ผู้เขียน | ศูนย์ข้อมูลมติชน |
---|---|
เผยแพร่ |
2 สิงหาคม 2533 : 34 ปี สงครามอ่าว
สงครามที่ปฏิวัติการทำสื่อไปตลอดกาล
วันนี้เมื่อ 34 ปีที่แล้ว คือวันที่ “สงครามอ่าวเปอร์เซีย” (Gulf War) ได้เปิดฉากขึ้น เมื่อกองทัพอิรักภายใต้การนำของซัดดัม ฮุสเซน เคลื่อนพลเข้ายึดครองคูเวต ซึ่งเป็นการกระทำที่ถูกนานาชาติประนามอย่างรุนแรง จนทำให้สหประชาชาติต้องดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจต่ออิรัก เพื่อกดดันให้ถอนทัพออกจากคูเวต
เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อซัดดัม ฮุสเซน จอมเผด็จการแห่งอิรักปฏิเสธกองกำลังพันธมิตร ที่นำโดยสหรัฐฯ ประกอบด้วย 35 ประเทศได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อปลดปล่อยคูเวต นำไปสู่ “ปฏิบัติการพายุทะเลทราย” (Desert storm) โดยกองกำลังพันธมิตร ได้เปิดฉากการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ในวันที่ 17 มกราคม 2534 ตามมาด้วยการบุกทางภาคพื้นดินในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2534ซึ่งเอาชนะกำลังทหารอิรักได้อย่างรวดเร็ว คูเวตได้รับการปลดปล่อย และมีการประกาศหยุดยิงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534
การเปิดฉากโจมตีทางอากาศ กรุงแบกแดด เมืองหลวงอิรัก ในวัน 17 มกราคม ได้สร้างความตื่นตะลึง ให้กับชาวโลก ไม่ใช่ด้วยอานุภาพการทำลายล้างของเครื่องบินรบสหรัฐฯ หากด้วยท่ามกลางความมืดมิด เนื่องจะระบบไฟฟ้า และการสื่อสารถูกตัดขาดทำลาย นักข่าวจากสำนักข่าว CNN จากสหรัฐฯ ที่ปักหลักอยู่ในโรงแรมกลางกรุงแบกแดดสามารถรายงานภาพและเสียงการถล่มกรุงแบดแดด ได้อย่างต่อเนื่องสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกนับร้อยล้านคน
โดยในวันที่ อิรัก รุกรานคูเวต วันแรก ทอม จอห์นสัน ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ประธานและซีอีโอของ CNN เชื่อว่า CNN จำเป็นต้องเตรียมพร้อมที่จะรายงานข่าวความขัดแย้งทางการทหารครั้งใหญ่ เขาให้คำแนะนำ เทด เทอร์เนอร์ เจ้าของ CNN ว่าเครือข่ายจะต้องใช้งบประมาณเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายล้านเหรียญ หากหวังจะรายงานข่าวสงครามได้ตลอด 24 ชั่วโมง จำเป็นต้องติดตั้งอัปลิงก์ภาคพื้นดินของโทรศัพท์มือถือ จำเป็นต้องจองทรานสปอนเดอร์ดาวเทียม จองวงจร และส่งทั้งนักข่าวและเจ้าหน้าที่ไปประจำการ
ผมถามเทอร์เนอร์ ว่า “ผมได้รับอนุญาตให้ใช้เงิน เกินกว่า งบประมาณปี 1991 เท่าใด”
คำตอบของเขาสั้นและรวดเร็ว: “คุณใช้เท่าไหร่ก็ได้ที่คุณคิดว่าจำเป็น เพื่อน”
ด้วยการตัดสินใจดังกล่าว CNN จึงเตรียมพร้อมทำสงคราม และ คาดการณ์ว่า “สิ่งแรกที่จะถูกทำลายเมื่อเกิดการโจมตีอิรักคือระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร” พวกเขาจึงวางระบบไฟฟ้า และการสื่อสารที่แยกจากระบบหลัก
ดังนั้นเมื่อระบบพลังงานและการสื่อสารของอิรักถูกทำลายโดยเครื่องบินขับไล่และขีปนาวุธร่อน บริษัทสื่อทุกแห่งในกรุงแบกแดด ยกเว้น CNN สูญเสียระบบพลังงานและความสามารถในการส่งสัญญาณ มีเพียง CNN เท่านั้นที่ถ่ายทอดสดให้คนนับร้อยล้านคนทั่วโลกได้รับชม
แต่เดิมนั้นการรายงานข่าวสงคราม จะเป็นการสรุปข่าว และภาพ ในรายการข่าวประจำวัน ที่มีกำหนดเวลาแน่นอน ไม่ต่างจากข่าวทั่วๆไป แต่ ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียนั้น ได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ผลกระทบซีเอ็นเอ็น” (CNN effect) มีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยที่เชื่อมโยงกันหลายประการ ดังนี้
หนึ่ง การรายงานข่าว 24 ชั่วโมง: CNN เป็นเครือข่ายแรกที่นำเสนอการรายงานข่าวตลอด 24 ชั่วโมงเกี่ยวกับความขัดแย้ง ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับสงครามได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน
สอง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี: เทคโนโลยีดาวเทียมที่พัฒนาขึ้นทำให้สามารถถ่ายทอดสดจากพื้นที่สงครามได้ ช่วยให้ผู้สื่อข่าวสามารถส่งภาพและข่าวสารได้เกือบจะในทันที
สาม การเข้าถึงแนวหน้า CNN มีผู้สื่อข่าวฝังตัวอยู่กับหน่วยทหาร ทำให้สามารถรายงานข่าวและภาพจากสนามรบได้โดยตรง
สี่ ผลกระทบทางภาพ: ภาพที่ชัดเจนของการโจมตีด้วยขีปนาวุธ การทิ้งระเบิดทางอากาศ และปฏิบัติการทางทหาร ดึงดูดความสนใจของผู้ชมและสร้างความรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง ทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วม เช่น ความสะเทือนใจ ความกลัว หรือความโกรธ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ชมเข้าใจสถานการณ์ที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยคำอธิบายมากนัก การใช้กราฟิกและการจำลองสถานการณ์ทำให้การรายงานข่าวสงครามดูเหมือนวิดีโอเกมหรือความบันเทิง
ห้า อิทธิพลทางการเมือง: การมีเครือข่ายระดับนานาชาติของ CNN ทำให้สามารถถ่ายทอดความขัดแย้งนี้ไปยังผู้ชมทั่วโลก เพิ่มผลกระทบต่อความคิดเห็นสาธารณะและนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลต่างๆ รัฐบาลและผู้นำประเทศต้องตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างรวดเร็วเนื่องจากแรงกดดันจากสาธารณชนที่ได้รับข้อมูลแบบทันที ประสบการณ์จากสงครามอ่าวทำให้กองทัพต้องปรับกลยุทธ์ในการจัดการกับสื่อในสงครามครั้งต่อๆ มา
สงครามอ่าวเปอร์เซีย(Gulf War) ได้เปิดยุคใหม่การแข่งขันระหว่างสำนักข่าวต่างๆ โดย CNN มีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานใหม่ของการรายงานข่าวสดจากพื้นที่สงคราม เป็นยุคที่ผู้คนหันมาติดตามข่าวมากยิ่งขึ้น ในลักษณะเกาะติด และฉับไว หรือแม้กระทั่งการพัฒนารูปแบบให้น่าสนใจ ที่มีสีสัน เช่นการเล่าข่าว คุยข่าว การรายงานจากจุดเกิดเหตุ การออกข่าวดราม่าเพื่อเป็นแรงกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ในโซเชียลมีเดีย ก็ล้วนแต่เป็นผลสืบเนื่องจากปฏิบัติการทางทหารที่ประทุขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2533
อ้างอิง : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2533
ข้อมูลออนไลน์จาก https://www.prio.org/events/8100
https://www.atlantamagazine.com/
#สงครามอ่าว #อิรัก #สงคราม #GulfWar #TheCNNEffect #CNN #การถ่ายทอดสด #วันนี้ในอดีต #ศูนย์ข้อมูลมติชน #MatichonMIC