พุทธทาส ใฝ่รู้ความจริง ถึงขนาดอยากลองให้เสือกัด-อยากนัดผีเปรตพูดคุย

ภาพจากคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=aPMiOFMTvkg

เมื่อท่านพุทธทาสภิกขุหรือขณะนั้นคือ พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ มาศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่กรุงเทพฯ แล้วค้นพบด้วยตนเองว่า ระบบการศึกษาเท่าที่เป็นอยู่ไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่มรรคผลอันเป็นจุดหมายสูงสุด (สัจจะ) ของการศึกษาในพระพุทธศาสนาได้ หากเป็นแต่เพียงการศึกษาในระบบ “…ปริยัติธรรมทางเจือด้วยยศศักดิ์” เท่านั้น

กอปรกับสภาพแวดล้อมที่มากไปด้วยมลพิษ และศีลาจารวัตรของพระสงฆ์ทั่วไปในเมืองกรุงก็มิสู้เคร่งครัด หากเป็นที่แน่ชัดเสียด้วยซ้ำว่าย่อหย่อนกว่าพระสงฆ์ในหัวเมืองอีกต่างหาก ดังนั้น ท่านจึงได้บทสรุปกับตัวเองว่า

“…ที่เป็นมาแล้วและกำลังเป็นอยู่ ไม่เป็นทางที่จะได้พบพระพุทธเจ้าได้เท่านั้น”

จากบทสรุปนี้ พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ จึงถอยห่างออกจากกรุงเทพฯ อย่างถาวร (6 เมษายน 2475) เพื่อเริ่มต้นค้นหา “ความจริงสุดท้าย” หรือ “VE RI TAS” ของพระพุทธศาสนาด้วยตนเอง โดยมีเครื่องมือที่สำคัญยิ่งก็คือ “จิตวิญญาณแห่งความใฝ่รู้ความจริง” (=ธรรมฉันทะ) อย่างเข้มข้นบรรจุอยู่เต็มหัวใจ

ความใฝ่รู้ความจริงของพระมหาเงื่อมนั้นเป็นความใฝ่รู้ชนิดเดียวกับที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่างฮาร์วาร์ดควรจะมี และต้องมี แต่ท่านพุทธทาสหรือพระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ ดูเหมือนจะมีความใฝ่รู้ความจริงในสิ่งที่ตนศึกษาวิจัยมากกว่านักศึกษาทั่วไปหลายเท่านัก

เพราะท่านเคยใฝ่รู้ความจริงถึงขนาดที่ว่าอยากลองให้เสือกัด (จะได้รู้ว่าเจ็บอย่างไร) อยากลองนัดสัมมนากับผีหรือเปรต เพื่อให้ได้ความจริงในสิ่งที่สงสัยว่าจะมีตัวตนเป็นอย่างไร

อุปนิสัยใฝ่รู้ความจริงอย่างเข้มข้นของท่านพุทธทาสนี้มีปรากฏอยู่ในข้อเขียนชุด “๑๐ ปีในสวนโมกข์” ดังนี้

“…มันมีอยู่อีกอย่างหนึ่งซึ่งควรจะนับว่าเป็นของวิเศษมาก และเคยเป็นที่พึ่งของฉันมามากแล้วคือ ความรักในการศึกษา อยากรู้อยากทดลอง. เมื่อกำลังใจและสติยังสมบูรณ์อยู่กับตัว ก็อยากลองไปเสียทั้งนั้น แม้ที่สุดแต่อยากลองให้เสือกัด งูกัด หรือให้ผีหลอก และให้ภูตหรือเปรตมาสนทนาปราศรัยกัน. ทั้งนี้ เพื่อถือเอาเป็นโอกาสสำหรับศึกษาสิ่งเหล่านั้นด้วย และทดลองกำลังน้ำใจของตนเองด้วย.

แต่ดูเหมือนโชคไม่เคยอำนวยให้เป็นเช่นนั้นเลย”


มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 พ.ค. -1 มิ.ย. 2549 ในคอลัมน์ จากฮาร์วาร์ด-สวนโมกข์ โดย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี อาจารย์พิเศษบัณฑิตวิทยาลัย มจร. กรุงเทพฯ ในตอน จิตวิญญาณของฮาร์วาร์ดในตัวของพุทธทาสภิกขุ