ขอบคุณข้อมูลจาก | MIC ศูนย์ข้อมูลมติชน |
---|---|
เผยแพร่ |
กลยุทธ์ “ณัฐพงษ์”
เล็งเป้าดิจิทัล
เปลี่ยนอนาคตประเทศ
หนึ่งในผลงานและความเชี่ยวชาญความโดดเด่น ที่ผ่านมา ของ “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรคประชาชน คือ การเลือกใช้ “อาวุธทรงอานุภาพ” ใน “สมรภูมิที่สำคัญ”
“วิศวกรรมคอมพิวเตอร์” คือ “อาวุธ”
“งบประมาณแผ่นดิน” คือ “สมรภูมิ”
ย้อนหลัง ไปเมื่อ 21 มิถุนายน 2567 ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ณัฐพงษ์ อภิปรายงบ 68 วาระ 1 ให้ข้อมูล ตอนหนึ่งว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีภาระทางการคลังที่รัฐสภาได้รับรายงาน ต่ำกว่าความเป็นจริงอีกราว ๆ อย่างน้อย 1.2 ล้านล้านบาท เพราะยังไม่นับรวมการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่รัฐอาจจะต้องเข้าไปอุ้ม ในอนาคต ซึ่งหากนับรวมตัวเลข 1.2 ล้านล้านบาทนี้เข้าไปแล้ว ก็จะพบว่า ภาระทางการคลังในปัจจุบัน ก็จะเลยกรอบหนี้สาธารณะ 70% ต่อ GDP ตามมาตรา 50 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ไปแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าประเทศมีความเสี่ยง
อีกหนึ่งตัวอย่าง ณัฐพงษ์ ทำการบ้านในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ คือการรวบรวม”ตัวเลข”โครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไปซึ่งปรากฏอยู่ในแผนงานต่าง ๆ ได้ทั้งหมด 654 โครงการ มูลค่ารวม 16.7 ล้านล้านบาท โดยมีแผนที่จะใช้งบประมาณของรัฐสูงถึง 12.3 ล้านล้านบาท โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบราง ถนน และน้ำ
โครงการและงบประมาณเหล่านี้ ล้วนเป็น ขุมทรัพย์ และผลประโยชน์ทางการเมือง มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในกระทรวงเกรดเอ
ผลการศึกษา ได้ข้อสรุปว่าโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เป็นโครงการที่มีความซับซ้อน ในด้านการวางแผนและการดำเนินงาน เนื่องจากการจัดทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มีขอบเขตที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน อย่างไรก็ดี ยังขาดการบูรณาการอย่างแท้จริง ตั้งแต่ ขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ขั้นตอนการดำเนินงาน
“ท่านมองเห็นอนาคตของประเทศ มองเห็นการเปลี่ยนแปลง มองเห็นการลงทุนอย่างมีคุณภาพ และการใช้จ่ายอย่างมียุทธศาสตร์ ไปพร้อมๆ กับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างสมดุล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ กับประเทศหรือไม่?”ณัฐพงษ์ กล่าวนำอภิปรายงบประมาณ และเสนอระบบกลไก ที่มีคุณสมบัติ 3 ข้อ
หนึ่ง ต้องเป็นกลไกที่มีความโปร่งใส และทำ ให้เราเห็นข้อมูลได้อย่างครอบคลุมรอบด้าน
สอง ต้องเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ที่นอกเหนือจากการใช้จ่าย ‘เงินในงบประมาณ’ แล้ว จะต้องมีการเชื่อมโยงการใช้จ่าย “เงินแผ่นดิน” และ “เงินนอกงบประมาณ” ที่อยู่ในหน่วยงานของรัฐอื่น เข้มาอีกด้วย
สาม ต้องเป็นกลไกที่สร้างความรับผิดรับชอบของฝ่ายบริหาร ต่อฝ่ายตรวจสอบ และสาธารณะ เช่น ทำ อย่างไรให้รัฐสภา มีส่วนร่วมในการพิจารณาการ ดำเนินมาตรการของรัฐบาล ที่อาจส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ หรือส่ง ผลให้เ กิดเป็นภาระทางการคลังของรัฐในระยะยาวได้ เป็นต้น
เครื่องมือสำคัญคือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้คนไทยมีรัฐบาลที่โปร่งใส และเอาใจใส่ประชาชน
ในช่วง ณัฐพงษ์ เป็นสส.สมัยแรกในปี 2562 เขาจับงานด้านนงบประมาณ โดยเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการงบประมาณปี 2563 ได้ผลักดันให้มีการแปลงเอกสารงบประมาณจากรูปแบบกระดาษหรือไฟล์ PDF กว่าหนึ่งหมื่นหน้าในแต่ละปี มาเป็นไฟล์ตาราง Excel เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และประชาชนที่สนใจสามารถนำตัวเลขไปวิเคราะห์ต่อได้ง่าย
“ประชาชน”ที่มาร่วมจัดทำและวิเคราะห์ ก็มาจาก “สมาชิกกลุ่มก้าว Geek” ที่สร้างขึ้นในโปรแกรม Discord บนซึ่งมีฐานสมาชิก 161,744 ราย ที่ทำให้ สามารถวิเคราะห์ งบประมาณ 2567 ได้อย่างแหลมคม ทั้งๆที่รัฐบาลแจกเอกสารกระดาษ และให้เวลาทำความเข้าใจเพียง 1 สัปดาห์ จากเดิม 2 สัปดาห์
ผลจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาจับ ณัฐพงษ์ และ กลุ่มก้าว Geek พบว่า ทั้งๆที่งบประมาณปี 2567 จัดทำโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับกลายเป็นว่า สัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลลดลง โดยในช่วงรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 29.8 แต่งบประมาณปี 2567 เป็นปีแรกที่สัดส่วนนี้ลดลงเหลือเพียง 29.1
ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกล ได้นำเสนอนโยบาย “เปิดข้อมูลรัฐทันที ประชาชนเป็นเจ้าของ” ประกอบด้วยข้อเสนอ
-ข้อมูลของรัฐ คือข้อมูลที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ รัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล
-ข้อมูลของรัฐ ต้อง “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” (Open by Default) โดยหากจะปกปิด ต้องร้องขอด้วยเหตุผลที่สมควรเท่านั้น (เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลที่ต้องลับ)
-ข้อมูลที่ถูกตีตราว่าเป็นข้อมูล “ความลับราชการ” จะต้องไม่ลับตลอดกาล โดยกำหนดระยะเวลาที่ข้อมูลจะต้องเป็นความลับ และถูกเปิดเผยทั้งหมดเมื่อระยะเวลาสิ้นสุดลง
-ข้อมูลจะต้องถูกเปิดในรูปแบบที่นำไปวิเคราะห์ต่อได้ (machine readable) เพื่อความสะดวกของประชาชนในการตรวจสอบ (เช่น ถ้าเป็นข้อมูลตัวเลข ก็ควรเป็นรูปแบบ Excel)
-การประชุมกรรมาธิการทุกคณะของรัฐสภา ต้องมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปดูย้อนหลังได้ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าผู้แทนของพวกเขา เข้าไปพูดหรือทำอะไร
งานสำคัญของ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ในขณะนี้คือ “Cloud First Policy” เป็นการผลักดัน การบูรณาการนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีคลาวด์เป็นหลัก หรือ เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินงานด้านบริการดิจิทัสภาครัฐให้แก่ประชาชนพร้อมกับมีแนวทางนโยบายคลาวด์เฟิร์สต์ของรัฐบาลไทย (Thailand’s Government Cloud Guideline) ดังเช่น ประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา(Federal Cloud Computing Strategy / Cloud Smart) สหรราชอาณาจักร (Government Cloud First Policy) อิตาลี(Italian Cloud Strategy) และ สิงคโปร์ (Government on Commercial Cloud :GCC)
“เทคโนโลยีดิจิทัล” จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งอาวุธแหลมคมของ “พรรคประชาชน” ที่ต้องติดตาม