เผยแพร่ |
---|
นายกรัฐมนตรี | สถานการณ์ |
พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ | ถูกยื่นอภิปราย 2 ครั้ง ครั้งแรกมีการปรับครม. ครั้งที่สอง นายกฯ ลาออกกลางสภา ก่อนถึงวันอภิปราย |
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ | ฝ่ายค้านไม่เคยประสบความสำเร็จในการยื่นอภิปรายนายกรัฐมนตรี มีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ 7 ครั้ง การอภิปรายเกิดขึ้นจริง 4 ครั้ง รัฐมนตรีถูกปรับออก 1 คน และ ลาออก 2 คน |
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ | การอภิปรายเกิดขึ้น 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายมีการปรับครม.ใหญ่ ก่อนถูกยึดอำนาจในปีถัดมา |
นายชวน หลีกภัย | สมัยแรกถูกยื่นอภิปราย 4 ครั้ง ในครั้งที่ 3 มีการปรับครม.
ครั้งที่ 4 ส่งผลให้สองรัฐมนตรี ลาออก และยุบสภาฯในที่สุด เมื่อนายชวน กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลง |
นายบรรหาร ศิลปอาชา | มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 ครั้งแรก ตามมาด้วยการลาออกของรัฐมนตรีกลุ่ม 16 ครั้งที่สอง นายกฯถูกกดดันให้ลาออก ก่อนประกาศยุบสภาฯ |
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ | มีการอภิปรายรับฟังความคิดเห็นหนึ่งครั้ง และการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอีก หนึ่งครั้ง แม้การลงมติจะสอบผ่าน แต่ความรุนแรงของ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” กดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกในอีกหนึ่งเดือนต่อมา |
นายทักษิณ ชินวัตร | มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 ครั้ง โดย ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เคยถูกอภิปราย เพราะเสียงฝ่ายค้านไม่พอ |
นายสมัคร สุนทรเวช | มีการเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 1 ครั้ง ก่อนที่นายสมัคร จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี |
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 ครั้ง มีการปรับครม. บางตำแหน่งในลักษณะหมุนเวียน |
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร | มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 ครั้ง ไม่มีผลทางการเมือง |
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา | มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 ครั้ง ในครั้งสุดท้าย มีรัฐมนตรีถูกปรับออก 2 คน |
ย้อนรอยผลสั่นสะเทือน หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 นายกฯ
ในรอบ 43 ปี นับจากรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (2522) จนถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา(2565) มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 32 ครั้ง แม้รัฐบาลจะไม่เคยแพ้โหวตเลย แต่ก็มี 3 ครั้ง ที่นายกรัฐมนตรี มีแนวโน้มสูงที่จะถูกลงมติไม่ไว้วางใจ จนต้องลาออกก่อนการลงมติ หรือ ชิงยุบสภาได้แก่ พลเอกเกรียงศักดิ์ นายชวน หลีกภัย และ นายบรรหาร ศิลปอาชา รวมทั้งกรณีที่รัฐมนตรีถูกกดดันให้ลาออก หรือ ถูกปรับออก รวมถึงการสร้างเงื่อนไขการปรับครม. ตามมา
ยุคพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ในเดือนพฤษภาคม 2522 มีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจสองครั้ง ครั้งแรกในระหว่างวันที่ 10-12 และ 15-16 ตุลาคม 2522 เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 กระทรวง คือ คมนาคม พาณิชย์ มหาดไทย และอุตสาหกรรม ที่ประชุมลงมติไว้วางใจทุกกระทรวง แต่ที่ผลตามมาอีกสามเดือนให้หลังคือการปรับครม. โดย รมว.มหาดไทย พลเอก เล็ก แนวมาลี รมว.อุตสาหกรรม นายประสิทธิ์ ณรงค์เดช รมช.คมนาคม พลอากาศเอก ประสงค์ คุณะดิลก และ รมช.พาณิชย์ นายปรก อัมระนันทน์ ถูกปรับพ้นตำแหน่ง
อย่างไรก็ตามครม.ชุดที่ปรับใหม่ มีอายุสั้นไม่ถึงหนึ่งเดือน เมื่อฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคกิจสังคม ชาติไทย ประชาธิปัตย์ได้ร่วมกันยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 3 มีนาคม 2523 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชิงลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 วาระการอภิปรายที่กำหนดไว้จึงไม่เกิดขึ้น เปิดทางก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือน มีนาคม พ.ศ. 2523 และตลอดระยะเวลา 8 ปี 5 เดือนหลังจากนั้น พรรคฝ่ายค้านไม่เคยประสบความสำเร็จในอภิปรายนายกรัฐมนตรี โดยในความพยายามยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ 7 ครั้ง การอภิปรายเกิดขึ้นจริง 4 ครั้ง โดยการเปิดอภิปรายครั้งแรก ในวันที่ 29 พฤษภาคม และ 1 มิถุนายน 2524 ผลคือ มีการปรับครม.ให้ นายประเทือง กีรติบุตร พ้นจากรมว.มหาดไทย ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 ในวันที่ 2 มิถุนายน 2525 หลังจากนั้นนาย ไพจิตร เอื้อทวีกุล ได้ลาออกจากตำแหน่ง รมช.คลัง
เมื่อพลเอกเปรม กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นสมัยที่ 2 ในเดือนเมษายน 2526 ความพยายามพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคชาติไทย ในการยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ประสบความสำเร็จ 2 ครั้ง ผ่านไปกว่าสามปี จนกระทั่งมีการยุบสภา แล้วพลเอกเปรม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สาม ในเดือนสิงหาคม 2529 และวันที่ 8-9 ตุลาคม 2529 ฝ่ายค้าน จึงสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ รมว.พาณิชย์ ร้อยตำรวจเอก สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ซึ่งแม้จะได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจ 120 และไม่ไว้วางใจ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน แต่ด้วยกระแสกดดัน ร้อยตำรวจเอก สุรัตน์ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่วนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 21-22 ตุลาคม 2530 เป็นการอภิปราย นายบรรหาร ศิลปอาชา รมว.คมนาคม ผู้เดียว ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจท่วมท้น
ยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเดือนสิงหาคม 2531 มีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจสามครั้ง โดยสองครั้งแรก ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2531 และ 19-21 กรกฏาคม 2532 ผ่านไปได้ด้วยดี จนกระทั่งครั้งสุดท้าย ที่เป็นการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจครม.ทั้งคณะใน ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฏาคม 2533 แม้จะได้รับเสียงไว้วางใจ 220 ต่อ 38 แต่ก็ตามมาด้วยการปรับครม.ครั้งใหญ่ในวันที่ 26 สิงหาคม อาทิ นายพงส์ สารสิน พ้นจากตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย พ้นจากตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ไปดำรงตำแหน่งรมว.เกษตรและสหกรณ์ สลับกับพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ที่พ้นจากตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ไปดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี นายประมวล สภาวสุ พ้นจากตำแหน่ง รมว.คลังไปดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา พ้นจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก เป็น รองนายกรัฐมนตรี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็น รมช.คมนาคม เป็นต้น จากนั้นต้องเผชิญปัญหาเสถียรภาพภายในรัฐบาลอันเนื่องจากความขัดแย้งภายในของพรรคประชาธิปัตย์ จนถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ก่อนจะถูกยึดอำนาจโดยคณะทหารในเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อมา
ยุคนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ในเดือนกันยายน 2535 มีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 ครั้ง ใน 2 ครั้งแรก ในระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2536 และ 10-12 พฤศจิกายน 2536 ซึ่งเป็นการอภิปรายรัฐมนตรี สอบผ่านไปได้ด้วยดี ส่วนการอภิปรายครั้งที่ 3 ในระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2537พุ่งเป้าไปที่ รัฐมนตรีจากพรรคพลังธรรม ได้แก่ นายบุญชู โรจนเสถียร รองนายกรัฐมนตรี นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ รมว.ต่างประเทศ และพันเอก วินัย สมพงษ์ รมว. คมนาคม ซึ่งแม้จะได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจ แต่อีก 3 เดือนถัดมาก็มีการปรับครม. โดยรัฐมนตรีทั้งสามถูกปรับพ้นจากตำแหน่งอันเป็นผลจากความขัดแย้งภายในพรรคพลังธรรม
การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 4 กำหนดในวันที่ 14 ธันวาคม 2537 เพื่อซักฟอก นายนิพนธ์ พร้อมพันธ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กรณีการออกเอกสารสิทธิ์ สปก. 4-01 แต่ทั้งนายสุเทพและนายนิพนธ์ ได้ชิงลาออกจากตำแหน่ง จึงไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในญัตติดังกล่าว ต่อมาพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2538 เพื่อจะลงมติในวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 ต่อไป แต่หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลง พรรคพลังธรรม ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้นได้เรียกประชุมพรรคเป็นการด่วน แล้วมีมติงดออกเสียง โดยรัฐมนตรีของพรรคทุกคนจะลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลไม่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้านให้ชัดเจนได้ ประกอบกับสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นสมาชิกกลุ่ม 16 ได้ประกาศจะไม่ยกมือให้ฝ่ายรัฐบาล นายกรัฐมนตรี จึงตัดสินใจประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 12.00 น. ก่อนเวลาลงมติเพียง 1 ชั่วโมง
ยุคนายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงนายกรัฐมนตรี ในเดือนกรกฎาคม 2538 การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2539 แม้คะแนนไว้วางใจจะผ่าน แต่ช่วงวันที่ 23 พฤษภาคม เป็นต้นไป จนถึงกลางเดือนมิถุนายน ก็มีรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทยอยลาออก อาทิ นายเนวิน ชิดชอบ รมช.คลัง ว่าที่ร้อยตรี ไพโรจน์ สุวรรณฉวี รมช.พาณิชย์ นายสุชาติ ตันเจริญ รมช.มหาดไทย นายสุรเกียรติ เสถียรไทย รมว.คลัง รวมถึงพันธมิตรทางการเมืองที่ลาออกตาม ได้แก่ นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รมช.อุตสาหกรรม และนายบุญชู ตรีทอง รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย
การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งต่อมา เป็นการ อภิปรายไม่ไว้วางใจนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทยเพียงคนเดียว ตั้งแต่วันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ. 2539 มีการกล่าวหาและตั้งข้อสงสัย 13 ประเด็น อาทิ การแปลงสัญชาติ (กล่าวหาว่านายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นคนจีนไม่ใช่คนไทย), การหนีภาษีขายที่ดินให้ธนาคารแห่งประเทศไทย, รับเงินสนับสนุนจากนายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องหาคดียักยอกเงินธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ, กรณีคัดลอกวิทยานิพนธ์ เป็นต้น
วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2539 กำหนดเป็นวันลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยก่อนการลงมติ พรรคร่วมรัฐบาลได้มีการเรียกประชุมและมีมติให้นายบรรหาร ศิลปอาชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่ลาออกพรรคร่วมรัฐบาล อันประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน จะไม่ยกมือไว้วางใจให้ แต่นายบรรหาร ได้ต่อรองขอลาออกภายใน 7 วันแทน ผลของการต่อรองทำให้ได้รับเสียงไว้วางใจ 207 เสียง ต่อเสียงไม่ไว้วางใจ 180 เสียง หลังจากนั้นท่ามกลางการรอคอยการยื่นใบลาออกของนายบรรหาร เจ้าตัวได้ประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ดัดหลังพรรคร่วมรัฐบาล
ยุคพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงนายกรัฐมนตรี ในเดือน พฤศจิกายน 2539 มีการอภิปรายทั่วไปเกิดขึ้น 2 ครั้งๆ แรก เป็นการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา ในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจในวันที่ 28 สิงหาคม 2540 โดยไม่มีการลงมติ แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 1 เดือน เมื่อวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง”เลวร้ายลง ในวันที่ 24 -26 กันยายน ก็มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมสภาลงมติไว้วางใจ 212 เสียง และไม่ไว้วางใจ 170 เสียง แต่แต่วิกฤติศรัทธาต่อรัฐบาลได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 11 เดือน
ยุคนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายน 2540 มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1ช่วงวันที่ 18-20 มีนาคม 2541 เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ ครั้งที่ 2 ช่วงวันที่ 27-29 มกราคม 2542 เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลคือ รมว.คลัง รมว.คมนาคม และรมว.มหาดไทย และครั้งที่ 2 ช่วงวันที่ 15-19 ธันวาคม 2542 เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ ซึ่งทั้ง 3 ครั้ง ไม่ส่งผลเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ยุคทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 และเป็น นายกรัฐมนตรีไทย ที่ไม่เคยถูกยื่นถูกยี่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้กำหนดจำนวนขั้นต่ำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี ว่าจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าสองในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งพรรคไทยรักไทย ในยุคนั้นครองที่นั่งในสภา จนทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถรวบรวมสมาชิกในสภาฯ เพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ทำได้เพียงอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเท่านั้น ต่อมาในรัฐธรมมนูญ ปี 2550 และรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกขั้นต่ำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ เหลือเพียงไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าเท่านั้น (นายกรัฐมนตรี อีกสองคนที่ไม่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจคือ นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่ง 75 วัน และนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งดำรงตำแหน่ง 11 เดือน )
การอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในยุคทักษิณ (2544-2549) เกิดขึ้นรวม 4 ครั้ง ครั้งที่ 1ช่วงวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2545 ครั้งที่ 2 ช่วงวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2546 ครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2547 และครั้งที่ 4 ช่วงวันที่ 27 มิถุนายน 2548 ซึ่งมีเพียงการอภิปรายครั้งที่4 ที่หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม จึงมีการปรับครม.ใหญ่ ซึ่งเป็นการจัดทัพของพรรคไทยรักไทยเป็นด้านหลัก
ยุคนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือนมกราคม 2551 มีการเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 1 ครั้ง ในช่วงวันที่ 24-25 มิถุนายน 2551 ซึ่งสอบผ่านด้วยดี จนกระทั่งในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน นายสมัคร จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า
ยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือนธันวาคม 2551 มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 2 ครั้ง ครั้งที่ 1ช่วงวันที่ 19-20 มีนาคม 2552 และครั้งที่ 2 ช่วงวันที่ 31พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2553 ซึ่งต่อมาในวันที่ 6 มิถุนายน ได้มีการปรับครม. บางตำแหน่งสำหรับเก้าอี้ของพรรคประชาธิปัตย์ในลักษณะหมุนเวียน
ยุคนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือนสิงหาคม 2554 มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 2 ครั้ง ครั้งที่ 1ช่วงวันที่25-27พฤศจิกายน 2555 และครั้งที่ 2 ช่วงวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2556 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตามมา
ยุคพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือนมิถุนายน 2562 หลังการเลือกตั้ง มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลรวม 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 ช่วงวันที่ 24-27 กุมภาพันธ์ 2563 ครั้งที่ 2 ช่วงวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2564 ครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 31 สิงหาคม-3 กันยายน 2564 ครั้งที่ 4 ช่วงวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565 ซึ่งหลังการอภิปรายครั้งที่ 3 มีรัฐมนตรีถูกปรับออก 2 คนคือ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน หลังมีกระแสข่าวว่ามีคีย์แมนในพรรคพลังประชารัฐบางคนหวังใช้การอภิปรายไม่ไว้วางใจในการล้มพลเอกประยุทธ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
—————————————————————