เปิดประวัติ ‘วิว กุลวุฒิ’ เริ่มเล่นแบด 7 ขวบ จากป่วยภูมิแพ้ สู่เหรียญประวัติศาสตร์ และเบื้องหลัง ‘บ้านทองหยอด’ ผู้เจียระไนเพชร

Kunlavut Vitidsarn
(Photo by ARUN SANKAR / AFP)

ประวัติ “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์
จาก “ภูมิแพ้” สู่ เหรียญประวัติศาสตร์

ย้อนหลังไปในเดือนสิงหาคม ปี 2566  กุลวุฒิ วิทิตศานต์ กลายเป็นนักแบดมินตันชาวไทยคนที่ 3 ที่คว้าแชมป์โลกได้ ต่อจาก “เมย์”รัชนก อินทนนท์” เมื่อปี 2556  ในประเภทหญิงเดี่ยว และ “บาส”เดชาพล พัววรานุเคราะห์” กับ “ปอป้อ”ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย” แชมป์โลกคู่ผสมเมื่อปี 2564

เป้าหมายสำคัญ ต่อไป จึงหนีไม่พ้น “โอลิมปิก 2024”

กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ชื่อเล่น วิว เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 เป็นบุตรของนายณัฐวัชร และนางนัฎกนก วิทิตศานต์ มีน้องสาว 1 คน คือ  “ส้ม “สรัลรักษ์ วิทิตศานต์ ซึ่งเป็นนักกีฬาแบดมินตันเช่นกัน  และเพิ่งคว้าแชมป์หญิงเดี่ยว ในรุ่น 19 ปี ในการแข่งขันแบดมินตัน โตโยต้า ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2567 ทำให้ สรัลรักษ์ คว้าสิทธิ์เป็นตัวแทนนักกีฬาเยาวชนทีมชาติไทย ไปแข่งขันแบดมินตันเวิลด์ จูเนียร์ แชมเปี้ยนชิพ หรือ ศึกเยาวชนชิงแชมป์โลก 2024 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 30 ก.ย. – 13 ต.ค.นี้ ที่เมืองหนางชาง สาธารณรัฐประชาชนจีนโดยอัตโนมัติด้วย

Kunlavut Vitidsarn

กุลวุฒิ เริ่มเล่นแบดมินตันเมื่ออายุ 7 ปี เนื่องจากต้องตามคุณพ่อซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนแบดมินตันไปที่สนามในระยะแรกนั้น กุลวุฒิจึงได้เล่นแบดมินตันเพื่อความสนุกสนาน และด้วยความที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ จึงเล่นกีฬาเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง

ต่อมากุลวุฒิเริ่มฝึกซ้อมแบดมินตันอย่างจริงจังเพื่อลงแข่งขันระดับยุวชน และเยาวชนภายในประเทศ ในสังกัดชมรมแบดมินตันเสนานิคม ภายใต้การดูแลของไตรรงค์ ลิ่มสกุล และเมตไตรย์ อมาตยกุล

ปี 2552 กุลวุฒิได้เข้าร่วมการแข่งขันแบดมินตันรุ่นอายุต่ำกว่า 9 ปี และเริ่มประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลชนะเลิศอย่างสม่ำเสมอ ตลอดช่วง 3-4 ปีถัดมา

ปี 2557 ซึ่งขณะนั้นกุลวุฒิอายุ 13 ปี ก็ได้ย้ายไปอยู่สังกัดโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ด้วยแรงบันดาลใจที่เห็น “เมย์-รัชนก อินทนนท์”คว้าตำแหน่งแชมป์โลกในประเภทหญิงเดี่ยว ซึ่งก่อนหน้านั้นทาง “บ้านทองหยอด” ได้ติดตามและประทับใจการฟอร์มการเล่น ของ ด.ช.กุลวุฒิ มาก่อนแล้ว เมื่อตัดสินใจย้ายสังกัด เขาจึงได้รับโอกาสแข่งขันในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยในระดับชาตินั้น กุลวุฒิได้เข้าร่วมการแข่งขันรายการแบดมินตันเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในรุ่นอายุต่ำกว่า 14 ปี และได้รับรางวัลชนะเลิศ

หลังจากนั้นก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในรายการเดียวกันทุกปีที่แข่งขัน คือ รุ่น 14 ปี ในปี 2557 และ ปี 2558 รวมถึงรุ่น 16 ปีในปี 2559 และรุ่นใหญ่ที่สุด อายุต่ำกว่า 19 ปี ในปี 2560

Kunlavut Vitidsarn

สำหรับระดับนานาชาติ กุลวุฒิเข้าร่วมการแข่งขันรายการแบดมินตันเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นครั้งแรกในปี 2557 และได้รับรางวัลชนะเลิศ ต่อมาในปี 2559 และ 2560 ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในรุ่นอายุต่ำกว่า 17 ปี ในรายการนี้เช่นกัน.

ต่อมาครึ่งปีหลังของปี กุลวุฒิสามารถทำผลงานในระดับเยาวชนนานาชาติ อายุต่ำกว่า 19 ปีได้เป็นอย่างดี ได้รับรางวัลชนะเลิศในหลายรายการสำคัญ กระทั่งในวันที่ 22 ตุลาคม 2560  ได้รางวัลชนะเลิศในรายการแบดมินตันเยาวชนชิงแชมป์โลก ประเภทชายเดี่ยว ที่ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยวัยเพียง 16 ปี 5 เดือน นับเป็นแชมป์เยาวชนโลก ประเภทชายเดี่ยวคนแรกของประเทศไทย

ชัยชนะในวันนั้น ยังเป็นที่จดจำ เป็นพิเศษ ของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด  เพราะในวันเดียวกัน รัชนก อินทนนท์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทหญิงเดี่ยว แบดมินตันซุปเปอร์ซีรีย์ พรีเมียร์  “โยเน็กซ์ เดนิซ่า เดนมาร์ก โอเพ่น” ที่เมืองโอเดนเซ่น ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งนับเป็นคว้าแชมป์แรกของปี 2560 ของน้องเมย์

ชัยชนะครั้งนั้น ยังทำให้ กุลวุฒิถูกจับตามองว่า จะเป็นนักแบดมินตัน ที่ประสบความสำเร็จตามรอย เมย์ รัชนก

ในปี 2561 กุลวุฒิสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในรายการแบดมินตันเยาวชนชิงแชมป์โลก ประเภทชายเดี่ยวติดต่อกันเป็นสมัยที่ 2 หลังจากชัยชนะในครั้งนี้ กุลวุฒิในวัย 17 ปี  ก็ขยับไปแข่งขันในรุ่นทั่วไป เพื่อสะสมคะแนนอันดับโลกรุ่นทั่วไป โดยจะไปแข่งขันรายการอินเตอร์เนชั่นแนล ชาลเลนจ์ หรือ เวิลด์ทัวร์ ซุปเปอร์ ซึ่งเขาประเดิมชนะเลิศถึง 5 รายการ ในระหว่างปี 2561-2562  ได้แก่  YONEX SUNRISE Nepal International Series 2018(เนปาล) The 28th Iran Fajr International Challenge 2019(อิหร่าน)  YONEX Polish Open 2019(โปแลนด์)  Finnish Open 2019(ฟินแลนด์)  และSpanish International 2019(สเปน)

ปี 2565 กุลวุฒิ สามารถเอาชนะ “ก็อก จิง ฮอง” คว้าเหรียญทองให้กับประเทศไทยในกีฬาซีเกมส์ 2022 ที่ประเทศเวียดนาม

นอกจากนี้ วิว กุลวุฒิ ยังผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศกับ “วิคเตอร์ อเซลเซ่น” มืออันดับ 1 ของโลกในขณะนั้น จากเดนมาร์ก ในรายการแบดมินตันชิงแชมป์โลก 2022 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และได้รองแชมป์มาครอง ซึ่งตอนนั้นก็กลายเป็นนักแบดมินตันไทยคนแรกที่ได้ตำแหน่งรองแชมป์ในรายการนี้    ก่อนจะสร้างสร้างประวัติศาสตร์ คว้าแชมป์โลกชายเดี่ยว ในเดือนสิงหาคม 2566  ได้สำเร็จ

ผลงานยอดเยี่ยมในปี 2566 ทำให้ในงานประกาศเกียรติคุณนักกีฬาดีเด่น เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติประจำปี พ.ศ.2566  ที่จัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม 2566 กุลวุฒิ  ได้รับรางวัลนักกีฬาสมัครเล่นชายดีเด่น เป็นสมัยที่ 2 จากผลการโชว์ฟอร์มกระหึ่มโลก

Kunlavut Vitidsarn

ล่าสุดปี 2567 วิว กุลวุฒิ นักแบดมินตันชายเดี่ยวของประเทศไทย และมืออันดับ 8 ของโลก ได้เข้าร่วมแข่งแบดโอลิมปิก 2024 ครั้งแรก ด้วยวัยเพียง 23 ปี และเข้ารอบตัดเชือกกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี นับจาก “แมน บุญศักดิ์ พลสนะ” เคยทำได้ในโอลิมปิก เอเธนส์ 2004 และจบลงในอันดับที่ 4  โดยวิว เป็น มือวางอันดับ 8 ของรายการ

– 27 ก.ค. 67 กลุ่มซี แมตช์แรก  ชนะ” จอร์เจส จูเลี่ยน พอล มืออันดับ 109 ของโลกจากมอรีเชียส ไปแบบขาดลอย 2 เกมรวด 21-8 และ 21-12 คว้าชัยชนะแมตช์แรกในแบดมินตันโอลิมปิกเกมส์ 2024

– 31 ก.ค. 67 รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มซี แมตช์สุดท้าย  ชนะผ่านคัลเล่ โจโนเน่น มืออันดับ 60 ของโลกจากฟินแลนด์ ”  21-4 , 8-0 Retired  ทำให้ วิว ผ่านเข้ารอบ 16 คนสุดท้ายในฐานะอันดับ 1 ของกลุ่ม

– 1 ส.ค. 67 รอบ 16 คนสุดท้าย “ชนะ เคนตะ นิชิโมโตะ มืออันดับ 10 ของโลกจากญี่ปุ่น 2-1 เกม ผ่านเข้าสู่รอบ 8 คนสุุดท้าย ไปพบกับ ฉี ยู่ฉี มืออันดับ 1 ของโลกจากจีน

– 3 ส.ค. 67 รอบ 8 คนสุดท้าย “วิว” กุลวุฒิ  เล่นได้อย่างเหนือความคาดหมาย ชนะ ฉี ยู่ฉี มืออันดับ 1 ของโลกจากจีน ไปแบบขาดลอย 2-0 เกม 21-12 และ 21-10 ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ ไปพบกับ ลี ซีเจี๋ย มืออันดับ 7 ของโลกจากมาเลเซีย

-4 ส.ค. 67   ชนะ หลี่ ซี เจี๋ย จากมาเลเซีย 2-0 เซต 21-14 และ 21-15 ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศแบดมินตัน ชายเดี่ยว ศึกโอลิมปิก 2024 ได้สำเร็จ (การันตีเหรียญเงิน)

– 5 ส.ค. 67 รอบชิงชนะเลิศ ได้เข้าไปชิงกับ แชมป์เก่า วิคเตอร์ แอ็คเซลเซ่น ยอดนักแบดมินตัน มืออันดับ 2 ของโลกคนปัจจุบัน

 

เปิดสถิติ “วิว” กุลวุฒิ VS วิคเตอร์ แอ็คเซลเซ่น

“บาร์เซโลน่า สเปน มาสเตอร์  2020” วิคเตอร์ แอ็คเซลเซ่น ชนะ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ 2-0 เกม

“โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น 2021″ วิคเตอร์ แอ็คเซลเซ่น ชนะ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ 2-0 เกม

” สวิส โอเพ่น 2021″ วิคเตอร์ แอ็คเซลเซ่น ชนะ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ชนะ 2-0 เกม

“เอชเอสบีซี บีดับเบิ้ลยูเอฟ เวิลด์ทัวร์ ไฟนอลส์ 2021” วิคเตอร์ แอ็คเซลเซ่น ชนะ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ชนะ 2-0 เกม

“บีดับเบิ้ลยูเอฟ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ 2022” (ชิงแชมป์โลก)วิคเตอร์ แอ็คเซลเซ่น ชนะ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ 2-0 เกม

“เดนมาร์ก โอเพ่น 2022” วิคเตอร์ แอ็คเซลเซ่น ชนะ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ 2-0 เกม

“อินเดีย โอเพ่น 2023” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ชนะ วิคเตอร์ แอ็คเซลเซ่น 2-1 เกม

Kunlavut Vitidsarn

บ้านทองหยอดผู้เจียรนัยเพชร เมย์-วิว

 “เป้าหมายคือ โอลิมปิก ส่วนแชมป์โลก คือ ระหว่างทาง”

นั่นคือ ความฝันของ “อาปุก” กมลา ทองกร  ผู้ก่อตั้ง โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ซึ่งวันนี้ ความฝันนั้นเป็นจริงแล้ว เมื่อ “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศาสน์ นักกีฬาแบดมินตันชายเดี่ยวทีมชาติไทย คว้าชัยชนะรอบรองชนะเลิศ สร้างประวัติศาสตร์ เป็นนักแบดมินตันชายไทยคนแรก เข้าชิงโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งหมายความว่า “การันตี”เหรียญเงิน

“วิว” กุลวุฒิ สังกัด “สโมสรโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด” เช่น เดียวกับ “เมย์ “ รัชนก อินทนนท์   ซึ่งทั้งคู่คือ แชมป์โลกแบดมินตันชายเดี่ยว และหญิงเดี่ยวของไทย

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน นักแบดมินตันคนแรกจาก “สโมสรโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด” ที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก คือ ภัททพล เงินศรีสุข (ชื่อเล่น เป้ ) ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ประเภทชายคู่ โดยจับคู่กับสุดเขต ประภากมล โดยทะลุถึงรอบ 32 คู่สุดท้าย

“เป้” ภัททพล เป็นบุตรชายคนโตของ “กมลา ทองกร” เป็นหนึ่ง ในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ เธอตัดสินใจสร้าง “คอร์ทแบด” ภายในโรงงานทำขนมไทย เพื่อให้ “ภัททพล” และน้องๆ คือ ภาณุวัฒก์ เงินศรีสุข  คณิศรา เงินศรีสุข รวมไปถึงเพื่อนๆ ลูก พนักงานในโรงงานที่มาออกกำลังกายในช่วงว่างหรือหลังเลิกงาน

เนื่องจากประตูโรงงาน อยู่เชื่อมกับ คอร์ทแบด จึงมี ลูกคนงานวัย 5 ขวบคนหนึ่งมานั่งดูพี่ๆ ตีแบด เธอคือ “เมย์” รัชนก อินทนนท์

“ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด” ก่อตั้งขึ้นในปี 2534  เนื่องจากในขณะนั้นลูกๆ กลมา ยังไม่มีสังกัดจึงไม่สามารถลงแข่งขันได้ เธอจึงได้ก่อตั้งเป็นชมรมขึ้นเองและได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาเหตุที่ใช้ชื่อนี้เนื่องจากเป็นธุรกิจของ กมลาเอง เพื่อน ๆ ของเธอจึงแนะนำให้ใช้ชื่อนี้ เพราะแสดงถึงความเป็นคนไทยด้วย

ระยะแรกทางชมรมได้ใช้สนามที่สร้างขึ้นเองภายในโรงงานและบ้าน 1 สนาม และมีนักกีฬาเพียง ลูกๆ และพนักงานบริษัท  โดยมีอาจารย์พรโรจน์ บัณฑิตพิสุทธิ เป็นผู้ฝึกสอน นักกีฬาเริ่มมีผลงานสามารถเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ ในปีถัดมาอาจารย์พรโรจน์ มีความจำเป็นต้องย้ายราชการครูไปสอนที่จังหวัดกระบี่ จึงได้แนะนำสำคัญสำหรับ กมลา

นั่นคือ การหาโค้ชมืออาชีพ ที่ทำงานได้เต็มเวลา และควรเป็น “โค้ชจีน”

ทางชมรมฯจึงได้ติดต่อสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ซึ่ง ได้ติดต่อสมาคมแบดมินตันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขอโค้ชชาวจีนมาฝึกสอนที่ประเทศไทย ขณะนั้น Mr.Hol Zea Chang หัวหน้าผู้ฝึกสอนของสมาคมแบดมินตันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งประวัติ Mr.Xie Zhihua (จื่อ หัว เซี่ย) มาให้พิจารณา แล้วจึงตกลงทำสัญญาว่าจ้าง จื่อ หัว เซี่ย มาเป็นโค้ชให้กับทางชมรมฯ จนถึงทุกวันนี้

ในยุคนั้น โค้ช สอนแบดมินตันในประเทศไทย มักจะมีงานประจำเป็นหลัก เมื่อเลิกงานช่วงเย็นจึงมาฝึก แทบไม่ต่างจากนักกีฬาซึ่งส่วนใหญ่คือ เยาวชน ที่จะเรียนหนังสือเป็นหลัก มาฝึกซ้อมช่วงเย็น  และยิ่งระบบการศึกษาไทยให้เด็กเรียนและทำการบ้านหนัก โอกาสที่เก่งในระดับนำของโลกยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย

“เซี่ยจือหัว” หรือ “โค้ชเซี่ย” จึงเป็น โค้ชแบดมินตัน เต็มเวลาคนแรกของไทย เขาเคยติดทีมชาติของจีน และสนใจอยากไปทำงานต่างประเทศเพื่อรายได้ดีกว่า  จึงตอบตกลง กมลา เนื่องจากเห็นว่า เธอเป็นแม่ที่ทุ่มเท อยากให้ลูกทั้งสามเรียนแบดมินตันกับโค้ชมืออาชีพ

ในวัยเด็ก กมลาเคยเลิกเรียนเมื่ออยู่ชั้น ป.7 เพื่อออกมาช่วยแม่ทำขนมไทย ให้ครอบครัวอยู่รอด  เมื่อกิจการเริ่มอยู่ตัวเธอจึงกลับไปเรียนการศึกษานอกโรงเรียน มุมมองนี้ถูกนำมาใช้ในการปั้นนักกีฬา คือ ถ้าเด็กคนไหนมีศักยภาพด้านกีฬา ก็ผลักไปให้เต็มที่ กีฬาเป็นหลัก เรียนเป็นรอง เพราะเวลาก้าวขึ้นสูงอันดับสูงๆในวงการกีฬามีจำกัด ต้องทำในช่วงอายุน้อยๆ “รอไม่ได้”  ส่วนการเรียนนั้น “รอได้” สามารถออกแบบให้เหมาะสมกับเงื่อนไขได้ ดังเช่นตัวอย่างของ วิว” กุลวุฒิ ก็เลือกเรียน กศน.

“โค้ชเซี่ย” จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยนำระบบการสอนแบดมินตันจากเมืองจีนมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะเรื่องจัดตารางฝึกซ้อมควบคู่กับการเรียนหนังสือ  ผลที่ตามมาคือ ภัททพล ติดทีมชาติในปี 2541  ขณะน้องชายและน้องสาวติดทีมชาติชุดเยาวชน สร้างชื่อเสียงแก่ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด

ต่อมาเริ่มมีนักกีฬามาเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทางชมรมจึงย้ายไปเช่าสนามแบดมินตันเพชรเกษม 59 และเปิดสอนได้ประมาณ 3 เดือน ก็ทำการย้ายไปเปิดสอนที่สนามแบดมินตันหรรษา อยู่ประมาณ 7 ปี ทางชมรมฯจึงได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และสอนได้อีกประมาณ 4 ปี จำนวนสนามเริ่มไม่พอกับจำนวนนักกีฬา

กมลาจึงมีความคิดที่จะสร้างสนามแบดมินตันและเปิดสอนเป็นโรงเรียนแบดมินตันโดยเฉพาะ เพื่อใช้สอนทักษะการเล่นแบดมินตันขั้นพื้นฐานสำหรับเยาวชน และประชาชนทั่วไป ในการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี และเน้นนักกีฬาแบดมินตันที่เล่นเพื่อความเป็นเลิศเข้าสู่ระดับชาติ และได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการเปิดเป็นโรงเรียนโดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด” ในปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างหนึ่งของการทุ่มเท คือ การติดตั้งสปอตไลต์สนามแบด แบบที่ไม่เคยติดตั้งมาก่อนในประเทศไทย เนื่องจาก กมลา สังเกตว่าในการแข่งขันในต่างประเทศ สนามแข่งขันจะติดตั้งสปอตไลต์แบบนี้ ซึ่งนักกีฬาไทยจะไม่คุ้นเคย ทำให้มองไม่เห็นลูกขนไก่ตอนแข่ง เธอจึงยอมลงทุนเพื่อให้นักกีฬาที่ฝึกซ้อมคุ้นเคยกับอุปกรณ์ตัวนี้

การตัดสินใจครั้งนั้น ทำให้เธอและสามี ตัดสินใจ ใช้เงินที่มีอยู่ซื้อที่ดิน และกู้ธนาคารเพื่อลงทุนด้านอาคาร สนาม และอุปกรณ์การฝึกซ้อมที่ได้มาตรฐานระดับโลก กลายเป็นภาระหนี้สินที่หนักมาก และยังมีภาระการส่งนักกีฬาไปแข่งขันในระดับนานาชาติ ซึ่งทำได้อย่างจำกัด กมลา ต้องอุดหนุนด้วยเงินส่วนตัว เช่นเดียวกับนักเรียนทุนก็พอจะมีสปอนเซอร์เข้ามาช่วยดูแลบ้าง

สถานการณ์เหล่านี่เปลี่ยนไป เมื่อ “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ได้แชมป์โลกแบดมินตันหญิงเดี่ยว ในปี 2556 ปลุกกระแสการ เล่นแบดมินตันขึ้นมา เพราะ “อยากเป็นแชมป์โลกเหมือนพี่เมย์” ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ เด็กชายวัย 12 ปี ดช.กุลวุฒิ วิทิตศาสน์

โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด จึงมีผู้มาสมัครเรียน รวมถึง ดาวเด่นในวงการ ที่มุ่งหน้ามาสานฝันระดับโลกที่นี่ และพันธมิตรสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น  ได้แก่ โยเน็กซ์  น้ำดื่มสิงห์ อะมิโนไวทัล  บางจาก ข้าวตราฉัตร โตโยต้า แอร์เอเชีย กลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวช มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ความสำเร็จของเมย์ รัชนก มีส่วนมากในการเคลียร์หนี้กับแบงก์จนหมด

ปัจจุบัน 3 นักแบดมินตัน รุ่นแรกของ “บ้านทองหยอด” “ภัททพล”พี่ชายคนโต และน้องสาวคนสุดท้อง “คณิศรา” ดูแลโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ส่วนลูกคนกลาง “ภาณุวัฒก์” กลับไปบริหารกิจการของครอบครัว ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีทีวาย ฟู้ด จำกัด ที่เปลี่ยนทิศทางของธุรกิจจากเดิมที่มีผู้รับจำหน่ายไปวางขายตามตลาด ร้านค้าย่อย สู่การผลักผลิตภัณฑ์ขนมหวานทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และเม็ดขนุนให้วางจำหน่ายที่ 7-11 ครอบคลุมทุกสาขา เป็นผลสำเร็จ (มีรายงานว่ายอดขายสาขาใกล้วัดจะดีเป็นพิเศษ)  และ ตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ฝอยทองกรอบ” ด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบ ฟรีซดราย (Freeze dry) ที่มาอายุการจัดเก็บนานกว่า 1 ปี ออกสู่ตลาดโลก

เพื่อตามรอย นักแบดมินตัน ที่ก้าวสู่ระดับโลก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

#วิวกุลวุฒิ #กุลวุฒิวิทิตศานต์ #เมย์รัชนก # รัชนกอินทนนท์   #กมลา ทองกร  #โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด #โอลิมปิกเกมส์ #Paris2024