โทชิ คาซามะ : การเมืองในโทษประหารญี่ปุ่น การฆ่าในนามของความยุติธรรม

กว่าสิบปีที่โทชิ คาซามะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นเดินสายรณรงค์ให้ยกเลิกการประหารชีวิตในหลายประเทศทั่วโลก ด้วยการใช้ภาพถ่ายจากแดนประหารบอกเล่าประสบการณ์จากแดนแห่งความตาย

หลังการประหาร มิก หลงจิ เป็นรายแรกในรอบ 9 ปีของไทย โทชิได้เดินทางกลับมาไทยอีกครั้งเพื่อพูดคุยกับแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดจากการรณรงค์เรื่องโทษประหาร

แต่เมื่อมาถึงไทยเขาจึงทราบข่าวการประหารชีวิตกลุ่มลัทธิโอมชินริเกียวรวม 7 คน จากเหตุโจมตีรถไฟใต้ดินโตเกียวด้วยก๊าซพิษในปี 2538 ที่มีผู้เสียชีวิต 13 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก

โทชิมองว่าการตัดสินใจประหารครั้งนี้มีเหตุผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

“การตัดสินใจนี้เป็นการตัดสินใจทางการเมือง นายกฯ ชินโสะ อาเบะ มีเรื่องอื้อฉาวหลายประการ ปีหน้าสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ต่อไปจะเสด็จขึ้นครองราชย์จึงไม่สามารถประหารชีวิตได้ และปีต่อไปก็มีโอลิมปิกที่โตเกียว การประหารชีวิตไม่สามารถเกิดขึ้นในช่วงโอลิมปิกได้แน่นอน มีคนเป็นร้อยอยู่ในรายชื่อผู้ที่จะต้องถูกประหารชีวิต การฆ่านักโทษประหารครั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลตั้งใจสร้างความนิยมกลบเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้น”

โทชิบอกว่าเพื่อนเขาที่เป็นทนายให้จำเลยคดีนี้ เคยติดคุก 7 เดือน จากการเข้ามาทำคดีในช่วงแรกๆ และถูกสั่งห้ามออกนอกประเทศหลังปล่อยตัว

“ขบวนการยกเลิกโทษประหารทั่วโลกบางครั้งอาจมีจังหวะก้าวถอยหลัง ผมเสียใจที่หลายองค์กรและบุคคลที่ทำงานยกเลิกโทษประหารถูกโจมตีทั้งในโซเชียลมีเดียและสื่อ เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่เกิดขึ้นที่อื่นด้วย”

โทชิเคยเป็นเหยื่อความรุนแรงจากการถูกทำร้ายร่างกายสาหัส จากประสบการณ์เข้าร่วมกับเครือข่ายเหยื่อในหลายประเทศ พบว่ากลุ่มญาติเหยื่อเองก็ถูกสาธารณชนโจมตีจากการออกมาปฏิเสธการใช้โทษประหารชีวิต จนมีคนถูกล้อมบ้านทุบทำลายประตู

นั่นเป็นสิ่งที่ผู้คนคิดไปเองหรือเปล่าว่าเหยื่อต้องการให้คนผิดตายตกไปตามกัน?

“เรามักเข้าใจว่าครอบครัวเหยื่อต้องการให้ประหาร จากการสัมภาษณ์ทันทีหลังเกิดเหตุ แต่ไม่ได้ตามดูในระยะยาว ถ้าครอบครัวเหยื่ออยากมีชีวิตต่อไปต้องให้อภัยตัวเองจากความโกรธเกลียด ผมไม่ได้บอกว่าต้องให้อภัยฆาตกร แต่ถ้ายังจมอยู่กับความโกรธเกลียดจะใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้ เลวร้ายที่สุดคือการฆ่าตัวตาย”

โทชิเผยว่า บางทีเขาก็โกรธกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ถ้าไม่ก้าวข้ามอารมณ์เหล่านั้นก็จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไม่ได้

14 ปีก่อนระหว่างรับลูกกลับจากโรงเรียน เขาถูกคนแปลกหน้าที่กำลังเกรี้ยวกราดจับหัวโขกพื้นจนโคม่า หมอแจ้งว่าหากรอดก็ต้องนั่งวีลแชร์ตลอดชีวิต ที่สุดแล้วโทชิมีชีวิตรอดกลับมาพร้อมสูญเสียการได้ยินหนึ่งข้าง

“เพื่อนผมมาเยี่ยมแล้วบอกว่าจะไปตามหาคนร้ายให้เจอแล้วฆ่า แต่สิ่งที่ผมต้องการคือให้คนร้ายขอโทษผมอย่างจริงใจ ผมแน่ใจว่าเขาไม่รักชีวิตตัวเองและไม่รักชีวิตคนอื่น แต่หวังว่าสักวันเขาจะรู้ว่าสิ่งที่ทำส่งผลอะไรต่อผมและครอบครัวบ้าง ผมเคยพบกับครอบครัวเหยื่อมาก่อน และรู้ว่าความโกรธ ความอยากแก้แค้น จะทำให้ครอบครัวผมถูกทำลาย”

“เลยบอกลูกว่าให้เกลียดอาชญากรรม แต่อย่าเกลียดอาชญากร”

โทชิเปลี่ยนความคิดจากการเจอนักโทษวัย 16 ในสหรัฐถูกตัดสินประหารชีวิตจากคดีฆ่าผู้อื่น แต่เขายืนยันว่าตัวเองบริสุทธิ์

เหตุแรก หญิงชราคนหนึ่งถูกข่มขืนรัดคอและเผาบ้าน อีกไม่กี่วันชายชราคนหนึ่งถูกฆ่าและสับด้วยขวาน เด็กคนนี้บอกตำรวจว่าได้ไปทั้งสองบ้าน เห็นคนทำ และชี้ตัวผู้กระทำผิดได้ แต่เด็กคนนี้ไอคิว 68 มีปัญหาพัฒนาการทางสติปัญญา สุดท้ายเป็นแพะ ถูกจับตัดสินลงโทษประหารชีวิต

“เราคาดหวังว่าตำรวจมีหน้าที่หาผู้กระทำผิด อัยการมีหน้าที่หาความจริง แต่จริงๆ แล้วสำหรับตำรวจ หน้าที่คือปิดคดี อัยการมีหน้าที่ทำให้ฝ่ายตัวเองชนะ จึงปกปิดหลักฐานที่ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของฝ่ายเขา ถ้าเรามีระบบความยุติธรรมแบบนี้ จะเชื่อมั่นได้ยังไงว่าจะลงโทษถูกคน”

นักโทษบางคนโชคดีที่หาทนายเก่งได้ บางคนพิสูจน์ได้ว่าตัวเองบริสุทธิ์หลังถูกตัดสินลงโทษประหาร แต่โชคก็ไม่ได้อยู่กับทุกคนเสมอไป

โทชิมองว่าคนจำนวนมากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องกระบวนการยุติธรรม และคิดว่าทางออกคือการลงโทษอาชญากร แต่ในความยุติธรรมเชิงการลงโทษที่ไม่ค้นหาสาเหตุและการป้องกันอาชญากรรม ทำให้สังคมเลี่ยงไม่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรม พอประหารชีวิตไปแล้วก็ถือว่าจบ ไม่สนใจต้นเหตุของอาชญากรรม

“ในฐานะเหยื่อ ผมสนับสนุนความยุติธรรมเชิงเยียวยา ที่เมื่อมีอาชญากรรมจะมีการวิจัยหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก และสังคมช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อให้ได้รับการเยียวยา ทั้งด้านการเงินและจิตใจ

“ผมไม่แน่ใจว่าไทยมีการชดเชยเยียวยาครอบครัวเหยื่อแค่ไหน แต่มั่นใจว่าระบบที่มีอยู่ยังไม่พอ”

โทชิบอกว่าตอนแรกที่เริ่มตามถ่ายภาพนักโทษประหาร เขาไม่มีความคิดชัดเจนว่าต่อต้านหรือสนับสนุน แต่เขาเชื่อว่าการฆ่าคนเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และตั้งคำถามต่อ “การฆ่า” ในนามของความยุติธรรม

“แม้คนที่สนับสนุนการประหารชีวิตก็ไม่กล้าเอาปืนมาฆ่านักโทษเอง เพราะกลัวมือเปื้อนเลือด จึงผลักภาระทั้งหมดให้เพชฌฆาต ผมเคยเจอเพชฌฆาตมาหลายคน แต่ละคนมีบาดแผลในใจจากการทำหน้าที่ประหารชีวิต”

วิธีประหารชีวิตแบบหนึ่งคือการใช้เก้าอี้ไฟฟ้า เจ้าหน้าที่สองคนจะกดสวิตช์พร้อมกันเพื่อไม่ให้รู้ว่าอันไหนต่อสายไฟไว้ เช่นเดียวกับการยิงเป้า ที่ใช้เพชฌฆาต 5 คน จะมีเพียงปืนกระบอกเดียวที่มีกระสุนจริง ที่เหลือใส่ดินปืนเพื่อไม่ให้รู้ว่าใครเป็นคนฆ่า แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะคิดว่าขอให้ตัวเองได้ปืนที่ไม่มีกระสุนจริง

วิธีการเช่นนี้เป็นไปเพื่อบรรเทาความรู้สึกผิดของเจ้าหน้าที่

เขาเคยเข้าไปถ่ายภาพในห้องประหารที่ไต้หวัน ที่ทางเข้าจะมีพระพุทธรูปให้นักโทษมาจุดธูปไหว้ เจ้าหน้าที่บอกเขาว่าการจุดธูปจะทำให้วิญญาณนักโทษประหารไปอยู่โลกอื่น ไม่มาหลอกหลอนเพชฌฆาต พิธีการนี้ไม่ได้ปกป้องนักโทษประหาร แต่เป็นการปกป้องเพชฌฆาต

นักโทษจะถูกส่งเข้าลานประหารที่พื้นโรยด้วยทรายสีดำเพื่อไม่ให้เห็นรอยเลือด ก่อนตายจะมีอาหารมื้อสุดท้ายพร้อมบุหรี่กับสาเก ระหว่างกินเบื้องหน้าจะมองเห็นจุดที่ตัวเองจะตายและภาพพระพุทธเจ้าแขวนอยู่ ก่อนจะถูกนำตัวไปนอนคว่ำบนผืนผ้า และประหารด้วยการยิงเข้าที่หัวใจหรือที่คอหากเป็นผู้บริจาคอวัยวะ

“ประเทศจีนประหารนักโทษราวปีละ 5 พันคน ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลจีนต้องการและเป็นธุรกิจใหญ่มากของการประหารชีวิตคือการขายอวัยวะนักโทษ ตอนแรกเข้านักโทษจะถูกตรวจกรุ๊ปเลือดทันที โดยอวัยวะนักโทษมีมูลค่า 4 พันเหรียญสหรัฐ”

การเดินทางไปบรรยายในจีนเป็นสิ่งที่ติดตรึงใจโทชิ แม้เขาไม่ถูกคุกคามอะไร แต่คนที่เชิญไปจะเจอบทลงโทษหลายรูปแบบ

“คนจีนที่เชิญผมไปพูดเรื่องโทษประหาร ถูกซ้อม ถูกจำคุก แต่ก็ยังเสี่ยงเชิญผมไปพูดในมหาวิทยาลัย เพราะหวังจะช่วยเปลี่ยนทัศนคติคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ของชนชั้นนำให้เปลี่ยนแปลงประเทศในอนาคตได้ ครั้งหนึ่งผมไปพูดในมหาวิทยาลัยที่ซีอาน อาจารย์ที่เชิญมาถูกรัฐข่มขู่ว่า ถ้าให้ผมมาพูดจะต้องเสียตำแหน่งอาจารย์ หลังจบการนำเสนอ อาจารย์คนนี้ร้องไห้ เพราะไม่รู้จะบอกครอบครัวยังไง แต่เขาก็ยังเลือกเชิญผมไป”

ส่วนสถานการณ์ในไทย เขาเข้าใจว่าช่วงที่ผ่านมามีการใช้อารมณ์ในการถกเถียงเรื่องนี้มาก

“โทษประหารไม่มีผลในการป้องกันหรือป้องปรามอาชญากรรม เพราะคนก่ออาชญากรรมอยู่ในภาวะอารมณ์รุนแรง ทำอะไรไม่คิดถึงอนาคต และความกลัวไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนให้ไม่ก่ออาชญากรรม

“ส่วนคนที่สนับสนุนก็คิดว่าการประหารเป็นสิ่งที่เขาต้องการ เพราะมีข้อมูลไม่พอ โดยไม่สนใจว่าคนที่ถูกประหารนั้นถูกตัวไหม เป็นคนผิดจริงหรือเปล่า”

และยืนยันว่าการยกเลิกโทษประหาร สิ่งที่สำคัญคือการตัดสินใจจากบนลงล่าง เช่นในฝรั่งเศสที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับการเลิกโทษประหาร แต่พอรัฐไม่มีเครื่องมือลงโทษประหารแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือการป้องกันและลดอาชญากรรม

โทชิมองว่ามนุษย์ทุกคนคือ “ผู้รอดชีวิต” จากการฆ่าตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ทั้งจากสงคราม เชื้อชาติ ศาสนา ความขัดแย้งต่างๆ

หากเห็นว่า “การฆ่า” เป็นสิ่งไม่ถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้ “การประหาร” เป็นสิ่งชอบธรรม