ย้อนชีวิต “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ผู้เขี่ย “ปู” พ้นนายกฯรักษาการ

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 26/09/2016

 

จากนักธุรกิจเมืองปากช่อง จ.นครราชสีมา ประสบความสำเร็จจนถึงขั้นเศรษฐี

ด้วยการบุกเบิกธุรกิจด้านการเกษตรในภาคอีสานตอนบน ข้ามขั้นเข้าไปลงทุนในประเทศลาว

ขนาดใช้เฮลิคอปเตอร์ราคาหลายล้านบาทเอาไว้หว่านปุ๋ยในนาข้าว ไร่มะเขือเทศ มันฝรั่ง จนถึงกาแฟ

เป็นที่มาของการตั้งชื่อบุตรสาวว่า “ต้นข้าว”

แต่ชีวิตพลิกผันหลังจากฟองสบู่แตก ในปี 2540 เป็นหนี้เป็นสิน ต้องบินไปสู้คดีไกลถึงดินแดนสหรัฐอเมริกา

ทว่า 8 ปีหลังจากนั้นเขาพลิกบทจากนักธุรกิจ เข้ามาแสวงโชควาสนาอีกครั้ง แต่ไม่ได้หวนกลับสู่แวดวงธุรกิจ

ขอชิมลางในอำนาจการเมือง

หากเอ่ยถึง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เป็นชื่อที่คอการเมืองไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเขาเป็นผู้ประกาศตั้งพรรคการเมืองนามว่า “พรรคประชาชนปฏิรูป” พร้อมลั่นวาจาว่าจะสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ก่อนมาถึงวันที่เขาประกาศชงชื่อ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ต่อในสมัยหน้า อาจเรียกได้ว่าเส้นทางของ “ไพบูลย์” เดินบนเส้นทางสายปฏิวัติ เคียงคู่การรัฐประหาร

หลังพบปะ “คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑะกา” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในคลาสเรียนหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 5 (ซึ่งมีเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่นๆ เช่น “สมชาย แสวงการ” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สายอดีตกลุ่ม 40 ส.ว.)

ตอนนั้นเป็นช่วงที่ “คุณหญิงจารุวรรณ” เจอมรสุมชีวิต จากพิษคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีสถานะของผู้ว่าการ สตง. “ไพบูลย์” จึงอาสาเป็นที่ปรึกษาแนวทางข้อกฎหมายต่อสู้ให้กับคุณหญิง จนได้กลับมานั่งเก้าอี้ผู้ว่าการ สตง. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินขบวนขับไล่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร

แล้วพลังการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ส่งผลสะเทือนการเมืองทั้งกระดาน เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค.) ที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน ได้ยึดอำนาจรัฐบาลไทยรักไทย

เมื่อรัฐบาลที่มี 377 เสียงหนุนหลังในสภาผู้แทนราษฎรต้องพ้นไปด้วยพิษปฏิวัติ ระหว่างนั้น คปค. ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และ “คุณหญิงจารุวรรณ” ก็ร่วมอยู่ในคณะ คตส. ควบกับตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.

“ไพบูลย์” ในฐานะมือกฎหมายประจำกาย จึงถูกตั้งให้เป็นที่ปรึกษา สตง.

ที่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาไต่ลวดอำนาจการเมืองเป็นครั้งแรก เพราะหลังจากนั้น “ไพบูลย์” ได้นั่งเก้าอี้กรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในยุคที่ พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นประธาน เมื่อปี 2550 และยังขยับขาอีกข้างเข้าสู่เก้าอี้ที่ปรึกษา “วิชัย ชื่นชมพูนุช” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในยุคนั้น

หลังจากมีตำแหน่งแห่งหนทั้งใน สตง.-ทีโอที-และศาลรัฐธรรมนูญ พลันที่รัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้ โดยให้มี ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.ลากตั้งอย่างละครึ่ง “ไพบูลย์” ถูกเสนอชื่อลงชิงเก้าอี้สภาสูงเป็นครั้งแรก เป็นตัวแทนของ สตง. เสนอชื่อเข้ารับการสรรหา ส.ว. ในสายภาครัฐ หลังได้รับการสรรหาก็ไปปฏิบัติหน้าที่ มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เลือกประธานวุฒิสภา เป็นท่านประสพสุข บุญเดช

“เป็นแกนนำเพื่อนๆ ส.ว. ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้จักกันดี แต่คุยกันเพื่อเสนอให้ท่านประสพสุขเป็นประธานวุฒิสภา แข่งกับ ส.ว.เลือกตั้ง ที่เสนอท่านทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ เป็นยกแรกของ ส.ว.สรรหา แข่งกับ ส.ว.เลือกตั้ง หลังจากท่านประสพสุขเป็นประธานวุฒิ ผมได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ของท่านประสพสุข”

นั่นเป็นการก่อกำเนิดกลุ่ม 40 ส.ว. ที่รวมตัวกันหลวมๆ ในครั้งแรก แต่หลังจากนั้นคำว่า กลุ่ม 40 ส.ว. ที่ทำหน้าที่ประหนึ่งฝ่ายค้านในสภาสูงต่อต้านพรรคพลังประชาชน จนถึงพรรคเพื่อไทยได้เริ่มอย่างเ ป็นทางการ

“มีช่วงเวลาหนึ่งที่ปัญหาการเมืองปี 2551 เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการประชุมระหว่าง ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็นเครือข่ายเดิมสมัยเลือกท่านประสพสุขเป็นประธาน จึงเชิญมาประชุมเพื่อดูเรื่องแก้ไขปัญหาเรื่องเขาพระวิหาร มีการรวบรวมชื่อไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ”

“สื่อมาถามผมในฐานะผู้ประสานการประชุมว่า การประชุมมีจำนวนเท่าไหร่ ก็บอกไปว่ามีประมาณ 40 คน สื่อก็เอาไปเขียนว่ากลุ่ม 40 ส.ว. ประชุมกัน โดยมีผมเป็นผู้ประสานงานมาโดยตลอด”

“ที่เราต่อสู้ด้วย คือเรื่องที่กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนเกิดเหตุ 7 ตุลา ทางกลุ่ม 40 ส.ว. ออกมารณรงค์คัดค้านการกระทำที่รุนแรงต่อประชาชน และเนื่องจากกลุ่ม 40 ส.ว. อยู่ใน กมธ. หลายชุด ดำเนินการตรวจสอบกรณี 7 ตุลา งานของกลุ่ม 40 ส.ว. มีมากในช่วงนั้น”

ในที่สุดวาระ ส.ว.ลากตั้งสมัยแรกของ “ไพบูลย์” ก็ครบวาระ 3 ปี แล้วมีการสรรหาใหม่ แต่ปรากฏว่าชื่อของเขาเกิดหลุดโผ องค์คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่เรียกว่า “7 อรหันต์” ประกอบด้วยประมุของค์กรอิสระ 7 องค์กร กลับไม่เลือกชื่อเขา

แต่อาจเป็นเพราะฟ้าลิขิต หรือ อำมาตย์ลิขิต? ให้เขาต้องกลับมาเป็น ส.ว.สรรหาในวาระที่ 2 และการกลับมาครั้งนี้มีภารกิจเพื่อล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

“ขณะนั้นการต่อสู้กำลังเดือดในช่วงแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อนๆ ก็คิดถึงจะต้องมีคนอย่างพวกเราต่อสู้กับฝ่าย ส.ว.เลือกตั้งและรัฐบาล ตั้งแต่วันแรกเราก็เริ่มต่อสู้กับแนวคิดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย จึงฟ้องไปยังศาลปกครองสูงสุด สุดท้ายพรรคเพื่อไทยก็ยุติดำเนินการ”

“จนมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เราเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุม แต่ตอนหลังถูกเปลี่ยนเป็นนิรโทษกรรมสุดซอย แม้กระทั่งการทุจริตคอร์รัปชั่นยังได้รับการนิรโทษกรรม มีผลไปถึงคุณทักษิณก็จะได้รับนิรโทษกรรมทุกเรื่อง แม้แต่คดีทุจริต”

“เมื่อถึงจุดนั้น คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศคัดค้านมีการชุมนุมที่สถานีรถไฟสามเสน ผมก็ไปร่วมกันต่อสู้กับประชาชนที่ออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนถึงปี 2557 รู้ว่าต้องหยุดรัฐบาลที่มีปัญหา คำร้องแรกมีการไปยื่นฟ้องคุณยิ่งลักษณ์ เพื่อหยุดรัฐบาลให้ได้”

หากเปรียบเทียบ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ว่าเป็นแจ็กผู้ฆ่ายักษ์ ล้ม “สมัคร สุนทรเวช” ให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ จากกรณีขัดกันแห่งผลประโยชน์จากการจัดรายการชิมไปบ่นไป

“ไพบูลย์” ก็เป็น “แจ็ก” ผู้ฆ่า “ยักษ์ยิ่งลักษณ์” จากปมโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) โดยมิชอบ

“จนพบประเด็นคุณถวิล เมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า แต่งตั้งโยกย้ายโดยมิชอบตามกฎหมาย จึงเห็นประเด็นดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายการกระทำผิดในรัฐธรรมนูญเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงยกร่างคำฟ้องขึ้นอีก 2 วันถัดมา”

และคดีโยกย้ายถวิลก็เป็น “จุดตาย” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้คุณยิ่งลักษณ์พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีทั้งหมด ส่งผลให้รัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบการโยกย้ายถวิล 10 คนต้องพ้นตำแหน่ง

เกิดรัฐบาลสุญญากาศไม่มีรัฐมนตรีกลาโหม ไม่มี รมช.กลาโหม มีแต่รัฐบาลรักษาการที่มี “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” เป็นนายกฯ เฉพาะกิจ ท่ามกลางแรงกดดันจากกลุ่ม 40 ส.ว. ที่ต้องการให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. โดยอาศัยประเพณีการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7

“ครั้งนั้นผมเป็นคนเสนอว่า ให้ ส.ว. ตั้งนายกฯ และพูดในที่ประชุมวุฒิสภาว่าผมจะเสนอชื่อนายกฯ ชื่อที่มีอยู่ในตอนนั้น พร้อมที่จะเสนอคือ พล.อ.ประยุทธ์ นี่คือก่อน 22 พฤษภาคม เพราะได้คุยกับบางท่านโดยเฉพาะคุณสุเทพว่า สถานการณ์ถ้าจะเสนอชื่อนายกฯ ในวุฒิสภา บุคคลที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง มีความเหมาะสมควบคุมสถานการณ์ได้ มี พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียว”

แต่ยังไม่ทันที่ “ไพบูลย์” จะเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ เมื่อปี 2557 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ นำกำลังยึดอำนาจรัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดยละม่อมเสียก่อน

จากวันนั้นในปี 2557 ถึงวันนี้ในปี 2559 ไพบูลย์ ยังยืนยันเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคำรบสอง

เปลี่ยนจากการขอใช้สิทธิ ส.ว. ในการเสนอชื่อนายกฯ คนนอกตามมาตรา 7 มาตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคประชาชนปฏิรูป” เสนอชื่อนายกฯ คนนอกตามช่องทางรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์