การขยายหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ-ขึ้นสู่ตำแหน่งผบ.ระดับสูงในทบ. ของนายทหารหมวกแดง

https://army-etc.blogspot.com/2016/08/3-1-27.html

โดย ปิยะภพ มะหะมัด

หลังจากคำสั่งโปรดเกล้าฯ นายทหารประจำปี พ.ศ. 2559 ประกาศมาเรียบร้อย เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 40 ต่อจากพลเอกธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 39 ซึ่งเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 เป็นนายทหารจากหน่วยบัญชาการบัญชาการสงครามพิเศษ คือ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษคนที่ 17 ระหว่างปี 2558-2558 พลเอกเฉลิมชัยนับเป็นนายทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษคนที่ 4 ที่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้สำเร็จต่อจาก

14169682_10207422054176611_2129306275_n-1-696x693
พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน

1. พลเอกวิมล วงศ์วานิช ผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 28 ระหว่างปี พ.ศ. 2535-2538 อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครารมพิเศษคนที่ 3 ระหว่างปี พ.ศ. 2529-2532

2. พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 31 ระหว่างปี พ.ศ. 2541-2545 อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษคนที่ 5 ระหว่างปี พ.ศ. 2535-2537

3. พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 35 ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2550 อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษคนที่ 10 ระหว่างปี พ.ศ. 2545-2547

พลเอกเฉลิมชัยเป็นนายทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษที่สามารถกลับขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอีกครั้งในรอบ 9 ปี หลังจากนายทหารจากบูรพาพยัคฆ์ (กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์) และทหารเสือราชินี (กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเป็นผู้บัญชาการทหารบกติดต่อกัน 4 คน ระหว่างปี พ.ศ. 2550-2559 ได้แก่

1. พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา (ทหารเสือราชินี) ผู้บัญชาการทหารคนที่ 36 ระหว่างปี พ.ศ. 2550-2553

2. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (ทหารเสือราชินี) ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 37 ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2557

3. พลเอกอุดมเดช สีตบุตร (ทหารเสือราชินี) ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 38 ระหว่างปี พ.ศ. 2557-2558

4. พลเอกธีรชัย นาควานิช (บูรพาพยัคฆ์) ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 39 ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2559

การที่นายทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้เป็นครั้งแรกหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม (พฤษภาทมิฬ) พ.ศ. 2535 ภายหลังการล่มสลายผูกขาดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและระดับสูงในกองทัพบกของ จปร.5 และวงศ์เทวัญ นำมาสู่การกระจายรุ่นออกไปรุ่นต่างๆ และเปิดโอกาสให้นายทหารกลุ่มอื่นที่ไม่ได้เป็นเครือข่าย จปร.5 และวงศ์เทวัญ (กองพลที่ 1 รักษาพระองค์) สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้เช่นเดียวกัน เช่น หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ บูรพาพยัคฆ์ และทหารเสือราชินี เป็นต้น

นอกจากการล่มสลายผูกขาดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและระดับสูงในกองทัพบกของ จปร.5 และวงศ์เทวัญ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 เปิดทางให้นายทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและระดับสูงในกองทัพบกได้เช่นเดียวกัน ซึ่งกล่าวแล้วในบทความ การกลับมาขึ้นสู่ตำแหน่ง “ผบ.ทบ.” ของนายทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ นอกจากนี้ การขยายหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษซึ่งทำให้นายทหารในหน่วยดังกล่าวสามารถเติบโตในหน่วยตั้งแต่เป็นผู้บังคับหมวด (ร้อยตรี) ถึงผู้บัญชาการหน่วย (พลโท) และเข้าไปแข่งขันขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและระดับสูงในกองทัพบกกับนายทหารที่เติบโตจากหน่วยอื่นๆ ซึ่งมีผู้บังคับบัญชาหน่วยในอัตราพลโท เช่นเดียวกัน ได้แก่

1. กองทัพภาคที่ 1, 2, 3, 4
2. หน่วยป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก
3. กรมฝ่ายเสนาธิการกองทัพบก ได้แก่ กรมยุทธการกองทัพบก, กรมข่าวทหารบก, กรมกำลังพลกองทัพบก, กรมส่งกำลังบำรุงกองทัพบก และกรมกิจการพลเรือนกองทัพบก
4. กรมฝ่ายยุทธบริการกองทัพบก ได้แก่ กรมการทหารช่าง และกรมพลาธิการทหารบก
5. กรมฝ่ายกิจการพิเศษ ได้แก่ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน
6. กรมยุทธศึกษาทหารบก
7. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ก่อนที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษจะมีการขยายหน่วยให้มีผู้บังคับบัญชาการหน่วยในอัตราพลโท หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษมีประวัติการขยายหน่วย ดังนี้

1. สถาปนาขึ้นเป็นหน่วยรบพิเศษของกองทัพบกวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ใช้ชื่อว่า “กองพันทหารพลร่ม” หรือที่เรียกกันว่า “พลร่มป่าหวาย” จุดประสงค์หลักคือสามารถเผชิญและลดภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะภัยคอมมิวนิสต์ที่แพร่ขยายภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

2. ในปี พ.ศ. 2508 หลังวันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม กองพันทหารพลร่มเป็นหน่วยที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบกให้เข้าปฏิบัติการสกัดกั้นการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ และเพื่อให้เกิดเอกภาพในการปฏิบัติงาน กองทัพบก กองทัพบกได้ใช้หน่วยรบพิเศษเข้าต่อสู้กับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ และเพื่อเกิดเอกภาพในการปฏิบัติงาน กองทัพบกได้จัดตั้งศูนย์สงครามพิเศษขึ้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ขยายหน่วยจากกองพันทหารพลร่มเป็นศูนย์สงครามพิเศษ

3. หลังจากปี พ.ศ. 2525 มีการขยายหน่วยเพิ่มเพื่อรองรับภัยคุกคามจากนอกประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งในลาวและกัมพูชา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางชายแดน จากเดิมที่มีศูนย์สงครามพิเศษ มีการขยายหน่วยออกเป็นกองพลรบพิเศษที่ 1 และกองพลรบพิเศษที่ 2

4. วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2526 มีการขยายหน่วยเป็น “หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ” โดยให้กองพลรบพิเศษที่ 1 และศูนย์สงครามพิเศษเป็นหน่วยขึ้นตรง ส่วนกองพลรบพิเศษที่ 2 ถูกยุบหน่วยไป ปัจจุบันหน่วยบัญชาการหน่วยสงครามพิเศษมีโครงสร้างหน่วย ดังนี้

ipypyp

จากโครงสร้างหน่วยปัจจุบันซึ่งเป็นผลมาจากการขยายหน่วย ทำให้นายทหารในหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษเติบโตในหน่วยได้ตั้งแต่เป็นผู้บังคับหมวด (ร้อยตรี) จนถึงผู้บัญชาการ (พลโท) เส้นทางหลักการเติบโตของนายทหารในหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ก่อนที่จะออกจากหน่วยไปดำรงตำแหน่งระดับสูงในกองทัพบก ได้แก่ แม่ทัพภาค, รองเสนาธิการทหารบก, เสนาธิการทหารบก, ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก, และรองผู้บัญชาการทหารบก จนไปถึงตำแหน่งสูงสุดในกองทัพบก คือ ผู้บัญชาการทหารบก ดังนี้

uhpgo

จากเส้นทางหลักที่กล่าวข้างต้น เป็นเส้นทางหลักที่พลเอกสุรยุทธ์, พลเอกสนธิ, และพลเอกเฉลิมชัย ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พลเอกสุรยุทธ์ก่อนติดยศพลเอกในตำแหน่งที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จากผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษไปดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาค 2 พลเอกสุรยุทธ์เป็นผู้บัญชาการทหารบกที่ไม่ผ่านการดำรงตำแหน่งใน 5 เสือกองทัพบก เป็นพลเอกในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปี พ.ศ. 2541 ขณะที่พลเอกสนธิ และพลเอกเฉลิมชัย มีเส้นทางแบบเดียวกันจากบัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษติดยศพลเอกในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาหารทหารบก ก่อนดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ส่วนพลเอกวิมล ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมที่กรมผสมที่ 6 ขึ้นเป็นพลตรีในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 และผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ขึ้นพลโทในตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และแม่ทัพภาค 2 ขึ้นพลเอกในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ออกนอกกองทัพบกไปดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด จากนั้นกลับมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ต่อจากพลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี ซึ่งไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม

ทั้งนี้ ก่อนมีโครงสร้างหน่วยแบบปัจจุบัน ในอดีตนายทหารที่เติบโตจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษยุคก่อนมีการขยายหน่วยในปี พ.ศ. 2526 เติบโตในหน่วยได้สูงสุดในอัตราพลตรีที่ตำแหน่งศูนย์สงครามพิเศษ และกองพลรบพิเศษที่ 1, 2 ทำให้ต้องไปติดยศพลโทในหน่วยอื่น ก่อนที่จะเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูงในกองทัพบก มีอดีตนายทหารที่รับราชการหรือเคยอยู่ในหน่วยก่อนที่จะข้ามไปดำรงตำแหน่งนอกหน่วย และขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงในกองทัพบก เช่น

1. พลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารพลร่ม (ต่อมาคือกรมรบพิเศษที่ 1), ผู้บังคับการศูนย์สงครามพิเศษ ก่อนข้ามไปดำรงตำแหน่งเจ้ากรมกรมการรักษาดินแดน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และรองผู้บัญชาการทหารบก

2. พลเอกรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกรมรบพิเศษที่ 1 ก่อนข้ามไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 และแม่ทัพภาค 3

เมื่อมีการขยายหน่วยเป็นหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษในปี พ.ศ. 2526 อดีตนายทหารที่เคยรับราชการตั้งแต่ก่อนมีการขยายหน่วย ต่างได้รับประโยชน์จากการขยายหน่วย นายทหารบางคนสามารถเติบโตในหน่วยจนดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ นอกจากนี้ยังมีนายทหารที่เติบโตจากหน่วยอื่นข้ามมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่งระดับสูงในและนอกกองทัพบก เช่น

1. พลโทอเนก บุนยถี ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1, ผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ และผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษคนที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2526-2527

2. พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เติบโตในศูนย์การบินทหารบกจนดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การบินทหารบก ก่อนข้ามมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษคนที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2527-2529 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด

3. พลเอกขจร รามัญวงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 2 และผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษคนที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2527-2529

4. พลเอกสมพร เติมทองไชย ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกฝ่ายกำลังพล และรองเสนาธิการศูนย์สงครามพิเศษ, เสนาธิการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ, แม่ทัพน้อยที่ 2 และผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

5. พลเอกอรพันธ์ วัฒนวิบูลย์ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 2, ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 และเสนาธิการทหาร

6. พลเอกบุญรอด สมทัศน์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1, เสนาธิการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ, ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 2, รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ, ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายข่าว, รองเสนาธิการทหารบก, เสนาธิการทหารบก และเสนาธิการทหาร

7. พลเอกสุนัย สัมปัตตะวนิช ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 3, ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 4, ผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ และผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษคนที่ 13 ระหว่างปี 2550-2551

8. พลเอกภุชงค์ รัตนวรรณ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1, ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษคนที่ 14 ระหว่างปี 2551-2552, ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ และจเรทหารทั่วไป

9. พลเอกมาลัย คิ้วเที่ยง ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1, เสนาธิการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ, ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และรองเสนาธิการทหารบก

10. พลเอกโปฎก บุนนาค ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1, ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษคนที่ 15 ระหว่างปี 2552-2554 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

กล่าวได้ว่า หลังจากมีการขยายหน่วยเป็นหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษในปี พ.ศ. 2526 ผลที่เกิดขึ้นคือหน่วยเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องมีการขยายตำแหน่งออกไป ส่งผลให้นายทหารที่เลือกรับราชการอยู่ในหน่วยดังกล่าวสามารถเติบโตในหน่วยครองยศและตำแหน่งหรือเติบโตจากหน่วยอื่นแล้วข้ามมาครองยศและตำแหน่ง มีทั้งขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วย (พลโท)/รองผู้บัญชาการหน่วย (พลตรี)/เสนาธิการหน่วย (พลตรี)/ผู้บัญชาการกองพล/ผู้บัญชาการศูนย์ (พลตรี) เพื่อเตรียมขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงและผู้บัญชาการทหารบกต่อไป