ในประวัติศาสตร์ ปัญหาศาสนาอินเดีย ทำให้ “ผู้นำ” ถูกองครักษ์ตัวเองสังหาร

ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=HbjrHJn4wl4

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 ก.ย. – 4 ต.ค. 2550 บทความพิเศษ โดย ภูมิ พิทยา ในเรื่อง ปัญหาชนชาติและศาสนา (10)

…ปัญหาศาสนาในอินเดียอีกเรื่องหนึ่งคือ การก่อความไม่สงบและแยกดินแดนของชาวซิกข์ในแคว้นปัญจาบ เมื่ออินเดียถูกแบ่งเป็นสองประเทศ แคว้นปัญจาบที่เป็นมาตุภูมิของชาวซิกข์ถูกแยกเป็นสองส่วน ชาวซิกข์ในเขตปากีสถานเกือบทั้งหมดได้อพยพเข้าสู่อินเดีย เพราะไม่ต้องการอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลอิสลามที่เคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตของตน

ชาวซิกข์ในอินเดียได้เรียกร้องให้รัฐบาลแบ่งปันเขตแดนแคว้นปัญจาบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้พวกตนเป็นคนส่วนใหญ่ของแคว้นนี้ ความพยายามของพวกเขาประสบความสำเร็จ เมื่อรัฐบาลอินเดียยอมแบ่งพื้นที่ของชาวฮินดูในปัญจาบไปตั้งเป็นแคว้นใหม่ในปี 1966 แต่การผ่อนปรนของรัฐบาลกลับนำไปสู่การเรียกร้องที่สูงขึ้นอีกเรื่อยๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแยกปัญจาบไปตั้งเป็นประเทศอิสระ

กลุ่มผู้เคลื่อนไหวได้ก่อเหตุรุนแรงทั่วแคว้นปัญจาบเพื่อกดดันรัฐบาลอินเดีย รัฐบาลจึงติดสินใจใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามเมื่อเดือนมิถุนายน 1984 กำลังทหารส่วนหนึ่งได้บุกเข้าไปกวาดล้างกลุ่มผู้ก่อการในวิหารทองคำที่ใช้เป็นกองบัญชาการของพวกเขา เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนับพันคน

แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ ชาวซิกข์ต่างถือว่าการบุกวิหารทองคำเป็นการลบหลู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา เป็นการกระทำที่ไม่สมควรให้อภัยของผู้นำอินเดีย หลังจากนั้นอีกสี่เดือน นางอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีของอินเดียก็ถูกองครักษ์ชาวซิกข์ของนางสังหารเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1984

การเสียชีวิตของ นางอินทิราคานธี ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบรุนแรงทั่วอินเดีย ชาวฮินดูที่โกรธแค้นพากันรุมทำร้ายชาวซิกข์ผู้บริสุทธิ์และเผาร้านค้าบ้านเรือนของชาวซิกข์ เฉพาะ 4 วันแรก ก็มีชาวซิกข์เสียชีวิตถึง 2,800 คน และต้องไร้ที่อยู่อาศัยถึง 50,000 คน

เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นการจลาจลศาสนาครั้งร้ายแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่งของอินเดีย

หลังเหตุการณ์จลาจลนองเลือด กลุ่มชาวซิกข์หัวรุนแรงยังก่อเหตุไม่เลิก รัฐบาลได้หันไปเจรจากับกลุ่มชาวซิกข์ที่มีแนวคิดประนีประนอม ในที่สุดก็สามารถบรรลุข้อตกลงที่ให้อำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้นกับชาวซิกข์กลุ่มนี้เมื่อปี 1985 รัฐบาลยังให้การสนับสนุนชาวซิกข์กลุ่มนี้จนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นขึ้นในปัญจาบ

หลังจากนั้น รัฐบาลได้ใช้แนวทางสมานฉันท์กับชาวซิกข์ พยายามแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างจากอดีต ขณะเดียวกันก็ใช้กำลังปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบอย่างเด็ดขาด

จนเมื่อถึงปี 1993 รัฐบาลสามารถจับกุมหัวโจกของกลุ่มชาวซิกข์หัวรุนแรงและสลายกองกำลังของกลุ่มนี้ การก่อเหตุรุนแรงของชาวซิกข์ในในปัญจาบจึงยุติลงโดยสิ้นเชิง

และนับแต่นั้นมา ปัญหาขัดแย้งระหว่างชาวซิกข์กับชาวฮินดูแทบไม่เกิดขึ้นอีก

การที่อินเดียมีปัญหาความขัดแย้งทางศาสนารุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยนั้น นอกจากสาเหตุทางประวัติศาสตร์ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ชาวอินเดียไม่ว่านับถือศาสนาใด ล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องศาสนามาก จนอาจกล่าวได้ว่าศาสนาเป็นชีวิตจิตใจของพวกเขา ความผูกพันลึกซึ้งต่อศาสนาทำให้พวกเขาง่ายต่อการถูกชักจูงให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังศาสนาอื่น และพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงกับคนศาสนาอื่น การขจัดปัญหาการใช้ความรุนแรงทางศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาจะไม่มีทางหมดไปจากสังคมอินเดีย การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะช่วยให้ปัญหาทางศาสนาค่อยๆ ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด

การที่อินเดียประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมา จนกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และมีแนวโน้มเติบโตเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่ายๆ นั้น น่าจะมีผลทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาค่อยๆ ทุเลาลง

เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น การหมกมุ่นในเรื่องศาสนาก็จะน้อยลง โอกาสที่จะถูกชักจูงให้ใช้ความรุนแรงกับคนศาสนาอื่นจึงย่อมลดน้อยลงไปด้วย…