มงคลเหรียญรูปเหมือน หลวงพ่อเกิด วัดสะพาน พระเกจิชื่อดัง-นครนายก

“พระครูพิศาลธรรมประยุต” หรือ “หลวงพ่อเกิด ปุณณปัญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดสะพาน ต.อาษา อ.บ้านนา จ.นครนายก พระเกจิชื่อดังที่สุขุมเยือกเย็น มีเมตตา พูดน้อย

สมัยยังมีชีวิตท่านได้สร้างวัตถุมงคลมากมายไม่ว่าจะเป็น ผ้ายันต์ ตะกรุด และเหรียญ

วัตถุมงคลที่จัดสร้างเป็นรุ่นแรก คือ เหรียญหลวงพ่อเกิด พิมพ์หน้าแก่ จัดสร้างเมื่อวันเสาร์ที่ 11 เมษายน 2479 เป็นเนื้อทองแดง และอัลปาก้า เพื่อหาทุนสร้างโรงเรียนวัดสะพาน ประกอบพิธีปลุกเสกด้วยตัวท่านเองเพียงรูปเดียวเท่านั้น

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเกิดครึ่งองค์ ลักษณะแก้มตอบ มีรอยย่นบนหน้าผาก 2 เส้นชัดเจน ขอบเหรียญมีเม็ดไข่ปลา ขอบด้านล่างมีลายตะขอคู่ ด้านล่างเป็นตัวหนังสือโค้งเขียนว่า “พระอุปัชฌาย์เกิด วัดสะพาน”

ส่วนด้านหลังเหรียญ มียันต์และตัวอุณาโลม อยู่ด้านบน และด้านล่างของเหรียญ ซึ่งเป็นจุดหลักของเหรียญนี้

วัตถุมงคลที่จัดสร้างส่วนใหญ่เน้นหนักที่เหรียญ ด้วยทุกเหรียญที่ท่านสร้างจะมีความประณีตทางพุทธศิลป์ พิถีพิถันด้านพิธีกรรม เป็นที่ยอมจากวงการพระเครื่อง

นอกจากพิมพ์หน้าแก่ ดังที่กล่าวมาแล้ว หลวงพ่อเกิด ยังจัดสร้างเหรียญรุ่นสอง ตามออกมา คือ พิมพ์หน้าหนุ่ม เป็นเหรียญรุ่นสอง จัดสร้างเมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2483 เป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อ แต่มีใบหน้าหนุ่ม แก้มอิ่มนูน มีเฉพาะเนื้อทองแดง

เหรียญใบสาเก สร้างเมื่อวันเสาร์ที่ 24 เมษายน 2486 ถือเป็นเหรียญรุ่นสาม เป็นรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

เหรียญแม่ครัว สร้าง พ.ศ.2492 เป็นเหรียญรูปไข่เล็ก เนื้อทองแดง และเนื้อเงิน (มีจำนวนน้อยมาก) มีเม็ดไข่ปลาที่ขอบรอบเหรียญ ไม่มีลายตะขอ ด้านหน้าใช้บล็อกหน้าหนุ่มมาปั๊มใหม่ ทำให้ด้านหน้านี้มีขี้กลาก ด้านล่างมีตัวหนังสือเขียนว่า “พระอุปัชฌาย์เกิด วัดสพาน” (อุปัชฌาย์ เขียนถูก แต่สพาน ไม่มีสระอะ)

เหรียญไข่ปลาห่าง เป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายของท่าน สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2499 เป็นเหรียญรูปไข่ ใกล้เคียงเหรียญหน้าหนุ่ม แต่มีเม็ดไข่ปลาที่ขอบเหรียญห่าง ไม่ถี่เท่า จึงเป็นที่มาของชื่อรุ่น

เหรียญหลวงพ่อเกิด ที่กล่าวมา เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง

ชาติภูมิ มีนามเดิมชื่อ เกิด สมพงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2414 ที่บ้านใกล้วัดสะพาน ต.อาษา อ.บ้านนา

ช่วงวัยเยาว์ เรียนหนังสือที่วัดสะพาน จนเมื่ออายุ 21 ปี เข้าเป็นทหารรักษาวังอยู่ในพระนคร ประมาณ 1 เดือน จึงเดินทางกลับภูมิลำเนาประกอบอาชีพทำนา ช่วยเหลือครอบครัว

อายุ 21 ปี อุปสมบท เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2434 ที่พัทธสีมาวัดสะพาน มีหลวงพ่อวัตร์ วัดพิกุลแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อดี วัดกุฎีเตี้ย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เพ็ง วัดพระโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา ปุณณปัญโญ

ศึกษาเล่าเรียนอักขระขอมโบราณ ท่องบ่นสวดมนต์ภาวนา ฝึกฝนเจริญวิปัสนาและธุดงควัตร จากพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษมีชื่อเสียงในยุคนั้น

ลำดับงานบริหารและการปกครองคณะสงฆ์ พรรษาที่ 8 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสะพาน พรรษาที่ 27 เป็นเจ้าคณะตำบลอาษา พรรษาที่ 29 เป็นพระอุปัชฌาย์

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2494 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูพิศาลธรรมประยุต

หลวงพ่อเกิด เป็นพระผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีเมตตาต่อบุคคลทั่วไปแฝงด้วยความเด็ดเดี่ยว อุตสาหะวิริยะ ให้ความอนุเคราะห์แก่ญาติโยมเสมอกัน ดำรงตนอย่างสมณรูปไม่ยินดียินร้ายในลาภยศ ไม่สนใจอามิสสิ่งของ เคร่งครัดในธรรมวินัยและศีลาจารวัตรงดงาม ปฏิบัติสมณกิจไม่ด่างพร้อย เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน

การสร้างวัตถุมงคล ท่านสร้างวัตถุมงคล ในห้วงสงครามอินโดจีนมีการสร้างกันอีกหลายรุ่น ทั้งภาพถ่าย, แหวน, ตระกรุด ผ้ายันต์ ต่างมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ และเป็นที่ปรารถนาของชาวบ้าน ตลอดจนบุคคลทั่วไป

เหรียญรูปเหมือนทุกพิมพ์ จัดเป็นเหรียญเกจิอาจารย์ลำดับต้นของจังหวัดนครนายก หาได้ยากยิ่ง

จากการที่หลวงพ่อเกิด เป็นอุปัชฌาย์ ตลอดระยะ 35 ปี จึงมีผู้เคารพเลื่อมใสฝากกุลบุตรอุปสมบทจากท่านเป็นจำนวนมาก ศิษยานุศิษย์สืบทอดวัตรปฏิบัติจนมีชื่อเสียงต่อมา ได้แก่ พระครูอภิรัตน์วรคุณ (ยอด) วัดพิกุลแก้ว, พระครูภัทรกิจโกศล (ภู) วัดช้าง, พระครูสุนทรศิลาภิวัฒน์ (ชม) วัดท่าทราย

หลวงพ่อเกิด มรณภาพด้วยอาการป่วยไข้และโรคชรา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2499 สิริอายุ 85 ปี พรรษา 64

หลังจากมรณภาพไปแล้ว วัดสะพานและวัดในพื้นที่ อ.บ้านนา จ.นครนายก ได้จัดสร้างวัตถุมงคลต่างๆ และเหรียญในนามหลวงพ่อเกิดอีกหลายครั้ง

แต่เหรียญหลวงพ่อเกิดส่วนใหญ่ถูกตามเก็บเข้ากรุ