เชิงบันไดทำเนียบ : คสช. ‘ลงหลังเสือ’ ลดงาน ‘ทหาร’ จัดทัพ ‘ไทยนิยม-กอ.รมน.’ รอไฟเขียว ‘เลือกตั้ง’

‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีตั้ง ‘คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน’ โดย ‘บิ๊กตู่’ นั่งเป็นประธานกรรมการเอง และมีคณะกรรมการลงไปถึงระดับผู้ว่าฯ อำเภอ ตำบล และจิตอาสา‘เราทำความดี ด้วยหัวใจ’ ในพื้นที่ร่วมด้วย
นำโดยส่วนราชการจากกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการงานตามแนวทางประชารัฐ หากดูจากโครงสร้างโดยรวมแล้ว เน้นการทำงานของภาค ‘ราชการ-พลเรือน’ มากขึ้น และใช้สัดส่วนของ ‘ทหาร’ ลดลง


ทว่ามีการมองว่าหรือจะเป็นการ ‘หาเสียง’ และการหา ‘กองหนุน’ เพิ่มของ ‘บิ๊กตู่’ หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ ‘ป๋าเปรม’พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปธ.องคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้สะกิดเตือน ‘บิ๊กตู่’ ถึง ‘กองหนุน’ ลดน้อยลงไป ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็แก้เกี้ยวว่าใช้คนมาร่วมทำ ‘ประชารัฐ’ ไปจำนวนมากแทน
ซึ่ง ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่คสช. ก็ออกมายืนยัน ‘บิ๊กตู่’ ไม่ได้ ‘หาเสียง’ แต่มองว่าเป็นเรื่องดีที่นำทุกภาคส่วนมาร่วมกันได้


“ไม่ใช่อย่างนั้น คิดกันไปเอง เขารวมกันทั้งประเทศถือว่าดีแล้ว” พล.อ.ประวิตร โต้ปมหากองหนุนเพิ่ม
“ไม่ได้หาเสียงให้นายกฯ ท่านไม่ได้ไปหาเสียงกับใคร นายกฯไม่ได้ลงไปรับเลือกตั้ง” พล.อ.ประวิตร กล่าว
ก่อนหน้านี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ เป็น ผู้อำนวยการฯ ตามตำแหน่ง และ ‘บิ๊กเจี๊ยบ’พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. นั่งเป็น รองผู้อำนวยการฯ ซึ่ง พล.อ.เฉลิมชัย ยังพ่วงตำแหน่งเลขาธิการคสช.ด้วย โดย กอ.รมน. ได้ปรับโครงสร้างใหม่ โดยเฉพาะในส่วนประสานงานที่แบ่งเป็น ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่1-5 ได้แก่ ศปป.1 กลุ่มงานเสริมสร้างความั่นคงของรัฐ มีภารกิจสำคัญคือการปกป้องสถาบันและงานสร้างความปรองดอง , ศปป.2 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคม มีภารกิจสำคัญคือการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว จัดระเบียบสังคม , ศปป.3 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงแบบพิเศษ เน้นเรื่องการป้องกันการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ , ศปป.4 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน และอาหาร , ศปป.5 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ ดูแลงานพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้

.
ซึ่ง กอ.รมน. เองไม่ได้มีเพียง ‘ทหาร’ แต่ยังมีภาค ‘ตำรวจ-ฝ่ายปกครอง-ประชาสังคม’ ร่วมด้วย จึงมีการมองว่าจะเป็นการ ‘ถ่ายโอนงาน’ ในการ ‘จัดระเบียบสังคม’ จาก คสช. มายัง กอ.รมน. หรือไม่ เพื่อรองรับการเลือกตั้ง ที่งานจัดระเบียบของ คสช. จะได้ดำเนินต่อไป ไม่ให้ ‘เสียของ’ ตามคำปรามาสจากสังคม ว่า คสช.ไป ก็กลับมาเหมือนเดิม นั่นเอง


“คสช.คือคสช. กอ.รมน. คือ กอ.รมน. คือ หน่วยงานปกติ แต่ คสช .คือ หน่วยงานไม่ปกติ เข้าใจซะก่อนตรงนี้ ถ้าปกติมันจะมีทำไม คสช.” นายกฯ ชี้แจง
ดังนั้นการเกิดขึ้นของ ‘คณะกรรมการไทยนิยม’ กับการปรับโครงสร้าง ‘กอ.รมน.ใหม่’ จึงไม่เรื่องใหม่ แต่มีการวางแผนมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ ‘บิ๊กตู่’ ที่เริ่มเตรียมทาง ‘ลงหลังเสือ’ ไว้บ้างแล้ว ที่สำคัญ ‘โครงสร้าง’ เหล่านี้จะอยู่ในระยะยาวด้วย หลังมีรัฐบาลใหม่หรือรองรับ ‘บิ๊กตู่’ กลับมาเป็น ‘นายกฯคนนอก’ ด้วย

.
แต่การ ‘ลงหลังเสือ’ ก็ต้องเลื่อนไปอีก 3 เดือน หลัง สนช. มีมติโหวตใช้พ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ที่ยืดการบังคับใช้กฎหมายไปอีก 90 วัน นับจากลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว เท่ากับว่าทำให้การเลือกตั้งยืดไปอีก 3 เดือน


ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงยืนยันว่าโรดแมปยังคงเป็นไปตามเดิม แม้การเลือกตั้งอาจกิดขึ้นช่วงเดือนก.พ.2562 ซึ่งเลื่อนไป 3 เดือนจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยประกาศไว้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช่วงเดือนพ.ย.2561 อีกทั้งการพิจาณากฎหมายของ สนช. ไม่สามารถไปก้าวล่วงได้

.
“ผมส่งสัญญาณอะไรหรือเปล่า ผมไม่อาจจะส่งสัญญาณได้หรอก และผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในช่วงเวลาที่ยังมีหน้าที่อยู่ การที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม ผมถือว่าเป็นขั้นตอนกฎหมาย” นายกฯ แจง
จากการแถลงของ ‘บิ๊กตู่’ พยายาม ‘เลี่ยง’ ตอบว่าการเลือกตั้งจะต้อง ‘เลื่อน’ ไปหรือไม่ แต่ขอ ‘ความเข้าใจ’ จาก ‘สังคม’ แทน ผิดกับ ‘บิ๊กป้อม’ ที่ประกาศชัดเลยว่า การเลือกตั้งจพต้องเลื่อนไป 3 เดือน และเชื่อว่าไม่กระทบความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ


“ไม่กระทบ ต่างชาติต้องการให้เลือกตั้ง ก็ต้องเลือกตั้งแน่นอนอยู่แล้ว ไม่เห็นมีอะไรเลย เพียงแค่เลื่อนออกไปแค่ 3 เดือนเอง” พล.อ.ประวิตร แจง
อีกทั้งมีการมองว่าสช. ‘สร้างสถานการณ์’ ขึ้นมาหรือไม่ เพื่อให้การขยายเวลาโรดแมปมีความชอบธรรมขึ้น เพราะผ่านการลงมติจาก สนช. ซึ่งทั้ง ‘บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่’ ก็ต่าง ‘อ้าง’ ว่าเป็นการพิจารณาจาก ‘สนช.’ เท่านั้น จากทั้งคู่

.
“เขาอธิปรายเรื่องนี้กันทั้งวันทั้งคืน จะไปสร้างสถานการณ์อะไร คนระดับนี้แล้ว ไปคิดได้อย่างไรว่าเป็นการสร้างสถานการณ์” พล.อ.ประวิตร โต้

.
ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ก็ยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนก.พ.2562 เพราะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่น่าจะเลื่อนได้อีก อีกทั้งเชื่อว่าไม่มีปัจจัยใดๆ ถ้าอยู่กันอย่างสงบเรียบร้อย


การปูทางคสช. ‘ลงหลังเสือ’ มีมาโดยตลอด ทั้งการวางโครงสร้างงานและคน ตอนนี้เหลือเพียง ‘หมุดหมาย’ ที่จะต้องถึงวัน ‘ลงหลังเสือ’ อย่างเป็นทางการ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันไม่ต้องการ ‘ส่งสัญญาณ’ ใดๆก็ตาม

.
แต่อาจรอ ‘ไฟเขียว’ อยู่ก็ได้ !!