เผยแพร่ |
---|
หมายเหตุ : รศ.ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัย National Graduate Institute for Policy Studies หรือ GRIPS ประเทศญี่ปุ่น บทความฉบับเต็ม วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร : เศรษฐกิจไทยมาถึงจุดนี้ได้ไง…ทำอย่างไรไม่ให้ทุนไทยตกขบวนโลก?
จากปัญหาจีนทุ่มตลาดอย่างหนัก สินค้าจีนล้นทะลักเข้ามาทำตลาดในทุกอุตสาหกรรมของไทย เกิดการดิสรัปอย่างรวดเร็วเพราะราคาของสินค้าที่จีนทำออกมาได้ดี แม้ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์แต่ก็กระทบกับอุตสาหกรรมไทยไม่น้อย รัฐไทยควรจะทำอย่างไร?
รศ.ดร.วีระยุทธ ชวนมองประเด็นนี้โดยเริ่มจากการถอยกลับมามองภาพกว้างก่อน โดยยกตัวอย่างจากสินค้าแบรนด์จีนล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอดราคา 15 บาท หรือโคนไอศกรีมราคาถูก ที่ทำตลาดในไทย อันดับแรกคือคนซื้อได้ประโยชน์จริงๆ
“ต้องตั้งต้นมองที่ภาพใหญ่ที่สุดก่อน เวลาครอบครัวแรงงานต่างชาติในไทย หรือคนไทยที่ต้องอาศัยรายได้เฉลี่ยรายวันจะไปฉลองกัน เขาจะไปกินร้านไก่ชื่อดัง หรือพิซซ่าชื่อดัง ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็ราคาแพง คุณต้องยอมรับว่าสินค้าที่มันมีอยู่ในไทยราคามันสูง นั่นคือทุนจีนเขามา เขาอยู่ได้เพราะตลาดมันตอบสนองเขา คุณเคยกินไก่เป็นเซ็ต ชิ้นละเกือบร้อย ลองมาเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำเท่าไหร่ แล้วยังต้องเก็บเงินเพื่อจะกินไก่ทอด”
1.แน่นอนในทางเศรษฐศาสตร์การดัมพ์ราคาเป็นความผิด ถือว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม มีผลระยะยาวที่ไม่ดี ผิดกฏหมายก็ต้องว่ากันไปตามกฏ
2.ก็ต้องดูด้วยว่าแล้วการแข่งขันที่ผ่านมาในไทย ราคามันลดลงคุณภาพดีขึ้นเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยรวมหรือเปล่า หลายอุตสาหกรรมในไทยทำไมแข่งกันมานมนาน ทำไมราคาไม่เคยลด มันสะท้อนตลาดอุตสาหกรรมในไทยมีปัญหาหรือเปล่า? ผู้บริโภคกลับรู้สึกว่าเป็นของที่เอื้อมถึงยากขึ้นเรื่อยๆ
“ค่าแรงขั้นต่ำยังไม่พอที่จะเข้าไปบริโภคในร้านแบบนี้ อันนี้คือโจทย์ข้อแรก โจทย์ใหญ่สุด แต่ถ้าคุณดัมพ์ราคา เพื่อจะเป็นเจ้าตลาดแล้วไปขึ้นราคาตอนหลัง อันนี้ผิด ต้องขีดเส้นไว้” รศ.ดร.วีระยุทธ ชวนคิด
ไม่เฉพาะที่จีน หลังโควิดชาติมหาอำนาจหลายชาติก็ใช้วีธีไปช่วยภาคเอกชนแบบมโหฬาร ดังนั้นโอกาสสิ้นค้าล้นตลาดในอนาคตจะมีมาอีกแน่ ทั้งนี้ก็ต้องมาดู เรามีเครื่องมืออะไร หากทุนต่างชาติใช้วิธีขายตัดราคา ไทยเราก็มีหน่วยงานคือ “สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือกขค.” ที่มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบดูแล อันนี้ต้องทำให้เป็นบรรทัดฐานเริ่มต้น
จากนั้นก็ต้องมาดูภาคการผลิตส่วนไหนที่เราควรสนับสนุนให้ดำรงอยู่ ซึ่งมีวิธีประเมินหลายอย่างเช่นการจ้างงาน ต้องยอมรับหลายอุตสาหกรรม ต่อให้เราอุดหนุนต่อไปก็อาจแข่งไม่ได้ หรือเคยช่วยเหลือแล้วก็ยังปรับตัวไม่ได้ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมโคนม เราเซ็นสัญญาค้าเสรีกับออเตรเลีย นิวซีแลนด์มานานแล้ว ที่ผ่านเรารู้ว่าเราแข่งเรื่องนมผงหรือน้ำนมกับ 2 ชาตินี้ได้ จึงยังไม่มีการนับภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ต่อเนื่องมา 10-20 ปีเลย ผู้บริโภคก็ซื้อน้ำนมราคาสูงกว่าตลาดโลก เพราะมีการปกป้องทางการค้าอยู่ แต่เราก็อยากช่วยผู้ผลิตโคนมในไทย ก็ทำมา 20 ปี
ปัญหาคือเมื่อไปดูตัวเลขย้อนหลังพบว่า ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วต้องเผชิญการแข่งขัน เวลา 20 ปีก็นานพอที่จะเปลี่ยนแปลงให้แฟร์กับผู้ผลิตเอง แต่กลายเป็นว่า ผลผลิตน้ำนมที่เราได้ต่อวัวต่อตัวมันลดลง ทั้งที่กระทรวงเกษตรก็มีมาตรการช่วยเหลือตลอดมา มีงบประมาณทุกปีลงไปช่วยผู้เลี้ยงโค ก็ต้องตั้งคำถามว่า มาตรการที่ผ่านมามันไม่เกิดประโยชน์หรือเปล่า เพราะการจะทำให้น้ำนมมีคุณภาพและปริมาณมากขึ้น มันต้องไปดูกระบวนการผลิต อุณหภูมิในการรีดนม เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะมาช่วย
ขณะที่ผู้ผลิตโคนมเองก็รู้ว่าปี 2568 เขาต้องเผชิญการแข่งขันแล้ว รู้มา 20 ปีแล้ว คำถามก็คือในกรณีอย่างนี้ทำไมเราจึงยังปรับตัวไม่ได้ ทั้งๆที่มีเวลา มีงบประมาณ แล้วทุกคนก็รู้เดดไลน์ที่จะเกิดขึ้น ตรงนี้ก็ต้องเป็นกรอบสำหรับทำนโยบายในอนาคตเช่นกัน
ว่าทุ่มเงินไปตลอดหลายปี รวมๆ แล้วเป็นเงินหลายพันล้าน ทำไมยังไม่สามารถส่งผู้ประกอบการไทยไปแข่งกับตลาดโลกได้ เพื่อความแฟร์ทั้งผู้ผลิตและบริโภค คิดว่าต้องมีนโยบายช่วยเหลือจากรัฐ แต่ก็ต้องถอดบทเรียนกันว่าหลายเรื่องที่พยายามจะปรับตัว ทำไมปรับแล้วยังแข่งกับชาวโลกไม่ได้?
รศ.ดร.วีระยุทธ ยังยกตัวอย่างบริษัทยานยนต์ใหญ่ระดับโลกสัญชาติญี่ปุ่นอย่างโตโตต้า ว่าในระยะแรกไม่ได้เก่ง สู้อเมริกาไม่ได้เลย ฟอร์ดในช่วงโตโยต้ายุคแรก คุณภาพก็ดีกว่า ราคาก็ยังถูกกว่า ผู้บริโภคญี่ปุ่นต้องซื้อรถราคาแพง เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งกำแพงภาษี ไม่ให้รถจากต่างชาติ เข้ามาแข่งในประเทศได้ง่าย คนญี่ปุ่นต้องซื้อรถโตโยต้าราคาแพงมา 30 ปี แต่ผ่านมา 30 ปี คุณภาพของโตโยต้าอยู่ในระดับดี แข่งกับชาวโลกได้ คนรุ่นพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นต้องทนซื้อรถโตโยต้าราคาแพงมานาน บางคนทำงาน 30 ปียังซื้อไม่ได้เลย
แต่หากย้อนกลับมาถามคนรุ่นลูกในปัจจุบัน ว่าจะยอมกลับไปซื้อรถุราคาแพงไหม คำตอบก็คงไม่
แต่ในท่ามกลางความสำเร็จของโตโยต้า ก็มีบทเรียนความล้มเหลวของมาเลเซียกับรถ “Proton” ที่รัฐอุดหนุนมา 20 – 30 ปี เหมือนกัน สุดท้ายก็แข่งกับชาวโลกไม่ได้ หรือในความสำเร็จของซัมซูง จากเกาหลีใต้ ก็มีความล้มเหลว อัดเงินรัฐเข้าไปแล้วไม่ขยับขึ้นมา
ทั้งหมดตอบเราได้อย่างหนึ่งว่า สุดท้ายแล้วเราต้องเลือก เพราะที่สุดเราคงไม่สามารถปกป้องธุรกิจไทยทุกธุรกิจไม่ให้เผชิญการแข่งขันจากโลก แต่คำถามคือจะเลือกอะไร ซึ่งการเลือกหลักคือก็ต้องมีหัวใจ ต้องรู้ว่าอะไรคืออุตสาหกรรมที่อยากจะเก็บไว้ให้เป็นของไทย อุตสาหกรรมไหนที่อยากจะพัฒนา และคิดว่ามันเป็นหัวใจของโลกอนาคต ถ้าไม่มีจะไปต่อไม่ได้ แต่โดยรวมๆแล้วมันจำเป็นต้องเลือก และจำเป็นต้องให้มีการเผชิญการแข่งขัน
“แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรายใหญ่ในไทยก็ต้องทำให้การแข่งขันมันแฟร์ขึ้น ไม่ใช่กีดกันทุนต่างชาติอย่างเดียว แต่ในประเทศเราก็มีทุนผูกขาด มียักษ์ใหญ่อยู่เหมือนกัน ถ้ามัวแต่กันไม่ให้มีการแข่งขัน สุดท้ายยักษ์ใหญ่ทุนผูดขาดก็ได้ประโยชน์ ฉะนั้น บางอุตสาหกรรม เราอาจจะต้องการการแข่งขันเพื่อให้ทุนใหญ่ของไทยปรับตัวด้วยซ้ำ ถ้ามัวแต่ปักธงกีดกันการแข่งขันทางการค้า สุดท้ายก็อาจเกิดเสือนอนกินอีกมโหฬาร ซึ่งก็เป็นอันตราย” รศ.ดร.วีระยุทธ ระบุ
แต่เมื่อยกตัวอย่างอุตสาหกรรมแอร์ของไทย ซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้นำการส่งออกระดับโลก แต่ปัจจุบันกลับถูกแอร์จากจีน เข้ามาตีตลาดอย่างหนักด้วยราคาที่ถูก ซึ่งมีผลทำให้ยอดขายแอร์ภายในประเทศลดลงรวมถึงเกี่ยวข้องกับการจ้างงานที่อาจลดลงด้วยนั้น รศ.ดร.วีระยุทธ มองเรื่องนี้ว่า แอร์ไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะเติบโตและไปต่อได้ แต่ก่อนหน้านี้เราเคยส่งออกไปอินโดนีเซียจำนวนมาก แล้วถูกทางอินโดนีเซียตั้งกำแพงภาษีจนส่งออกไปไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ค่อยเป็นข่าวและรัฐไทยก็ไม่ค่อยขยับตัวตามไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ยืนยันว่าแอร์ไทยเติบโตและควรได้รับการสนับสนุนให้แข่งขันต่อไปได้
เรื่องนี้ต่อเนื่องกับเรื่องดิจิตอลวอลเล็ตที่รัฐบาลกำหนดไม่ให้ใช้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งโทรศัพท์ชัดเจนว่าส่วนใหญ่นำเข้าแทบจะทั้งหมด แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องแยกเพราะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราเป็นผู้ผลิตและมีความสามารถในการผลิต โอกาสที่เราจะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยควรได้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วย