วิเคราะห์เลือกตั้งซ่อม สส. เขต 1 พิษณุโลก : เพื่อไทย vs ประชาชน ฝุ่นตลบ

เลือกตั้งซ่อม สส. เขต 1 พิษณุโลก : เพื่อไทย vs ประชาชน ฝุ่นตลบ

วิเคราะห์โดย รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐศาสตร์ ป.โท ม.รังสิต แห่ง “อาจารย์ธำรงศักดิ์โพล” (หมายเหตุ : ทัศนะจากงานวิเคราะห์นี้ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น สื่อสามารถนำทั้งหมดหรือบางส่วนไปเผยแพร่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต)

  1. คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 55-60

เลือกตั้ง สส. ปี 2566 พิษณุโลกมีผู้มาใช้สิทธิในระดับสูงคือร้อยละ 74.98 หรือมาใช้สิทธิ 4.82 แสนคน จากผู้มีสิทธิ 6.86 แสน ทว่าเลือกตั้ง นายก อบจ. พิษณุโลก ที่เพิ่งมีขึ้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2567 มีผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยลงเหลือเพียงร้อยละ 53.33 หรือ 3.61 แสนคน ดังนั้นจึงมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิลดลงจากเลือกตั้ง สส. ถึง 1.21 แสนคน และเมื่อพิจารณาจากการมาใช้สิทธิที่เขตอำเภอเมือง (ซึ่งราวครึ่งของพื้นที่คือเขตเลือกตั้งที่ 1 นี้) ก็มีผู้มาใช้สิทธิในระดับเดียวกัน

ดังนั้น การเลือกตั้งซ่อม สส. เขต 1 พิษณุโลก อาทิตย์ 15 กันยายน 2567 แม้จะมีการหาเสียงที่คึกคักจากขุนพลของทั้งสองพรรคการเมือง ก็อาจจะส่งผลให้มีผู้มาใช้สิทธิมากขึ้น น่าจะมาใช้สิทธิราวร้อยละ 55-60 คือ 7.5-8.3 หมื่นคน (ปี 2566 เลือกตั้ง สส. มาใช้สิทธิเขตที่ 1 นี้ 9.87 หมื่นคน) จากผู้มีสิทธิในเขตเลือกตั้งที่ 1 ที่มีอยู่ 1.39 แสนคน

เว้นแต่ว่า การหาเสียงที่คึกคักจนสามารถปลุกเร้าใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญระดับชาติส่งผลให้คนลงทุนเดินทางกลับบ้านมากขึ้น ก็อาจมาใช้สิทธิเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นราวร้อยละ 65-70

  1. นัยแห่งชัยชนะ

นัยแห่งชัยชนะของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย คือ ช่อดอกไม้อันอบอุ่นจากประชาชนที่มอบต้อนรับการเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีผู้นำพรรคเพื่อไทยที่เป็นสตรีและอายุน้อยที่สุด การตอบรับกับนโยบายแจกเงินสดทันทีแก่กลุ่มคนเปราะบาง 10,000 บาท เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล ยังรักไม่จืดจางที่เพื่อไทยหันไปจับมือกับพรรค “ลุงๆ” ตั้งรัฐบาล ทั้งยังเป็นครั้งแรกที่เพื่อไทย-ไทยรักไทยสามารถเจาะสนามเขต 1 พิษณุโลกได้

นัยแห่งชัยชนะของผู้สมัครพรรคประชาชนอดีตก้าวไกล คือ การได้รับการโอบรับจากประชาชนด้วยอุดมการณ์การเมืองใหม่ไปยังพื้นที่ทั้งแผ่นดินมากยิ่งขึ้น เป็นระลอกคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่ไม่สิ้นสุด พรรคการเมืองพรรคนี้ได้เป็นสถาบันทางการเมืองในหัวใจต่อให้ต้องถูกบังคับให้เปลี่ยนชื่อพรรคเปลี่ยนกลุ่มผู้นำไปกี่ครั้ง ประชาชนก็จะยังร่วมเดินจับมือเกี่ยวแขนเผชิญหน้าโรคภัยร้ายในสังคมไทยไปด้วยกัน

  1. เพื่อไทยและพันธมิตร VS ประชาชนอดีตก้าวไกล

การเลือกตั้ง สส. เขต 1 พิษณุโลก ปี 2566 ผู้สมัครจากเพื่อไทยได้คะแนน 1.81 หมื่นเสียง เป็นอันดับที่ 3 ทว่าผู้ลงสมัครในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ไม่ใช่ผู้สมัครคนเดิม แต่เป็นผู้สมัครที่ปีก่อนลงสมัครที่เขต 3 คือ นายจเด็ศ จันทรา จบด้านบริหาร ม.นเรศวร มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยยุคแพรทองธาร และเมื่อต้นปีนี้ก็ได้เป็นประธานทีมฟุตบอลสโมสรพิษณุโลก ยูนิตี้ “หนูนาจอมโหด” ต่อจากนายณัฐชนนท์ วิวัฒน์ธนาฒย์ บุตรชายของนายมนต์ชัย นายก อบจ. พิษณุโลกต่อเนื่องมากว่าทศวรรษแล้ว ครอบครัวเป็นเจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ในเขตภาคเหนือ ซึ่งนายณัฐชนนท์คือผู้ลงสมัคร สส. แข่งกับหมออ๋อง  นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ก้าวไกล ที่เขต 1 นี้เมื่อปีที่แล้วในสังกัดพลังประชารัฐ ได้คะแนนมาเป็นอันดับสอง ทว่าในครั้งนี้ไม่ลงสนามด้วย ซึ่งนับว่าน่าเสียดายอย่างยิ่งเพราะกระแสบิดามาแรงมากในสนามเลือกตั้งจังหวัด และโอกาสเดินเข้าสู่สภามีสูงมาก

การยอมถอยของครอบครัววิวัฒน์ธนาฒย์ให้นายจเด็ศ น่าจะกล่าวได้ว่าคือการยอมแก่พรรครัฐบาลเพื่อไทย เพื่อจับมือร่วมเผด็จศึกก้าวไกล-ประชาชนที่สนามเขต 1 พิษณุโลก นอกจากนี้สายสัมพันธ์ในอดีตนั้น นายมนต์ชัย นายก อบจ. พิษณุโลก ก็เริ่มต้นชีวิตทางการเมืองเมื่อปี 2548 ด้วยการเป็น สส. จังหวัดนี้สองสมัยในสังกัดพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หมออ๋อง สัตวแพทย์ ลงสนามเลือกตั้งได้เป็น สส. ก้าวไกล ปีแรก 2562 นับว่าเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญให้กับจังหวัดพิษณุโลก ที่อดีต สส.สามสมัยพรรคประชาธิปัตย์ต้องพ่ายในเขตอำเภอเมือง ปี 2566 หมออ๋องยังคงได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเพิ่มเป็น 4.08 หมื่นเสียง และคะแนนนิยมพรรคก้าวไกลเพิ่มเป็น 4.64 หมื่นเสียง ทั้งเขต 5 ซึ่งเป็นเขตชุมชนที่สูงบนภูเขา ก้าวไกลสามารถทะลุทะลวงมาได้อีก 1 ที่นั่ง คะแนนนิยมพรรคก้าวไกลสูงเป็นพรรคอันดับหนึ่งของจังหวัดรวมถึง 1.84 แสนเสียง สูงกว่าคะแนนที่ผู้สมัคร สส. ของพรรคได้รับถึง 6.1 หมื่นเสียง

แต่แล้วพรรคก้าวไกลถูกยุบเพราะนโยบายหาเสียงแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง หมออ๋อง รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ในฐานะเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ดังนั้น โฟล์ค ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ เรียนจบนิติศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ ม.นเรศวร เจ้าของธุรกิจ หจก.พิษณุโลกไทยนครหล่อยาง และเป็นทีมงานหมออ๋องทั้งในพื้นที่จังหวัดและในสภามานานหลายปี จึงลงสนามแทน

  1. ปัจจัยแห่งชัยชนะ

สำหรับเพื่อไทย ความนิยมในการเลือกตั้ง สส. ปีก่อนในเขตเลือกตั้งที่ 1 นี้มีอยู่ที่ระดับร้อยละ 20 ทว่าชัยชนะของพันธมิตรเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นของนายมนต์ชัย นายก อบจ. ที่ได้รับคะแนนถล่มทลายทั้งจังหวัดเพิ่มมากกว่าครั้งก่อนมาเป็นระดับร้อยละ 65 ก็น่าจะทำให้ฟากเพื่อไทยมีรอยยิ้มได้บ้าง ทั้งเลือกตั้งซ่อม สส. ครั้งนี้ยังเป็นการแข่งขันกันสองคนสองพรรคจึงไม่มีปีกอนุรักษนิยมหรือที่นิยมใน “ลุงๆ” มาตัดคะแนน

สำหรับประชาชนอดีตก้าวไกล คะแนนนิยมในหมออ๋องในการเลือกตั้งปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 41 แต่จะชนะในสนามเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ได้ ต้องได้คะแนนสูงมากกว่าร้อยละ 50 ของบัตรดี ทว่า เลือกตั้งนายก อบจ. ผู้สมัครที่หมออ๋องสนับสนุนนั้นได้คะแนนในเขตอำเภอเมืองเพียงระดับร้อยละ 42.80 เป็นระดับความนิยมที่เพิ่มขึ้นแต่ยังไม่มากพอที่จะได้ชัยชนะ

หากการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนในเขต 1 มีทัศนคติและพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเป็นแบบการเลือกตั้งระดับชาติไม่ใช่แบบเลือกตั้งท้องถิ่น ฟากประชาชนอดีตก้าวไกลก็มีโอกาสได้ชัยชนะเพิ่ม เพราะคะแนนเสียงอีกร้อยละ 9 ที่ไม่ได้เลือกนายมนต์ชัย มีแนวโน้มเทมาให้ปีกนี้มากกว่า คะแนนทุกๆ ร้อยละ 1 คือคะแนนเสียงราว 7-800 คะแนน นอกจากนั้น หากเกิดโมเดลแบบราชบุรีเมื่อเลือกนายก อบจ. ต้นกันยายนที่ผ่านมา คือคะแนนมหัศจรรย์จากผู้ที่กาให้บัตรเสียและไม่เลือกใครมีระดับร้อยละลดลงจากที่คาดไว้ว่าเป็นร้อยละ 8 ก็น่าจะเป็นคะแนนนิยมของประชาชนอดีตก้าวไกล และถ้าหากมีกระแสปันใจจากเพื่อไทยจากความผิดหวังในการเมืองการจัดตั้งรัฐบาลระดับชาติในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ผู้สมัครพรรคประชาชนอดีตก้าวไกลก็น่าจะคว้าชัย

ผลโพลของคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรที่เพิ่งเผยแพร่ (7 กันยายน) ที่ระบุว่าประชาชนจะเลือกผู้สมัครพรรคประชาชนอดีตก้าวไกลร้อยละ 80.7 เลือกผู้สมัครพรรคเพื่อไทยร้อยละ 19.3 จากผู้ตอบว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็สอดรับกับทัศนคติของประชาชนทั้งประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคก้าวไกลที่มีสูงถึงร้อยละ 68.58 ซึ่งหลังยุบพรรคก้าวไกลแล้วทำให้ประชาชนเห็นด้วยกับแนวทางแก้ไขปัญหาประเทศแบบก้าวไกลสูงเพิ่มขึ้น

  1. สรุปคาดผลการเลือกตั้ง

จากการศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนพิษณุโลกระหว่างปี 2562-2567 คาดว่าน่าจะมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งระดับร้อยละ 55-60 หรือมีประชาชนมาใช้สิทธิราว 7.5-8.3 หมื่นคน คะแนนผู้ชนะต่อผู้เป็นอันดับสอง คือร้อยละ 60 : 40 ของบัตรดีที่คาดว่าจะมีร้อยละ 92 ของผู้มาใช้สิทธิ หรือผู้ชนะมีคะแนนระหว่าง 4.2-4.6 หมื่นเสียง ต่ออันดับสองด้วยคะแนน 2.8-3.1 หมื่นเสียง

ข้อมูลเพิ่มเติม

งานวิจัยส่วนบุคคลของ รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนทั้งประเทศ จำนวน 4,310 คน เก็บแบบสอบถามระหว่าง 8-21 เมษายน 2567 โดยนักศึกษาปริญญาตรี-โท-เอก คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต 127 คน เก็บแบบสอบถามใน 47 จังหวัด

ข้อคำถามว่า

“ท่านเห็นด้วยกับการยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่”

ผลการวิจัยพบว่า (มี 4,290 คนตอบคำถามข้อนี้)

เห็นด้วย ร้อยละ 10.86 (466 คน)

ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 68.58 (2,942 คน)

ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 20.56 (882 คน)

ข้อมูลพื้นฐานของผู้ตอบแบบสอบถาม

เพศ : หญิง 2,199 คน (51.02%) ชาย 1,891 คน (43.88%) เพศหลากหลาย 220 คน (5.10%)

อายุ : Gen Z (18-27 ปี) 2,194 คน (50.90%) Gen Y (28-44 ปี) 902 คน (20.93%) Gen X (45-59 ปี) 789 คน (18.31%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (60 ปีขึ้นไป) 425 คน (9.86%)

การศึกษา : ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 461 คน (10.70%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 1,053 คน (24.43%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 493 คน (11.43%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 2,079 คน (48.24%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 224 คน (5.20%)

อาชีพ : นักเรียนนักศึกษา 1,758 คน (40.79%)  เกษตรกร 374 คน (8.68%)  พนักงานเอกชน 457คน (10.60%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 472 คน (10.95%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 480 คน (11.14%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 403 คน (9.35%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 237 คน (5.50%) อื่นๆ 129 คน (2.99%)

รายได้ต่อเดือน : ไม่มีรายได้ 958 คน (22.23%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 1,031 คน (23.92%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 1,189 คน (27.59%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 611 คน (14.18%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 243 คน (5.64%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 278 คน (6.44%)

หมายเหตุ :

  1. งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยส่วนบุคคล ทัศนะจากงานวิจัยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น และขอบคุณเพื่อนอาจารย์และนักศึกษาทุกคนเป็นอย่างสูงที่ช่วยเหลือในการวิจัยครั้งนี้
  2. สื่อสามารถนำทั้งหมดหรือบางส่วนไปเผยแพร่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ขอระบุที่มาว่า “อาจารย์ธำรงศักดิ์โพล”