ระยะทางพิสูจน์ม้า “บิ๊กต๊อก” กล้าพอ? ที่จะแก้ปัญหายาเสพติด

ถ้าพูดถึงการทำงานของรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม น่าจะถือว่าเป็นผู้ที่ตั้งอกตั้งใจที่จะสะสางปัญหาของประเทศในขอบเขตของงานที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างเอาจริงเอาจังคนหนึ่ง

เท่าที่ติดตาม พล.อ.ไพบูลย์ เป็นรัฐมนตรีที่มองปัญหาจากความเป็นจริง และมีความกล้าหาญที่จะแก้ไขโดยไม่คิดถึงผลกระทบในเชิงภาพลักษณ์ของตัวเองมากนัก ขอเพียงมีเหตุผลอธิบายกับตัวเองได้ว่าสิ่งที่คิด สิ่งที่ทำเป็นประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติ พล.อ.ไพบูลย์ จะลงมือดำเนินการโดยไม่ลังเล

ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะทำความเข้าใจบอกเหตุบอกผลที่คิดที่ทำอย่างตรงไปตรงมา

อย่างไรก็ตาม มีบางเรื่องที่ดูเหมือนว่าความคิดที่เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาของชาติบางปัญหาที่หมักหมมมานาน กลับเป็นเรื่องยากที่คนอื่นๆ จะเข้าใจและคล้อยตามไปด้วย

เรื่องหนึ่งในนั้นคือการแก้ปัญหายาบ้า

ในความเป็นจริงคือประเทศไทยเราพยายามแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิดนี้มาอย่างยาวนานและแทบจะเรียกได้ว่าทุกวิธีการ ทั้งหนักขนาดปราบปรามเด็ดขาดจนเกิดการฆ่าตัดตอนกันอย่างโหดเหี้ยมมากมาย หรืออะลุ่มอล่วยมองคนเสพเป็นคนป่วยหาทางช่วยเหลือที่จะรักษา

แต่ไม่ว่าวิธีไหนไม่เคยสำเร็จ ยิ่งแก้เหมือนยิ่งทำให้คุกท่วมด้วยนักโทษยาเสพติดเหมือนทำให้เครือข่ายการจำหน่ายยาเสพติดชนิดนี้แพร่หลายไปไม่หยุดหย่อน

ด้วยความคิดที่ว่าเมื่อมาทำหน้าที่แล้วควรจะหาทางแก้ปัญหานี้ให้ได้

พล.อ.ไพบูลย์ กล้าหาญที่จะเสนอให้แก้ปัญหายาบ้าด้วยการให้ทางการผลิตจำหน่ายเสียเองในราคาถูก และให้มองว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องหาทางเยียวยารักษาอย่างเต็มที่

พล.อ.ไพบูลย์ มีความเชื่อมั่นว่ามีแต่วิธีนี้เท่านั้นที่จะคลี่คลายวิกฤตยาบ้าได้ แต่การเสนอเช่นนี้กลับกลายเป็นประเด็นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

ทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย

ประชาชนคิดอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

ผลสำรวจของ “นิดาโพล” ออกมาว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.36 ระบุว่า ผู้เสพยาบ้า ควรได้รับการลงโทษด้วยการจำคุกและต้องเข้ารับการบำบัดรักษา เพราะเป็นการให้โอกาสกับผู้เสพ ได้กลับตัวกลับใจ ในขณะเดียวกันก็ควรถูกลงโทษตามกฎหมายด้วย และภายในเรือนจำก็จะได้รับการฝึกทักษะการประกอบอาชีพต่างๆ และการบำบัดเป็นการรักษาเพื่อให้หายจากการติดยาเสพติด ไม่กลับไปเสพยาอีก และกลับออกมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ ถ้าใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง อาจไม่ได้ผล ต้องใช้การลงโทษทางกฎหมายและการบำบัดควบคู่กันไป

รองลงมา ร้อยละ 25.76 ระบุว่า ผู้เสพยาบ้า ไม่ควรถูกจำคุก แต่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาในศูนย์บำบัดของทางราชการ เพราะควรให้โอกาสแก่ผู้ที่ติดยาเสพติด ถือว่าเป็นผู้ป่วยที่ต้องการได้รับการรักษา ซึ่งจะใช้ระยะเวลาไม่นาน เมื่อได้รับการบำบัดแล้วอาจจะมีโอกาสหายขาดได้ บางครั้งผู้เสพอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเกิดจากการถูกบังคับให้เสพยา การจำคุกไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร กลายเป็นคนมีประวัติที่ไม่ดี และภายในเรือนจำก็มีผู้ต้องขังเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ส่วนผู้ขาย สมควรได้รับการลงโทษจำคุกมากกว่าผู้เสพ

ร้อยละ 9.36 ระบุว่า ผู้เสพยาบ้า ควรได้รับการลงโทษด้วยการจำคุกเท่านั้น เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกประเภท ทั้งผู้เสพและผู้ขายควรได้รับโทษตามกฎหมาย ควรถูกจำคุกเพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบ จะได้ไม่ออกมาเป็นภัยแก่สังคม เพราะหากได้รับการบำบัดหรือปล่อยตัวออกมาก็อาจจะหันกลับไปเสพหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมอีก ซึ่งคนที่เสพสามารถแยกแยะได้แล้วว่าควรทำหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องได้รับการจำคุกเท่านั้น

ร้อยละ 4.64 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดยาของแต่ละบุคคล ขณะที่บางส่วนระบุว่าควรได้รับโทษประหารชีวิต และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สรุปรวมความได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นไปในทางที่ พล.อ.ไพบูลย์ เห็น

อย่างไรก็ตาม อย่างที่เกริ่นนำมาแล้ว พล.อ.ไพบูลย์ ไม่ใช่เป็นรัฐมนตรีที่ทำตามกระแส แต่เป็นผู้ที่ทำในเรื่องที่ตัวเองคิดว่าสมควรทำ หากเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ในสภาวะที่รัฐบาลบางส่วนต้องการสร้างผลงานให้ประชาชนเชื่อมั่น

ทางเดินของ พล.อ.ไพบูลย์ กล้าพอที่จะทำตามความเชื่อของตัวเองว่าเป็นหนทางดีงาม จึงน่าสนใจติดตามยิ่งว่าจะได้รับอนุญาตให้ทำได้หรือไม่