บทบาทผู้นำ “อินเดีย” กับเหตุข่มขืนที่ไม่มีวันสิ้นสุด!

ไฉนใครว่า…ไม่สำคัญ บทบาทผู้นำ “อินเดีย” กับเหตุข่มขืนที่ไม่มีวันสิ้นสุด!

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราเห็นข่าวความเสื่อมโทรมทางจิตใจของชาย “ชาวอินเดีย” กับปัญหาการข่มขืนทั้งเด็กหญิงและกลุ่มวัยรุ่น ลามไปจนถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับสาเหตุของความเสื่อมนี้ วิเคราะห์ไปถึงบทลงโทษต่างๆ นานาว่าไม่สาสมหรือ? ลามไปถึงบทบาทของผู้นำประเทศว่าอยู่ที่ใด?

จริงอยู่ที่ว่า “อินเดีย” ไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่มีอัตราการข่มขืนเกิดขึ้นทุกปี

ยังมีหลายประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหราชอาณาจักร แคนาดา อิตาลี ฝรั่งเศส หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา ที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

เพียงแต่หากเทียบสัดส่วนของจำนวนผู้เสียหายแล้วไม่ได้เพียงเสี้ยวหนึ่งของอินเดียด้วยซ้ำไป

ความถี่ของเหตุการณ์ข่มขืนในอินเดียเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ เอาแค่มองย้อนไปตั้งแต่ปี 2012 ที่มีผู้หญิงเข้าแจ้งความ 24,923 ราย

และคาดว่ายังมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้าพอที่จะแจ้งความ

กลับมีการดำเนินคดีตามกฎหมายเพียง 28% หรือผู้ต้องสงสัย 72 ใน 100 คน รอดพ้นการถูกลงโทษ

จนในปี 2015 ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ขยับขึ้นมาเป็น 64,630 ราย

นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ในทุกๆ 20 นาที เฉลี่ยแล้วมีผู้หญิงอินเดียหรือเด็กอินเดียถูกข่มขืน 1 ราย ถือว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

แม้ว่าสภาสูงอินเดียแสดงการรับผิดชอบ และพยายามจัดการกับเรื่องอัปยศนี้ ด้วยการปฏิรูปกฎหมายอาญา เพิ่มบทลงโทษผู้ที่ลงมือก่อเหตุข่มขืน จำคุกตั้งแต่ 20 ปี จนถึงตลอดชีวิต จากเดิมที่บทลงโทษเอาผิดแค่ จำคุก 7-10 ปีเท่านั้น

ส่วนคดีข่มขืนที่อุกอาจก่อเหตุจนทำให้เหยื่อเสียชีวิต หรืออยู่ในสภาพร่างกายที่ไม่มีอาการตอบสนองใดๆ สามารถลงโทษสูงสุดได้ทันทีโดยไม่มีการไตร่ตรองนั่นก็คือ “โทษประหารชีวิต”

การประท้วงที่เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน ทั้งในอินเดียและต่างแดนเพื่อเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แสดงจุดยืนกับเหตุข่มขืนที่รุนแรงขึ้น

ล่าสุดผู้นำประเทศประกาศจุดยืนชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยอนุมัติแก้ไขกฎหมายใหม่ กำหนดโทษประหารชีวิตแก่ผู้ที่กระทำความผิดข่มขืนเด็กผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี

ยังมีการเพิ่มโทษจำคุกในความผิดฐานข่มขืน เป็น 2 เท่า

รวมถึงมีการลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำสำหรับบุคคลที่สามารถถูกดำเนินคดีเอาผิดในฐานะผู้ใหญ่ ในความผิดอาญาร้ายแรง จาก 18 ปี เป็น 16 ปี

หากประเมินตามบทลงโทษที่ดูแล้วน่าจะเหมาะสม แต่ด้วยสเกลของจำนวนประชากรทั้งประเทศกว่า 1.3 พันล้านคน ทั้งยังทำท่าจะแซงประเทศจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วย จึงเป็นเหตุผลให้หลายๆ ฝ่ายยังกังวลว่า บทลงโทษหรือความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์เหล่านี้ เพียงพอต่อการปกครองคนในประเทศให้อยู่ในขอบเขตที่ควรจะเป็นจริงหรือ?

เพราะความเป็นจริงแล้ว…สาเหตุหรือเหตุจูงใจของผู้ที่ลงมือข่มขืนมีอะไรมากกว่านั้น

/ AFP PHOTO / SAM PANTHAKY

ใครจะคิดว่าแนวคิดที่ล้าหลังของคน (บาง) กลุ่ม ที่เป็นจำนวนเกือบครึ่งของจำนวนประชากรชาย กับความคิดที่ไม่เคยได้รับการฟื้นฟูและถูกสั่งสมให้ชายเป็นใหญ่มาตลอด ควรนำมาเป็นปัจจัยพิจารณาเพื่อซ่อมแซ่มจุดด้อยต่างๆ เหล่านี้

เพื่อขัดเกลาภาพลักษณ์ให้ประเทศเสียใหม่

หนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่รายงานโดยบีบีซี สามารถสะท้อนแนวคิดของสังคมชายเป็นใหญ่ในอินเดียได้เป็นอย่างดี คำกล่าวของนายมุเกช สิงห์ (Mukesh Singh) หนึ่งในผู้ต้องหาคดีข่มขืนหญิงสาวชาวอินเดียวัย 23 ปี ที่กรุงนิวเดลี เมื่อปี 2012 พูดว่า

“ผู้หญิงที่ดีไม่ควรออกมาเที่ยวเล่นยามค่ำคืน ผู้หญิงควรอยู่บ้านรับผิดชอบงานของตัวเอง ผู้คนในสังคมมีสิทธิที่จะให้บทเรียนกับผู้หญิงไม่ดีเหล่านั้น”

พร้อมย้ำว่า “สำหรับผู้หญิงเมื่อกำลังถูกข่มขืนไม่ควรคิดต่อสู้ เพราะผู้ชายจะทำเพียงแค่ข่มขืน ไม่ทำร้ายร่างกาย หรือฆ่าทิ้ง”

โดยในรายงานชิ้นนี้ยังระบุว่า ความคิดในลักษณะนี้ไม่ได้มาจากเพียงคนใดคนหนึ่ง แต่ผู้ต้องหารายอื่นๆ ที่รอโทษประหารชีวิตในคดีคล้ายๆ กันก็ได้ให้สัมภาษณ์และกล่าวในทิศทางเดียวกันด้วย

Indian Muslim women hold placards and shout slogans during a protest against the recent rape and murder case of an eight-year-old girl in the Indian state of Jammu and Kashmir, in Chennai on April 16, 2018.
Eight men accused of raping and murdering an eight-year-old girl pleaded not guilty April 16 to the horrific crime that has sparked revulsion and brought thousands to India’s streets in protest.
/ AFP PHOTO / ARUN SANKAR

แม้แต่เหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและสตรีในอินเดีย ในองค์กร NGO แห่งหนึ่ง วิเคราะห์และมุ่งประเด็นมาที่ “สเกลประชากรที่ใหญ่มาก มีผลต่อช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย ขณะที่ผู้นำประเทศที่ครองอำนาจมา 4 ปี ยังไม่เคยโปรโมตแนวคิดความเท่าเทียมในเรื่องเพศอย่างจริงจัง”

ดังนั้น ตรรกะง่ายๆ ในการสรุปความดังกล่าวนี้ก็คือ เหตุจูงใจในการข่มขืนนั้นเกี่ยวพันกับ “ความยากจน” ในปัจจุบันอย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยจะเห็นตัวเลขการว่างงานในอินเดียตลอด 4 สมัยของผู้นำโมดี ที่ยังคงทะยานต่อเนื่อง ทั้งกระแสข่าววิศวกรชาวอินเดียตกงานเป็นแถวๆ “ทางเลือกเพื่อรอด” จึงมักต้องเพิกเฉยกับความถูกผิดเสมอในแดนภารตะ

นึกถึงรายงานข่าวจากสื่อท้องถิ่นในหลายๆ ระลอกที่พยายามเปิดโปงตลาดมืดในรัฐต่างๆ ของอินเดีย

อย่างเมื่อปีก่อนในรัฐอุตตรประเทศ ที่ร้านค้าต่างๆ เปิดแผงขายคลิปวิดีโอการรุมโทรมหญิงเกลื่อน ในราคาไม่ถึง 50 บาท!!!

และคนที่นำคลิปวิดีโอเหล่านั้นมาขายส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนที่บ้านยากจน รวมไปถึงคนวัยทำงานที่มีครอบครัวที่ต้องดูแล

เล่ามาจนถึงจุดนี้…ใจแทบสลาย เพราะมันเกี่ยวโยงกันไปหมด