วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง นายก อบจ. ราชบุรี 1 กันยายน 2567

วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง นายก อบจ. ราชบุรี 1 กันยายน 2567

วิเคราะห์โดย รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐศาสตร์ ป.โท ม.รังสิต แห่ง “อาจารย์ธำรงศักดิ์โพล” (หมายเหตุ : ทัศนะจากงานวิเคราะห์นี้ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น )

1.เป็นเลือกตั้งที่คึกคักมาก

เลือกตั้ง นายก อบจ. ราชบุรี 2567 นี้ นับว่าคึกคักอย่างมากสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิในระดับเดียวกันกับเลือกตั้งนายก อบจ. ราชบุรี เมื่อธันวาคม 2563 คือ 4.55 แสนคน แม้ปีนี้จะมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าปี 2563 ราว 500 คน แต่จำนวนร้อยละของผู้มาใช้สิทธิลดลงเล็กน้อย จาก 68.15% ของผู้มีสิทธิปี 2563 คือ 667,560 มาเป็น 67.31% ของผู้มีสิทธิปี 2567 คือ 676,526 ในปีนี้ กล่าวคือมีผู้มีสิทธิเพิ่มขึ้นราว 6 พันคน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลือกตั้ง นายก อบจ. ราชบุรี คึกคัก คือทีมขุนพลแกนนำพรรคก้าวไกล-ประชาชนที่ลงพื้นที่ตลอดเกือบสองเดือนในสนามเลือกตั้ง ทำให้เป็นสนามเลือกตั้งที่ถูกจับตาในระดับชาติ เพราะเป็นสนามแรกที่พรรคก้าวไกลส่งผู้สมัครลงแข่งขันในนามพรรคอย่างเป็นทางการ และในจังหวะที่พรรคก้าวไกลถูกยุบ และต้องรณรงค์สร้างพรรคประชาชนขึ้นมาใหม่ ว่าจะสามารถแปรความโกรธให้เป็นคะแนนเสียงได้มากสักเท่าใด

  1. นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา ผู้ชนะ ได้คะแนนเท่าเดิม

เลือกตั้งที่นายวิวัฒน์ได้เป็นนายก อบจ. ราชบุรี ปีแรกปี 2563 นั้น ได้คะแนน 2.42 แสนเสียง หรือร้อยละ 65 ของบัตรดี ส่วนปีนี้ นายวิวัฒน์ก็ยังคงได้คะแนนเท่าเดิมคือ 2.42 แสนเสียง แต่ร้อยละลดลงเล็กน้อยเป็น ร้อยละ 58 ของบัตรดี สะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายของท้องถิ่นที่แน่นหนาและคงที่ของนายวิวัฒน์

  1. พรรคก้าวไกล-ประชาชน พ่ายแพ้ในสนามราชบุรีอย่างยับเยินใช่หรือไม่?

พรรคก้าวไกล-ประชาชนยังไม่สามารถปักธงแรกแห่งชัยชนะในสนามท้องถิ่นระดับจังหวัดได้ด้วยวิธีนำเสนอปัญหาและการแก้ไขเชิงนโยบาย และการเข้าหาประชาชนด้วยมือเปล่า แต่พรรคก้าวไกล-ประชาชนสามารถเพิ่มพูนความรักความนิยมในพรรคส้มได้เพิ่มสูงมากและอย่างมั่นคง ในช่วง 4 ปี ความนิยมในพรรคส้มเมื่อเลือกนายก อบจ. ราชบุรี ปี 2563 ได้ 7.5 หมื่นคะแนน แต่เมื่อเลือกตั้ง สส. 2566 ได้คะแนนจากทั้งห้าเขตเพิ่มเป็น 1.15 แสนคะแนน ปีนี้ 2567 สนามนายก อบจ. ราชบุรี นายชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ ได้ 1.75 แสนคะแนน ดังนั้น ความนิยมในพรรคส้มเพิ่มขึ้นในช่วงสี่ปีนี้ถึง 1 แสนคน

คะแนนความรักความนิยมในพรรคส้มนี้ ส่วนหนึ่งที่เพิ่มขึ้น 4.7 หมื่นคะแนน เห็นได้ชัดว่ามาจากคนที่เคยทำให้เป็นบัตรเสียเมื่อเลือกนายก อบจ. ปี 2563 ที่เป็นบัตรเสียสูงถึง 3.9 หมื่นใบ แต่ปีนี้เหลือบัตรเสียเพียง 1.6 หมื่นใบ แต่ไปเทเสียงให้พรรคส้มในปีนี้ 2.3 หมื่นเสียง ผู้ไม่เลือกใครเมื่อปี 2563 ที่สูงถึง 4.5 หมื่นเสียง ปีนี้ไม่เลือกใครลดลงเหลือเพียง 2.1 หมื่นใบ เอาไปเทเสียงให้พรรคส้มเพิ่มในปีนี้ 2.4 หมื่นเสียง นับว่าเป็นมิติมหัศจรรย์ในการผูกสร้างความรักความนิยมระหว่างชาวราชบุรีกับพรรคส้มอย่างยิ่งทีเดียว

  1. อนาคตพรรคส้มในสนามเลือกตั้ง สส. ราชบุรี 2570

ราชบุรีมี สส. ได้ 5 คน เลือกตั้ง สส. ปี 2566 พรรคพลังประชารัฐได้ สส. 3 เขต คือเขต 2 เขต 3 เขต 5 ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติได้ 2 เขต คือ เขต 1 และเขต 4 แต่หากดูคะแนนทั้งสองพรรคได้จากเขตเลือกตั้งทั้งห้าเขตรวมกัน คือ พลังประชารัฐได้ 1.36 แสนเสียง รวมไทยสร้างชาติได้ 1.21 แสนเสียง ซึ่งเมื่อนำเสียงของเขตทั้งสองพรรคมารวมกันเห็นได้ว่าคือที่มาของคะแนนที่นายวิวัฒน์ได้ในเลือกตั้งครั้งนี้

ส่วนพรรคส้มนั้น คะแนนที่ได้ปีนี้ 1.75 แสนเสียง ก็กล่าวได้ว่าได้มากกว่าคะแนนแต่ละพรรคที่ได้ สส. ทั้ง 5 เขตไปอย่างมาก และเมื่อบวกกับปัจจัยที่คนจะมาใช้สิทธิในการเลือกตั้ง สส. เพิ่มขึ้นอีก 1 แสนคน ท่านคิดว่าคนจำนวนนี้จะให้คะแนนพรรคใด? (การเลือก นายก อบจ. 2567 นี้ มีผู้มาใช้สิทธิน้อยกว่าเลือกตั้ง สส. ปี 2566 ถึง  1 แสนคน ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธินอกเขตเลือกตั้งถึง 3.4 หมื่นคน)

ดังนั้น อนาคต สส. หน้าเดิม ๆ ทุกเขตของราชบุรีกำลังสั่นคลอนเพิ่มยิ่งขึ้นทุกขณะ

  1. เลือกตั้ง นายก อบจ. ราชบุรี สะท้อนประเด็นการเมืองระดับชาติอย่างไร

พรรคก้าวไกลถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคในข้อหามีนโยบายหาเสียงแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่ามีการกระทำล้มล้างการปกครอง รวมทั้งตัดสิทธิพิธา-ชัยธวัช กรรมการบริหารพรรคอีกคนละสิบปี เมื่อ 7 สิงหาคม 2567 ขณะที่สนามเลือกตั้งนายก อบจ. ราชบุรีกำลังเริ่มต้นขึ้น ดังนั้น คะแนนเสียงประชาชนราชบุรีที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.75 แสนเสียง ที่ให้แก่พรรคส้ม จึงเป็นเสมือนสัญญาณว่าประชาชนจำนวนเพิ่มขึ้นนั้นพร้อมร่วมก้าวเดินกับพรรคประชาชนในสนามการเมืองใหม่