นวพร เรืองสกุล : ต่อยอด ขยายผล จากกระแสนิยม “ออเจ้า”

ละครโทรทัศน์จบไปแล้วเมื่อก่อนสงกรานต์ แต่กระแสยังอยู่และเริ่มมีการพูดถึงการ “ต่อยอด” ไม่นับการสร้างภาค 2

ห่วงนักหนากับการต่อยอดว่าจะเกิดอาการ “วิปลาส” เมื่อต้นไม้ที่กำลังผลิใบงดงามถูก “ตัด” ด้วยเจตนาดีที่จะ “ต่อ” จนกระทั่งพิกลพิการ หาความงามและสาระไม่ได้

นักดูภาพยนตร์จากต่างประเทศทางโทรทัศน์ ที่ชมทั้งภาพยนตร์จีน อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ชมว่าเรื่องบุพเพสันนิวาสของเรา เรื่องดี แสดงวัฒนธรรมได้ดี ให้ค่านิยมที่ดีดีไม่แพ้ แดจังกึม ฯลฯ ที่เป็นภาพยนตร์ชุดออกโทรทัศน์ในประเทศอื่นๆ แล้วก็มีคำถามว่า เหตุใดกระทรวงวัฒนธรรมจึงต้องการจะ “ย่อความ” ภาพยนตร์ชุดนี้ลงไปเหลือ 2 ชั่วโมง อดวิตกล่วงหน้าไม่ได้ว่า อรรถรสและความละเมียดละไมที่แฝงอยู่ในอณูของเรื่องจะต้องเปลี่ยนไป

ทำไมไม่ทำเรื่องใหม่  ทำไมไม่ทำเรื่องเสริม

จึงลงมือรวบรวมความคิดจากผองเพื่อน เพื่อตอบ 2 ข้อ คือ

1. เรื่องนี้มีอะไรดีอีก นอกจากที่พูดๆ กันทั่วไป

2. ถ้าจะ “ต่อยอด” เพื่อสร้างพลังบวกในสังคมไทยต่อจากละครเรื่องนี้ เราจะ “โหน” กระแสอย่างไรจึงจะงาม

เรื่องนี้มีอะไรดี

1. ตัวละครแทบทุกตัว ตลกด้วยตัวเอง ตลกด้วยเนื้อหาและคำพูด ไม่ใช้ตัวตลกสลับฉาก

2. ดาราทั้งหมดเล่นดี ไม่ว่าบทจะน้อยหรือมาก ก็มีความเด่นเฉพาะตน

3. นางอิจฉาหรือนายผู้ร้ายไม่จำเป็นในการเดินเรื่อง สถานการณ์และอุปสรรคคือสิ่งที่ตัวละครต้องฟันฝ่า

4. ตัวละครมีพัฒนาการทั้งด้านบุคลิกและอารมณ์

5. ใช้สีหน้าและสายตาในการแสดงอารมณ์สมกับเป็นภาพยนตร์ ไม่ใช่ละครเวทีที่ต้องแสดงออกอย่างเกินจริงเพื่อให้ผู้ชมมองเห็นได้ในระยะไกล (ชอบมากตอนที่พระเอกใช้สายตา “ชี้” และแสดงบนใบหน้านิดเดียวเพื่อ “ห้าม” เพื่อ “ถาม” ฯลฯ)

6. ไม่ “ฟันธง” ประวัติศาสตร์ เนื้อหาหลายตอนในประวัติศาสตร์นำเสนอได้อย่างฉลาดแนบเนียน ด้วยการใช้คำบอกเล่า ซึ่งเป็นมุมมองของแต่ละบุคคลในเหตุการณ์ เช่น ฉากถวายพระราชสาส์น เป็นต้น

7. ช่วยทำให้เกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ และเมื่อคิดให้กว้างก็จะเห็นความสำคัญของวิชาโบราณคดี วรรณคดี ภาษา ฯลฯ ที่ได้ช่วยเพิ่มความลึกให้กับเนื้อเรื่อง

สรุปว่า เมื่อมีความใส่ใจ ประณีต เอาการเอางาน ขยันหมั่น และตั้งใจจริง เราคนไทยก็ทำภาพยนตร์ดีๆ ได้ และเรื่องไทยๆ ก็เป็นที่นิยมได้ และยังช่วยให้เกิดจินตนาการบรรเจิดถึงเรื่องอื่นๆ ที่จะชูเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยได้อีกหลายประการ และเน้นให้เห็นพัฒนาการกว่าจะเป็นศิลปะต่างๆ นั้นได้ เช่น

สร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาให้ตัวเอกเป็นจิตรกร สร้างจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งจะสามารถให้ความรู้ทั้งเรื่องลายเส้น เรื่ององค์ประกอบ และเทคนิคการพัฒนาสีธรรมชาติที่นำมาใช้ในภาพ

ให้ตัวเอกเป็นหมอนวด คิดค้นและเรียนรู้วิธีการนวดเพื่อรักษาโรค และอาจจะจบลงด้วยจารึกวัดโพธิ์ เพราะการนวดแบบไทยเป็นศาสตร์ที่ทุกวันนี้ก็ยังเป็นที่กล่าวขวัญถึง

เป็นต้น

โครงการ “ต่อยอด” 9 โครงการ

ขอขึ้นต้นด้วยหลักการที่ว่า กระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงหลักที่ควรให้แก่น ให้สาระ ให้วิชาการ และให้เงินสนับสนุนการค้นคว้า และทำงานเผยแพร่ความรู้ด้านวัฒนธรรมให้กับประชาชน เมื่อคนในประเทศแม่นแล้ว การคิดเลือกสรรบางส่วนเพื่อเผยแพร่ไปต่างประเทศก็ไม่ยากนัก

1. กิริยามารยาทแบบไทย น่านิยม และน่าส่งเสริม ทั้งการไหว้ การนั่งพับเพียบเรียบร้อย ไม่ยืนค้ำหัวผู้ใหญ่ รู้จักขอโทษเมื่อผิดพลาด รู้จัก “เก็บปาก” รู้กาลเทศะ รู้จักหาถ้อยคำอันสมควรเมื่อจะแย้งผู้ใหญ่ อ่อนน้อมสุภาพได้โดยไม่ต้องอ่อนแอ จ๋อง หรือกลัว เรื่องแบบนี้ต้อง “แทรก” ไม่ใช่ “สอน”

2. ต่อยอดเรื่องการทำขนมและอาหารไทย ให้มีการใช้เครื่องปรุงและวิธีปรุงแบบเดิม แต่พัฒนาให้ทันสมัย สะดวกขึ้น สำหรับยุคใหม่ โดยไม่ทิ้งความประณีตและรสชาติเดิม และให้มีคุณค่าเชิงโภชนาการ รวมทั้งอาจจะศึกษาวิจัยและนำเสนอต่อไปถึงที่มาของอาหารอีกหลายอย่าง สมกับที่อยากจะให้ครัวไทยเป็นครัวโลก มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นมีทั้งงานวิจัยพัฒนา งานสอน งานอบรมให้ผู้ที่สนใจ และสิ่งนี้ก็อาจจะเป็นสินค้าให้บางชุมชนใช้เป็นเอกลักษณ์ได้

3. ในขณะที่คนนิยมผ้าไทยเพิ่มขึ้น กระทรวงวัฒนธรรมและสถานศึกษาน่าจะออกมาให้ความรู้เรื่องผ้าไทยหลายๆ ชนิด และเครื่องแต่งกายแต่ละยุคสมัย แต่ละโอกาส รวมตลอดถึงการขยายความจากละครว่า ผ้าที่นุ่งเข้าเฝ้าที่ว่าเป็นไปตามยศนั้น เป็นอย่างไร กระทั่งยศขุนนาง เครื่องยศ และศักดินาประกอบยศ ก็น่าจะนำมาเสนอเป็นความรู้ต่อคนทั่วไป (ขอร้องนะว่า ไม่เอาแบบรายการ “ตามหาผ้าไทย” ที่เคยนำเสนอไปแล้ว)

4. ลักษณะของเรือนไทย การสร้างเรือนแบบไทย ส่วนดีของเรือนไทย และการใช้เครื่องเรือนสมัยก่อนที่เรายังนั่งตั่ง นั่งพื้นเป็นส่วนมาก

5. ภาษาพูด ภาษาเขียน และภาษาไทยเป็นส่วนรวม เช่น ภาพยนตร์บอกว่าตัวอักษรสมัยจินดามณี ขาดไป 7 ตัว ก็อยากจะรู้ว่า สมัยนั้นใช้ตัวใดแทน และสมัยใดที่ตัวอักษรเพิ่มขึ้นมาเป็น 44 ตัว แล้วเมื่อใดสมัยใดที่ตัวอักษร 44 ตัวของเราปัจจุบันถูกเลิกใช้ไป 2 ตัว ควรนำกลับมาใช้ใหม่หรือไม่ และอีกบางตัวที่ใช้อักษรอื่นแทนจนใกล้สูญไปก็เช่นกัน และภาษาพูดที่ใช้กันมีวิวัฒนาการหรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

6. ภาพยนตร์นำบทกวีมาใช้หลายตอน และยังอ้างถึงอีกหลายเรื่อง น่าจะมีการให้ความรู้เพิ่ม เช่น บทประพันธ์เรื่องสมุทโฆษคำฉันท์ของพระมหาราชครู กนกนคร ที่นางเอก “ยืม” กลอนหกมาใช้ เป็นบทประพันธ์ของใคร เรื่องราวเป็นอย่างไร เล่นเป็นละครสั้นก็ยังได้ แล้วยังจินดามณีอีก ไม่นับโลกนิติคำโคลง และกลอนของสุนทรภู่ ที่นางเอกยกมาอ้างตามโอกาส

7. สถานที่สำคัญที่กล่าวถึงควรได้รับการพัฒนา เพราะไหนๆ พระและนางก็ช่วยกันพาชมวัด ตลาด และสถานที่สำคัญทั้งในพระนครศรีอยุธยาและลพบุรีแล้ว ททท. น่าจะมีส่วนช่วยจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านการให้ความรู้ การบริหารจัดการ เพื่อให้ผู้ไปชมได้ทั้งความสนุกและได้สาระ และชุมชนคนพื้นที่มีรายได้เพิ่ม

8. ความรู้เรื่องชนชาติต่างๆ ในอยุธยาขยายผลได้มาก ต่างชาติที่เคยมีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องก็เคยเข้ามาช่วยพัฒนาในส่วนของตน แต่น่าเสียดายที่ว่าเมื่อลงทุนทำไปแล้วกลับไม่ได้รับการเอาใจใส่ทำนุบำรุงหรือ “ต่อยอด” เท่าที่น่าจะทำได้ ทั้งชุมชนญี่ปุ่น หมู่บ้านโปรตุเกส พิพิธภัณฑ์ฮอลันดา ถ้าช่วยกันปัดฝุ่น คิดให้ครบ ทำให้จบ ก็จะเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ได้ นอกจากนี้ ยังมีชนชาติอื่นๆ อีก ดังจะเห็นตัวอย่างอย่างชุมชนจีนและเปอร์เซีย ที่ตัวละครก็มีบทบาทในภาพยนตร์

9. การพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติม แต่ก่อนนี้ตรงไหนคือท่าเรือ ที่สำเภาจอดกันคลาคล่ำ ตรงไหนคือวังหลวง มีสถาปนิกนักวิจัยทำแบบจำลองวัดขึ้นมาหลายวัด และทำแผนที่แสดงการใช้พื้นที่สมัยอยุธยาไว้แล้ว นำมา “ต่อยอด” ไม่ยาก และส่วนที่น่าสนใจพัฒนาเพิ่มคือตลาด ซึ่งจังหวัดอยุธยาโดยผู้ว่าราชการจังหวัดและ อปท. สามารถนำกลับไปฟื้นฟูได้ การพัฒนาหรือฟื้นฟูนี้ไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารหรือขายสินค้าย้อนยุค

แต่ควรจะย้อนอดีตเพื่อไปข้างหน้า

ขอยกตัวอย่างสัก 2 ตลาด ที่จำมาได้จากในละครโทรทัศน์

ป่าผ้าเหลือง แม้ไม่มีป่าแล้ว ก็อาจจะย้อนกลับไปหาการย้อมแบบเดิมให้ได้ผ้าสีธรรมชาติ ซึ่งได้ทั้งการส่งเสริมการปลูกพืชที่ให้สีย้อมแบบโบราณ การย้อมแบบโบราณที่พัฒนาเทคนิคด้วยความรู้สมัยใหม่ ในที่สุดจะได้ชุมชนที่ผลิตและขายผ้ากาสาวพัสตร์ คุณภาพดี เป็น “แบรนด์” ชั้นนำของประเทศ

ตลาดชีกุน ที่พี่หมื่นซื้อสร้อยสังวาลให้แม่หญิงการะเกด อาจจะกลับไปเป็นแหล่งรวมร้านค้านานาชาติที่ขายเครื่องประดับต่างๆ รวมงานหัตถกรรมชั้นดีของทุกประเทศที่เก่งเรื่องเครื่องประดับ อัญมณี และทองเหลือง ก็จะสมกับที่อยุธยาเป็นเมืองการค้านานาชาติ

นอกจากอินเดีย เปอร์เซียแล้ว ปัจจุบันเครื่องผ้าแพรพรรณ เครื่องประดับและเครื่องใช้ทำด้วยเงินและทองเหลืองยังได้มาจากอีกหลายประเทศ ตั้งแต่ตุรกี ถึงอินโดนีเซีย ถ้าสร้างให้เกิดตลาดนานาชาติด้านงานคราฟต์เหล่านี้ อยุธยาก็จะคงความเป็น “นานาชาติ” ดังยุคทองอีกครั้ง เป็นทั้งแหล่งการค้า การจ้างงาน และแหล่งท่องเที่ยวมีระดับพร้อมกันไป

ฝันเหล่านี้เป็นไปได้ ความคิดไม่เคยขาดแคลน ขอเพียงผู้มีหน้าที่แต่ละด้านต่างทำหน้าที่ในส่วนของตน