เคารพ-กราบไหว้แบบอินเดีย มีประกวดความสวย มารยาทงาม แบบไทยหรือไม่?

รูปแบบการเคารพ-กราบไหว้ ของอินเดีย มีแบบไหนยังไง มีประกวดไว้สวย มารยาทงาม แบบไทย หรือไม่ “เชฟหมี” คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง พาผู้อ่านไปหาคำตอบร่วมกัน

ในบทความ หมอบกราบในวัฒนธรรมอินเดีย ที่ตีพิมพ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2559 คอลัมน์ ผี-พราหมณ์-พุทธ

เชฟหมีได้ อธิบายไว้ว่า ในฐานะคุ้นเคยกับคนอินเดีย ผมมักพบว่า เวลาพี่น้องชาวอินเดียพบครูบาอาจารย์ทางศาสนาหรือบิดามารดาของตัว แต่ละคนก็จะแสดงความเคารพต่างกันไปเพราะเขาไม่ถือว่ามีการแสดงออกที่ถูกต้องแบบเดียว ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์และที่สำคัญ “ความรู้สึก” เช่นความเคารพรักด้วย

นั่นทำให้การแสดงความเคารพจึงมีโครงสร้างกว้างๆ เช่น ถ้าเคารพมากหรืออีกฝ่ายอาวุโสมากๆ ก็ต้องโน้มตัวมากและสัมพันธ์กับ “เท้า” ของอีกฝ่ายให้มาก ดังนั้น จะก้มลงเพียงเอามือแตะเท้า ก้มกราบเท้า เอาศีรษะจรดที่เท้า จุมพิตเท้า นอนราบกับพื้นเอามือแตะเท้า กราบแล้วหยิบฝุ่นผงธุลีที่เท้าท่านมาไว้บนศีรษะ ฯลฯ ก็ถือว่าเป็นการให้ความเคารพอย่างสูงทั้งนั้น

การแสดงความเคารพโดยสัมผัสเท้านี้เรียกว่า “จรณสปรศะ” จรณะแปลว่าเท้า สปรศะแปลว่าสัมผัส

แต่หากอาวุโสใกล้เคียงและคุ้นเคยกัน จะแค่ยกมือประนมที่อก ยกไหว้ที่หน้าผาก ยกไหว้ก้มหน้าเล็กน้อย ฯลฯ อ่อนแก่กว่ากันไหว้ก่อนไหว้หลังก็ไม่ผิด

ที่ผมประทับใจคือสิ่งที่ครูของผมและพี่น้องชาวอินเดียทำเสมอ คือหากพบผู้มีความรู้สูงโดยเฉพาะทางศาสนา หรือมีคุณธรรมสูง เขาก็จะแสดงความเคารพทันที โดยไม่สนใจอายุหรือเศรษฐสถานะใดๆ

แม้ว่าในทางปฏิบัติคนอินเดียจะมีการแสดงความเคารพกันอย่างหลากหลาย โดยมีรูปแบบกว้างๆ คือการประนมมือ (ท่านี้เรียกว่า อัญชลีมุทรา) การกราบ การสัมผัสเท้า ซึ่งดูเหมือนว่าไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรมากนัก แต่ในคัมภีร์โบราณต่างๆ เช่น อปัสตัมพธรรมสูตร มนูธรรมศาสตร์ ฯลฯ ได้พูดถึงรูปแบบและรายละเอียดในการแสดงความเคารพไว้ค่อนข้างมาก เช่น

“อภิวันทนะ” หมายถึงการแสดงความเคารพบุคคลโดยทั่วไป มักประนมมือและแนะนำตัวเองต่อคนนั้นหรือบางกรณีคือการลุกขึ้นยืน

“อุปสังครหะ” คือการใช้มือสัมผัสที่เท้าของครูหรือบุคคลที่เคารพ

“ปรัตยาภิวันทนะ” คือการแสดงความเคารพตอบ โดยมากมักกล่าวว่า “ขอให้มีอายุยืน”

“นมัสการ” คือการประนมมือและกล่าวคำว่า นมัสการหรือนมะ แปลว่าขอความนอบน้อมจงมี

“ษัษฐางค” หมายถึงองค์ทั้งหก ได้แก่ การหมอบกราบ ด้วยศีรษะ มือทั้งสอง เท้าทั้งสอง และหน้าอกหรือใจ (บางที่ว่าหัวแม่เท้า หัวเข่า มือ คาง จมูก ขมับ) คือท่านอนราบกราบไปกับพื้น ถือว่านี่คือรูปแบบของการแสดงความเคารพสูงสุด โดยประเพณีปฏิบัติมักใช้กับพระเป็นเจ้า นักบวชที่เคารพอย่างสูงและคุรุทางจิตวิญญาณของตนเท่านั้น

การคุกเข่าลงก้มกราบเฉยๆ เรียกว่า “ปัญจางคประณาม” (ประณามหมายถึงการเคารพอย่างสูง) คือฝ่ามือ 2 หัวเข่า 2 และหน้าผาก (รวมเป็นห้า) แบบเดียวกับเบญจางคประดิษฐ์ในบ้านเรา โดยประเพณีปฏิบัติ ใช้ได้ทั้งกับเทพเจ้า บุคคลที่เคารพเช่นบิดามารดาและครูอาจารย์

ในมนูธรรมศาสตร์ยังกล่าวว่า เมื่อวรรณะทั้งสี่แสดงความเคารพคือทำอภิวันทนะ (เคารพและแนะนำตัวต่อบุคคลทั่วไป) ให้มีระดับต่างกันคือ พราหมณ์ยกมือไหว้ผู้อื่นในระดับหูของตน กษัตริย์ยกไหว้ระดับแก้ม ไวศยะระดับเอว และศูทรระดับเท้าของตน

กล่าวง่ายๆ คือ ยิ่งวรรณะต่ำเท่าใดก็ไหว้ต่ำลงเท่านั้น

น่าสนใจครับที่คัมภีร์ไม่บอกว่าหากผู้ถูกไหว้เป็นใครต้องไหว้แบบไหน แต่กลับบอกว่าผู้ไหว้เป็นใครต้องไหว้แบบไหน ผมคิดว่านี่จึงอาจเปิดโอกาสให้หลังจากได้ “อภิวันทนะ” หรือเคารพและแนะนำตัวกันเป็นครั้งแรกแล้ว ต้องไปคิดต่อเอาเองว่าจะเคารพผู้นั้นในแบบใดมากน้อยแค่ไหน

การแสดงความเคารพในอินเดียจึงหลากหลาย และไม่มีประกวดไหว้งามกราบสวย ชนิดมีกรรมการมาเล็งองศาไหว้ ระดับมือ ฯลฯ อย่างบ้านเรา เพราะมันตีความสำหรับการปฏิบัติได้กว้างขวาง และยืดหยุ่นได้มาก

คัมภีร์มหาภารตะ กล่าวถึงผู้ควรกราบไหว้เป็นนิตย์คือ ครู บิดามารดาและผู้ที่อาวุโสกว่า

ในคัมภีร์อื่นๆ ก็มักกล่าวถึง “ครู” (ทางศาสนา ศิลปวิทยาและจิตวิญญาณ) ว่าเป็นผู้สมควรกราบไหว้มากที่สุด และมักกล่าวถึงการแสดงความเคารพต่อครูมากกว่าบุคคลอื่นๆ ทั้งหมด

ผมยังไม่พบรูปแบบของการแสดงความเคารพต่อผู้ปกครองแว่นแคว้น เช่น จักรพรรดิราชหรือพระราชาในอินเดียโดยเฉพาะดังเช่นที่ปรากฏในวัฒนธรรมไทย

อาจเพราะคติโบราณของเรามีความเชื่อเรื่องกษัตริย์เป็นสมมุติเทวราช ซึ่งคตินี้แม้จะมีเค้ามาจากอินเดีย เช่นในมนูธรรมศาสตร์พูดถึงเทวภาวะของกษัตริย์ แต่บางท่านว่าเป็นเพียงอุปมาอุปไมยเท่านั้น

คติเทวราชของเราจึงเป็นผลผลิตของขอมมากกว่าอินเดีย และได้พัฒนาจนเข้มข้นและแตกต่างไปกว่าอินเดียมาก

ที่เรารับเอาธรรมเนียมการเคารพเทพเจ้าแบบแขกมาใช้กับกษัตริย์ของเรามาแต่โบราณ เพื่อเน้นย้ำสภาวะพิเศษศักดิ์สิทธิ์ และในสมัยโบราณ อินเดียเป็นศูนย์กลางจักรวาลและเป็น “สากล”

ไม่ใช้แบบอินเดียก็ไม่ได้เพราะจะไม่ “สากล” ทัดเทียมที่อื่น

แต่เราก็ปรุงแต่งผสมผสานอะไรของเราเองอีกมาก จนสิ่งที่เรารับมาแทบไม่มีเค้าเดิม

ไม่ใช่แค่รูปแบบ แต่โดยความคิดความเชื่อด้วย