ผู้เขียน | เดอะซาวด์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อีกหนึ่งความสุขของคนไทย ในโอลิมปิก 2024 ช่วงค่ำคืนที่ 7 ต่อเนื่องก่อนเช้าวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา คือ เหรียญเงินจากกีฬายกน้ำหนักชาย และเหรียญทองแดงจากกีฬายกน้ำหนักหญิง
เดิมการแข่งขันกีฬายกน้ำหนัก ในโอลิมปิก มีเฉพาะประเภทชาย โดยประเทศไทยส่งนักกีฬายกน้ำหนักร่วมแข่งขันครั้งแรกในปี 1964 ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น และส่งเข้าร่วมในปี 1968, 1972 ,1976 ,1992 และ 1996 แต่ยังไม่เคยสัมผัสเหรียญรางวัลใดๆ
จนกระทั่งในปี คศ.2000 อันเป็นปีแรกที่การแข่งขันกีฬายกน้ำหนักหญิงได้ถูกบรรจุเข้าในโปรแกรมการแข่งขันครั้งแรกในโอลิมปิก 2000 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย‘เกษราภรณ์ สุตา’ ได้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกีฬายกน้ำหนักไทย ในโอลิมปิก ด้วยการประเดิมคว้าเหรียญทองแดง จากการแข่งขันกีฬายกน้ำหนักรุ่น 58 กิโลกรัม ซึ่งนับเป็นทั้งเหรียญแรกของกีฬายกน้ำหนักไทย และ เหรียญแรกของผู้หญิงไทยในโอลิมปิก
ประกายความหวังที่จุดขึ้นโดย เกษราภรณ์ ได้เป็นแรงผลักดันให้ในอีกสี่ปีต่อมา “อุดมพร พลศักดิ์” หรือ “น้องอร” ได้ตะโกนคำว่า “สู้โว้ย” ลั่นสนามการแข่งขันกีฬายกน้ำหนักรุ่น 53 กิโลกรัม ในการแข่งขันโอลิมปิก 2004 ณ กรุงเอเธนส์ สาธารณรัฐเฮลเลนิก ก่อนคว้า “เหรียญทอง” จากการแข่งขันดังกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
นอกจากน้องอร แล้ว “ร้อยเอกหญิง ปวีณา ทองสุก” ยังคว้าเหรียญทองเหรียญที่สอง จากกีฬายกน้ำหนักรุ่น 75 กิโลกรัมอีกเช่นกัน ขณะที่ไทยยังได้เหรียญทองแดงจากกีฬายกน้ำหนักอีกอีก 2 เหรียญ จาก ‘เรือตรีหญิง อารีย์ วิรัฐถาวร’ และ ‘วันดี คำเอี่ยม’ อีกด้วย นับเป็นประวัติศาสตร์แห่งวงการกีฬายกน้ำหนักหญิง ที่เข้าร่วมโอลิมปิก2 ครั้ง สามารถคว้าเหรียญให้ประเทศไทยมากถึง 5 เหรียญ
ผลความสำเร็จของนักยกน้ำหนักหญิงไทยใน โอลิมปิก 2004 เมื่อรวมกับ 1 เหรียญทองของ มนัส บุญจำนงค์ จากกีฬามวยสมัครเล่น ทำให้ในปีนั้น ไทยประสบความสำเร็จได้เหรียญทอง 3 เหรียญ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยได้เหรียญทองมากกว่า 1 เหรียญ
โอลิมปิก 2008 ที่ สาธารณรัฐประชาชนจีนประเทศไทย คว้าเหรียญจากกีฬายกน้ำหนักมาทั้งสิ้น 3 เหรียญ โดย ร้อยตรีหญิง ประภาวดี เจริญรัตนธารากุล ได้คว้าเหรียญทองจากกีฬายกน้ำหนัก รุ่น 53 กิโลกรัม ในขณะที่ เพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล และ วันดี คำเอี่ยม ได้คว้าเหรียญทองแดง
ต่อมาในการแข่งขันโอลิมปิก 2012 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร “พิมศิริ ศิริแก้ว” ได้คว้าเหรียญเงินในการแข่งขันยกน้ำหนัก รุ่น 58 กิโลกรัม ในขณะที่ศิริภุช กุลน้อย ได้เหรียญทองแดงในรุ่นเดียวกัน ซึ่งต่อมาในโอลิมปิก 2016 ณ กรุงรีโอเดจาเนโร พิมศิริก็ยังคว้ารางวัลเหรียญเงินในการแข่งขันกีฬายกน้ำหนักอีกเช่นกัน
ทั้งนี้ในกรณี ศิริภุช กุลน้อย เป็นนักกีฬาที่ได้เหรียญทองแดงโอลิมปิกย้อนหลัง จากการคว้าอันดับ 4 ในโอลิปปิก 2012 แต่หลังจากนั้น 6 ปี นักกีฬาจากยูเครนที่ได้อันดับ 3 ตรวจพบใช้สารต้องห้ามจึงถูกริบเหรียญ จึงมีการขยับให้ศิริภุชขึ้นรับเหรียญทองแดง
โอลิมปิก 2016 ประเทศไทยยังได้เหรียญจากกีฬายกน้ำหนักอีก 3 เหรียญ โดย เป็น 2 เหรียญทองจากพลังหญิงของ สุกัญญา ศรีสุราช และโสภิตา ธนสาร ในขณะที่ สินธุ์เพชร์ กรวยทอง ก็คว้าเหรียญทองแดงจากกีฬายกน้ำหนักชาย รุ่น 56 กิโลกรัม ซึ่งนับเป็นนักยกน้ำหนักชายคนแรกของไทยที่ได้เหรียญโอลิมปิก หลังจากรอคอยมา 52 ปี นับจากการส่งทีมนักยกน้ำหนักชายเข้าร่วมแข่งขันในปี 1964
น่าเสียดายที่ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สมาคมยกน้ำหนักประเทศไทยกลับถูกแบนไม่ให้เข้าแข่งขันจากกรณีพบสารต้องห้ามในร่างกายของนักกีฬา จึงทำให้ในปีนั้นไทยไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาประเภทนี้
โอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นับจึงเป็นการกลับมาอีกครั้งอย่างสมศักดิ์ศรีเมื่อ ออย สุรจนา คำเบ้า คว้าเหรียญทองแดงจากแข่งขันกีฬายกน้ำหนัก รุ่น 49 กิโลกรัม ในขณะที่ ฟ่าง ธีรพงศ์ ศิลาชัย คว้าเหรียญเงินจากกีฬายกน้ำหนัก โดยทำน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 303 กิโลกรัม และนับเป็น “เหรียญเงินเหรียญแรก” ของกีฬายกน้ำหนักชายอีกด้วย
เมื่อนับเหรียญรางวัลที่ไทยได้รับจากกีฬาดังกล่าวนั้นจะพบว่าประเทศไทยได้รับเหรียญจากกีฬายกน้ำหนักหญิงทั้งสิ้น 14 เหรียญ ในขณะที่ได้กีฬายกน้ำหนักชายได้ 2 เหรียญ รวม 16 เหรียญ (นับถึง 7 ส.ค.67) นับเป็นกีฬาที่ไทยสามารถคว้าเหรียญจากการแข่งขันได้ในทุกรอบที่เข้าแข่ง
อ้างอิง : https://olympicthai.org/athletics/
#ยกน้ำหนัก #กีฬา #ฟ่างธีรพงศ์ #ออยสุรจนา #โอลิมปิก #การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก2024 #Paris2024 #Olympic #ศูนย์ข้อมูลมติชน #MatichonMIC