ปรากฏการณ์บุพเพสันนิวาสกับภาพเสนอหญิงก้าวหน้าแห่งกรุงเทพมหานคร

สุภาษิตสอนหญิง-บุพเพสันนิวาส-นิยายสิบสองบาท : หญิงก้าวหน้าแห่งกรุงศรีอยุธยา กับหญิง (ที่ถูกจองจำให้) ล้าหลังแห่งกรุงเทพมหานคร (2)

ปรากฏการณ์บุพเพสันนิวาสกับภาพเสนอหญิงก้าวหน้าแห่งกรุงเทพมหานคร

วรรณกรรมแนว “รักข้ามภพ” (time travel romance) ได้รับความนิยมสูงในสังคมไทย

หลายเรื่องถูกสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น ทวิภพ บ่วงบรรจถรณ์ และอตีตา แม้แก่น (theme) ของวรรณกรรมแนวนี้คือการมุ่งพาตัวละครเอกเดินทางข้ามเวลาไปสร้างเรื่องรักโรแมนติกกับตัวละครเอกอีกตัวที่มีชีวิตอยู่ต่างภพ

แต่ผลที่ตามมาเป็นยวงใยคือการฉายให้เห็นภาพความแตกต่างระหว่างสังคมอดีตกับปัจจุบันในหลากหลายมิติ

ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ศิลปวัฒนธรรม เทคโนโลยี การเมืองการปกครอง กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม รวมถึงโลกทัศน์ ความคิด และความเชื่อของผู้คน

และดูเหมือนว่านี่คือเสน่ห์ของวรรณกรรมแนวนี้

สังคมไทยคงหลงเสน่ห์ชนิดนี้ ในวันนี้เราจึงได้เผชิญหน้ากับกระแสอันลือลั่นของ “บุพเพสันนิวาส”

ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ด้านวรรณกรรมครั้งสำคัญที่ไม่ได้มีให้เห็นบ่อยนักในสังคมที่นวนิยายถูกค่อนขอดว่าเป็นเพียงสิ่งเพ้อฝันไร้สาระ

แม้ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นโดยมี “ละคร” เป็นสื่อกลาง “นำส่ง” วรรณกรรมไปสู่สังคมจนโด่งดังระดับ “พลุไฟ” ตัวบทวรรณกรรมไม่ได้ทำหน้าที่ทะลุทะลวงจิตใจคนด้วยตนเอง

แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทั้งหมดทั้งมวลเริ่มต้นจากจินตนาการของนักเขียนหญิงนาม “รอมแพง”

ซึ่งขึ้นหิ้งเป็นนักเขียนเลื่องชื่อแห่งยุคสมัยไปเรียบร้อยแล้ว

บุพเพสันนิวาส ของรอมแพง ไม่เพียงนำเสนอภาพเปรียบเทียบระหว่างสังคมสมัยในหลวงภูมิพล (บุพเพสันนิวาสแต่งเมื่อปี พ.ศ.2552) กับสังคมสมัยพระนารายณ์ (พ.ศ.2199-2231) ว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

แต่ยังจับเอาความแตกต่างเหล่านั้นมา “ปะทะ” กันขนานใหญ่ จนเกิดผลสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วประเทศ

โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร (เรตติ้งละครเฉลี่ยต่อตอนสูงสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ)

“นางสาวเกศสุรางค์” หญิงไทยจากศตวรรษที่ 21 ผู้เดินทางกลับไปใช้ชีวิตในร่างของ “แม่หญิงการะเกด” หญิงสาวในศตวรรษที่ 17 ได้สำแดงให้ประจักษ์ว่าสังคมกรุงเทพฯ (ปี พ.ศ.2552) นั้นแตกต่างจากสังคมกรุงศรีฯ (พ.ศ.2225) มากมายเพียงใด

“แม่หญิงการะเกดใหม่” (ภายใต้การกำกับของดวงวิญญาณเกศสุรางค์) จึงแตกต่างจาก “แม่หญิงการะเกดเก่า” อย่างสิ้นเชิง

การเดินทางไปจากสังคมอื่น (ที่มิติเวลาต่างกันกว่าสามร้อยปี) ทำให้แม่หญิงการะเกดใหม่ไม่อาจใช้ชีวิตกลมกลืนกับสังคมสมัยพระนารายณ์ได้

ด้วยเธอนำรูปแบบการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์และโลกทัศน์จากสังคมสมัยในหลวงภูมิพลติดตัวไปด้วย

สังคมที่ผู้หญิงไม่ได้ถูกจองจำไว้ภายในบ้านอีกต่อไป หากแต่ได้ออกไปเผชิญโลกนอกบ้านแล้ว แม่หญิงการะเกดใหม่จึงไม่ได้มีบุคลิกนุ่มนวลชดช้อย อ่อนหวาน เป็นกุลสตรี สงบเสงี่ยมเจียมตัว เชื่อฟังและจงรักภักดีต่อชายเช่นหญิงทั่วไปในสมัยพระนารายณ์

หากแต่ปราดเปรียว กระโดกกระเดก ชอบเที่ยวเตร่ ไม่ชอบอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน

ถ้อยภาษาที่ใช้แปลกหูและหวือหวาก๋ากั่น ทั้งยังเปิดเผยความรู้สึก (มากกว่าสาวกรุงศรีฯ) อันเป็นบุคลิกแบบสาวสมัยใหม่ยุคมิลเลนเนียล

ด้านหนึ่งเธออาจดูกระเปิ๊บประป๊าบ ไร้เดียงสา น่ารักน่าใคร่ น่าเอ็นดู (โดยเฉพาะในสายตาของพระเอก)

เพราะแม้จะรอบรู้ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาเป็นอย่างดี แต่เธอก็ไม่เคยใช้ชีวิตเยี่ยงชาวกรุงศรีฯ มาก่อน

แต่อีกด้านเธอคือหญิงมากความรู้ความสามารถอย่างที่หญิงยุคนั้นไม่อาจเป็น

ขณะหญิงสมัยพระนารายณ์เกือบทั้งหมดแทบจะเป็นคนเดียวกับหญิงในสุภาษิตสอนหญิง ที่ใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน ในครัว และบนเตียงอย่างอดทน ซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อสามี (แม้สามีไม่เคยซื่อสัตย์ต่อพวกเธอเลยก็ตาม)

ทั้งยังอาจถูกชายหยิบขายได้เหมือนสมบัติชิ้นหนึ่ง

ดังบันทึกของลาลูแบร์ “อำนาจของสามีนั้นเป็นล้นพ้น ทำอะไรได้สุดแต่ใจในครอบครัวตน แม้จนขายลูกของตัวเมียของตัวก็ได้ตามพลการหมด ยกเสียแต่เมียหลวงได้แต่ขับไล่ไปเสียให้พ้น” (เกรียงศักดิ์ ดุจจานุทัศน์ และพัชรเวช สุขทอง. 2560 : ออนไลน์)

แต่แม่หญิงการะเกดใหม่คือหญิงที่รอบรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ภาษาต่างประเทศ

ทั้งยังดูเหมือนเชี่ยวชาญเรื่องการเมืองการปกครอง ซึ่งสมัยนั้นสงวนไว้เป็นพื้นที่ของชายเท่านั้น

นอกจากนี้ แม่หญิงการะเกดใหม่ยังมีลักษณะของหญิงก้าวหน้า ที่กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าตั้งคำถาม และกล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

แม้กับชายที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ มีอำนาจและยศถาบรรดาศักดิ์สูง อันถือเป็นวิสัยแปลกประหลาด ก้าวร้าว ยโสโอหัง ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง

ซึ่งทำให้ผู้คนสมัยกรุงศรีฯ ต้องอ้าปากค้างและยกมือทาบอกครั้งแล้วครั้งเล่า

หาก “แม่หญิงการะเกดเก่า” คือภาพเสนอของหญิง (ที่ถูกจองจำให้) ล้าหลัง ซึ่งทั้งชีวิตมีเพียงผู้ชายเป็นจุดหมายปลายทาง กระทั่งต้องวางแผนล่มเรือแม่หญิงจันทร์วาดเพื่อขจัดเสี้ยนหนามหัวใจ จนนำไปสู่ความตายของตนในที่สุด

“แม่หญิงการะเกดใหม่” ภายใต้กำกับของดวงวิญญาณเกศสุรางค์ ก็คือภาพเสนอของหญิงก้าวหน้าที่หอบเอาวิวิวัฒนาการของโลกสมัยใหม่และแนวคิดสิทธิมนุษยชนเดินทางย้อนเวลากลับไปเผยแผ่เทศนาแก่ผู้คนสมัยพระนารายณ์ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังอาจหาญตั้งคำถามต่อลักษณะที่ล้าหลังของสังคมยุคนั้น

โดยเฉพาะการลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ “กฎหมายลักษณะผัวเมีย” ที่บังคับใช้ในสมัยนั้นว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิง เช่น การอนุญาตให้ชายมีภรรยาได้หลายคน แต่หากฝ่ายหญิงคบชู้บ้างจะถูกลงโทษโดยให้ม้าชำเรา

แต่คำถามของผู้เขียนคือ สังคมสมัยในหลวงภูมิพลของเกศสุรางค์นั้นเป็น “สังคมสมัยใหม่” ที่อุดมการณ์สิทธิมนุษยชนเบียดขับอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่จนกระเด็นกระดอนตกขอบไปแล้วจริงหรือ

เมื่อพลัดหลงไปอยู่ในสมัยพระนารายณ์ เกศสุรางค์คือหญิงก้าวหน้าที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยหญิงทั้งหมดในสมัยนั้นล้วนยังถูกจองจำให้จมปลักล้าหลังกว่า

ทว่าเมื่ออยู่ในยุคในหลวงภูมิพล เกศสุรางค์คือหญิงก้าวหน้าจริงหรือไม่

ด้วยพฤติกรรมหลายอย่างที่ทำให้เธอได้สายสะพายหญิงก้าวหน้าแห่งกรุงศรีอยุธยานั้น สังคมกรุงเทพฯ ยุคปัจจุบันถือเป็นวิสัยปกติธรรมดา

เช่น การมีความรู้สมัยใหม่ การรู้ภาษาต่างประเทศ การชอบออกจากบ้านไปเที่ยวเตร่ ไม่ชอบอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน

ขณะที่บางพฤติกรรมก็ทำให้รู้สึกอิหลักอิเหลื่อหากจะกล่าวว่านั่นคือวิสัยของหญิงก้าวหน้า เช่น การชอบทำบุญตักบาตรตามประเพณีพุทธศาสนา การเชี่ยวชาญการงานในบ้าน (อันเป็นกิจกรรมในพื้นที่ความเป็นเมียและแม่) เช่น พับกลีบบัว เย็บหมอน ทำอาหาร เป็นต้น

ลักษณะหัวมังกุท้ายมังกรเช่นนี้อาจทำให้เกศสุรางค์ไปได้ไกลที่สุดแค่ “หญิงสมัยใหม่สมัยรัชกาลที่ 6” ที่ยังรกรุงรังไปด้วยลักษณะของหญิงไทยโบราณ

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้มุ่งจะฉีกหน้าเกศสุรางค์ด้วยการเพ่งเล็งจับผิดความล้าหลังในความก้าวหน้าของเธอ

ผู้เขียนเพียงพยายามหาคำตอบว่าสังคมไทยยุคในหลวงภูมิพลนั้น นอกจากหญิงแบบเกศสุรางค์แล้วมีหญิงแบบอื่นหรือไม่

อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ถูกโค่นทำลายลงจนสิ้นซากแล้วหรือยัง การศึกษาวรรณกรรมอื่นๆ ยุคในหลวงภูมิพลอาจช่วยตอบคำถามดังกล่าวได้

ผู้เขียนจึงหยิบงานวิจัยเรื่อง “ความคิดทางสังคมที่ถูกประกอบสร้างในวรรณกรรมไทย : กรณีศึกษานิยายสิบสองบาท (2559)” ที่เคยศึกษาไว้มาร่วมอธิบายประเด็นดังกล่าว