“ปู-จิตกร”ชี้ ประเด็นครูโขนคือหยิบ “ของสูงที่สุด” ใช้ผิด “ฐานานุศักดิ์” แนะร่วมทำความเข้าใจ

(27 ก.ย.) จิตกร บุษบา หรือปู คอลัมนิสต์ชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่าเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นถึงปมดราม่ามิวสิกวิดีโอ “เที่ยวไทยมีเฮ” ซึ่งมีกระแสสังคมส่วนหนึ่งท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมของการนำ “ทศกัณฐ์” ตัวละครหนึ่งในวรรณคดีรามเกียรติ์ มาทำกิจกรรมบางอย่างที่ขัดกับขนบนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างโขน ว่า

ทำความเข้าใจ ทำไมครูโขนค้าน “เที่ยวไทยมีเฮ”

1) เขาไม่ได้หวงรามเกียรติ์ ไม่ได้หวงทศกัณฐ์ ไม่ได้แสดงความเป็นเจ้าของแต่อย่างใด ใครจะเอาไปใช้อย่างไรก็ได้ แต่ต้องใช้ให้เป็น ให้ถูกบริบท และถูกขนบของการแสดงแต่ละประเภท

2) รามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีที่มีการนำไปใช้งานหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นหนังใหญ่ หุ่น แอนนิเมชั่น ภาพยนตร์ และโขน เฉพาะการนำ “รามเกียรติ์” มาสื่อสารในรูปแบบ “โขน” ก็มีหลายชนิดอีก ตั้งแต่โขนราชสำนักยันโขนชาวบ้าน คือ โขนสด จึงต้องรู้จักว่าโขนแต่ละอย่างมีรูปแบบการเล่นและข้อห้ามที่เรียกว่า “กติกา” หรือ “จารีต” ต่างๆ กันไป

3) ในประวัติศาสตร์ โขนราชสำนักต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ผู้เล่นต้องเป็น “ชายล้วน” ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินทรงผ่อนปรนให้ “ผู้หญิง” ร่วมฝึกโขนและแสดงได้ ต่อมาถึงกับคลี่คลายจนเกิดเป็น “โขนสด” แบบชาวบ้าน ร้องรำคล้ายลิเก สวมหัวโขนแค่ครึ่งหน้า เครื่องทรงเป็นอย่างย่อม ไม่เต็มเครื่องใหญ่ เล่นไปตลกไป ทะลึ่งดึงตังไป ไม่ผิดกติกา ดูแล้วเฮฮา สนุกสนาน

4) คำว่าทศกัณฐ์ หรือโขน ไม่ได้ถูกยกว่าเป็น “ของสูง” ไปเสียทั้งหมด อยู่ที่ประเภทของ “โขน” ด้วย การแสดงที่เรียกว่า “โขน” จึงมีฐานานุศักดิ์ ในแต่ละชนิดของมันเอง และมีความหลากหลายให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น โขนหน้าไฟหรือโขนหน้าศพ โขนกลางแปลง โขนชักรอก โขนหลวง หรือโขนสด

5) เมื่อ “เที่ยวไทยมีเฮ” เลือกใช้ “โขนหลวง” แต่กลับไปใช้ท่วงท่า กิริยาแบบ “โขนสด” ครูทั้งหลายจึงตำหนิว่าผิดรูปแบบ และ “ไม่เหมาะ”

6) แปลว่าผู้กำกับฯ “หยิบผิด” มีให้เลือกเกือบสิบ ดันไปหยิบ “ของสูงที่สุด” ไปใช้ผิด “ฐานานุศักดิ์” คนที่เขาอนุรักษ์จารีตหรือกติกาก็ต้องทักท้วงและให้แก้ไข แต่ก็หาใช่ผิดไปทั้งเรื่องไม่ มีเพียงบางฉากบางตอน ที่กิริยาผิดไปจากความเป็น “โขนหลวง” และสัตว์พาหนะก็ผิดไปจาก “ศักดิ์” ของตัวละคร (ทศกัณฐ์ขี่ม้า-ม้าเป็นพาหนะของตัวละครชั้นต่ำลงมา แม้แต่พระรามก็ไม่ขี่ม้าตลอดทั้งเรื่อง) จึงจะเห็นได้ว่า ครูโขนเรียกร้องให้ตัดแค่บางฉากออกไปเท่านั้นเอง

7) ถ้านำรูปแบบโขนหลวงไปใช้อย่างถูกต้อง ไม่ “นอกรีต” ก็คงไม่เป็นเรื่อง หรือหากจะเลือกหยิบ “โขนสด” แต่งเครื่องอย่างโขนสด รำอย่างโขนสด ทะเล้นอย่างโขนสดเสียตั้งแต่ต้น คงไม่เป็นไร

8) ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของความไม่รู้ รู้ไม่เท่า จนไม่ถือเคร่งตามจารีตของการแสดงที่มีแบบแผนเฉพาะตัว รวมทั้งพวกเราที่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด เช่นเดียวกับผมก่อนหน้านี้ที่เข้าข่าย “รู้แต่เปลือก เสือกวิจารณ์” พอมาทบทวนอีกทีจึงพบว่า ที่จริงและที่ถูกเป็นอย่างไร ก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้

9) ต่อไปนี้ก็เลิกด่าทอกันได้ เลิกโทษกันไปโทษกันมา ว่าทำไมไม่พูดอย่างนี้เสียตั้งแต่แรกล่ะ บางทีบางเรื่อง เราก็ฟังต่อๆ กันมา

10) จงหันมาศึกษาเพื่อเข้าใจ “ความหลากหลาย” ทางศิลปะการแสดงของบ้านเราให้มากขึ้น อย่าไปเที่ยวประชดว่า งั้นเอาไว้บนหิ้งนั่นแหละนะ อย่างนี้ใครจะสืบทอด เดี๋ยวก็ตายไปเอง เพราะในความเป็นจริง โขนหลวงไม่ได้ดูยาก ไม่ได้เรื่องมากจนเกินเอื้อม อย่างโขนหลวงที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้แสดงให้ประชาชนได้ชมทุกปี ก็มีคนไปดูมาก และดูรู้เรื่องด้วย คนสืบทอดก็มี ทั้งที่สถาบันคึกฤทธิ์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์เดิม)

11) อย่างน้อย ครูๆ เหล่านั้น ก็พยายามทำให้โขนจารีตยังอยู่ในกรอบที่ถูกต้อง เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป ไม่ผิดเพี้ยน การจะ “ต่อยอด” นั้นทำได้ แต่ต้องเข้าใจของเดิมให้ถ่องแท้เสียก่อน ส่วนเราๆ ท่านๆ ก็หันไปอ่านเรื่อง “รามเกียรติ์” กันอีกทีดีไหม อย่างน้อยก็จะได้สะกด “ทศกัณฐ์” ถูก!!

ตัวอย่างคลิป “โขนสด” ที่จิตกรยกตัวอย่างประกอบ