E-DUANG : ​​​”สกุลไทย” กับ สงคราม “ชิงพื้นที่”

แล้ว “ปัญหา” อันเนื่องแต่การอำลาจากไปของ “สกุลไทย” ก็เริ่มมีความแจ่มชัด

แจ่มชัดในประเด็นของ “ธุรกิจ”

แจ่มชัดในประเด็นของ “เทคโนโลยี”

นี่คือพัฒนาการแห่งเทคโนโลยีอันถือได้ว่าเป็น “พลังผลิต” ซึ่งส่งผลสะเทือนและก่อความเปลี่ยนแปลง

ทั้งในแง่ของ “เศรษฐกิจ” ทั้งในแง่ของ “วัฒนธรรม”

ในแง่ของเศรษฐกิจหมายถึง “สื่อกระดาษ” ได้ค่อยๆหมดบทบาท

เหมือนที่ “บางกอก”ประสบ

เหมือนที่แม้กระทั่ง “อิมเมจ” อันถือว่า “ทันสมัย” อย่างยิ่งในโลกแฟชั่น ประสบ

กระทั่ง กระทบต่อ “คนเขียนหนังสือ”

คนเขียนหนังสือทำงานผ่านกระบวนการแห่งจินตนาการ อารมณ์ ความรู้สึก

จึงมากด้วย “ความสะเทือนใจ”

สัมผัสได้จากของ กฤษณา อโศกสิน สัมผัสได้จากของ ชมัยภร แสงกระจ่าง

สัมผัสได้จาก ชาติ กอบจิตติ

ขณะเดียวกัน สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยก็จะจัด”เสวนา” ในเรื่องนี้
มหาสมุทรแห่ง “ความอาวรณ์” คระครืนโครม

อาจปรากฏผ่าน “ความเรียง” อาจปรากฏผ่าน “เรื่องสั้น” อาจปรากฏผ่าน “นวนิยาย”
และปรากฏผ่าน “กวีนิพนธ์”

บางคนสรุปอย่างรวบรัดว่าเป็นเงาสะท้อนแห่ง “อนิจจัง” บางคนสรุปตามยุคสมัยว่าเป็น “พัฒนาการ”

เมื่อ “พลังผลิต” ใหม่ “ปรากฏ”

ก็นำไปสู่ “การเปลี่ยนแปลง” อย่างลึกซึ้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม

“สื่อกระจก” รุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็ว

“สื่อกระดาษ” ก็ค่อยๆอำลาจากไป เหมือนที่ “เครื่องคิดเลข”มาแทน “ลูกคิด”

เหมือน “กล้องดิจิตัล” มาแทนที่ “ฟิล์ม”

คนเขียนหนังสือก็ยังทำหน้าที่ในการบันทึกอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ผ่าน “เครื่องมือ”แบบไหน

ทั้งหมดนี้คือ “สงคราม” แห่ง “พื้นที่”

พื้นที่ในทาง “วัฒนธรรม” กับการเข้ามาของ “เทคโนโลยี”