การถือศีลอดของนักเตะดัง

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ตามที่เป็นข่าวทางสื่อไทยและเทศว่าสโมสรและแฟนบอลลิเวอร์พูลมีความกังวลใจว่านักเตะอย่างโม ซาลาห์ ซาดิโอ มาเน และเอ็มเร ชาน ซึ่งเป็นชาวมุสลิมและต้องอดอาหารตอนนี้ไปจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2561 โดยพวกเขามีโปรแกรมชิงแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก กับเรอัล มาดริด วันที่ 26 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา

ความเป็นจริงไม่ใช่ลิเวอร์พูลเท่านั้นมีนักเตะดังเป็นมุสลิม เรอัล มาดริด ก็มีนักเตะอย่างการีม เบ็นเซม่า ไม่เพียงเท่านั้น ผู้จัดการทีมของเรอัล มาดริด ก็มุสลิม คือ เซเนดีน ซีดาน

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม 2561 ถึง 14 มิถุนายน 2552 มุสลิมทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังถือศีลอด การถือศีลอดมีหลักการและหลักปฏิบัติอย่างไร

และมีกระทบต่อนักเตะหรือไม่สามารถพิจารณาได้ดังนี้

ความหมายการถือศีลอด

บรรดานักปราชญ์ของโลกอิสลามได้ให้คำจำกัดความของการถือศีลอด (ศิยามในภาษาอาหรับ) ไว้ว่า “การถือศีลอดหมายถึงการงดเว้นจากการบริโภคและการกากระทำต่างๆ ที่นำไปสู่การเสียศีลอดนับตั้งแต่แสงรุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า (เวลากลางวัน)”

สำหรับการกระทำต่างๆ ที่นำไปสู่การเสียศีลอดมีดังนี้

1. เจตนาบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม (โดยไม่มีความจำเป็นทางศาสนา)

2. เจตนาทำให้น้ำอสุจิหลั่งออกมา (จะด้วยวิธีใดก็ตาม) และเจตนาร่วมประเวณี

3. เสียสติ (โดยเป็นบ้า เป็นลมหรือสลบ)

4. เจตนาทำให้สิ่งใดล่วงล้ำเข้าไปภายในอวัยวะที่เป็นรู (เช่น หู จมูก ทวารหนัก และทวารเบา)

5. เจตนาทำให้อาเจียน

6. ปรากฏมีเลือดประจำเดือน (หัยฎฺ) และเลือดหลังคลอด (นิฟาส)

7. มุรตัด (สิ้นสภาพการเป็นมุสลิม)

“การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้าดังที่พระองค์ได้เคยบัญญัติแก่ชนยุคก่อนจากท่านเพื่อว่าสูเจ้าจะเป็นผู้ที่ยำเกรง” (อัลบากอเราะฮ์ : 183)

คำว่าผู้ยำเกรงตามทรรศนะอิสลาม หมายถึงการกระทำความดีและละเว้นความชั่ว

ท่านศาสนทูตมุฮัมมัดกล่าวว่า “การถือศีลอดเป็นโล่ถ้าหากว่าผู้หนึ่งในพวกท่านถือศีลอดในวันหนึ่งแล้ว เขาไม่ทำชั่วและพูดจาหยาบคายเมื่อมีผู้หนึ่งด่าทอต่อเขาหรือระบายความไม่ดีแก่เขา (ผู้ถือศีลอด) จงกล่าวว่าแท้จริงฉันถือศีลอด”

การถือศีลอดทำให้เสียสุขภาพหรือไม่

ในระหว่างวันชาวมุสลิมจะละเว้นการกิน การดื่มซึ่งทำให้ร่างกายขาดพลังงานจากสารอาหารที่จะได้รับและต้องสูญเสียน้ำจากการขับถ่ายออกจากร่างกาย

จะทำให้รู้สึกกระหายน้ำและเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงก็จะทำให้รู้สึกหิว ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการอดไปแล้วประมาณ 6-12 ชั่วโมง ซึ่งเรียกว่าระยะหิวโหย

ระดับน้ำตาลและน้ำที่ลดลงจะกระตุ้นไปที่ศูนย์ควบคุมความหิว

สำหรับคนที่มีร่างกายปกติ มีเจตนา (นียะห์) และมีความเชื่อมั่นต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺ (ศุบหฯ) อย่างแน่วแน่ จะไม่ทำให้ร่างกายถึงขั้นมีอาการหน้ามืดหรือหมดสติไปเพราะระบบต่างๆ ในร่างกายจะช่วยประสานงานกันโดยอัตโนมัติเพื่อที่จะรักษาสมดุลให้เกิดขึ้น

โดยในระยะแรกร่างกายจะเริ่มมีการสลายพลังงาน ที่เก็บสะสมไว้ในตับ กล้ามเนื้อ และไขมันมาใช้เป็นพลังงานเพื่อรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายอย่างเหมาะสม

ทำให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ในวงการแพทย์ (อ้างจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานีซึ่งทำงานในชุมชนมุสลิม) ได้ให้ทรรศนะว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน นับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่อวัยวะของระบบทางเดินอาหารจะได้พักผ่อนและถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ล้างสารพิษในร่างกายออกไป

เพราะจากการศึกษาพบว่า การอดอาหารในระยะหนึ่งจะเป็นการขจัดสารพิษออกจากร่างกาย เพราะร่างกายจะขับของเสียที่หมักหมมหรือสารอาหารที่มีมากเกินความต้องการของร่างกาย

เช่น ไขมันเลือดในเลือด หรือที่เรียกกันว่าคอเลสเตอรอล ออกไป เพราะหากมีมากเกินไปในกระแสเลือดจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด

ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวว่า มีรายงานการศึกษาทางการแพทย์ของ Mansell และ Macdonald ตีพิมพ์ในวารสาร British Medical Journal เมื่อปี 1988 แสดงให้เห็นว่าหญิงที่มีน้ำหนักปกตินั้น หากให้กินอาหารน้อยมาก เป็นเวลา 7 วัน ปรากฏว่า ร่างกายของหญิงเหล่านั้นจะปรับตัวได้ดีไม่มีปัญหาเลยแม้แต่น้อย นักวิทยาศาสตร์กลุ่มเดียวกันนี้ยังศึกษาต่อไปอีกว่า

หากลองให้คนอดอาหารอย่างสิ้นเชิงยาวนานถึง 48 ชั่วโมง แล้วตรวจสอบดูว่าจะส่งผลต่อกลไกการทำงานของร่างกายอย่างไรบ้าง

ผลของการศึกษาพบว่าร่างกายของผู้อดอาหารกลับตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้นด้วยซ้ำ

คนที่อดอาหาร 48 ชั่วโมง เมื่อต้องกลับมากินอาหารอีกครั้งหนึ่งปรากฏว่าสมดุลของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ให้ประโยชน์และช่วยทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น

มีรายงานการวิจัยอื่นๆ อีกเหมือนกันที่ยืนยันว่า การอดอาหารอย่างสิ้นเชิงจะทำให้ความดันโลหิตลดลงในขณะที่ปริมาณของเลือดที่เข้าสู่หัวใจไม่เปลี่ยนแปลง

ซึ่งหมายความว่าร่างกายปรับตัวโดยลดการทำงานของร่างกายลงในขณะที่ประสิทธิภาพของร่างกายยังคงที่อยู่ร่างกายของมนุษย์จึงอัศจรรย์กว่าที่เราเคยเข้าใจแยะ

ภายหลังผ่านการอดอาหารมาแล้วระบบการย่อยอาหารจะกลับเข้าสู่สภาวะเดิมโดยไม่แสดงผลร้ายหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ก่อผลเสียแต่อย่างใดเลย

กองทัพบกอิสราเอล โดยมีคณะนักวิจัยทางการแพทย์นำโดยนายแพทย์ Maislos แห่งมหาวิทยาลัยเบนกูเรียน อิสราเอล เป็นผู้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ให้กองทัพบก

หมอ Maislos ทำการศึกษาพฤติกรรมการถือศีลอดของชนเผ่าทะเลทรายที่เรียกว่า เบดูอิน คนเหล่านี้ถือศีลอดอย่างเคร่งครัดเหมือนกับคนอาหรับถือศีลอดกันในอดีต นั่นคือกินอาหารน้อย ออกกำลังกายหรือทำงานตามปกติ และนอนค่อนข้างน้อย วันเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนเมื่อพ้นเดือนรอมฎอน หมอทำการตรวจสอบระดับไขมันของชนเผ่าเบดูอิน

สิ่งที่พบคือ คนเหล่านี้มีสุขภาพทางร่างกายดีขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง ระดับไขมันที่ดีที่เรียกว่า เอชดีแอล เพิ่มระดับสูงขึ้น

บทสรุปก็คือ การถือศีลอดอย่างเคร่งครัด น่าจะช่วยทำให้ผู้ที่ถือศีลอดลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคหัวใจได้

ข้อควรปฏิบัติของผู้ที่ถือศีลอดที่จะนำไปสู่สุขภาวะ

สุขภาพ คือ “สภาพของร่างกายและจิตใจ” สุขภาพดีสุขภาพดีจึงหมายถึง สภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ สุขภาพเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของผู้ถือศีลอด การที่จะทำให้สุขภาพทั่งกายและใจแข็งแรง มีหลักที่ทำง่ายๆ คือ หลัก 3 อ. ได้แก่

อาหาร

ความสำคัญของการรับประทานอาหาร มีอยู่ 2 ประการ คือ

1. ต้องเป็นอาหารที่ฮาราล (อิสลามอนุมัติให้ทาน) และมีคุณประโยชน์ครบหมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันวิตามิน แร่ธาตุ และน้ำ

2. ต้องได้รับอาหารในสัดส่วนที่ถูกต้อง เพราะถ้าร่างกายได้รับสารอาหารมากไปหรือน้อยไปจะส่งผลทำให้ร่างกายเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคขาดสารอาหาร เป็นต้น

เพราะอัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “จงกินจงดื่มและจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย” (อัลอะอฺรอฟ : 31)

อารมณ์

ข้อแนะนำ 2 ประการ เพื่อทำให้อารมณ์ดี สุขภาพจิตดี ได้แก่

1. ทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียด โดยการละหมาด รำลึกถึงอัลลอฮฺ อ่านอัลกุรอาน ทำใจให้รู้จักพอ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการพักผ่อนจิตใจและอื่นๆ “จิตสงบย่อมพบความสุข” “สุขใดเหนือความสงบเป็นไม่มี”

2. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ครั้งละไม่น้อยกว่า 25 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย การออกกำลังกาย เช่น การบริหารร่างกายด้วยตะบอง การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ การวิ่งเหยาะๆ (จ๊อกกิ้ง) วัดได้จากการเต้นของหัวใจโดยต้องออกกำลังให้หัวใจเต้นที่ 60% ของอัตราการเต้นสูงสุดโดยใช้สูตร 60% ของ (220 – อายุ)

อากาศ

ถ้าอากาศและสิ่งแวดล้อมดี ย่อมมีผลต่อสุขภาพที่ดีด้วย ดังนั้น จึงควรหาโอกาสไปใกล้ชิดกับธรรมชาติที่บริสุทธิ์ให้บ่อยครั้ง หรืออย่างน้อยสักเดือนละครั้งก็ยังดี

กล่าวโดยสรุป การเล่นฟุตบอลอาจทำให้สงสัยว่านักเตะสำคัญในทีมจะได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามศาสนกิจตามที่กล่าวมาได้

ดังนั้น ในทางที่ดีน่าจะมีแนะนำทางโภชนาการแก่นักเตะให้รับประทานอาหารอย่างไรถึงจะไม่กระทบและสภาพร่างกายสามารถปรับตัวหลังถือศีลอดหลายวัน

ถึงแม้ในหลักการอิสลามก็มีข้อยกเว้นสำหรับผู้เดินทาง ไม่ต้องถือศีลอดในวันดังกล่าว