กระบวนการยุติธรรมที่ต้องรีบปรับปรุง ภายใต้กฎหมายพิเศษ จชต. บทสะท้อนจาก 2 กรณีตัวอย่าง

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

กระบวนการยุติธรรมหากหมายถึงวิธีการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรมในทางกฎหมายแก่บุคคลโดยบุคลากรและองค์กรหรือสถาบันซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ทนายความและศาล เป็นต้น

คำถามว่าองค์กรใดบ้างในจังหวัดชายแดนใต้ตอนนี้ที่คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพแก่ผู้ถูกกล่าวหา

ในขณะที่ภายใต้กฎหมายพิเศษอย่างน้อยมีสองกรณีตัวอย่าง (เรียกร้องผ่านสื่อ) หากไม่รีบแก้ไข ปรับปรุงการปฏิบัติงาน แน่นอนปัญหา จชต. จะยิ่งทับซ้อนเพราะจะยิ่งทำให้มวลชนถอยห่างรัฐ

กรณีที่ 1 การอ้างกฎหมายพิเศษตรวจค้นประชาสังคมโดยปราศจากหมายค้นที่ออกโดยศาล (ในกรณีนี้รัฐออกมาแสดงความเสียใจผ่านสื่อแล้ว…โปรดดู https://mgronline.com/south/detail/9610000063098)

กล่าวคือ เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2561 มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสนธิกำลังค้นบ้านพักนางโซรยา จามจุรี หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นนักวิชาการในสังกัดของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (POAW)

รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มในการเสนอให้คู่ขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) สร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัย โดยให้ตกลงกันบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพในสถานการณ์ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้

เหตุเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 15.30 น. ได้มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ดังกล่าวประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจำนวน 2 คันรถ มาตรวจค้นบริเวณชุมชนและที่บ้านของนางโซรยา จามจุรี

โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าอาจจะมีคนร้ายหลบซ่อนอยู่จากเหตุการณ์ที่มีคนร้ายวางระเบิดตู้เอทีเอ็มในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา

โดยมีการตรวจค้นบ้านในบริเวณดังกล่าวประมาณสามหลัง

ทั้งนี้ บ้านพักของสตรีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

เป็นพื้นที่ประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ตามอำนาจพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (2548) และพื้นที่ตามอำนาจ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก (2457) นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ตามอำนาจ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน มาตรา 11(4)

ซึ่งให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที

ในการตรวจค้นเนื่องจากเป็นการค้นบ้านที่อยู่อาศัย เมื่อสตรีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนท่านนี้ขอดูหมายค้นที่ออกโดยศาล ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่นเดียวกับตามหลักการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือต้องมีหมายค้นจากศาลในท้องที่ เช่นเดียวกับที่เมื่อเจ้าหน้าที่ต้องการจับกุมบุคคลก็ต้องขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัวที่เรียกกันว่า หมาย ฉฉ. เป็นต้น

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาแสดงตนขอค้นเคหสถานไม่สามารถแสดงหมายค้นของศาลตามที่หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนขอให้แสดงได้

แทนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกลับไปขอหมายศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับอ้างใหม่ว่าใช้อำนาจเพื่อค้นตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก

ซึ่งหลังจากตรวจค้นแล้วก็ไม่พบคนร้ายหรือสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด

2.กรณีตรวจค้นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามโดยปราศจากหมายค้น (ในกรณีนี้รัฐยังไม่ออกมาขอโทษผ่านสื่อ…โปรดดู https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_1210430)

กล่าวคือ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สี่อำเภอ (จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) ของจังหวัดสงขลา ได้ออกแถลงการณ์ (ผู้เขียนเป็นผู้แถลง) ถึงกรณีมีเจ้าหน้าที่แต่งกายชุดสีดำ (ตามภาพจำนวน 15-20 คน) และมีอักษรเขียนว่า CSI ที่เสื้อ มาที่โรงเรียนอนุสรณ์เตรียมปัญญา ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเข้ามาเพื่อตรวจค้น เพื่อตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นภายในโรงเรียน

เมื่อผู้บริหารโรงเรียนขอดูคำสั่งเข้าตรวจค้นโรงเรียนในครั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้แจ้งอะไร เนื่องจากบอกแต่เพียงว่าคำสั่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่ได้เซ็น

ภายในแถลงการณ์ได้ระบุว่าเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.07-13.40 น. โดยประมาณ มีเจ้าหน้าที่นำโดย ร.ท.ชัยยันต์ อำพันแดง ฝ่ายข่าว ฉก. ปัตตานี ร่วมกับ พ.ต.ต.พิทักษ์ ใจสมุทร รอง หน.บก.ฉก. พร้อมเจ้าหน้าที่แต่งกายชุดสีดำ (ตามภาพจำนวน 15-20 คน) และมีอักษรเขียนว่า CSI ที่เสื้อ มาที่โรงเรียนอนุสรณ์เตรียมปัญญา ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งในขณะนั้นมีนักเรียนจำนวนมาก (มีนักเรียนอนุบาลและนักเรียนประถมปีที่ 6) มีบุคลากรครูส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและครูผู้ชาย 4 คน

เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึง นายอับดลเลาะ แมเราะ ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนเชิญเข้าไปในห้องประชุม และกล่าวต้อนรับ

หลังจากนั้นก็ให้หัวหน้าคณะที่มาได้บอกถึงวัตถุประสงค์การเข้ามาในครั้งนี้ (หลังจากนั้นนายอับดลเลาะ แมเราะ ขอดูคำสั่งในการเข้ามาตรวจในครั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้ตอบว่าคำสั่งผู้ว่าฯ ยังไม่ได้เซ็น)

จากนั้นเจ้าหน้าที่บอกว่า ไปเจอใบเสร็จชื่อโรงเรียน ไปซื้อของร้านเจ๊ะกูฟาตอนี นายอับดลเลาะ แมเราะ ก็ตอบว่าไม่เคยไป และไม่รู้จักร้านเจ๊ะกูฟาตอนี

เจ้าหน้าที่จึงตรวจเอกสารทั้งหมดของโรงเรียน เอกสารการเงิน การเรียนฟรีของนักเรียน อาหารกลางวันและอื่นๆ

(สำหรับกรณีใบเสร็จนั้น ได้ถามเจ้าหน้าที่ไปว่าใบเสร็จที่พบซื้อของกับร้านเจ๊ะกูฟาตอนี นายอับดลเลาะ แมเราะ ไปเอาอุปกรณ์อะไร ราคาเท่าไร ขอดูหน่อยได้ไหม ทางเจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่มี และได้บอกว่า นายอับดลเลาะ แมเราะ เป็นหุ้นส่วน ด้านนายอับดลเลาะ แมเราะ ตอบว่าผมจะเป็นหุ้นส่วนอย่างไร เพราะไม่ได้เป็นสมาชิก ทำให้โรงเรียนเสียหายและกลายเป็นโรงเรียนเป้าหมายในด้านความมั่งคง ซึ่งส่งผลให้บุคลากรทุกคนกลัวและไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว)

จากผลการตรวจค้นโรงเรียนในลักษณะดังกล่าว ทำให้โรงเรียนและบุคลากรตกเป็นผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีกระบวนการที่ถูกต้อง

ส่งผลให้ทางโรงเรียนถูกมองจากผู้ปกครองว่ามีการกระทำผิด ผู้ปกครองได้โทร.มาสอบถามทุกวัน และไม่มีความมั่นใจในโรงเรียน เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหา ทำให้ทางโรงเรียนไม่สามารถอธิบายทำความเข้าใจให้กับผู้ปกครองให้กระจ่างได้

เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาไม่สามารถแสดงหลักฐาน หนังสือหรือทำให้ผู้บริหารโรงเรียนมั่นใจว่าจะถูกดำเนินการจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเป็นธรรมและปราศจากอคติ

การตรวจค้นดังกล่าวอาจเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของโรงเรียน ขณะเดียวกันนั้นครูและนักเรียนมีความหวาดกลัว เสียขวัญ ครูผู้ชายกังวลถึงความปลอดภัยของตนเอง

แฟ้มภาพ (ไม่เกี่ยวข้องกับข่าว)

ข้อสังเกตทั้งสองกรณี แสดงให้เห็นถึงสภาพปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษฉบับต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ จชต. อย่างสับสนตลอดมาดังนี้

1. กฎหมายพิเศษในพื้นที่ควรใช้อย่างระมัดระวังและให้ส่งผลกระทบถึงประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งยึดมั่นถึงเจตนารมณ์ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน มีเจตนารมณ์เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติ

ไม่ใช่การติดตามค้นหาผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วอย่างสุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งสิทธิในเคหสถานโดยไม่จำเป็น

2. การอ้างอำนาจตามกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นไปอย่างชัดเจนถูกต้องชอบธรรม เมื่ออ้างว่าต้องการค้นตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อถูกโต้แย้งว่าไม่มีหมายค้น เจ้าหน้าที่กลับอ้างการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษอีกฉบับหนึ่งคือกฎอัยการศึก อันเป็นการใช้อำนาจอย่างสับสน และอาจมีลักษณะตามอำเภอใจ

นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสตรี อาจเข้าข่ายการข่มขู่คุกคามและสร้างความหวาดกลัวนักกิจกรรมหญิงท่านนี้และครอบครัว บุคคลใกล้ชิด ชุมชน

โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2560 คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี องค์การสหประชาชาติต่อประเทศไทย ในการรายงานสถานการณ์สิทธิสตรีตามวาระของประเทศไทยที่รวมรายงานครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 เมื่อปี พ.ศ.2560 ในย่อหน้าที่ 30 ว่า คณะกรรมการแสดงความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสตรีที่ทำงานรณรงค์โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในที่ดิน การปกป้องสิ่งแวดล้อม สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของคนชนบท และสตรีมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตกเป็นเป้าหมายการฟ้องร้องดำเนินคดี การคุกคาม การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่

สำหรับการตรวจค้นโรงเรียนอนุสรณ์เตรียมปัญญาโดยไม่มีหนังสือนำหมายค้นแต่กลับอ้างและเขียนบันทึกข้อความหลังตรวจค้น โดยระบุว่าเป็นการใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 ไทย หรือแม้กระทั่งคำสั่งที่ 35/2561 ของหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ตามคำสั่ง กอ.รมน. ที่ 236/2561

ถือเป็นการใช้อำนาจที่ปราศจากกระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานฐานสากล และถือเป็นคำสั่งที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการการศึกษาของโรงเรียน เพราะเป็นการเลือกตรวจสอบแต่เฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยการนำกำลังความมั่นคงที่อาจติดอาวุธเข้าไปในสถานศึกษาเข้าไปขอตรวจค้นเอกสาร ในลักษณะจู่โจม ใช้กำลังคนจำนวนมาก

ทำให้สถานศึกษาเสียภาพลักษณ์ บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนมีความหวาดกลัวและรบกวนการเรียนการสอน

จริงอยู่ จากสภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความจำเป็นที่รัฐต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้บริสุทธิ์และรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม

ดังนั้น หากรัฐเองใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมที่ผิดกฎหมายเสียเอง อันส่งผลที่จะกระทบถึงสิทธิมนุษยชน ในขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้มวลชนเป็นแนวร่วมมุมกลับที่จะนำไปสู่การต่อต้านอำนาจรัฐและเข้าทางกลุ่มผู้ไม่หวังดีซึ่งต้องการขยายผลหรือขยายแนวร่วมในส่วนนี้

ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

รวมทั้งกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐที่ไม่ถูกต้องหรือส่งผลต่อกฎหมายเกินควร

ที่สำคัญสุดคือการพัฒนาทัศนคติและความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายกับสถานการณ์พิเศษของจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าจะต้องยึดหลักตามกฎหมาย เป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้

ดังนั้น การฝึกอบรมถึงยุทธศาสตร์สันติวิธี ภายใต้กฎหมาย และการพัฒนาทัศนคติดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน

ซึ่งเชื่อว่ามันจะนำมาซึ่งความเป็นธรรมอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

No Justice No Peace