม้ พ.ร.บ.มรภ. และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติเรื่องอายุไว้ชัดเจน
แต่ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการซึ่งข้าราชการพลเรือนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องอายุว่า ข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วเป็นอันพ้นจากราชการ
จึงถือว่าคุณสมบัติเรื่องอายุที่ต้องไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีและรักษาการอธิการบดี จำเป็นต้องมี

ส่วนกรณีที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2560 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ในข้อ 2 ที่กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษามีอำนาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา มาดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้นั้น
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่าคำสั่ง คสช.ไม่ได้ยกเว้นเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในเรื่องอายุ จึงเป็นเพียงการรองรับให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา สามารถเป็นอธิการบดีได้เท่านั้น แต่คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ
ประกอบกับข้อบังคับ มรภ.กาญจนบุรีว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัย พ.ศ.2547 ระบุว่า กรรมการจะอยู่ในการประชุมขณะมีการอภิปรายและมีมติในเรื่องใดที่ตนเองมีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้ แต่ในการประชุมเรื่องแต่งตั้งรักษาการอธิการบดีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 มีบันทึกการประชุมว่านายปัญญา ซึ่งเป็นกรรมการสภา ได้ร่วมประชุมด้วย
ด้วยเหตุผลทั้งหมด เป็นผลให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าการแต่งตั้งรักษาการอธิการ มรภ.กาญจนบุรี เป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย

นํามาสู่เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 นายวิริยะ ศิริชานนท์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) กรุงเทพ ในฐานะประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.)
พร้อมด้วยนายจิตเจริญ ศรขวัญ อาจารย์ มรภ.วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทป.มรภ.)
และนายเชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มรภ.ธนบุรี ประธานกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย
จึงได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 11 แห่ง เสนอให้รัฐบาลและ ศธ.ออกหนังสือเวียนและประกาศกลางถึงมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งมีทั้งสิ้นเกือบ 70 แห่ง
ได้แก่ มรภ. 38 แห่ง มทร. 10 แห่ง สถาบันการพลศึกษากว่า 10 แห่ง และอื่นๆ ไม่รวมมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ขอให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว
เพื่อรักษาระบอบนิติรัฐให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง
ลดปัญหาฟ้องร้องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจะได้ไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 157 เนื่องจากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายที่หน่วยงานรัฐทุกแห่งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) รับเรื่อง

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

นายวิริยะกล่าวว่า ขอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลมหาวิทยาลัยให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
โดยยึดคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นบรรทัดฐานในประเด็นอธิการบดีและรักษาการอธิการบดี ต้องอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
ส่วนกรณีอธิการบดีที่เกษียณแล้วซึ่งกำลังรอทูลเกล้าฯ นั้น เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจคือรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และเลขาธิการ กกอ. ต้องดูข้อกฎหมายแล้วพิจารณาให้รอบด้าน เชื่อว่าเลขาธิการ กกอ.จะไม่เร่งรีบ เพราะคำสั่งศาลปกครองสูงสุดนี้ไม่ได้กระทบเฉพาะตำแหน่งอธิการบดี แต่รวมถึงรองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ในมหาวิทยาลัยด้วย
ขณะที่นายสุภัทร ระบุว่า สกอ.รับทราบปัญหา แต่ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลายอย่าง เช่น กรณีอธิการบดีปัจจุบันซึ่งขณะแต่งตั้งยังไม่เกษียณ แต่ปัจจุบันเกษียณแล้ว แต่ยังไม่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง หรือผู้ที่อยู่ระหว่างรอการเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ในจำนวนนี้มีมหาวิทยาลัยรัฐที่เกษียณแล้ว 3 ราย มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ 4 ราย ซึ่ง สกอ.คงต้องหาวิธีแก้ไขเป็นรายกรณี แต่ต้องหารือสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งด้วย
เพราะผู้ที่เสนอชื่อ ไม่ใช่ สกอ. แต่เป็นสภามหาวิทยาลัย

ด้าน นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวว่า ได้หารือกับเลขาธิการ กกอ.แล้ว โดยได้ขอให้อนุกรรมการด้านกฎหมายของ สกอ.ไปดูรายละเอียด แม้คำสั่งศาลปกครองสูงสุด จะเป็นคำสั่งเฉพาะ มรภ.กาญจนบุรี แต่มีผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพราะอาจมีข้อโต้แย้งว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็อาจต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ไม่เช่นนั้นอาจถูกฟ้องร้อง มีปัญหา
ดังนั้น จึงต้องมาดูว่าอนาคตจะทบทวนเรื่องนี้อย่างไร
โดยให้ สกอ.ไปดูแนวทางเพื่อเตรียมปรับระเบียบการสรรหาอธิการบดีใหม่ ซึ่ง สกอ.จะออกเป็นแนวทางกลางๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยนำไปปรับใช้ ทั้งยังมอบให้ สกอ.ไปดูผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย
ซึ่งในส่วนของอธิการบดีปัจจุบันที่อายุเกิน 60 ปี จะไม่มีผลกระทบมากนัก แต่ถ้าใครมีคู่กรณีไปฟ้อง จะเป็นปัญหา
ซึ่งตนคิดว่ามีแน่นอน และถ้าฟ้องเมื่อไร ก็มีสิทธิที่จะหลุดจากตำแหน่ง เพราะต้องยึดตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด รวมถึงให้อนุกรรมการด้านกฎหมายไปตีความด้วยว่า กลุ่มผู้ได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดีแล้ว แต่อยู่ระหว่างการเสนอขึ้นโปรดเกล้าฯ จะมีผลกระทบด้วยหรือไม่
ขณะเดียวกันให้ไปดูด้วยว่าคำสั่งศาลปกครองสูงสุด สามารถใช้ได้เฉพาะกับมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือรวมไปถึงมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐอื่นๆ ด้วยหรือไม่
หลังอนุกรรมการด้านกฎหมายดูรายละเอียดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว อาจจะต้องไปปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย

ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวว่า แม้คำสั่งนี้จะมีผลเฉพาะ มรภ.กาญจนบุรี แต่มหาวิทยาลัยอื่นก็ต้องดู เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องอีก ตนได้มอบหมายให้นายสุภัทรไปดูรายละเอียด และเรียกประชุมนายกสภามหาวิทยาลัยรัฐ ที่มีอธิการบดีอายุเกิน 60 ปี แล้วหาทางออกให้ได้
เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยต้องดำเนินการ
ส่วนที่ ทปสท.เรียกร้องให้มีเกณฑ์กลางเป็นแนวปฏิบัติในการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐนั้น ไม่จำเป็น เพราะศาลได้ตัดสินแล้วว่า ห้ามผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีเป็นอธิการบดีหรือรักษาการอธิการบดี ซึ่งเดิมที่มีการตีความเพราะมีข้อกำหนดว่าการสรรหาอธิการบดีให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัย ขณะนั้นจึงตีความได้
แต่เมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้วว่าถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ก็ต้องอายุไม่เกิน 60 ปี เท่ากับว่าที่ทำกันมาเป็น 10 ปี ได้รับการตัดสินแล้วว่า ทำไม่ได้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกฟ้อง ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ถูกฟ้อง สภามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ หาทางออกแก้ปัญหาให้ได้
ว่าไปแล้วศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาทำนองนี้มาแล้วกับ มทร.อีสานและ มทร.ศรีวิชัย ล่าสุดกับ มรภ.กาญจนบุรี ซึ่งชัดเจนแล้วว่าไม่ว่าจะเป็นอธิการบดีหรือรักษาการอธิการบดี จะมีอายุเกิน 60 ปีไม่ได้ จากนี้เจ้ากระทรวงต้องกำกับมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย มิเช่นนั้นจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ได้
ถือเป็นการปิดฉากมหากาพย์อธิการบดีเกษียณที่มีการถกเถียงโต้แย้งมานานนับ 10 ปี