วยาส : รีแบรนด์ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ชู “ราชาธิปไตย” น้อมตัวนำ “พระราโชบาย” ปฏิรูปบ้านเมือง ยุติปัญหาทั้งปวง

หลังการสวรรคตของในหลวง ร.9 “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เดินสายนำเสนอชุดความคิดว่าด้วย “ระบอบราชาธิปไตย” สู่สังคมไทย น้ำเสียงแบบนี้ไม่ใช่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศนี้ แต่เป็นน้ำเสียงที่ “น่าสดับ” เป็นพิเศษ

เอนกเสนอว่า ระบอบราชาธิปไตยอยู่บนยอดสุดของ “พีระมิดทางการเมืองไทย” อยู่เหนือ อยู่คลุม อยู่ให้พึ่งพิง อยู่เป็นหลักชัย อยู่เพื่อเป็นแหล่งรับรองความชอบธรรมทางการเมืองให้กับทั้ง “ระบอบประชาธิปไตย-ระบอบเผด็จการ” สำหรับคนไทย “เราขาดราชาธิปไตยไม่ได้แม้เพียงวันเดียว”!!

ถึงที่สุดพรรคใหม่ของเอนกได้วาง “ทิศทาง” ของพรรคไปในทางนี้ ด้วยเพราะเป็น “ทิศแห่งความสงบ สันติ” เหมาะสมบังเกิดใน “แผ่นดินใหม่” ให้ได้โดยเร็วที่สุด

หนังสือเล่มล่าสุดของเอนกที่ชื่อ “ราชาธิปไตย” เป็นการรวม “ข้อเขียน-บทความ-บทสัมภาษณ์” ของเอนกที่เกี่ยวกับ “สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย” รวม 11 ชิ้น ตีพิมพ์โดย “สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ”

 

ความสำเร็จของ “ในหลวง ร.9”

ย้อนรอยไปที่หนังสือ “เอนกทรรศน์” ก่อน เพราะเอนกสรุป “ความสำเร็จของในหลวง ร.9” ไว้อย่างครบถ้วนกระบวนความ

เอนกชี้ว่า ไม่อาจนำในหลวง ร.9 ไปเปรียบเทียบกับผู้นำทางการเมืองทั่วโลก

“การมองผ่านรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่แล้วนั้น ยากมากที่จะเอาไปเทียบกับยุคสมัยของประมุขหรือผู้นำหรือพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกได้ ถ้าพอจะเทียบได้อาจเทียบกับควีนอลิซาเบธของสหราชอาณาจักร”

“รัชสมัยอันยาวนานเช่นกันของควีนองค์นี้ เป็นประจักษ์พยานของการเปลี่ยนประเทศสหราชอาณาจักร จากการเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ลดลงไปกลายเป็นมหาอำนาจอันดับห้าหรือหกอย่างสงบสันติ…ชีวิตของประเทศที่เปลี่ยนไปมหาศาลเช่นกัน แต่เปลี่ยนไปในทางลบ ลดความสำคัญลงเป็นหลัก”

“ส่วน 70 ปีของรัชกาลที่ 9” ในความเห็นของเอนกนั้น เขาเห็นว่าประเทศไทยได้แปรเปลี่ยนไปในทางบวก จากประเทศที่ค่อนข้างยากจนและล้าหลัง เป็นประเทศสำคัญในเอเชีย เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียน

ความเจริญทั้งปวงเกิดขึ้นได้โดยที่ในหลวง ร.9 มิได้ปกครองบ้านเมืองแบบพระมหากษัตริย์แห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์

“แต่ทรงครองแผ่นดินอย่างกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ปกเกล้าปกกระหม่อมรัฐบาลและประชาชนอย่างไทยๆ” “ทรงสร้างราชประศาสนศาสตร์ที่ไม่มีในตำราตะวันตกผสมผสานคลุกเคล้าเข้าไปอย่างน่าอัศจรรย์กับระบบการเมือง และระบบราชการ ทหาร ตำรวจ ตลอดจนภาคเอกชน รวมถึงภาคสังคมและประชาสังคม”

 

นิยาม “2475” ใหม่

“ความสำเร็จ-ความพิเศษ” ของในหลวง ร.9 เป็นที่มาของการ “คิดใหม่-เข้าใจใหม่” ถึงนิยามของการอภิวัฒน์ 2475

เอนกนิยาม “การอภิวัฒน์ 2475” ใหม่ ว่าน่าจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตย เป็นระบอบประชาธิปไตย แต่น่าจะเป็น “การเปลี่ยนจากระบอบราชาธิปไตยแบบหนึ่งมาเป็นราชาธิปไตยอีกแบบหนึ่งเท่านั้นเอง จากแบบรัชกาลที่ 7 มาเป็นแบบรัชกาลที่ 9 (น.41)”

เอนกอธิบายถึงภารกิจของคณะราษฎรว่า “โดยเจตนารมณ์แล้ว คณะราษฎรต้องการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ล้มราชาธิปไตย แต่ยังคงเหลือพระมหากษัตริย์เอาไว้ในฐานะประมุขแห่งรัฐที่ไม่มีอำนาจหรือไม่มีบทบาทในกิจบ้านการเมือง แต่ดูผลลัพธ์สิครับ เหลือจะคะเน และสุดจะคะนึง (น.91)”

เอนกชี้ว่า ราชาธิปไตยแบบ ร.7 นั้น ไม่ค่อยมีประสิทธิผล-ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับจากคนหัวสมัยใหม่

“พอสิ้นรัชกาลที่ 9 เราก็กลายเป็นระบอบราชาธิปไตย แต่ต้องย้ำว่า นี่ย่อมไม่ใช่แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เป็นแบบที่คนไทยเราและพระเจ้าอยู่หัวของเราช่วยกันสร้าง ช่วยกันออกแบบ (น.41)”

เอนกย้ำว่า คนไทยสามารถขาด “นักการเมือง-พรรคการเมือง-กลุ่มผลประโยชน์-รัฐธรรมนูญ-การเลือกตั้ง” ได้ แต่ไม่อาจขาด “ราชาธิปไตย” ได้ แม้เพียงวันเดียว

 

ทั้ง “ประชาธิปไตย-เผด็จการ”
ต้องพึ่งพิง “ราชาธิปไตย”

เอนกเสนอว่า สังคมไทยผลัดกันอยู่ใต้สองระบอบ เป็นลักษณะ “ทวิอำนาจ” “ใช้สองระบอบสลับกัน เป็นประชาธิปไตยก็ได้ หรือเป็นเผด็จการทหารก็ได้” เพราะคนไทยดูเหมือนไม่ถือหลักความชอบธรรมทางการเมือง ทั้งสองระบอบนี้ “เกือบจะดีเลวเท่าๆ กัน พอๆ กัน ใช้สลับกันได้”

สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ “ระหว่างราชาธิปไตยกับประชาธิปไตยนั้น อย่างแรกสำคัญกว่า ชอบธรรมกว่า จำเป็นกว่า ขาดไม่ได้เสียมากกว่า มากกว่าเยอะด้วย และในบ่อยครั้งประชาธิปไตยกลับต้องพึ่งพิงราชาธิปไตยเสียด้วย (น.67)”

“สถาบันกษัตริย์ช่วยประคับประคองระบอบการเมืองทุกชนิด ที่สลับปรับเปลี่ยนไปมา และระบอบการเมืองใดก็ต้องอยู่กับราชาธิปไตย และย่อมต้องได้รับความเห็นชอบหรือรับรองก่อน จากราชาธิปไตยด้วย จึงจะถือว่าชอบธรรม (น.68)” ตัวอย่างเช่น คณะรัฐประหารใดก็ตาม หลังการยึดอำนาจ-ฉีกรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จำเป็นจะต้องรีบแสวงหาการรับรองจากสถาบันกษัตริย์

เหล่านี้คือสิ่งที่เอนกเรียกว่า “ราชาธิปไตยที่อยู่ในกำกับของรัฐธรรมนูญที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร” ซึ่งมี “ความชอบธรรม และนิรันดร และความจำเป็นของพระมหากษัตริย์และสถาบันนั้น แข็งขันและศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้รัฐธรรมนูญของประเทศอื่นใด (น.69)”

 

ปฏิรูปบ้านเมือง ต้องอาศัย “พระราโชบาย”

ด้วยเหตุที่ “ราชาธิปไตย” สำคัญกับสังคมไทยถึงเพียงนี้ เอนกจึงเสนอว่า การจะปฏิรูปประเทศได้ ต้องอาศัย “พระปรีชาญาณ-พระราโชบาย”

“สมควรยิ่งที่รัฐบาลและรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ ราชการและประชาชนชาวไทยจะขอรับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยและพระปรีชาญาณจากพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันพระมหากษัตริย์ (น.30)”

จะปฏิรูปประเทศได้ รัฐบาลและผู้เล่นทางการเมืองต้องน้อมตัว

“เราคงไม่อาจตั้งหน้าปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปบ้านเมือง ปฏิรูปสังคมโดยไม่ไปขอพระปรีชาญาณ โดยไม่ไปขอคำแนะนำจากพระองค์ท่าน (น.44)”

ตัวอย่างเช่น “ทุกฝ่ายเข้ากราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราโชบาย ถ้าจะให้พระองค์ท่านทรงมาทำอะไรเองคงไม่เหมาะสม นอกจากเราน้อมตัวเพื่อขอพระราชทาน และต้องร่วมแรงร่วมใจกันว่า ถ้าพระองค์ท่านทรงมีรับสั่ง ตรัสอะไร หรือสอนอย่างไร เอามาเป็นข้อยุติ (น.36)”

เอนกเห็นว่า ถึงที่สุด “ราชาธิปไตย” จะเป็นหลักในการสร้าง “ปรองดองทั้งแผ่นดิน” เพราะจะหวังพึ่ง “นักการเมือง-ทหาร” ก็ลำบาก “ถ้าเราจะไปหวังพึ่งพิงนักการเมือง พรรคการเมืองมากก็คงลำบาก เพราะที่ผ่านมาเราก็เห็นแล้วว่าเขาก็ทำอะไรกันไม่ค่อยได้ แล้วเขาก็ขัดแย้งกันเองมาก (น.45)”

“เราจะอาศัยทหาร หรือเราก็รู้อยู่ว่า เขาเองก็มีข้อจำกัดเรื่องความชอบธรรมและในทางสากลด้วย (น.45)”

 

แผ่นดินใหม่ แผ่นดิน ร.10
แผ่นดินซึ่งเป็นที่ยุติของปัญหาทั้งปวง

เอนกสะท้อนภาพความกังวลในชั่วขณะหนึ่งของคนไทยว่า “หลายคนก็ยังวิตกว่า หมดรัชกาลที่ 9 แล้วเมืองไทยจะวิกฤต ปั่นป่วน ไม่เสถียรหรือไม่ แต่หนึ่งปีที่ผ่านมา เมืองไทยยังอยู่ดี และผมก็ยังมีความมั่นใจว่ามีโอกาสที่จะอยู่ดีมากขึ้น จะสงบ เสถียร สันติ และจะลงตัวมากขึ้นก็เป็นไปได้ (น.42)”

“เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทรงราชย์อย่างเด็ดเดี่ยวมั่นคง ทรงมีพระปรีชาญาณ ทรงนำพาประเทศ ประชาชน และพระศาสนาไปข้างหน้า ตามรอยพระบาทของพระราชบิดาเป็นอย่างดี (น.60)”

เอนกเชื่อว่า ถ้าปวงชนชาวไทย “รับฟังและเชื่อฟังรัชกาลที่ 10 ให้ดีมากขึ้น บางทีทุกอย่างที่เรายังแก้ไม่ได้ อาจมาแก้ได้ในตอนนี้ (น.44)”

เพราะ “พระมหากษัตริย์ที่ผมเชื่อว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็คงจะเป็นอย่างนั้น คือเป็นที่ยุติของเรื่องต่างๆ ได้ เรื่องที่ถกเถียงกันแล้วไม่มีทางออก ไม่มีทางไป ผมก็คิดว่าจะมีที่ยุติได้ (น.44)”

ความศรัทธาและเทิดทูนใน “ระบอบราชาธิปไตย” ได้กลายเป็นอุดมการณ์หลักของพรรคใหม่ที่เอนกตั้งขึ้น พรรครวมพลังประชาชาติไทยประกาศถึงอุดมการณ์พรรค 7 ข้อ

ข้อที่หนึ่งคือ “จะน้อมนำเอาพระราชปรีชาญาณ พระบรมเดชานุภาพ และพระบรมราชวินิจฉัย มาเป็นหลักชัยในการนำพาประเทศอยู่เสมอ”

สอดคล้องกับสุนทรพจน์แรกทางการเมืองของเอนกหลังตั้งพรรคที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน ว่า พรรคใหม่นี้

“เราจะเป็นพรรคของพลเมือง แต่พลเมืองนี้จะต้องเป็นพสกนิกรที่รักภักดีและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะต้องปกป้องสิ่งดีงามทั้งหมดที่บรรพชนไทยได้ทำเอาไว้ อย่าให้ใครมากวาดมันทิ้ง…ข้ามศพพวกเราไป ข้ามศพพวกเราไป”